ก่อนจะไปดูละครเวที ‘ไม่มีอะไรจะพูด’ ผมทำการจองบัตรโดยตรงกับผู้กำกับ เบสท์-วิชย อาทมาท หลังจากระบุวันเวลาอะไรเสร็จสรรพ ผมพูดทิ้งท้ายกับเขาว่า “ฉันเดาไม่ถูกเลยว่าคราวนี้แกจะมาไม้ไหน”
เบสท์เป็นผู้กำกับละครเวทีที่ได้รับการจับตาอย่างมากในช่วงสามสี่ปีที่ผ่านมา สิ่งหนี่งที่เราคาดหวังได้จากเบสท์คือ ‘รูปแบบ’ หรือ ‘สไตล์’ ของการแสดงที่ไม่เป็นไปตามขนบแบบ ‘ละค้อนนละคอน’ ที่คุ้นชิน ตัวอย่างที่ผ่านมาเช่น ละครเวทีไหลลื่นเหมือนจะไม่มีบทใน ‘6 ตุลาปาร์ตี้’, การแสดงเก๋ๆ ที่เล่นสองห้องพร้อมกันใน ‘บ้าน cult เมือง cult’ หรือเรื่อง ‘in เธอ’s view’ ที่เอานักแสดงหญิงทั้งวงการ 15 คนมาอยู่ในเรื่องเดียวกัน แต่รอบหนึ่งเล่นแค่ 6 คน (อ้าว)
สำหรับ ‘ไม่มีอะไรจะพูด’ แรกเริ่มดูเหมือนจะเล่นมุกเดียวกับ ‘บ้าน cult เมือง cult’ คือทำการแสดงสองห้องที่อยู่ตรงข้ามพร้อมกัน ผู้ชมจะได้เลือกว่าจะเลือกเข้าห้องซ้ายที่ตกแต่งด้วยใบบัว หรือห้องขวาที่ตกแต่งด้วยกอไผ่ ถึงจุดนี้ผู้ชมเริ่มจะงงว่า อ้าว ถ้าฉันเลือกห้องซ้ายแล้วไม่ได้ดูเรื่องในห้องขวาแล้วจะรู้เรื่องมั้ยเนี่ย ยังไม่ทันหาคำตอบได้ละครก็เพิ่มความเซอร์เข้าไปอีก เมื่ออยู่ดีๆ เหล่านักแสดงไปเล่นกันพื้นที่ตรงกลางระหว่างสองห้อง ผู้ชมหลายคนต้องเอี้ยวตัวชะเง้อคอ มองเห็นชัดบ้างไม่ชัดบ้าง
ดังนั้นสิ่งที่โดดเด่นมากของ ‘ไม่มีอะไรจะพูด’ คือการเล่นกับ ‘พื้นที่’ โดยทั่วไปละครเวทีมักทำการแสดงตรงหน้าเราไปจนจบเรื่อง คนดูนั่งเรียบร้อยอยู่กับที่ไปราวสองชั่วโมง แต่ในเรื่องนี้จะมีช่วงที่นักแสดงบอกให้เราเปลี่ยนห้องได้ (เอาเข้าไป!) ซึ่งจะเปลี่ยนหรืออยู่ห้องเดิมก็ได้ แถมจากนั้นยังมีฉากที่เหล่านักแสดงพูดคุยข้ามกันระหว่างสองห้อง หรือกระซิบกระซาบและเรียกให้ผู้ชมไปยืนฟังใกล้ๆ จนอาณาเขตของ ‘พื้นที่ทำการแสดง’ และ ‘พื้นที่ของผู้ชม’ ได้ถูกเบลอเข้าหากัน
อย่างไรก็ดี แม้จะมีความกิ๊บเก๋เรื่องการใช้พื้นที่ แต่ด้วยความยาวราว 100 นาที เมื่อละครดำเนินไปลูกเล่นของพื้นที่เริ่มลดทอนประสิทธิภาพลงไปบ้าง เช่นว่าในช่วงหลังผู้ชมดูจะเหนื่อยล้าและเลือกอยู่ห้องเดิมไม่เดินเปลี่ยนห้อง หรือการแสดงบริเวณพื้นที่ตรงกลางในช่วงหลังไม่ได้มีมุกใหม่อะไรเพิ่มเติม จนไม่ก่อความเซอร์ไพรส์อะไรอีก
แต่ละครเรื่องนี้ไม่ได้มีแค่การใช้พื้นที่ เรื่อง ‘เสียง’ ก็ยียวนกวนประสาทใช่น้อย ขอให้ลืมการโปรเจคต์เสียงก้องกังวานของละครเวทีทั่วไป เพราะในเรื่องนี้นอกจากเสียงนักแสดงที่เดี๋ยวอยู่ห้องเรา ห้องตรงกลาง ห้องตรงข้าม ยังมีเสียงคนพูดที่ออกมาจากลำโพงอีก ซึ่งบ้างก็พอจับความได้ว่าใครพูด บ้างก็ไม่ค่อยแน่ใจว่านี่คือใคร ตัวละครอะไร คนหรือเปล่า หรือผีก็ไม่อาจทราบ
ทว่าสิ่งที่หนักหนาที่สุดใน ‘ไม่มีอะไรจะพูด’ คงเป็นเนื้อหาของมัน อย่างที่เราเห็นในเครดิตว่ามีผู้เขียนบท 5 คน (คำ ผกา, โตมร ศุขปรีชา, วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา, ยิ่งชีพ อัชฌานนท์, ประจักษ์ ก้องกีรติ) ตอนเห็นรายชื่อนึกภาพไม่ออกเลยว่างานของห้าคนนี้จะรวมออกมาเป็นบทละครได้อย่างไร ซึ่งวิธีการของผู้กำกับคือเอาบทของทั้งห้ามายำรวมกันและดัดแปลง ผลคือการเล่าที่ไม่ปะติดปะต่อสลับไปมา จนยิ่งดูก็ยิ่งงงในงง จับต้นชนปลายไม่ค่อยถูก ตอนละครจบผมกับรุ่นพี่นักวิจารณ์อีกคนเดินออกมาพร้อมพูดกันขำๆ ว่าแล้วกูจะเขียนถึงละครเรื่องนี้ยังไงวะ (ฮา)
อันที่จริงการเล่าเรื่องแบบไม่ได้เรียง 1-2-3-4 หรือการดำเนินเรื่องที่ไม่ได้เน้นการเล่าเรื่องไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่แล้ววงการละครเวที แถม Narrative แบบนี้ดูเหมาะสมดีกับโลกยุคปัจจุบัน มันคล้ายกับตอนที่เราเลื่อนดู News Feed ในทวิตเตอร์หรือเฟซบุ๊ก เป็นสภาวะที่ชุดเรื่องต่างๆ ไหลบ่าเข้ามาแบบเป็นห้วง แต่เท่าที่พอจับความได้ เรื่องราวของ ‘ไม่มีอะไรจะพูด’ ประกอบไปด้วยเรื่องของร้านเกี๊ยว, ชายที่นัดมามีเซ็กซ์หมู่กัน และเรื่องของหอยสุมอย
เชื่อว่าพล็อตหอยสุมอยน่าจะเป็นที่จดจำหรือกระทบใจคนดูเป็นส่วนใหญ่ มันว่าด้วยโลกยุคอนาคตที่เจริญแล้วของประเทศอะไรสักอย่าง เหล่าอาจารย์และนักวิชาการมาพูดปาวๆ กันเรื่องการค้นพบหอยสุมอยอันยิ่งใหญ่ แต่ดั่งบทละครแอบเสิร์ดที่ยิ่งดูไปก็ไม่รู้ว่าตกลงหอยสุมอยคืออะไร มีไว้เพื่ออะไร ค้นพบแล้วดีอย่างไร หรือทำไมเหล่าอาจารย์และนักวิชาการที่สรรเสริญเชิดชูมันกลับห้ามไม่ให้นักเรียนค้นหามัน
หอยสุมอยกระตุ้นให้ผู้ชมขบคิดถึงความหมายของมันและการเชื่อมโยงสิ่งนั้นกับสถานการณ์ใกล้ตัว ระหว่างที่พยายามแกะรหัสของหอยสุมอย ผู้เขียนนึกถึงสิ่งแรกที่ได้ประสบของละครเรื่องนี้ นั่นคือ ใบบัวและกอไผ่ ใบบัวอาจจะสื่อความทำนอง “ช้างตายทั้งตัวเอาใบบัวมาปิด” ตามการกระทำของพวกนักวิชาการในเรื่องหรือชื่อภาษาอังกฤษของละครที่ว่า what we talk about when we don’t talk about the elephant in the room
ส่วนกอไผ่ชวนให้นึกถึงฉากเล็กๆ แต่สำคัญที่ตัวละครเจ้าของร้านเกี๊ยวมาออกรายการโทรทัศน์เรื่องข่าวลือไม่ดีของร้าน พิธีกรพยายามถามไถ่เรื่องราว แต่เจ๊เจ้าของร้านยืนยันว่าไม่มีอะไร ทั้งที่อารมณ์ของเธอแทบจะระเบิดออกมา พิธีกรปิดท้ายรายการด้วยการเล่นมุกว่ารายการชื่อ ‘ไม่มีอะไรในกอไผ่’ ซึ่งเป็นการเสียดสีแดกดันที่ทำคนดูฮาทั้งโรง เพราะดูก็รู้ว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตรงหน้ามัน ‘มีอะไร’ แน่นอน
เช่นเดียวกับละครที่ชื่อว่า ’ไม่มีอะไรจะพูด’ ที่แท้จริงแล้วดูเหมือนมีอะไร ‘จะพูด’ มากมาย
Photo by Wichaya Artamat
ละครเวที ‘ไม่มีอะไรจะพูด’ จัดแสดงถึงวันที่ 24 มิ.ย. 2560 (ยกเว้นวันอังคารและพุธ) ณ สถาบันปรีดีพนมยงค์ ทองหล่อ ดูรายละเอียดที่ www.facebook.com/events/279287385852964