ไปงานหนังสือครั้งนี้ ดีไหมนะ? แล้วถ้าไปจะซื้อเล่มไหนดี? งานหนังสือที่เหล่าหนอนหนังสือรอคอยก็จัดขึ้นวันนี้เป็นวันที่ 4 แล้ว ไหนใครที่ไปงานนี้ หมดเงินไปเท่าไหร่กันบ้าง แต่เราเชื่อว่าน่าจะมีอีกหลายคนที่ยังลังเลว่าจะไปดีไหมน้า เพราะหนังสือที่ยังไม่ได้อ่านก็ยังกองอยู่เต็มบ้าน แต่ส่องไปส่องมาก็มีหนังสือที่อยากได้อีกแล้ว T-T
แม้ว่าสมัยนี้เรามักนิยมอ่านหนังสือกันเงียบๆ แต่งานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่23 นี้ จัดขึ้นภายใต้แนวคิดอ่านออกเสียง เพราะยิ่งออกเสียงดังเท่าไร ก็จะช่วยให้มีสมาธิ และจดจำเนื้อหาได้มากขึ้น ซึ่งภายในงานก็อย่างที่เรารู้กันว่ามีหนังสือมาให้เลือกสรรมากมาย ทั้งหนังสือใหม่ หนังสือเก่า ที่ขนกันมาเพียบ ชนิดที่ว่าต่อให้เรามีหนังสือเต็มชั้นที่บ้าน ก็อดใจเต้นกับงานนี้ไม่ได้อยู่ดี
แล้วในงานครั้งนี้มีหนังสือเล่มไหนน่าสนใจบ้าง The MATTER จึงขอเป็นตัวช่วยที่รวบรวมหนังสือน่าอ่านที่สำนักพิมพ์ต่างๆ แนะนำ เผื่อเจอหนังสือที่ถูกใจ พรุ่งนี้จะได้ไปซื้อกัน แต่ถ้าใครยังลังเลอยู่ว่าจะไปดีไหม ก็ยังมีเวลาคิด เพราะงานนี้จัดกันไปยาวๆ ถึงวันที่ 28 ตุลาคม
P.S.Publishing
1. โลกบังคับให้กูร้าย You Hate Me? I Hate Me too.
ผู้เขียน : ทราย เจริญปุระ
ไม่ใช่หนังสือดารา ไม่ใช่การเล่าดราม่าให้คนสงสาร นี่คือบันทึกชีวิตของ ‘ทราย เจริญปุระ’ ที่เรียบง่ายและซื่อตรงต่อความรู้สึก ภาษาของเธอตรงไปตรงมา ไม่ต้องตีความอะไรทั้งนั้น ยิ่งได้อ่านยิ่งพบว่า คุณไม่มีทางเข้าใจเธอได้ครบ 100% หรอก เพราะยิ่งคุณพยายามมากแค่ไหน จิกกัดด่าทอเธอแค่ไหน เธอก็จะเป็นของเธอแบบนี้ นี่คือโลกของเธอ พ่อ แม่ พี่น้อง การเลี้ยงดูที่สุดจะเวียนหัว คนรักกับการทิ้งรอยบาดแผล ความฝันและความทรงจำที่ประดับด้วยดอกไม้และพุ่มหนาม
2. เชื้อเพลิงโรมานซ์เว่อร์ Fuel Romance
ผู้เขียน : อุเทน มหามิตร
ถ้าคุณต้องการอ่านเรื่องรักโรแมนติกชนิดผิดไปจากความเข้าใจเดิมๆ หนังสือรวม 50 เรื่องรักโรมานซ์เว่อร์นำเสนอบทสรุปความรักที่ไม่มีบทสรุป ไม่มีข้อคิดเตือนใจ และไม่มีที่มาที่ไปอย่างปกติ ดินแดนแห่งรักนี้งดงาม เซอร์เรียล และออกจากเพ้อๆ เล่มนี้พิมพ์จำกัดจำนวน สันเปลือย กางได้สุด 180 องศา คุณจะได้เสพอาร์ตสวยๆ แบบอิ่มคูณสองไปเลย
3. SWEET and SAD หวานเศร้าคาเฟ่
ผู้เขียน : โบนิตา อาดา
ผู้หญิงที่สวย เก่ง และเป็นตัวของตัวเองไม่ได้เป็นผู้เลือกเสมอไป นี่คือ 9 เรื่องสั้นเพิ่มปริมาณน้ำตาลและน้ำตา ผู้หญิงที่ก้ำกึ่งระหว่างอยู่คนเดียวแล้วเป็นบ้า กับมีความรักแล้วเป็นบ้า เป็นมนุษย์เงินเดือนมือใหม่ที่ทักษะยังอ่อนหัด กลิ่นของรักในที่ทำงานที่ยังไม่คุ้นเคยกับการตัดสินใจลงเล่นเกมหลบซ่อน การไม่รู้อนาคตทำให้สุขใจ แต่คุณก็ไม่รู้ว่าความเศร้าจากเกมนี้จะจบลงอย่างไร ปกดูกุ๊กกิ๊ก เด็กน้อยไร้เดียงสา เพราะเรามักไร้เดียงสากับความรัก แต่ก็มักได้บทเรียนในการโอบอุ้มตัวเองกลับมาเสมอ
4. IFPOSSIBLE จริงเสมือนจริง
ผู้เขียน : สโรชา ธารา
ถ้าคุณคุ้นหูกับคำว่า โลกใบนี้ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ ก็อยากให้ลองสัมผัส ‘โลกใบอื่น’ ในหนังสือเล่มนี้ สโรชา ธารา สร้างตัวละครเว้าแหว่ง เริ่มเรื่องด้วยชีวิตที่บกพร่องแต่ต้องใช้ชีวิตอย่างสามัญ จุดจบแต่ละเรื่องสร้างเซอร์ไพรส์เสมอ เช่น ถ้าชีวิตจริงมีหุ่นยนต์มนุษย์ปะปนกับผู้คนอย่างแนบเนียนจะเป็นอย่างไร หรือถ้าโลกล่มสลายและมีเจ้าชีวิตอื่นมาครอบครอง คุณจะอยากอยู่ต่อหรือไม่ และถ้าคุณถ่ายรูปไม่ติด ไม่สะท้อนบนกระจก เป็นคนล่องหนที่มีตัวตน วิธีการใดจะเติมเต็มความเว้าแหว่งนั้น
Typhoon Studio
1. บางลวง
ผู้เขียน : ปราบดา หยุ่น
‘บางลวง’ เชื่อกันว่าชื่อเพี้ยนมาจาก ‘บางล่วง’ หมายถึงเป็นเมืองเล็กที่ตั้งหลุดจากเส้นทางจราจรออกไปค่อนข้างไกลจนอาจ ‘ล่วงเลย’ ไปได้ เป็นรวมห้าเรื่องสั้นโดย ปราบดา หยุ่น ที่สร้างเมืองในจินตนาการขึ้นด้วยวิธีเล่าผ่านตัวละครและสถานการณ์ต่างกัน 5 รูปแบบ เล่าสั้น กระชับ แต่สั่นสะเทือน
2. เรื่องฝัน
ผู้เขียนนิยายภาพ : ยาค็อบ ฮินริชส์
ผู้เขียนนวนิยายขนาดสั้น : อาทัวร์ ชนิตซ์เลอร์
ผู้แปล : เฟย์ อัศเวศน์
‘เรื่องฝัน‘ แปลจากหนังสือ Traumnovelle ที่ประกอบด้วยนิยายภาพโดย ยาค็อบ ฮินริชส์ (Jakob Hinrichs) บวกกับนวนิยายโดย อาทัวร์ ชนิตซ์เลอร์ (Arthur Schnitzler) แปลโดย เฟย์ อัศเวศน์ ผู้กำกับภาพยนตร์ระดับตำนาน สแตนลีย์ คูบริก ได้นำเนื้อหาจากเรื่องฝันไปสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายของเขา โดยใช้ชื่อว่า ‘Eyes Wide Shut’
3. อาซาฮินะ ชายหนุ่มแห่งคิจิโจจิ
ผู้เขียน : เออิจิ นาคาตะ
ผู้แปล : ปิยะวรรณ ทรัพย์สำรวม
‘อาซาฮินะ ชายหนุ่มแห่งคิจิโจจิ’ แปลจาก Kichijoji no Asahina Kun รวมห้าเรื่องสั้นเกี่ยวกับความสัมพันธ์ หลากคอนเซ็ปต์ชวนติดตาม มีกลิ่นอายการสืบสวนเบาๆ โดย เออิจิ นาคาตะ (หรือโอตสึ อิจิ) นักเขียนญี่ปุ่นที่มีผลงานแปลเป็นภาษาไทยมาแล้วอย่าง ‘หันมาทางนี้เถอะนะ, โมโมเสะ’ แปลโดย ปิยะวรรณ ทรัพย์สำรวม เรื่องสั้น Kichijoji no Asahina Kun ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์แล้วในปี 2012
สำนักพิมพ์กำมะหยี่
1. นิวยอร์กไตรภาค
ผู้เขียน : พอล ออสเตอร์
ผู้แปล : คมสัน นันทจิต
งานนวนิยายสามเรื่องในหนึ่งเล่ม ของพอล ออสเตอร์ นักเขียนร่วมสมัยชาวอเมริกัน งานในเล่มนี้เป็นงานนวนิยายยุคแรกๆ ของผู้เขียน ตีพิมพ์ช่วงปี 1985-1986 และในร้านหนังสือที่อเมริกายังคงมีวางอยู่บนชั้นวรรณกรรมจนถึงทุกวันนี้ ในเล่มบรรจุด้วยพลังอันล้นเหลือของนักเขียนนวนิยายหนุ่ม ที่หยิบยกประเด็นต่างๆ มิติของการเขียนนิยายเรื่องแต่ง การรื้อโครงสร้างมานำเสนอแง่มุมใหม่ซึ่งไม่ได้เรียบแบนเป็นเส้นตรง โดยมีมหานครนิวยอร์กเป็นฉากหลัง ซึ่งนอกจากนักอ่านทั่วไปแล้ว ก็แนะนำเล่มนี้เป็นพิเศษสำหรับนักเขียน
2. นิมรอดนอตหลุด
ผู้เขียน : เอ็ตการ์ เคเร็ต
ผู้แปล : ธนรรถวร จตุรงควาณิช
งานเรื่องสั้นความยาวกระทัดรัด จากเอ็ตการ์ เคเร็ต นักเขียนร่วมสมัยชาวอิสราเอล ผู้เขียน ‘คิดถึงคิสซิงเจอร์’ ความขำ ความขม ความคมคาย ความเคว้งคว้าง ความอะไรต่างๆ ที่กล่าวขวัญถึงกันต่างๆ ยังคงอยู่ครบ แต่เล่มนี้จะเจาะชีวิตหนุ่มสาว มิตรภาพ แก๊งเพื่อน ความสัมพันธ์ คำถามของวัยรุ่น เป็นหลักใหญ่ ในสำนวนชวนหัวเหมือนเดิม เหมาะสำหรับคนที่ไม่มีเวลาอ่านหนังสือนานๆ หยิบมาอ่านสั้นๆ สองหน้าจบ ค่อยๆ ละเลียดอ่านไปเรื่อยๆ ไม่เป็นภาระผูกพัน
3. ลัชไลฟ์: ลัก-ลวง-ไร้
ผู้เขียน : โคทาโร อิซากะ
ผู้แปล : กนกวรรณ เกตุชัยมาศ
งานนวนิยายขนาดยาวของโคทาโร อิซากะ นักเขียนร่วมสมัยชาวญี่ปุ่น คนที่เคยอ่าน ‘คำอธิษฐานของโอดูบอน’ และ ‘โกลเด้นสลัมเบอร์’ ของนักเขียนคนนี้แล้วชอบใจ ไม่ควรพลาด ในเล่มนี้ มุขตลก ความเฉียบขาดในการสร้างพล็อตและตัวละครยังคงเด็ดเหมือนเดิม เป็นเรื่องราวของคนที่อาศัยอยู่ในเมืองเดียวกัน เดินเฉียดกันไปมาแต่ไม่รู้จักกัน ผู้เขียนเล่าเหตุการณ์ที่แต่ละคนพบเจอตัดสลับกับไป โดยเรื่องที่ดูเหมือนจะแยกออกจากกัน แต่ก็มาเชื่อมมาเหลื่อม มาเป็นเหตุเป็นผลกันได้ ชนิดที่คนอ่านไม่สามารถคาดถึง เหมาะเป็นพิเศษสำหรับนักอ่านที่ชอบความท้าทายแกะรอยเดาใจนักเขียน
แถม!
ฤดูหนาวเมื่อเราพราก : คนที่ชอบแกะรอยเดาทางนักเขียนน่าจะชอบเล่มนี้เหมือนกัน สั้นกว่า และดาร์กกว่า
สำนักพิมพ์ เม่นวรรณกรรม
1. อีกไม่นานเราจะสูญหาย
ผู้เขียน : อ้อมแก้ว กัลยาณพงศ์
ในงานมหกรรมหนังสือสำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรมมีหนังสือแนะนำด้วยกันสองเล่ม เล่มแรกคือ ‘อีกไม่นานเราจะสูญหาย‘ เขียนโดยอ้อมแก้ว กัลยาณพงศ์ เป็นที่ทราบดีว่านวนิยายเล่มนี้เป็นหนึ่งในแปดเล่มรอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ ปี 61 นวนิยายเขียนถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ การตั้งคำถามถึงคุณค่าชีวิต สังคม โดยวิภาคระบบทุนนิยมที่สามารถนำทุกสิ่งมาขายได้ สังคมของคนกินเนื้อคน ความหวดกลัวในจิตใจ โรคซึมเศร้า รวมถึงตั้งคำถามถึงความรักความผูกพันของมนุษย์ เป็นนวนิยายที่จะเปิดเปลือยตัวตนของเรา เป็นหนังสือที่น่าอ่าน และอ่านได้รวดเดียวจบ
2. ขัปปะ
ผู้เขียน : ริวโนะซุเกะ อะคุตะงาวะ
ผู้แปล : กัลยาณี สีตสุวรรณ
นิยายเรื่องขัปปะ ดัดแปลงตัวละครตำนานขัปปะมาแต่งเป็นนิยาย เล่าเรื่องชายคนหนึ่งตกลงไปในโลกของขัปปะ ทำให้เจาได้เรียนรู้ชีวิตและสังคมของขัปปะที่แตกต่างจากสังคมมนุษย์กันมาก เรื่องใดที่มนุษย์เห็นว่าจริงจัง ขัปปะกลับเห็นว่าขบขัน นิยายเรื่องเยี่มเรื่องนี้นอกจากเสียดสีมนุษย์แล้วยังแสดงให้เห็นถึงโลกที่ผู้แต่งต้องการหนีออกไปจากชีวิตที่แสนเศร้า
Bun Books
1. AUS-STAY-LIA
ผู้เขียน : แพร ฉัตรพร
เล่มนี้ ดูเผินๆ เหมือนจะเป็นหนังสือบันทึกการเดินทาง ซึ่งจริงๆ ก็เป็นหนังสือบันทึกการเดินทางนั่นแหละ แต่ที่ชอบมาก เพราะพอมันไม่ใช่การเดินทางไปเที่ยว แต่คือการไปอยู่ เราจะได้เห็นออสเตรเลียผ่านประสบการณ์ของและสายตาของคนที่มีเวลาอยู่ที่นั่นหนึ่งปี แต่เป็นหนึ่งปีที่ต้องโยกย้ายบ้าง ปักหลักบ้าง มีงานทำบ้าง ตกงานบ้าง มีเงินบ้าง ไม่มีเงินบ้าง มีรถขับบ้าง ไม่มีรถขับบ้าง มีที่นอนบ้าง ไม่มีที่นอนบ้าง ซึ่งวงจรชีวิตแบบนี้ การไปเที่ยวเฉยๆ คงเล่าไม่ได้
2. บันเทิงเชิงร้าย
ผู้เขียน : อินทิรา เจริญปุระ
เล่มนี้คัดมาจากบทความในคอลัมน์บันเทิงเชิงร้ายของ The MATTER ตลอดสองปีที่ผ่านมา ด้วยความที่ปกติไม่ได้ใกล้ชิดติดตามวงการบันเทิงมากนัก แต่พออ่านบทที่พี่ทรายเล่าเรื่องการทำงานตอนถ่ายภาพยนตร์เรื่องนเรศวรฯ นางนาก และละครเรื่องล่า รู้สึกว่าเรื่องราวพวกนั้น เหมือนเป็นชิ้นส่วนเล็กๆ ของประวัติศาสตร์วงการบันเทิงบ้านเราได้เลย
Her Publishing
Milk and honey ปานหยาดน้ำผึ้ง
ผู้เขียน : Rupi Kaur
ผู้แปล : พลากร เจียมธีระนาถ
Milk and Honey ร้อยแก้วความเรียงที่เขียนด้วยภาษาที่งดงามเข้าใจง่าย ถ่ายทอดเรื่องราวการอยู่รอดจากประสบการณ์การถูกทำร้ายอย่างรุนแรง ความรัก ความสูญเสีย บทบาท และภาวะความเป็นผู้หญิง แบ่งออกเป็น 4 บท แต่ละบทมีจุดประสงค์เพื่อสื่อความหมายที่แตกต่าง และการเยียวยาความเจ็บปวดที่ต่างกัน ทำให้ผู้อ่านก้าวผ่านช่วงเวลาที่ขมขื่นของชีวิต และค้นพบความหวานชื่นในห้วงเวลาเหล่านั้น เพราะความหวานชื่นมีอยู่ทั่วทุกหนแห่งแม้กระทั่งในความปวดร้าว ถ้าหากคุณใช้ใจมอง
Salmon Books
1. SPORTLIGHT เกมนอกสนาม
ผู้เขียน : วิศรุต
เรียกว่าเป็นหนังสือเกี่ยวกับกีฬาเล่มแรกของ สนพ.แซลมอน เลยก็ว่าได้ครับ แต่ถึงจะบอกว่าเป็นหนังสือกีฬา เอาเข้าจริง เรื่องราวในเล่มก็ไม่ได้กีฬาจ๋าขนาดนั้น ผู้อ่านไม่จำเป็นต้องรู้กฎ-กติกาการแข่งขันใดๆ เพราะ ‘วิศรุต’ ผู้เขียนที่ควบบทบาทเจ้าของเพจเฟซบุ๊ก ‘วิเคราะห์บอลจริงจัง’ เขาย่อยเรื่องราวเหล่านั้นมาให้อ่านด้วยสำนวนและการยกตัวอย่างที่เข้าใจง่าย แถมเรื่องราวที่นำเสนอก็เป็นเรื่องที่สัมพันธ์กับชีวิตประจำวันของคนทั่วไป ทำให้เห็นว่ากีฬาเป็นเหมือนชีวิตของใครคนหนึ่ง และโลกของนักกีฬาก็ไม่ได้มีแต่การแข่งขันในสนาม กว่าที่พวกเขาจะประสบความสำเร็จได้ ต้องฝ่าอุปสรรค และใช้ความพยายามเยอะอยู่เหมือนกัน
2. #ทีมขี้เกียจ
ผู้เขียน : ทีปกร วุฒิพิทยามงคล
ถ้าใครติดตามเพจเฟซบุ๊กของคุณแชมป์—ทีปกร อาจจะพอคุ้นเคยกับคาแรคเตอร์ ‘แมวเย้’ ของเขาดี ซึ่งหนังสือเล่มนี้ก็เป็นการนำการ์ตูนสี่ช่องของเขามาต่อยอด เป็นหนังสือที่เปรียบไปแล้วก็คล้ายๆ ฮาวทูสู่ความขี้เกียจ แต่ก็ไม่ได้เชิญชวนให้เราขี้เกียจกันเฉยๆ เพราะตามประสาของคนที่ค่อนข้าง productive ทีปกรจึงพยายามหาทางให้ตัวเองได้ขี้เกียจ โดยไม่เสียงานเสียการ ซึ่งถือว่าเป็นวิธีการที่น่าศึกษาและทำตามมากๆ สำหรับคนที่อยากขี้เกียจอย่างสบายใจ
3. NO MAN IS AN ISLAND
ผู้เขียน : ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ, คัมภีร์ สรวมศิริ, นัท ศุภวาที
เล่มนี้ซื้อ 1 ได้ถึง 3 ครับ เพราะว่านักเขียนทั้ง 3 คนนี้เขาไปเที่ยวด้วยกันในชิโกกุ—หนึ่งในเกาะหลักของญี่ปุ่น ที่น้อยคนจะเดินทางไปกัน ส่วนหนึ่งก็เพราะค่อนข้างไปยาก ถ้าจะไปให้สนุกสนานก็ต้องเช่ารถขับตะลอนๆ แบบที่นักเขียน 3 คนนี้ทำกัน ซึ่ง ‘NO MAN IS AN ISLAND’ ก็เป็นบันทึกการเดินทางอีกรสชาติหนึ่งที่น่าจะถูกปากคนที่ชอบการท่องเที่ยว เพราะชนพัฒน์, คัมภีร์ และนัท เป็นนักเขียนที่มีมุมมองและความสนใจที่หลากหลาย ทำให้เราจะได้รับเรื่องราวในหลากหลายมิติ และเป็นหนังสือที่กระตุ้นให้เราอยากออกเดินทาง โดยเฉพาะกับเพื่อนได้ดีทีเดียว
Bookscape
1. เมา: ประวัติศาสตร์แห่งการร่ำสุรา (A Short History of Drunkenness)
ผู้เขียน : Mark Forsyth
ผู้แปล : ลลิตา ผลผลา
เมื่อเอ่ยถึงคำว่า ‘ความเมามาย’ หลายคนอาจนึกเชื่อมโยงถึงเรื่องของกิเลสตัณหาหรือความลุ่มหลงในน้ำเมา แต่หนังสือเล่มนี้จะเผยให้เห็นว่าความเมามีหลากหลายแง่มุมมากกว่านั้น มันแฝงเร้นด้วยตำนานและประวัติศาสตร์แห่งอารยธรรมมนุษย์ บางช่วงอาจเจือกลิ่นคาวเลือดซึ่งเป็นผลจากความเมา ขณะเดียวกันก็สอดแทรกรสหวานละมุนของสันติภาพอันเกิดจากความเมาเช่นกัน
ไม่ว่าคุณจะหลงใหลในน้ำเมาหรือไม่ เรารับประกันได้ว่าเรื่องราวความเมามายในหนังสือเล่มนี้จะทำให้คุณรื่นรมย์ประหนึ่งได้จิบเครื่องดื่มเลิศรส (หรือใครจะรินมาจิบเคล้าตัวอักษรตอนอ่านจริงๆ ก็คงยิ่งเพิ่มอรรถรสได้ไม่น้อย)
2. Creating Innovators: คู่มือสร้างนักนวัตกรรมเปลี่ยนโลก (Creating Innovators: The Making of Young People Who Will Change the World)
ผู้เขียน : Tony Wagner
ผู้แปล : ดลพร รุจิรวงศ์
เราจะสอนลูกหลานให้เป็นนักคิดและนักสร้างสรรค์ได้อย่างไร หนังสือเล่มนี้มีคำตอบ ความน่าสนใจอยู่ที่วิธีการนำเสนอ ผู้เขียนซึ่งเป็นนักการศึกษาชื่อดังจากฮาร์วาร์ดเลือกเดินเรื่องด้วยการพูดคุยอย่างเป็นกันเองกับคนรุ่นใหม่ที่มีความโดดเด่นด้านนวัตกรรมนับสิบคน รวมถึงคนรอบข้างที่มีอิทธิพลต่อความสำเร็จของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ครู ที่ปรึกษา และนายจ้าง ทำให้เราเห็นเส้นทางการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของเด็กๆ ได้อย่างชัดเจน โดยตั้งต้นที่การเลี้ยงดูในครอบครัว สู่กระบวนการเรียนรู้ในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย ก่อนจะนำไปประยุกต์ใช้ในโลกการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
เล่มนี้จึงเหมาะสำหรับพ่อแม่ ครูอาจารย์ นักการศึกษา ซึ่งเป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยให้เยาวชน ‘เรียนรู้’ และ ‘เติบโต’ อย่างสร้างสรรค์ และเหมาะกับเยาวชนทุกคนที่ต้องการค้นหาความฝันของตัวเองและมุ่งมั่นทำมันให้สำเร็จ
Illumination Editions
1. หยดเลือด จารึก และแท่นพิมพ์: ว่าด้วยความรู้/ความจริงของชนชั้นนำสยาม พ.ศ.2325-2411
ผู้เขียน : ทวีศักดิ์ เผือกสม
หนังสือเล่มนี้ปรับปรุงจากวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทเรื่อง ‘การปรับตัวทางความรู้ ความจริง และอำนาจของชนชั้นนำสยาม พ.ศ. 2325-2411’ ของทวีศักดิ์ เผือกสม ที่ทำกับภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ.2540 นับเป็นวิทยานิพนธ์ที่ได้รับการอ้างอิงอย่างมากมาย และถือว่าเป็นงานประวัติศาสตร์ทางความคิดของนักวิชาการไทยที่ดีที่สุดเล่มหนึ่ง นับตั้งแต่ ‘Siam Mappedฯ (ชื่อไทยคือ ‘กำเนิดสยามจากแผนที่ฯ’) ของธงชัย วินิจจะกูลที่พิมพ์ในภาคภาษาอังกฤษเมื่อปี พ.ศ. 2537
หนังสือเล่มนี้จึงเป็นงานที่ผู้สนใจด้านประวัติศาสตร์ความคิดของชาวสยามยุคต้นรัตนโกสินทร์ทุกคนต้องอ่าน ควบคู่ไปกับ ‘ปากไก่และใบเรือฯ’ ของนิธิ เอียวศรีวงศ์ และ‘กำเนิดสยามจากแผนที่ฯ’ของธงชัย วินิจจะกูล และล่าสุดคือ ‘คราสและควินิน’ ของพิพัฒน์ พสุธารชาติ ในการทำเป็นหนังสือคราวนี้ได้มีการตรวจสอบเอกสารที่ใช้อ้างอิงอย่างละเอียด เพื่อให้มีความถูกต้องสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
2. ครอบครัวจินตกรรม: บทวิพากษ์ว่าด้วยชุมชน การปกครอง และรัฐ
ผู้เขียน : ธเนศ วงศ์ยานนาวา และเพื่อน
บทความที่ถือเป็นแกนหลักของหนังสือ คือ การสอดส่องดูแลเด็กกับครอบครัวจินตกรรม ในประเทศไทย:จากนามสกุลสู่รักทางอารมณ์ ของ ธเนศ วงศ์ยานนาวา ที่ถูกแปลมาจากภาษาอังกฤษ ‘Policing the Imagined Family and Children in Thailand: From Family Name to Emotional Love’ ซึ่งเป็นบทความที่ศึกษารัฐไทยและอยู่ในบทแรกของหนังสือ ‘Imagining Communities in Thailand…Ethnographic Approaches’ ที่พิมพ์ใน พ.ศ. 2551
บทความชิ้นนี้มีสาระที่สำคัญคือการชี้ให้เห็นว่า คำอธิบายว่าด้วย “ชุมชนจินตกรรม” (Imagined community) ของ เบน แอนเดอร์สัน (Benedict Anderson) มีข้อจำกัดในการอธิบายรัฐไทย เพราะรัฐไทยไม่มีลักษณะของการเป็นชุมชนในความรู้สึกแบบรัฐประชาชาติที่อาศัยการสร้างเครื่องมืออย่างภาษาหรือวัฒนธรรม สร้างให้เป็นจุดร่วมกัน ในทางตรงกันข้าม รัฐไทยกลับดำเนิน นโยบายในการสร้างรัฐประชาชาติด้วยการสร้าง “ครอบครัวจินตกรรม” (Imagined family) แทน และใช้กลไกของการสร้างความเป็นครอบครัวในการปกครอง
โดยภาพรวมแล้ว บทความที่ถูกนำเสนอในนี้ แม้จะมีส่วนรายละเอียดที่เห็นต่าง เห็นเสริม หรือชี้ให้เห็นถึงร่องรอยของนักคิดต่างๆ ที่ส่งผลกับบทความแกนหลักของธเนศหรือแม้แต่ตัวผู้เขียน แต่บทความเหล่านี้ไม่ได้ละเลยการสนทนาทางวิชาการแม้แต่น้อย ดังจะปรากฏให้เห็นชัดเจนในส่วนของพิพัฒน์ ที่บรรจงมีบทสนทนากับทั้งภาคินและเก่งกิจในส่วน บทขยายความก่อนบทตอบกลับของธเนศ วงศ์ยานนาวา ที่สะท้อนทั้งความเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยการใช้เหตุผลต่างๆ สนับสนุนและคัดค้านกับจุดยืนที่แตกต่างกัน ก่อนที่เจ้าของบทความแกนหลักของหนังสือเล่มนี้คือ ธเนศ จะมาเขียนตอบกลับเป็นบทความขนาดยาว
เล่มนี้จัดเป็นหนังสือทางวิชาการที่มีการโต้เถียงกันและนำงานชิ้นสำคัญของธเนศ วงศ์ยานนาวามาแปลเป็นไทย ซึ่งน่าจะสร้างความคึกคักให้กับวงการวิชาการของบ้านเรา โดยเฉพาะผู้ที่สนใจในงานของธเนศ วงศ์ยานนาวา มาก่อน
3. Conatus: ชีวิตและอำนาจควบคุมชีวิตในระบบทุนนิยมแห่งศตวรรษที่ 21
ผู้เขียน : เก่งกิจ กิติเรียงลาภ
หนังสือนี้สัมพันธ์กับหนังสือ Autonomia: ทุนนิยมความรับรู้ แรงงานอวัตถุ และการเมืองของการปฏิวัติ ของเก่งกิจ กิติเรียงลาภ ซึ่งพิมพ์ไปก่อนหน้านี้และได้รับการตอบรับจากผู้อ่านเป็นอย่างดี ทำให้แนวคิดของชาวมาร์กซิตส์มีความทันสมัยและเกิดความคึกคักขึ้นอีกครั้งในโลกทางวิชาการของไทย
ในขณะที่ Autonomia เน้นการอภิปรายถึงที่มาของกลุ่ม Autinomia ในอิตาลีและแนวคิดของกลุ่ม โดยเฉพาะข้อเสนอว่าด้วยระบบทุนนิยมความรับรู้และแรงงานอวัตถุ แต่ Conatus ย้อนกลับไปพิจารณารากฐานที่มาทางปรัชญา ทั้งปรัชญาฝรั่งเศสและปรัชญาของภาคพื้นทวีปในช่วงเริ่มต้นของยุคสมัยใหม่ซึ่งมีอิทธิพลกับทฤษฎีมาร์กซิสต์อิตาเลียน ผู้เขียนเสนอให้เรากลับมาที่ปัญหาของภววิทยา นั่นคือ ‘ภววิทยาของชีวิต’ และการตอบโต้ต่อการอำนาจที่ควบคุมชีวิต ซึ่งภววิทยาของชีวิตก็คือฐานที่มาของความเข้าใจความคิดเรื่องระบบทุนนิยมความรับรู้ แรงงานอวัตถุ การปฏิวัติ และการปลดปล่อยของพหุชน ผู้เขียนได้นำผู้อ่านไปพบกับความคิดเรื่อง ‘การเมืองชีวิต’ (biopolitics) ปรัชญาว่าด้วย ‘ศักยภาพในการสร้างชีวิต’ (conatus) ‘พหุชน’ (multitude) ซึ่งอยู่ในงานของนักปรัชญาอย่าง Michel Foucault, Gilles Deleuze และ Spinoza ซึ่งความคิดดังกล่าวจะขยายความออกเป็นประเด็นอื่นๆ อีก นั่นคือ การศึกษาเครื่องจักร เงิน ปัญญาประดิษฐ์ ภาษา และการเมืองของการปฏิวัติ
กล่าวโดยย่อ เป้าหมายของหนังสือเล่มนี้ก็คือ การสร้างความเข้าใจถึงความเป็นไปได้ของสิ่งที่เรียกว่า ‘คอมมิวนิสต์’ คำถามของหนังสือเล่มนี้คือ เราจะสร้างชีวิตของเราอย่างไรภายใต้อำนาจควบคุมของระบบทุนนิยมในศตวรรษที่ 21