เมื่อคดีฆาตกรรมไม่ได้ทำให้เห็นแค่การนองเลือด แต่ยังพาเราเข้าไปสู่ห้วงลึกของจิตใจมนุษย์ ความสัมพันธ์ ปริศนา และเรื่องราวมากมายที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง
เชื่อว่าเมื่อหยิบงานเขียนแนวสืบสวนสอบสวนขึ้นมาอ่านสักเล่ม เราอาจนึกถึงคดีฆาตกรรมและปริศนาสุดเข้มข้น ชวนหาคำตอบผ่านคำใบ้ที่ปรากฏอยู่ในส่วนต่างๆ ของเนื้อเรื่อง โดยต้องค่อยๆ อ่านทีละนิดเผื่อจะเจออะไรซ่อนอยู่ระหว่างบรรทัด
ทว่าสำหรับหนังสือสืบสวนบางเล่มแล้ว เราอาจไม่ได้มองเห็นแค่เพียงหลักฐาน พยาน และคำตอบของปริศนา เพราะในระหว่างบรรทัดกลับทำให้เราดำดิ่งสู่เบื้องลึกของจิตใจมนุษย์อันแสนซับซ้อนเกินกว่าจะเข้าใจ จนเผลอๆ มันอาจจะเข้าใจยากเสียกว่าปริศนาอีก
คดีฆาตกรรมที่นำเสนอควบคู่ไปกับเรื่องราวตัวละครอันแสนธรรมดา ชุดความสัมพันธ์สุดหลากหลาย พร้อมบรรยากาศสบายๆ ชวนให้ผู้อ่านเพลิดเพลินมากกว่าลุ้นระทึก โดยรวมแล้วงานเขียนแนวนี้ถูกเรียกว่า ‘Cozy Mystery’
ความอบอุ่นท่ามกลางฉากหลังอันนองเลือด
ไม่มีคำอธิบายใดสามารถนิยามความเป็น Cozy Mystery ได้ดีไปกว่าตัวมันเองแล้ว คำนี้มาจากการรวมกันระหว่างคำว่า Cozy หมายถึง อบอุ่น, สบาย และ Mystery หมายถึง ความลึกลับ
Cozy Mystery จึงเป็นงานเขียนประเภทย่อยของงานแนวสืบสวนสอบสวน มีความโดดเด่นในเรื่องความนุ่มนวลและความอบอุ่นของเนื้อหา แต่ถึงอย่างนั้น งานแนวนี้ยังมีแกนหลักเป็นเรื่องปริศนากับการไขคดีดังเดิม ซึ่งนำเสนอเนื้อเรื่องอย่างไม่ซับซ้อน และแฝงไปด้วยความอบอุ่นหัวใจ ชวนให้เราได้ติดตามต่อไปจนจบ
งานเขียนแนวดังกล่าวมีจุดร่วมอย่างการไม่ใช้นักสืบแสนอัจฉริยะเป็นคนดำเนินเรื่องหลักเหมือนในนิยายแนวสืบสวนสอบสวนทั่วไป แต่มักจะให้คนธรรมดาสามัญ ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน นักศึกษา พนักงานบริษัท หรือแม่บ้าน เข้าไปพัวพันกับคดีแทน ทำให้คนอ่านได้เห็นพัฒนาการและการเติบโตของตัวละคร แถมยังช่วยให้คนอ่านอย่างเราเข้าถึงตัวละครง่ายขึ้น ผ่านการเอาใจช่วยตัวละครให้หาคำตอบให้ได
ทั้งนี้จังหวะการเล่าเรื่องของงานแนว Cozy Mystery ยังเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างบรรยากาศสบายๆ ชวนให้คนอ่านเพลิดเพลินไปกับเนื้อเรื่อง ด้วยมักจะดำเนินไปอย่างไม่รีบเร่ง เมื่อเวลาผ่านไป ปริศนาจะทยอยเปิดเผยขึ้นเรื่อยๆ สิ่งนี้จึงช่วยให้คนอ่านดื่มด่ำไปกับเรื่องราวของตัวละคร ฉาก และบรรยากาศภายในเรื่องได้ลึกซึ้งมากขึ้น ซึ่งเหมาะกับคนที่ต้องการไขปริศนาจากหนังสือแนวสืบสวนฯ แต่ก็ยังต้องการความสบายใจและความอบอุ่นหัวใจด้วย
ด้วยความน่าสนใจของงานเขียนแนวนี้ The MATTER จึงอยากชวนทุกคนมารู้จัก The Maid หนึ่งในงานเขียนแนว Cozy Mystery ที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ด้วยการขึ้นแท่นเป็นหนังสืออันดับ 1 ของ New York Times Bestseller แถมได้รับคะแนนโหวตมากถึง 4.2/5 ดาวบนเว็บไซต์ Amazon และ 3.77/5 ดาว บนเว็บไซต์ Goodreads พร้อมทั้งได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศมากกว่า 38 ภาษา
*บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาของหนังสือ The Maid
The Maid หรือชื่อภาษาไทยคือ คุณเมดกับคดีฆาตกรรมปริศนาในโรงแรมหรู ของนิตา โพรส (Nita Prose) นำเสนอเรื่องราวของมอลลี เกรย์ เมดสาวแสนธรรมดาผู้ต้องเข้าไปพัวพันกับคดีฆาตกรรมปริศนาในห้องพักของโรงแรม โดยที่เธอไม่ได้เป็นคนก่อ ก่อนจะนำไปสู่ความสลักซับซ้อนของปริศนาและปัญหาอันยุ่งเหยิง เพราะยิ่งเธอพยายามทำความสะอาดเท่าไหร่ ก็ยิ่งพบแต่คราบสกปรกโดยเฉพาะคราบที่แฝงอยู่บนในจิตใจของคนเราด้วยกันเอง
มุมมองจากของตัวละครช่วยสะท้อนเรื่องราวและความสัมพันธ์
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ The Maid เป็นหนังสือเล่มโปรดของใครหลายคนคือ การถ่ายทอดเรื่องราวทั้งหมดในหนังสือออกมาผ่านสายตาของเมดมอลลี ซึ่งเป็นตัวละครผู้มีความโดดเด่นและมีลักษณะเฉพาะตัว จนทำให้คนอ่านตกหลุมรักตัวละครตัวนี้อยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว
การเล่าแบบมุมมองบุคคลที่ 1 ถือเป็นตัวชูโรงสำคัญของหนังสือเล่มนี้ วิธีดังกล่าวทำให้เรื่องราวทั้งหมดมีความน่าสนใจและน่าติดตามมากขึ้น แถมยังช่วยเพิ่มความใกล้ชิดระหว่างคนอ่านอย่างเรากับตัวละครเมดมอลลีด้วย ทุกครั้งเมื่อกวาดสายตาไปยังแต่ละบรรทัด เราจึงเหมือนหลุดเขาไปในโรงแรมหรู พร้อมทั้งกำลังปัดกวาดเช็ดถูราวเหมือนเราทำงานเป็นเมดอยู่อย่างไรอย่างนั้น
นอกจากนี้ เรายังได้รับรู้ถึงตัวตนของเมดมอลลีด้วยว่า เธอเป็นคนมีน้ำใจและมองโลกในแง่ดี ขณะเดียวกัน เธอก็เป็นคนอ่อนต่อโลก ตามไม่ทันเล่ห์เหลี่ยมคน แถมยังสื่อสารกับตีความคำพูดไม่ค่อยเก่งด้วย นั่นทำให้หลายต่อหลายครั้ง เธอจึงถูกหลอกใช้เป็นเครื่องมือสำหรับทำบางสิ่งบางอย่างอยู่เสมอ อย่างไรก็ดี ความเป็นเมดมอลลีที่เรารับรู้ได้จากการสวมบทบาทเป็นเธอก็มีความสำคัญต่อการมองเนื้อเรื่อง ตลอดจนทัศนคติต่อตัวละครต่างๆ ด้วยเช่นกัน
ด้วยวิธีการเล่าเรื่องแบบดังกล่าว คนอ่านอย่างเราๆ จึงถูกจำกัดการเข้าถึงข้อมูล และรับรู้สถานการณ์ได้เท่ากันกับที่เมดมอลลีรู้ ซึ่งถือเครื่องมือชั้นดีต่อการสร้างความตื่นเต้นให้เนื้อเรื่อง จนเราแทบจะไม่อยากวางหนังสือเล่มนี้ลง
หากจะยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่า ทำไมการเล่าเรื่องด้วยวิธีดังกล่าวถึงไปด้วยกันได้ดีกับตัวละครเมดมอลลี คงต้องพูดถึงฉากที่มอลลีเข้าไปทำความสะอาดในห้องสวีต และพบว่ามิสเตอร์แบล็ก เศรษฐีชื่อดังผู้เป็นแขกคนสำคัญของโรงแรมรีเจนต์ซี แกรนด์ นอนเสียชีวิตอยู่ในห้องพักของตนเองจนทำให้เมดมอลลีเป็นลมล้มพับ ขณะอ่าน เราแทบจะไม่รู้ว่าสภาพสถานที่เกิดเหตุเป็นอย่างไร เราแทบเดาไม่ได้เลยว่าใครจะมีโอกาสเป็นคนร้ายได้บ้าง หากไม่อ่านบทถัดไป
ยิ่งไปกว่านั้น ด้วยวิธีการเล่าเรื่องภายในหนังสือยังสอดคล้องกับความเป็นเมดมอลลี ซึ่งมีส่วนไม่น้อยในการทำให้คนอ่านอย่างเราตามเล่ห์เหลี่ยมและกลอุบายของตัวละครไม่ทันด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นวิลเบอร์ แฟนเก่าจอมเจ้าเล่ห์ของมอลลี จีเซล ภรรยาคนใหม่ของเศรษฐี ผู้คาดเดาได้ยาก หรือร็อดนีย์ บาร์เทนเดอร์หนุ่มผู้เป็นมิตรภาพที่ดีให้แก่มอลลี
การใส่ตัวละเหล่านี้เข้ามาในเนื้อเรื่องไม่ได้เป็นเพียงการมอบบทบาทผู้ต้องสงสัยให้แก่พวกเขาเท่านั้น ทว่ายังเป็นการเพิ่มมุมมองทางความคิดเข้ามาในชีวิตของเมดมอลลี และมีผลมากต่อการตัดสินใจทำสิ่งต่างๆ ตลอดจนการเติบโตของตัวละครเมดมอลลี เราเชื่อว่าหากทุกคนได้อ่านตั้งแต่ต้นจนจบ คงพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เมดมอลลีเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากจากบทแรกของหนังสือ
เมดมอลลีจึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ใครต่อใครต่างก็หลงรักหนังสือเล่มนี้ แม้แต่สตีเวน คิง. (Stephen King) นักเขียนชื่อดัง ยังเคยโพสต์บนเอ็กส์ส่วนตัวถึงความชอบในตัวละครมอลลีและเนื้อหาของ The Maid ว่า
“ยอดเยี่ยมและเพลิดเพลินมาก เป็นตัวละครหลักที่น่าทึ่ง (และเป็นที่รัก) ที่สุดในรอบหลายปี”
บทสนทนากับคุณยายคือส่วนหนึ่งของการเติบโต
ใครเป็นเหมือนกันบ้าง อ่าน The Maid แล้วงงกับช่วงเวลาภายในเรื่องว่า บรรทัดที่อ่านอยู่นี้คือปัจจุบันหรืออดีตกันแน่?
ไม่แปลกเลยหากจะรู้สึกสับสนบ้างเล็กน้อยในช่วงแรกของหนังสือ เพราะจุดที่ทำให้หนังสือเล่มนี้โดดเด่นขึ้นมาท่ามกลางหนังสือแนว Cozy Mystery ด้วยกันเองคือ การตัดสลับบทบรรยายไปมาระหว่างอดีตกับปัจจุบัน โดยมีผลมาจากตัวละครเมดมอลลีที่มักจะนึกย้อนถึงเหตุการณ์ในอดีตอยู่ตลอดเวลาเจอปัญหา พร้อมทั้งหวนคิดถึงบทสนทนาระหว่างเธอกับคุณยายอันเป็นที่รักซึ่งได้เสียชีวิตไปแล้ว นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเธอต้องเผชิญหน้าเรื่องราวต่างๆ เพียงลำพัง
แม้จะปวดหัวนิดหน่อยในช่วงแรก แต่เมื่อเริ่มจับทางได้ เราจะเริ่มแยกได้ว่าบรรทัดไหนคือบทสนทนาในปัจจุบัน และบรรทัดไหนคือบทสนทนากับคุณยาย ที่สำคัญการตัดสลับไปมานี้กลับเป็นส่วนสำคัญซึ่งทำให้ตัวละครมอลลีมีมิติมากขึ้นด้วย
มอลลีเติบโตมากับคุณยายเพียงลำพัง คุณยายเป็นผู้สั่งสอนเธอถึงสิ่งใดควรหรือไม่ควรทำอยู่เสมอ ตลอดจนวิธีการรับมือความคิดลบต่างๆ นานาที่โจมตีเธอ อย่างครั้งหนึ่งที่ยายสอนเธอว่า “หากไม่มีใครชอบเรา ไม่ใช่ว่าเราประหลาด แต่เพราะเราไม่เหมือนใคร และนั่นเป็นสิ่งอันน่าภาคภูมิใจ”
นั่นทำให้เราได้เห็นว่าตัวละครเมดมอลลี ได้รับนิสัยมองโลกในแง่ดีและโอบอ้อมอารีย์มาจากไหน ซึ่งมันจะค่อยๆ ตอบปริศนา พร้อมทั้งคลายข้อสงสัยที่ปรากฏในเรื่อง เมื่อเปิดมาถึงบทสุดท้าย คนอ่านอย่างเราก็แทบจะไม่มีคำถามอะไรให้ต้องอยากรู้อีกต่อไป เพราะบทสนทนาของทั้งคู่ได้ตอบหลายคำถามให้เราไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ทุกตัวอักษรในทุกบรรทัดของ The Maid มีเรื่องราวซ่อนเอาไว้อยู่เบื้องหลัง ถึงการทำงานที่โรงแรมรีเจนซี แกรนด์จะทำให้มอลลีพบกับความยุ่งเหยิงในชีวิต และเผชิญกับหลายคนผู้มีจิตใจเต็มไปด้วยคราบสกปรกซึ่งยากจะทำให้สะอาด ทว่าในอีกด้านหนึ่ง เธอเองก็ได้พบกับมิตรภาพดีๆ อีกมากมายที่คอยช่วยเหลือเธอ จนเธอสามารถผ่านเรื่องราววุ่นวายทุกอย่างไปได้
แม้ตอนจบของงานเขียนแนว Cozy Mystery ส่วนใหญ่คือความสุขสมหวัง แต่กว่าจะไปถึงตอนจบนั้นได้ เราอาจต้องเผชิญหน้ากับบทเรียนอันแสนท้าทายมากมายในชีวิต ซึ่งนั่นไม่ได้หมายความว่า มันจะไม่มีความสุขเสียทีเดียว เพราะบทเรียนเหล่านั้นอาจมอบอะไรหลายอย่างให้ชีวิตเราได้เช่นกัน
เหมือนที่เมดมอลลีกล่าวเอาไว้ว่า “ชีวิตย่อมมีวิธีของมันเองในการจัดการสิ่งต่างๆ แล้วทุกอย่างจะจบลงด้วยดี ถ้ายังไม่ดีก็หมายความว่ายังไม่จบ”
อ้างอิงจาก