ย้อนไปช่วงปลายเดือนพฤษภาคม ปี 2019 เป็นจังหวะที่ภาพยนตร์ไทยเข้าฉายอยู่สามเรื่อง แล้วก็เป็นเรื่องบังเอิญอยู่ไม่น้อยที่ภาพยนตร์ทั้งสามเรื่องนั้นมาจากผู้กำกับหญิง และทั้งสามคนก็ถือว่าเป็นผู้กำกับภาพยนตร์หน้าใหม่ แต่ก็เรียกได้ว่าพวกเขาได้ผ่านการทำงานในวงการบันเทิงหรือวงการโฆษณามาแล้วอยู่พอสมควร
แล้วก็เป็นจังหวะที่สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย เปิดงานเสวนาให้ผู้กำกับหญิงกลุ่มนี้ ออกมาแสดงความเห็น ร่วมกับอีกหนึ่งผู้กำกับหญิงที่กำลังกำกับภาพยนตร์สารคดีที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่งที่มีกำหนดเข้าฉายในอนาคต
พวกเธอทั้งสี่คน ก็คือ คุณตั๊ก – ฉันทนา ทิพย์ประชาติ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง ‘หน่าฮ่าน’ คุณโรส – พวงสร้อย อักษรสว่าง ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง ‘นคร-สวรรค์’ คุณกร – กรภัทร ภวัครานนท์ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง ‘The Lost Princess’ และ คุณปราง – ธารวิมล อ่อนพาปลิว ผู้กำกับภาพยนตร์ บางกอก…สยอง ตอน สวัสดีบางกอก โดยงานครั้งนี้ได้ คุณจ๋า – ญาณิน พงศ์สุวรรณ มาเป็นผู้ดำเนินรายการ และเนื่องจากเธอเองก็เป็นผู้กำกับภาพยนตร์เช่นกัน จึงทำให้การเสวนาในวันนี้มีอะไรที่น่าสนใจ เต็มไปด้วยบทสนทนาที่ดำเนินไปอย่างสนุก ซึ่งเราได้สรุปเนื้อหาส่วนหนึ่งภายในงานมาให้ติดตามกันในบทความนี้
ก่อนที่จะมากำกับภาพยนตร์กัน ก่อนหน้านี้ทำอะไรมาก่อนบ้างคะ
ตั๊ก : จริงๆ แล้วตั๊กไม่ได้เรียนภาพยนตร์มาค่ะ ตั๊กเรียนโฆษณาที่ ม.บูรพา แล้วก็มาทำงานเกี่ยวกับรายการทีวี พอทำรายการไปราวปีสองปี รายการก็หมดซีซั่นเลยเลิกทำ แล้วก็ไปทำงาน AE ที่เอเจนซี่โฆษณาที่ทำงานเกี่ยวกับ Social Enterprise ทำได้สักพักหนึ่งก็ออกมา แล้วก็มาทำฟรีแลนซ์ ก่อนจะทำหนังเรื่องแรกชื่อ ‘รักไม่ปรากฏ’ พอทำไปสักพักหนึ่งก็กลับมาทำเกี่ยวกับ ละคร-ซีรีส์โทรทัศน์ มาเป็น Producer Coordinate ก่อนจะลาออกมาเป็นฟรีแลนซ์ แล้วก็มาทำหนังเรื่อง ‘หน่าฮ่าน’ นี่ล่ะค่ะ
คือตอนที่ทำเรื่อง ‘รักไม่ปรากฎ’ มันเป็นหนังที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมย่อยของคนอีสาน แล้วก็มีพี่คนหนึ่งเห็นว่าเราทำหนังเรื่องนี้ หนังก็ถูกเอาไปคุยกันที่สิงค์โปร์ตอนที่เราไปเป็น Artist Residency อยู่ราวๆ สองเดือน แล้วเขาก็เห็นว่าเราที่เป็นเรื่องของคนอีสาน เราน่าจะเข้าใจวัฒนธรรมคนอีสาน เขาก็เลยชวนไปทำโปรเจกต์หนังของโรงภาพยนตร์เอ็มวีพี ตั๊กเลยตอบตกลงทันทีค่ะ
โรส – เรียนจบจาก นิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ค่ะ พอจบแล้วงานแรกที่ทำคือเป็นผู้ช่วยผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง 36 (ภาพยนตร์ของ เต๋อ – นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์) พอทำแล้วคนก็เข้าใจว่าเราคงทำงานผู้ช่วย เลยรับงานเป็นฟรีแลนซ์ผู้ช่วยผู้กำกับ หลังจากนั้นก็เป็นผู้ช่วยในหนัง ‘The Isthmus ที่ว่างระหว่างสมุทร’ ทำผู้ช่วยผู้กำกับ MV แล้วก็ไปทำงานเอเจนซี่เดียวกันกับตั๊กอยู่พักหนึ่ง ก่อนจะตัดสินใจขอทุนต่อไปเรียนที่เยอรมันอยู่สี่ปี ก่อนจะกลับมาเมื่อปีที่แล้วค่ะ (ปี 2018)
คือหนังเรื่อง ‘นคร-สวรรค์’ จุดเริ่มต้นมันมาจากการที่เราทำโปรเจกต์จบ แต่ตอนแรกที่ตั้งใจไว้น่าจะเป็นแค่ หนังสั้น หรือ คลิปวีดีโอ เฉยๆ แต่ในตอนนั้นที่งาน Singapore Film Festival เขาจะมี South East Asian Film Lab ที่เปิดไว้สำหรับการพัฒนาบทสำหรับภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกแล้วให้คนในพื้นที่เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ส่งโปรเจกต์มา ตอนนั้นเรามีแค่ตัวสารคดีที่เราไปถ่ายแม่เก็บไว้ช่วงที่เรากลับมาเยี่ยมที่บ้าน แล้วก็ลองพัฒนาส่วนอื่นๆ เข้ามาให้เป็นภาพยนตร์ขนาดยาว แล้วก็ส่งเรื่องเข้าไปที่ South East Asian Film Lab จนได้รับ Special Mention
แล้วก็เจอกับพี่ใหม่ อโนชา (อโนชา สุวิชากรพงศ์ – ผู้กำกับภาพยนตร์ ดาวคะนอง) ที่เป็น mentor ของรอบนั้นพอดี พี่ใหม่เลยชวนว่าอยากทำไหม เดี๋ยวพี่ใหม่โปรดิวซ์ให้ ก็เลยได้รับทุนก้อนแรกจาก Purin Pictures รวมถึงทางโรงเรียนที่เยอรมนีจะให้ทุน กับเงินทุนองค์กรที่ให้เงินสนับสนุนคนทำหนังในแคว้นที่ไปเรียนอยู่ เลยได้เป็นเงินขวัญถุงก้อนใหญ่ในการทำหนังค่ะ
กร – อาชีพเก่าของกร จะเป็นผู้กำกับศิลป์ กับ อาร์ตครีเอทีฟในเอเจนซี่แห่งหนึ่ง ที่ทำโฆษณาแบรนด์ใหญ่ๆ แบบ ไฮเนเก้น, มาสด้า, เอสซี แอสแส็ท คือจริงๆ เราอยากเป็นคนทำหนังแต่ไปได้ B.A.D Student Workshop เราก็เลยคิดว่าจะเอายังไงต่อ จะทำโฆษณาหรือทำหนังดี ก็เลยตกลงว่าถ้าได้รางวัลฉันก็ทำโฆษณาสักพักหนึ่ง แต่ถ้าไม่ได้ก็จะทำงานวงการหนัง เป็นผู้ช่วยผู้กำกับหรืออะไรก็ได้ แต่พอดีได้รางวัล ก็เสียใจที่ได้นะ กับตอนนั้นคนรอบตัวบอกว่า ทำงานโฆษณามันได้เงินนะเว้ย
ก็เลยทำงานโฆษณาอยู่ช่วงหนึ่ง ราวๆ 4-5 ปี จนตอนหลังมันล้า เราก็เลยอยากทำหนัง แล้วถ้าไม่ได้สักที ชีวิตของเราคงจะตั้งคำถามทั้งวันเลยว่า เราเป็นผู้หญิงที่ไม่ได้ทำในสิ่งที่อยากทำ ก็เลยลาออกจากเอเจนซี่ แต่เราไม่เคยอยู่ในสังคมการทำหนังมาก่อน ก็ไม่รู้ว่าทำยังไงดี ก็เลยทำเป็นผู้ช่วยผู้กำกับโฆษณาอยู่พักหนึ่ง แล้วก็เริ่มได้เรียนรู้ ก่อนจะลาออกอีกทีไปเรียนต่อที่ลอนดอนอยู่สองปี แล้วก็เหมือนโรสที่มีโปรเจกต์จบ มหาวิทยาลัยก็จะให้เงินมาก้อนหนึ่ง ก็เกณฑ์เพื่อนกลุ่มหนึ่งที่เราสนิทใจมาทำหนังกัน
ตอนแรกก็ไม่ได้กะว่าจะทำเกี่ยวกับเรื่องยายของเรา อยากทำเรื่องแต่งไปเลย จนกระทั่งเราไปนั่งคิดว่ามีอะไรที่ทำให้เราแตกต่าง ก็คิดเรื่องของยายขึ้นมาทำเป็นหนังสั้น แล้วก็หอบทีมที่ลอนดอนมาไทย ก็จะมีโปรดิวเซอร์เป็นคนโมรอคโค ตากล้องเป็นคนอินเดีย คนดูแลด้านเสียงเป็นคนรัสเซีย เพราะงั้นในกองถ่ายนั้นจะมันส์มากว่าจะไม่มีใครรู้เรื่องเลยว่าพูดอะไรกันนอกจากเรา ซึ่งทำให้ทุกวันต้องนั่งอธิบายทุกคนว่าฟุตเทจที่ถ่ายมามันดีมากเลย แต่เขาก็จะมีข้อสงสัยแบบที่คนต่างประเทศสงสัยแต่เราไม่สงสัย
จนทุกคนกลับไปเหลือฟุตเทจในฮาร์ดดิสก์ แล้วก็เจอ พี่ลี (ลี ชาตะเมธีกุล ผู้ลำดับภาพและผู้ตัดต่อเสียง) ที่พูดว่า ‘คนทำหนังก็ควรจะทำได้โดยที่เราไม่มีข้อจำกัด’ ก็เลยเข้าไปคุยกับพี่เขา ก่อนจะได้เจอกับโปรดิวเซอร์คนปัจจุบันแล้วหนังสั้นก็ตัดต่อจบ ได้เรียนจนจบ แล้วเราก็เห็น Material บางอย่างในหนังสั้นตัวนั้น ก็เลยอยากจะทำเป็นภาพยนตร์ขนาดยาวขึ้นมา โดยเก็บตัวหนังสั้นไม่ได้ไปฉายต่อที่ไหน ส่วนตัวหนังเต็มจะฉายปีหน้า โดยที่ทำงานเป็นผู้กำกับโฆษณาในการหากินใช้ชีวิตประจำวันด้วยค่ะ (หัวเราะ)
ปราง – เมื่อก่อนเราต้องเรียนพิเศษในสยาม ช่วงที่มีรถไฟฟ้าใหม่ๆ เราก็เลยโดดเรียนไปดูหนัง เราก็เลยเอนท์ไม่ติด แล้วก็ไปเรียนภาพยนตร์ต่อที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ พอเรียนไปแล้ว ก็ส่งงานเข้าประกวด ก็ได้รางวัลบ้าง ไม่ได้บ้าง พอเรียนจบก็ได้ก้าวเท้าเข้าไปได้แค่ครึ่งตัว เพราะเขียนบทแล้วไม่ได้ทำต่อบ้าง แต่ก็ยังทำหนังส่งประกวดต่อไป จนวันหนึ่งเราก็อยู่ในสภาพที่ความฝันมันหาย ก็มาทำงานบริษัทโปรดักชั่นของตัวเอง แต่ก็ยังเขียนบทเก็บไว้ เป็นเวลา 10 กว่าปีที่ไม่ได้ทำอะไรกับหนังเลย จนปลายปีที่ผ่านมา มีคนมาเสนอว่าให้ทำหนัง โดยที่เขาก็บอกว่า ‘แมสมากเลยนะ ไม่เป็นตัวเจ้เลยนะ’ ก็ตกลงค่ะ เพราะอยากเล่าเรื่อง เรื่องอาจจะดราม่า แต่ก็แค่อยากจะบอกว่า 10 ปีที่ฝันมาก็ยังไม่สาย และถ้านายทุนคนในสนใจก็ติดต่อมาได้นะคะ มีเรื่องในสต็อกเยอะค่ะ (หัวเราะ)
โดยสรุปแล้ว ที่มาทำหนังกันนี่ก็มาจาก Passion ทั้งนั้น จึงมีคำถามต่อไปว่า ไอเดียตั้งต้นของหนังแต่ละเรื่องมีการคิดอย่างไรกันบ้างใน
ตั๊ก – ไอเดียตั้งต้นของมันมาจาก พี่อ้วน กับ พี่หมู Bioscope ที่ชวนตั๊กไปกำกับค่ะ เพราะเขามีไอเดียตั้งต้นมาสามสี่ปีแล้ว จากคลิปที่มีแกงค์กะเทยวัยรุ่นไปเต้นหน้าฮ่าน ซึ่งพี่เขาไปเจอแล้วคิดว่ามันสนุก ก็อยากเข้าใจวัฒนธรรมนี้ ก็เลยอยากสำรวจ ตอนแรกที่คุยกันนั้นตั๊กก็ยังไม่ได้คิดจะทำเรื่องวัยรุ่นไปเต้นหน้าฮ่านนะคะ แต่มันมีคำคำนึงที่ติดอยู่ในหัวของตั๊กก็คือ ‘เด็กพอกะเทิง’ คือ เด็กที่กลับไม่ได้ไปไม่ถึง เรียนก็ไม่เก่ง โง่ก็ไม่โง่ อยู่ตรงกลาง เป็นได้มากสุดก็แค่เด็กถือดอกไม้ให้นายอำเภอ
แล้วทีนี้เราก็เลยรู้สึกว่า พอมองย้อนกลับ เวลาตั๊กกลับบ้าน เราก็จะมีเพื่อนที่โตมาแบบนี้จะเยอะมาก แล้วกิจวัตรของเพื่อนก็คือจะไปสืบเสาะหาการเต้นหน่าฮ่านโดยตลอด ซึ่งเราก็คิดว่า เด็กพอกะเทิงน่ะ มีพื้นที่ของเขาอยู่ตรงนั้นนี่หว่า ก็เลยได้เริ่มทำหนังเรื่องนี้
ตอนแรกๆ ที่เริ่มเขียนบทก็ใช้อินเนอร์และความทรงจำ แล้วก็อ้างอิงจากเวลากลับบ้าน พอลงพื้นที่ก็จะเป็นช่วง 3-4 เดือนก่อนหน้าที่จะถ่าย เพื่อหาโลเคชั่นที่เหมาะสม แล้วก็หาวงหมอลำที่ดังที่สุด คือแต่ก่อนวงเสียงอีสานจะดังสุด แต่ว่าตอนนี้มันดังเท่าๆ กัน แล้วเราก็ดูว่าวงไหนที่ทันสมัยที่สุด เล่นอยู่ในวัฒนธรรมที่ตามกระแสที่สุด วัยรุ่นไม่เคยหายไปจากหน้าเวทีเขาเลย จากนั้นก็จะเป็นการลงไปพื้นที่สำรวจว่า ความสนุกมันเปลี่ยนแปลงไปรูปแบบไหนได้บ้าง อย่างบางวงตอนนี้ก็เต้น BNK บางวงก็เต้น Blackpink เราเลยรู้สึกว่า นี่ล่ะคือสิ่งที่มันเปลี่ยนไป แต่รากของมันยังเหมือนเดิม
โรส – หลังจากที่เรียนจบ เราก็ยังไม่ได้ทำหนังตัวเอง เพราะเราไม่ได้คิดว่าตัวเองจะเป็นผู้กำกับ แต่โรสชอบเขียนก่อน ไม่ว่าจะเขียนเรื่องสั้น เขียนหนังสือ แล้วเรื่องที่เขียนมันค่อนข้างจะเป็นเรื่องส่วนตัว คือมันไม่ใช่เรื่องแต่ง 100% พอเราไปเรียนต่อที่เยอรมัน เราก็รู้สึกไกลบ้าน รู้สึกคิดถึงบ้าน คิดถึงแม่ คิดถึงน้อง พอมันอยู่ไกล เราก็อยากเล่าเรื่องธรรมดาสามัญให้เขาฟัง เราก็เลยสนใจสิ่งเหล่านี้ ก็เลยค่อยๆ เก็บทีละอย่าง แล้วเราก็อยากแปลสิ่งนี้มาเป็นอะไรสักอย่าง
หลังจากไปอยู่เยอรมนีสองปี ครั้งหนึ่งก็กลับมาเยี่ยมบ้านแล้วแม่ก็บอกว่าเราจะไปเยี่ยมพ่อที่ไม่ได้อยู่ด้วยกัน ก็เหมือนเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่ไปด้วยกัน ตอนไปเราก็มีกล้องเล็กๆ ไปด้วย ก็ถ่ายรูปไปเรื่อยๆ จนพอเรามีบทสนทนาบางอย่างด้วยกัน แต่มันเป็นอะไรที่แปลกจากปกติ เราก็เลยตัดสินใจอัดวิดีโอไว้เฉยๆ โดยไม่ได้กะว่าจะทำเป็นหนัง จนมาคุยกันว่าพ่อเคยไปเบอร์ลิน เคยอยู่เยอรมนี ซึ่งมันเป็นสิ่งที่เราไม่เคยรู้ มันเลยเป็นอีกพ้อยต์หนึ่งที่ทำให้เราคิดว่า ยังมีอีกหลายเรื่องที่เราไม่เคยรู้ ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องของครอบครัว ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องคนที่สนิทกับเรามากๆ พอกลับมากรุงเทพ ก็เริ่มดูรูปเก่าๆ ก็เลยลองพัฒนาโปรเจกต์ขึ้นมา โดยเขียนพาร์ทหนึ่งเป็นเรื่องแต่ง
ประจวบเหมาะกับตอนที่ไปสิงคโปร์ก็มีการพัฒนาบท เราก็ได้พาร์ทภาพจริงที่เป็นเรื่องครอบครัว พอตัดสินใจว่าจะทำโปรเจกต์นี้ ก็เอาพาร์ทเรื่องแต่งมาเล่าเป็นเรื่องของหนุ่มสาวที่ฝ่ายหญิงกำลังจะไปเยอรมัน กำลังรักกัน จีบกัน เลิกกัน ลาจากกัน ก็ให้มันสะท้อนกันไปมา พอกลับมาไทย แล้วแม่ของเราก็โรงพยาบาล แล้วก็เสียในช่วงสองอาทิตย์ เราก็เลยรู้สึกไม่อยากทำแล้ว ก็พักโปรเจกต์ไปแล้วก็กลับไปเยอรมัน
ช่วงที่กลับไปเยอรมันก็รู้สึกเคว้งจริง คือช่วงงานศพเหมือนในตัวอย่างหนัง (นคร-สวรรค์) เลย เราไม่มีเวลาคิดอะไรจริงๆ จนวันหนึ่งมีรุ่นน้องชวนมาเขียนหนังสือ ก็เลยไปทำเพราะมันเหมือนเป็นเรื่องเดียวที่เบี่ยงเบนประเด็นเราได้ ตอนนั้นก็เขียนเรื่องสั้นเรื่อง ‘นครสวรรค์’ ตามโจทย์ที่บอกว่าให้เล่าเรื่องราวที่มาจากโลเคชั่น พอเขียนเรื่องสั้นเรื่องนี้จบ แล้วเราก็รู้สึกว่าอยากจะทำอะไรสักอย่าง ก็เลยตกลงว่าทำกลับมาทำโปรเจกต์หนังที่ใช้ชื่อว่า นคร-สวรรค์ นี่ล่ะ
โดยพาร์ทภาพจริงก็ยังเป็นของเดิม แต่พาร์ทเรื่องแต่งก็นำมาปรับใหม่ มาเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นหลังจากแม่เราเสียไปแล้วขึ้นมา
เป็นการผสมระหว่างสองโหมดที่มีเรื่องแต่งกับฟุตเทจจริงที่ถ่ายมาแล้ว ไม่ใช่การถ่ายสารคดีขึ้นมาใหม่
โรส – ความง่ายของโปรเจกต์นี้ก็คือ การมีภาพจริงเยอะ ทำให้เรามีโครงคร่าวๆในการทำเรื่องแต่ง อย่างที่เราเปิดดูที่เราคุยกับพ่อ หรือฟุตเทจแม่ที่ถ่ายเก็บไว้ เราก็จะมีภาพว่าควรจะแต่งเรื่องแต่งว่ายังไง เราควรจะแต่งเรื่องให้ล้อกัน หรือแตกแยกออกจากกัน ส่วนที่ยากก็น่าจะเป็นช่วงตัดต่อ คือมันเป็นการจัดการข้อมูลที่เยอะไปหมด ว่าเราควรจะเรียงเรื่องแบบไหน เพราะมันมีวัตถุดิบหลากหลายมาก บางที บางฟุตเทจมันอาจจะทำงานกับเรา แต่อาจจะไม่ได้ทำงานกับคนดู ซึ่งคนที่มาช่วยตัดต่อก็ช่วยกันดูว่าลองสลับฟุตเทจไหม เพราะมันอาจจะทำงานได้แบบที่เราไม่เคยคิดมาก่อนก็ได้
ในส่วนของ ‘กร’ ที่เป็นหนังสารคดี ได้ยินมาว่า subject หลักคือคุณยาย แล้วคุณยายเป็นใครมาอย่างไร
กร – กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว (หัวเราะกันทั้งห้องเสวนา) ประเทศไทยยังมีแคว้นต่างๆ เต็มไปหมด เมื่อก่อนก็จะมีอาณาจักรที่ชื่อว่า ‘ล้านนา’ ในภาคเหนือ ซึ่งเชียงใหม่จะเป็นเมืองหลวงของล้านนา แต่ในแต่ละเมืองก็จะมีเจ้าปกครองกันไป อย่าง เจ้า ณ เชียงใหม่ เจ้า ณ ลำพูน แล้วก็เมื่อก่อนเนี่ย เชียงใหม่ ก็จะเป็นดินแดนที่ ไทย กับ พม่า ห้ำหั่นกันเพื่ออยากได้ แต่สุดท้าย ด้วยระบบที่เปลี่ยนไปก็ทำให้เชียงใหม่เป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว อาณาจักรล้านนาก็ไม่มีอยู่ กลายเป็นแค่เรื่องเล่า เชียงใหม่ก็กลายเป็นจังหวัดที่โด่งดังเรื่องการท่องเที่ยว และวัฒนธรรม และฝุ่น (หัวเราะ)
กษัตริย์องค์สุดท้ายของเชียงใหม่เนี่ยก็คือ เจ้านวรัตน์ แล้วยายของเราก็เกิดในวัง โตมาในวังไม้สัก มีข้าราชบริพาร ยายเรายังได้เคยสัมผัสอะไรแบบนั้นอยู่ ก่อนจะเกิดสงครามโลก แล้วเจ้าเมืองโดนถอดอำนาจ ปัจจุบันพระราชวังนี้ก็ไม่เหลือแล้ว ขายให้กับพ่อค้าคนจีน เพราะเมื่อเจ้าเมืองต้องปรับเข้าสุ่ยุคทันสมัย ต้องปรับตัวเพื่อทำมาหากิน ยศเริ่มไม่มีความหมาย ก็ต้องขายของเพื่อเอาเงินมาใช้ชีวิต สุดท้าย ยายของเราก็จะกลายเป็นสามัญชน แต่ในบัตรประชาชนของยาย ก็จะระบุว่าเป็น ‘เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่’ ซึ่งก็เป็นรุ่นสุดท้ายที่ได้ตำแหน่งนี้
แล้วยายเราในเมืองเชียงใหม่ก็จะเป็นสัญลักษณ์ในเรื่องวัฒนธรรม โดนปฏิบัติตัวเป็นคนดังของที่นั่น แล้วสุดท้าย เราเองก็อยู่กรุงเทพ เราก็ไม่ได้คิดอะไร แต่เวลาที่เราบินจากกรุงเทพไปเชียงใหม่ มันก็จะเป็นอีกโลกหนึ่ง ที่เราต้องใส่ผ้าซิ่นออกงาน เราก็มีความอึดอัดกับวัฒนธรรมที่นั่น แล้วเราก็ไม่เข้าใจยายเรา อึดอัดใจกับบางอย่างที่ยายเราเป็น คือเรางงกับสิ่งนี้ ที่เกิดในชีวิตเรา แล้วมันก็ทำให้เราสงสัยว่าทำไมยายเราถึงมีความคิดแบบนี้ ที่แตกต่างจากคนธรรมดา คือยายเราใส่ผ้าซิ่น ไม่เคยใส่กางเกงยีนส์ เหมือนหลุดออกมาจากหนังพีเรียด พอเราถ่ายหนัง ยายเราก็จะทักเราที่ใส่กางเกงยีนส์ขาดๆ ว่าทำไมแต่งตัวเหมือนขอทานเลย (หัวเราะ) แล้วเราก็ถ่ายทำเรื่องของยายเรา เรียนรู้โลกของเขา แล้วเราก็เดินทางมาถึงจุดที่เราเริ่มหลงรักวัฒนธรรมล้านนา
คือแปลกมากเลยว่าเราเติบโตมาจากขั้นตอนการทำหนังของเราเหมือนกัน มันสร้างอะไรบางอย่างให้เรา แล้วทุกครั้งที่มองยาย เราก็จะเห็นตัวเองในนั้น ตัวหนังเรื่องนี้ก็เลยดำเนินมาโดยมีความรู้สึกที่เรามองยาย แล้วเข้าใจไปในโลกของเขา เราก็พบว่าทำไมยายเป็นคนแบบนี้ ทำไมเขาถึงเชื่อแบบนี้ และเราก็พบว่ายังมีคนล้านนามกลุ่มหนึ่งที่เชื่อแบบที่ยายเราเชื่อด้วย
คือกรคิดว่า เมืองไทยทำสารคดีเรื่องเจ้าเป็นแนวเชิดชู โชคดีอย่างหนึ่งที่เราทำหนังเรื่องนี้ได้ เพราะเรามองเขาเป็นยาย มองในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง เพราะฉะนั้น หนังของเราน่าจะได้มุมมองใหม่ในมุมมองเรื่องเจ้า แล้วเราก็เลยรู้สึกว่าหนังมันท้าทายดีเหมือนกัน
‘ปราง’ เป็นผู้กำกับตอนหนึ่งของของภาพยนตร์ ‘บางกอก…สยอง’ ดูจากตัวอย่างแล้ว ตัวละครดำเนินเรื่องด้วยตัวละครหลักเป็นผู้หญิงสองคน ทำไมถึงสนใจการเขียนให้ผู้หญิงเป็นตัวละครหลัก
ปราง – เรามีความรู้สึกว่า อาจจะเป็นด้วยตัวเองเป็นคนสุด เราเป็นคนที่ชอบให้คาแรกเตอร์นำ เพราะเราเชื่อว่าถ้าคาแรกเตอร์มันเปรี้ยง มันจะนำพาได้ไกลกว่าที่คุณจินตนาการว่า ในเมื่อเราได้โจทย์มาว่า ผี-ตลก เราก็คิดว่าจะทำยังไงวะ คนคาดหวัง แล้วถ้าทำไม่ดีคนต้องด่าเราแบบจมธรณีแน่ๆ เลย แต่ไม่เป็นไรได้โอกาสมาแล้ว ก็เลยมองว่า อ้อ คนอื่นเขียนละ ส่วนใหญ่เอาผู้ชายเป็นตัวนำ อ๊ะ เอาผู้หญิงดีกว่า เราน่าจะเข้าถึงได้ง่ายกว่า แล้วก็เลยมองย้อนไปว่าบนวัฒนธรรมสมัยนี้ มันมีอะไรบ้าง เราสิงอยู่กับหน้าจอ กับโลกออนไลน์ที่ไม่มีอยู่จริง มากกว่าชีวิตที่มันอยู่ข้างๆ เรา ออนไลน์มันอวตารก็ได้ ของจริงอาจจะเป็นอีกแบบนึง เราก็เลยมองว่าอันนี้น่าสนใจ ผู้หญิงนี่แหละน่าสนใจ แล้วก็เลือกคาแรกเตอร์ให้มันเป็นการ์ตูน ไม่สมจริง เพื่อให้มันขับเนื้อหาที่เราต้องการสื่อสารในการกัดจิกอะไรก็ได้ ก็เลยคิดว่าเลือกผู้หญิงมา แล้วก็ใช้พลังผู้หญิงเลย เป็นผู้หญิงสองคนนำเรื่องตลอด ทั้งเรื่องก็จะเห็นผู้หญิงสองคนต่อไดอะล็อกกันตลอดเวลา
ตัวละครจากที่เห็นในหนังเป็นสาวเปรี้ยว ต้องมีอินเนอร์ที่เขียนให้ตลกไหม
ปราง – เออ จริงๆ ก็นั่งคิดนะว่า ตอนที่เราตั้งใจตลกแล้วคนดูจะไม่ตลก เราก็ทำให้พูดไม่ตลกแล้วเซ็ตคาแรกเตอร์ให้แข็งแรงแทน เพื่อให้ทำพฤติกรรมแล้วก็ให้พลังอะไรบางอย่างกับคนดู มันก็เลยออกมาว่าจะไม่ใช่ตลกสังขาร หรือ คำหยาบ ที่คุณอาจจะเคยเห็น ก็อยากจะให้ตัวละครเป็นเหมือนเพื่อนคนดู ซึ่งถ้าไม่มีสื่อมานั่งชมตรงนี้ (คนดูหัวเราะ) เราคงจะถกเรื่องนี้กันในอีกแบบหนึ่ง ส่วนทั้งสามตัวละครในสามตอนของบางกอก…สยอง ที่เป็นผู้หญิง อันนี้เป็นเรื่องบังเอิญมากกว่า ด้วยเราเป็น Feminist แต่น้องอีกสองคน (อัลวา-อัลวา ริตศิลา กับ อาม-อนุสรณ์ สร้อยสงิม ผู้กำกับบางกอก…สยอง อีกสองตอน) ก็เป็นผู้ชาย ก็น่าแปลกใจที่เขาใช้ผู้หญิงมาสื่อสารเรื่องนี้ แล้วก็ทำเรื่องออกมาหลากหลาย
เจออะไรที่บีบคั้นตัวเองบ้าง แล้วอยากปรับเปลี่ยนอะไรไหม
ตั๊ก – คือ… คงไปปรับไม่ได้ค่ะ แต่ถ้าเป็นความคับข้องใจหรือว่าความเสียใจ อย่างเช่น มีโรงภาพยนตร์โรงหนึ่งที่หนังยังฉายอยู่ ยังได้ฉายสองรอบต่อวัน แต่เวลาไม่ค่อยดีเท่าไหร่ อย่างรอบสิบโมง กับ หกโมงเย็น แล้วทีนี้ก็มีคนที่ลางานไป ซึ่งโรงมันไกลมาก มันอยู่นอกเมือง เขาก็บอกว่าเขาเช็คมาแล้วในแอพว่าหนังฉายรอบนี้นะ พอเขาไปถึงโรงที่หน้าเคาท์เตอร์ แล้วพนักงานก็บอกว่า รอบสิบโมงก็ไม่มีแล้วค่ะ ก่อนที่พนักงานจะขอโทษว่าในแอพมันไม่อัพเดท เราก็เลยรู้สึกว่าอยากให้ช่วยเราหน่อย คือคุณจะปรับรอบเราก็ได้ แต่ช่วยอัพเดทรอบหน่อยนะพี่จ๋า คือเราก็เสียใจแหละ แต่เราเสียใจแทนคนไปดูมากกว่า ซึ่งก็คงไม่น่าไปปรับเปลี่ยนได้ แต่ก็อยากจะขอวิงวอนว่า ‘นิดนึงนะคะพี่’ อะไรแบบนั้นล่ะค่ะ
ปราง – คือเวลาที่เรามาถึง (สถานที่เสวนา) เรายังคุยกันอยู่เลยว่า โรส เนี่ยรอบวันนี้มันยังไม่สรุปเลย
พิธีกร – ถ้าเกิดการทำหนังเข้าสู่การเป็นธุรกิจ มันเหมือนมีความเสี่ยงอยู่ตลอดเวลา มันเป็นความเสี่ยงที่เราจะยินดีรับหรือไม่ยินดีรับ ก็ต้องต่อสู้กับมันล่ะนะ แล้วถ้าอย่างนี้ สมมติว่าหนังของเราไม่ได้โฟกัสกับการขาย อย่างหนังของบางท่านยังมีความเป็นหนังนอกกระแสอยู่พอสมควร
ตั๊ก – ไม่ คือเรารู้สึกว่า ทุกเรื่องก็อยากขายหมด อย่างสมมติว่า ของพี่โรส หนังนคร-สวรรค์น่ะ เขาก็ค่อนข้างเข้าใจกลยุทธ์ว่าหนังทำแบบนี้ ตลาดเขาอยู่ตรงนี้ คือความเข้าใจเขาก็ถูก แต่มันก็มีการเตะตัดขากันเกิดขึ้นนะคะ
ปราง – ก็สรุปรายได้เมื่อวานของบางกอก…สยอง เมื่อวานนะคะ ข้างบนก็มี Aladdin, John Wick, Avenger แล้วก็อะไรอีกเรื่องนึง เราอยู่อันดับ 5 นะคะ ข้างบนเป็นค่ายใหญ่ระดับ Big แต่เราก็ไม่อยากจะบอกว่าหนังเราดีที่สุด แต่ว่าข้างบนที่เขาเป็นอภิมหาบิ๊กบึ้มระดับโลก มันทำให้เราเหลือลงมาแค่อันดับ 5 แล้วโรงจากวันแรกที่ได้หลายจอ วันที่สองก็ยังพอประคองไว้ได้ พอวันที่สาม วันนี้ ก็โรงลดไป 30% แล้ว เนี่ยค่ะ ฉายแค่ไม่กี่วัน ก็อย่างที่น้องตั๊กบอกเลยว่า มันลดลงอย่างใจหาย
แล้วเราก็มีปัญหาเหมือนกันอย่างเพื่อนบอกว่า เฮ้ย จะไปดูเสาร์อาทิตย์นี้ ซึ่งมันเป็น Prime Time ของคนที่จะมาดูหนัง แล้วเราคิดว่าจะมีคนมาดูหนังในวันเสาร์อาทิตย์ กลายเป็นว่าจากโรงนี้ที่เคยฉายห้าเวลา ก็จะโดนตัดละเหลือสามเวลา มันตัดกำลังใจของคนทำงานเอง แล้วก็คนที่อยากลองเสพอะไรใหม่ก็ท้อถอย ก่อนหน้านี้ก็ไม่เคยรู้สึกอินขนาดนี้จนหนังตัวเองฉาย มันก็เลยแบบ เอ้อ นี่ล่ะ
โรส – คือโรสรู้สึกว่า พอเป็นผู้กำกับหน้าใหม่มากๆ หนึ่ง มันไม่มีใครรู้จักเราแน่ๆ สอง มันจะต้องใช้พลังงานอีกเยอะมากที่จะทำให้ทุกคนรู้จัก คำถามก็คือเขาจะมารู้จักเราทำไม แต่ที่นี้ที่อยากแชร์ก็คือ เรามีกลุ่มคนดูจริงๆ ที่อยากดู แต่เราแค่ต้องหาตัวกลางที่จะพาหนังเราไปให้คนไปดู อย่างหนังของเราชื่อ นคร-สวรรค์ คนจังหวัดนครสวรรค์ เลยคิดว่ามันต้องเกี่ยวกับจังหวัดเราจริงๆ ตอนแรกก็เราลองคุยกับทางเมเจอร์ เราเห็นคนที่มาคอมเมนต์ กดไลค์ หรือ กดแชร์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่คนที่เราไม่ได้นึกถึงมาก่อน ตอนที่รู้ก็เสียใจที่ตัวเองไม่ได้นึกถึงนะ คือมันไม่คาดคิดว่า มันมีกลุ่มคนที่อยากดูจริงๆ ถึงเราแม้ว่าเหตุผลที่เขาอยากดูคืออะไรก็ตาม แต่มันมีคนที่พร้อมจะจ่ายนะ แค่ต้องมีที่ให้เขาดู เราก็เลยลองคุยกับเมเจอร์ว่า เนี่ยที่นครสวรรค์มันมีโรงสองสาขานะ อยากดูสาขาไหนมากกว่า พอเราเห็นประมาณนึงเราก็รู้ก็บอกเขาได้ ตอนนี้ (วันที่จัดงานเสวนา) ก็น่าจะนั่งดูกันอยู่
มันเหมือนพอเป็นหนังเล็กๆ มันต้องใช้ความพยายาม ไม่ใช่แค่เรา แต่ต้องคนดูด้วย ทั้งๆ ที่เราไม่อยากผลักภาระไปให้เขาเลย เพราะการที่คนจะต้องลางาน มันใช่เหรอ ด้วยฟังก์ชั่นของหนังคือเหมือนคุณไปเสพงาน ไม่ว่าคุณจะอยากหัวเราะ หรือร้องไห้ก็ตาม มันเป็นการลงทุนอ่ะ มันไม่ใช่แค่ค่าตั๋ว แต่มันคือค่าเดินทาง ค่ารถ ค่ากิน ค่าป๊อปคอร์น ค่าเวลาอีก ที่เขาจะต้องเดินทางไปดูหนังเรื่องนี้ อย่างสาขาต่างจังหวัด อย่างเชียงใหม่ ก็ไม่ใช่แค่สาขาเชียงใหม่ แต่มันเป็นศูนย์กลางภาคเหนือ แสดงว่าคนที่อยู่แถวๆ นั้น ก็ต้องเดินทางไปเชียงใหม่เพื่อดูหนัง มันเห็นพลังของคนดูจริงๆ แล้วเราก็ไม่ได้อยากผลักภาระให้คนดูขนาดนั้นไง
ก็เลยรู้สึกว่าสิ่งที่มันน่าสนับสนุน น่าจะเป็น ที่กลาง หรือ วิธีการจัดการอะไรบางอย่างที่ช่วยเพิ่มพื้นที่ให้หนังเล็กๆ ของพวกเรา คือคนดูอยากดูแหละ แต่แค่ เขาไม่ได้มีเวลาสิบโมงที่จะมาดูหนังได้
คือจริงๆ ก็ไม่ได้คิดว่าโรงเป็นมารผจญขนาดนั้นนะ เรารู้สึกขอบคุณอยู่แล้วที่โรงให้พื้นที่หนังเล็กๆ ของเรา แต่มันควรจะมีมาตรการที่มาช่วยเหลือกัน อาจจะไม่ใช่แค่โรงหนังกับคนทำหนังด้วยกัน แต่ต้องมีบุคคลที่สามที่มาช่วยอนุเคราะห์หรือเปล่า เหมือนแบบ ในช่วงนี้มันควรจะมีหนังของพวกเราในรอบทุ่มนึงสักรอบหนึ่งหรือเปล่า แต่ถ้าโรงหนังบอกว่า นี่มันเป็นเรื่องการค้า ถ้าเราทำแบบนี้ก็ขาดทุนสิ มันควรจะมีนโยบายหรือสิ่งช่วยเหลือหรืออะไรที่ช่วยเหลือทุกคน ไม่ใช่แค่คนทำหนัง แล้วโรงหนังก็ต้องอยู่ได้ เหมือนมันไม่ใช่การทำงานแค่คนทำหนัง กับโรงหนัง และคนดู แต่มันยังมีอะไรยุบยิบอีกเยอะมาก คิดว่ามันน่าจะต้องมีการพูดคุยหรือจัดการอะไรบางอย่างหรือเปล่า
ตอนที่ทำหนังกัน ถ้าเป็นไปได้แต่ละคนอยากเลือก ทีมงานผู้หญิง มาร่วมงานไหม
ปราง – ด้วยความที่เราเป็นไบเซ็กชวล ผู้หญิง-ผู้ชายเราได้หมด เราไม่มีปัญหาเรื่องนี้ อยากในหนังเราก็มีนักศึกษาฝึกงานจาก ม.กรุงเทพ เป็นเด็กผู้ชายเรียนภาพยนตร์หน้าใสๆ เราก็โอเค เราก็ต้อนรับ เพราะเรามีความรู้สึกว่า ผู้หญิงกับผู้ชายก็ทำงานได้เหมือนกัน แทบไม่ต้องเลือกเพศดีกว่า แค่บอกว่าคนนั้นทำงานตำแหน่งอะไรแล้วก็จบ นอกจากเรื่องแคสติ้งเท่านั้นเอง ที่จะเลือกเพศชายหรือเพศหญิง สำหรับคนทำงานแล้วแทบไม่ต้องพูดถึงเลยค่ะ
กร – ของเราเป็นสารคดีแนวสังเกตการณ์ (observational) นะคะ เพราะงั้นเนี่ย ผู้กำกับจะต้องจับกล้องด้วย กองที่เรามี ก็มีตากล้องอีกคนนึง แล้วก็มีคนอัดเสียงอีกคน แล้วก็มีเรา แล้วก็มีโปรดิวเซอร์อีกคนหนึ่งที่คอยจัดการงานเบื้องหลังในกอง ซึ่งสามคน ผู้กำกับ ตากล้อง คนอัดเสียงของกองแนว observational มันต้องใช้ภาษามือ เพราะมันพูดไม่ได้ เพราะเราต้องแอบถ่าย เราต้องไม่อยู่ตรงนั้น ให้ Subject เขารู้สึกไม่กระอักกระอ่วนใจ คือต้องอยู่ไปสักพักให้ Subject รู้สึกว่ากล้องก็เหมือนการมีเพื่อน
ดังนั้นคนที่อยู่ในกองเราต้องรัก เคารพ ต้องได้รับความไว้ใจจาก subject ของเรา คือสุดท้ายเราต้องโยนทีมนี้เข้าไปในห้องนอนของเขาโดยที่ใช้ชีวิตอย่างปกติได้ มันคือขั้นตอนของการไว้เนื้อเชื่อใจกันมากๆ เพราะบางทีมันคิดไม่เหมือนกัน แต่เราไม่สามารถบังคับให้ subject “เออ ช่วยกินแบบตะกี้อีกรอบนึงได้ไหม”
เราใช้เวลาหนึ่งเดือนแรกโดยไม่มีการใช้กล้องไปเลย เพื่อให้รู้จักยายเรา มันก็เป็นขั้นตอนการทำงานของเราละ เรื่องผู้หญิง-ผู้ชาย สำหรับเราแล้ว ถ้าเป็นผู้ชายน่ารักก็โอเค ถ้าเป็นผู้หญิงน่ารักก็โอเค มันคือเพศอะไรก็ได้ขอแค่ให้เกียรติคนที่ทำงานด้วยกันก็พอ
ตั๊ก – ไม่ติดว่าจะเป็นเพศอะไร แต่เรื่องแรกเราใช้ทีมผู้หญิงทั้งหมด เพราะพระเอก-นางเอกเราตัวเล็ก แล้วหนังต้องใช้กล้องแฮนด์เอลด์ ก็เลยจะเป็นเรื่องสรีระ พอเป็นหน่าฮ่าน ก็จะเป็นเลือกจากสไตล์การทำงานและนิสัย ไม่ได้เลือกจากเพศ คือพอเป็นหนังเรื่องแรกที่มีนายทุน เราก็จะรู้สึกกังวลว่า เราเป็นผู้กำกับที่เพิ่งทำหนัง เราก็ยังไม่ค่อยมีความมั่นใจ ถ้าเกิดเราจะเอาไปตากล้องที่เราชอบ เขาก็มีชื่อ แต่เราต้องคำนึงถึงสไตล์งานที่สำคัญ ก็ดูจากการพูดคุย แล้วก็เสียงลือเสียงเล่าอ้างว่าคนทำงานคนนี้เป็นยังไง ทุกตำแหน่งในกองไม่ได้ขึ้นอยู่กับเพศค่ะ
โรส – คืออย่างเรา ก็มีเพื่อนกัน มันรู้ใจกัน ว่าหนังเรื่องนี้จะต้องถ่ายโดยผู้หญิงเท่านั้น ไม่ใช่ว่าหนังเรื่องนี้เป็นเรื่องผู้หญิงแล้วจะต้องถ่ายโดยตากล้องผู้หญิงเท่านั้น เราแค่สบายใจที่จะทำงานกับคนคนนี้ก็เท่านั้น และทีมงานทั้งหลาย ถ้าจะมีทีมงานผู้ชายก็ไม่ได้ติดนนะ
ตั๊ก – แต่มันก็มีเรื่องผู้หญิงผู้ชายอยู่บ้างอย่างเช่น หลายๆ ซีนที่เกิดจากอินเนอร์ความเป็นผู้ยิ้งผู้หญิง ทีมงานผู้ชายก็อาจจะไม่เข้าใจว่าทำไมต้องทำแบบนี้ มันก็ขึ้นอยู่กับการอธิบายของเรามากกว่าจะทำให้เขาเข้าใจได้ไหม
กร – อันนี้เป็นเคสส่วนตัวนะ เราชอบทำงานกับคนที่กล้าถาม เพราะมันทำให้เราได้คิดมากขึ้น ดังนั้นการทำงานกับเพื่อนมันจะสนุกว่า มันกล้าด่าเราว่าคิดห่าอะไรเนี่ย สำหรับเราคิดว่าการทำงานแล้วเดินหน้า มันคือการดึงไอเดียของกันและกัน กับการทำงานกับคนที่กล้าจะ Push เรากับสิ่งที่ทำ