ตัวละครมนุษย์ตายยังพอรับได้ แต่หมาตายรับไม่ไหว
คุณเป็นเหมือนกันไหม ถ้าหนังเรื่องไหนมีน้องหมาหรือสัตว์เลี้ยงน่ารักโผล่ออกมา เราจะเริ่มรักใคร่น้องหมาตัวนั้น ยิ่งถ้าเป็นหนังโหดๆ ตัวละครตายเป็นเบือ เช่น Game of Thrones เรามีน้องหมาป่า ดำเนินเรื่องไปซักพักเริ่มเอะใจว่าน้องหมาจะรอดไหม
หนังหลายเรื่องมีชีวิตน้องหมาเป็นตัวเอก ในฐานะคนรักหมาก็อยากจะดูนะ แต่ลึกๆ แล้วเรารู้ดีว่าหลายเรื่อง ชีวิตน้องหมาต้องจบลงที่การจากไปของตัวละครหลัก หนังเช่น Marley & Me ก็แสนสุขดี แต่ตอนท้ายคือร้องไห้เป็นเผาเต่า จอห์น วิค ที่กำลังกลับมาใหม่ก็มีหมาเป็นผลกระทบทางใจ เป็นต้นเรื่องของมหากาพย์การล้างแค้น
สิ่งที่น่าสนใจคือ การสังหารน้องหมาในจอห์น วิคเอง ก็มีบทสัมภาษณ์ว่า เป็นหนึ่งในการตัดสินใจและการถกเถียงที่ยากลำบากระหว่างโปรดิวเซอร์และนักเขียนบท แปลว่าการใช้และให้ภาพการสังหารสุนัขเป็นหนึ่งในประเด็นใหญ่ของหนังซึ่งส่งอิทธิพลต่อทั้งคนดู สำหรับจอห์น วิค สุดท้ายการตายของลูกหมาเป็นจุดเชื่อมโยงสำคัญที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นอบอุ่นใจ การหายไปของหมาคือการหายไปของวิญญาณ นำไปสู่การล้างแค้นที่ไม่จำเป็นต้องมีหัวใจมาประกอบอีกต่อไป
การตายของสรรพสัตว์โดยเฉพาะสุนัข เป็นเรื่องเป็นราวเบื้องต้น เชื่อว่ามีหลายคนที่รู้สึกราวราน เมื่อเจอฉากตัวละครน้องหมาเสียชีวิตหรือถูกทำร้าย หลายคนพาลรู้สึกหมกมุ่นจนเสียอรรถรสในการดูหนังไปหลายนาที บางคนถ้าเลือกได้ หนังเรื่องไหนมีหมาตายก็หลีกเลี่ยงที่จะไม่ดู ประเด็นเรื่องหมาตายหรือไม่ในหนังจริงจังถึงขนาดมีเว็บไซต์เอาไว้ตรวจสอบก่อนชมชื่อ DoesTheDogDie.com เอาไว้เปิดดูกันก่อนว่าในหนังเรื่องนั้นมีหมามั้ย หมารอดไหม หรือหมาเจ็บเฉยๆ แต่ไม่ตาย
สัตว์เลี้ยงที่ไม่ใช่แค่สัตว์เลี้ยง แต่คือส่วนหนึ่งของเรา
ก่อนจะไปสู่ความเชื่อมโยงและความรู้สึกที่เราได้รับจากชะตากรรมของสิ่งมีชีวิตอื่นจากหนัง เราไปเข้าใจความรู้สึกอันซับซ้อนระหว่างมนุษย์และสัตว์เลี้ยงก่อน คนรักสัตว์เองคงเข้าใจว่าการสูญเสียสัตว์เลี้ยงหลายครั้งทิ้งบาดแผลไว้ลึกและยาวนานไม่ต่างกับการสูญเสียสมาชิกในครอบครัว
ในระดับชีววิทยา ความเชื่อมต่อของมนุษย์กับสัตว์เลี้ยงไม่ต่างกับการสานสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน การกอดรัด จ้องมองตาทำให้เราหลังสารอ็อกโตซิน (oxytocin) แบบเดียวกันกับที่เราสานสัมพันธ์ด้วยความรักความเอ็นดูต่อเด็กทารก ยิ่งไปกว่านั้นเรามักได้สัตว์เลี้ยงมาในช่วงของการเติบโต เราได้ลูกหมามาตอนเด็กๆ เติบโตเป็นวัยรุ่น เจ้าหมานั้นอยู่กับเราในทุกช่วงเวลาสำคัญของชีวิต แต่น่าเศร้าเมื่อเราเติบโตขึ้น อายุที่สั้นกว่ามากของพวกมันมักจะจากเราไปเมื่อเราเติบโตในวัยผู้ใหญ่ การจากไปของมันทำให้เรานึกถึงการก้าวเข้าสู่วัยรุ่นอันเป็นห้วงเวลาอันแสนสำคัญในความทรงจำของเรา
ในความสัมพันธ์ของสัตว์เลี้ยงและมนุษย์ยังมีความสลับซับซ้อนอย่างน่าสนใจ สัตว์เลี้ยงในด้านหนึ่งไม่ได้เป็นแค่เพื่อน แต่ด้วยปฏิสัมพันธ์ และด้วยลักษณะเฉพาะของพวกมันคือพวกมันพูดไม่ได้ ความเงียบของพวกมันเปิดโอกาสให้มนุษย์แบบเราๆ ตีความความคิดและตัวตนของพวกมันได้อย่างอิสระ หลายครั้งการตีความตัวตนของพวกมันคือการที่เราเอาบางอย่างในตัวตนของเราฉายเข้าไปในการกระทำและสายตาอันใสซื่อของพวกมัน
มันเป็นแบบนี้เพราะรู้สึกแบบนี้ นึกคิดแบบนี้ เราเอาตัวตนของมนุษย์ไม่ว่าจะของเราเองหรือคนที่เรารักฝากเข้าไปในตัวตนของสัตว์เลี้ยง ดังนั้นจึงไม่แปลกที่เราจึงผูกพันกับสัตว์เลี้ยงไม่ต่างกับที่ผูกพันกับผู้คน เมื่อสูญเสียหรือตายไปส่งผลกับความรู้สึกที่ลึกซึ้งและยาวนาน
แล้วสุนัขในจินตนาการล่ะ
ความสนอกสนใจของผลกระทบทางความรู้สึกจากการตายของสัตว์ อยู่ที่ว่าอันที่จริงเวลาเราดูหนังหรืออ่านหนังสือ ทำไมตัวละครสุนัขหรือสัตว์เลี้ยงอื่นๆ ถึงทำให้เรารู้สึกเชื่อมโยงและได้รับผลกระทบจากชะตากรรมของพวกมันได้ ยิ่งถ้าเทียบกับชะตากรรมของตัวละครอื่นๆ ที่เป็นมนุษย์แล้ว การตายของสัตว์อาจจะส่งผลกระทบรุนแรงกว่าด้วยซ้ำ
มีงานวิจัยที่ค่อนข้างตอบกับความรู้สึกของเราเรื่องหมาตายเจ็บปวดกว่าคนตาย ในปี 2013 มีงานศึกษาจาก Northeastern University ในงานศึกษาทดลองให้กลุ่มตัวอย่าง 240 ราย แล้วอ่านเนื้อหาข่าวที่แต่งขึ้น โดยในเนื้อหาข่าวจะเหมือนกันเปลี่ยนแค่ว่าเหยื่อเป็นใคร จากเด็กวัยหนึ่งขวบ ผู้ใหญ่วัย 30 ลูกหมาน้อย หรือหมาที่โตแล้ว แล้วค่อยให้ทำแบบสอบถามเกี่ยวกับความรู้สึกเห็นอกเห็นใจจากข่าวนั้นๆ
ผลการศึกษาพบว่า มนุษย์มีแนวโน้มจะเห็นอกเห็นใจหรือเจ็บปวดไปกับชะตากรรมของสุนัข ลูกสุนัข เหมือนกับที่รู้สึกเมื่อเด็กถูกกระทำ ประเด็นที่ค้นพบในประเด็นสังคมที่ว่าบางทีสังคมเห็นใจสัตว์มากกว่าคน ค่อนข้างชัดเจนขึ้นจากงานวิจัยนี้ คืออายุ เป็นประเด็นสำคัญในความรู้สึกสงสารหรือเจ็บปวดร่วมของเรา คือกลุ่มตัวอย่างหรือมนุษย์เรามองว่าผู้ใหญ่มีศักยภาพในการป้องกันดูแลตัวเอง ส่วนเด็กไม่สามารถป้องกันตัวเองได้
สำหรับสุนัขนั้น มนุษย์มองในมุมที่เสมอกันกับเด็ก คือสุนัขโตเราก็ค่อนข้างมองว่าไม่ได้เงื่อนไขต่างกับลูกหมา พวกมันมีสถานะใกล้เคียงกับเด็ก คือเปราะบาง ป้องกันตัวเองได้ไม่เท่าผู้ใหญ่ ดังนั้นเราเองจึงมีแนวโน้มจะเห็นใจสุนัขมากกว่าคนนั่นเอง
ข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ การปรากฏตัวของสุนัขโดยเฉพาะในหนัง อาจจะด้วยความที่พวกมันเป็นตัวแทนของมิตรภาพ เป็นส่วนหนึ่งของมนุษย์ ของความจงรักภักดี ความหมายของพวกมันสมบูรณ์กว่าตัวละครมนุษย์เมื่อปรากฏในเรื่อง นึกภาพว่าเมื่อเราดูหนังเรื่องหนึ่ง กว่าเราจะรู้สึกไปกับตัวละครมนุษย์สักคน เราต้องสังเกต ติดตามเรื่องราวไปพักใหญ่กว่าที่จะผูกพันและเชื่อมโยงกับตัวละครนั้นๆ
แต่สำหรับสุนัขแล้ว มันโผล่มาแป๊บเดียว เราเองก็รับรู้ได้ว่าพวกมันคือสิ่งมีชีวิตที่ยอดเยี่ยม พวกมันน่ารัก น่ากอด และไม่ควรต้องเผชิญชะตากรรมอันเลวร้ายใดใด ในโลกนี้จะมีหมาสักกี่ตัวที่เลวร้าย หมาในหนังน้อยตัวนักที่จะชั่วร้าย ยิ่งชั่วร้ายถึงขนาดสมควรถูกลงโทษยิ่งหาได้ยาก (ถ้าพวกมันนิสัยไม่ดีก็มักเป็นเพราะมนุษย์ดูแลไม่ดีหรือไปสั่งสอนมัน) หมาทุกตัวควรมีความสุข พวกมันเป็นหมาดี
จากประเด็นเรื่องทำไมเราถึงเจ็บปวดและไม่ค่อยชอบใจเมื่อมีน้องหมาและสัตว์เลี้ยงตาย ในความรู้สึกดูจะย้อนแย้งตรงนี้คล้ายๆ กับที่หลายครั้งสังคมหรือเราเอง อาจจะรู้สึกรู้สากับสัตว์มากกว่าเรื่องราวการถูกกระทำของมนุษย์ด้วยกัน ไปจนถึงว่า การที่เราได้รับผลกระทบทางความรู้สึกจากชะตากรรมหรือเรื่องราวของสิ่งมีชีวิตอื่น ก็อาจทำให้เราเห็นความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนของมนุษย์ที่มีต่อสัตว์สายพันธุ์อื่นๆ ซึ่งอาจทำให้เราเข้าใจตัวมนุษย์ขึ้นอีกเล็กน้อย
อ้างอิงจาก