เราเข้าใจคนรอบข้างมากขนาดไหน?
ในแต่ละย่างก้าวของการใช้ชีวิต เราในฐานะมนุษย์ต้องพบเจอกับผู้คนมากมาย คนที่นั่งตรงข้ามเราในรถขนส่งสาธารณะ พ่อค้า แม่บ้าน เพื่อนร่วมงาน คนรัก คนที่ผ่านตาในโซเชียลมีเดีย ฯลฯ บางคนก็เป็นคนที่เราปล่อยผ่านไปโดยไม่ต้องนึกถึงมาก บางคนผู้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เราอาจรู้สึกเข้าใจพวกเขาขึ้นมามากหน่อย นั่นเป็นสิ่งที่ฟังดูปกติ เพราะยิ่งเรารู้จักกับใครสักคนอย่างลึกซึ้ง เราก็ควรที่จะเข้าใจพวกเขามากขึ้นใช่หรือไม่?
อย่างไรก็ตาม บางครั้งความคิดของเราเองก็ทำให้เราแปลกใจได้ ลองนึกภาพถึงวันที่เราต้องมีปฏิสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า เรามองเขาเป็นคนแปลกหน้าจริงๆ ขนาดไหน? เรามองเขาเป็นผ้าใบที่ไร้สี จนกว่าการกระทำของเขาจะแต่งแต้มผ้าใบผืนนั้นด้วยรูปความเป็นมนุษย์หรือเปล่า? หรือว่าเราเป็นผู้วาดภาพนั้นด้วยความคิดในใจว่า ‘คงเป็นคนแบบนี้’ คนคนนั้นอาจเป็นคนที่เราเจอในโลกจริง หรืออาจเป็นคนที่เรารู้จักเพียงผ่านการฟาดฟันกันบนประเด็นดราม่าประจำวัน ประเด็นที่เราถูกและเขาผิด
เราไม่ได้ตั้งใจ แต่ทำไมกันเราถึงมองมนุษย์ด้วยการตัดสิน? ทำไมความเข้าใจแรกเกี่ยวกับใครสักคนของเรา มักมาจากการเหมารวมบางรูปแบบ? และทำไมบางครั้งสายตาของเรากลับมองอะไรต่างๆ กลายเป็นขาวกับดำไปโดยที่เราไม่ได้ตั้งใจ? การลองทำความเข้าใจวิธีคิดแบบ Dichotomous Thinking จึงอาจช่วยให้เราเข้าใจตัวเอง (และผู้อื่น) ได้มากขึ้น
เรามองโลกแบบขาวกับดำมาตั้งแต่เด็ก
Dichotomous Thinking คือวิธีการคิดแบบมีขั้วตรงข้าม สิ่งที่ไม่ใช่ขาวคือดำ สิ่งที่ไม่ใช่ถูกคือผิด คือการมีมุมมองว่าทุกอย่างมีคำตอบที่แน่ชัดของมัน และคำตอบนั้นง่าย ไม่ซับซ้อน มองเผินๆ เราอาจคิดว่าการคิดแบบนี้ต้องเกิดขึ้นจากการเลี้ยงดูใช่หรือเปล่า? การที่เราจะรู้ได้ว่าอะไรถูกและผิดนั้นต้องมาจากการศึกษาใช่หรือไม่? แต่พบว่ามีหลักฐานทางการวิจัยที่สามารถบอกเราได้ว่า ในระดับหนึ่ง เราตัดสินคนมาตั้งแต่เราอายุ 8 ขวบแล้ว
งานวิจัยที่พูดถึงประเด็นดังกล่าวชื่อว่า Dichotomous thinking about social groups: Learning about one group can activate opposite beliefs about another group จัดทำโดยฮันนาห์ คราเมอร์ (Hannah Kramer) ผู้วิจัยจากสาขาจิตวิทยาพัฒนาการ คณะจิตวิทยา มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซึ่งประเด็นหลักของงานวิจัยศึกษาเกี่ยวกับวิธีการคิดที่มนุษย์ตีความลักษณะกลุ่มสังคม ผ่านการมองโลกแบบขาวกับดำ แต่ประเด็นแรกที่เราจะพาไปดูกันคือ ในการทดลองที่ 1 ซึ่งได้บอกบางอย่างอันน่าสนใจเกี่ยวกับความเป็นมนุษย์และการตัดสินผู้อื่นไว้
ในการทดลองดังกล่าว ผู้วิจัยแบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 3 กลุ่ม นั่นคือเด็ก 5 ขวบ 8 ขวบ และผู้ใหญ่ โดยกลุ่มตัวอย่างจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับกลุ่มสังคมที่ผู้วิจัยแต่งขึ้น 1 กลุ่ม ชื่อซัตเติ้ล (Zuttles) และให้พวกเขาระบุลักษณะของกลุ่มสังคมอีกกลุ่มหนึ่ง ชื่อทวิกกัม (Twiggum) ผลปรากฏว่ากลุ่มตัวอย่างวัย 8 ขวบและผู้ใหญ่คาดเดาถึงลักษณะของทวิกกัมว่าต้องตรงกันข้ามกับซัตเติ้ล ทั้งๆ ที่พวกเขารู้เพียงลักษณะของกลุ่มสังคมเดียว
การทดลองดังกล่าวหมายความว่าอะไรได้บ้าง? ในระดับหนึ่ง มันบอกกับเราว่าในเด็ก 8 ขวบที่เรายังไม่รู้ความมาก เราอาจเริ่มพยายามทำความเข้าใจโลกผ่านการเปรียบเทียบและทึกทักแล้ว งานวิจัยชิ้นนี้จึงเรียกพฤติกรรมดังกล่าวว่า ทางลัดทางปัญญา (Cognitive Shortcut) หรือที่เราเรียกกันว่า การเหมารวม เราอาจทำมันเพื่อเอาชีวิตรอด แต่เราจะเอาตัวรอดอย่างไรในโลกที่เราไม่เข้าใจ? และสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ การที่กลุ่มตัวอย่างในวัยผู้ใหญ่ยังทำเช่นนั้นอยู่ แม้จะไม่จำเป็นอีกต่อไปแล้ว
การค้นพบเมื่อครู่ยิ่งน่าสนใจขึ้นไปใหญ่ เมื่อเราสืบสาวลงไปถึงจุดกำเนิดของมัน เพราะนี่ไม่ใช่การทดลองใหม่ 100% แต่เป็นการต่อยอดมาจากการทดลองในงานวิจัย When Your Kind Cannot Live Here: How Generic Language and Criminal Sanctions Shape Social Categorization ของเดโบรา โกลด์ฟาบ (Deborah Goldfarb) นักวิจัยจากคณะจิตวิทยา มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซึ่งใช้กลุ่มตัวอย่างที่มีลักษณะทางประชากรศาสตร์เดียวกันกับงานวิจัยของคราเมอร์ แต่โกล์ดฟาบกลับโฟกัสไปยังจุดอื่น นั่นคือการใช้ภาษา
งานวิจัยโดยโกลด์ฟาบให้ชื่อกลุ่มสังคม 2 กลุ่มว่า พลเมือง (Citizens) และคนต่างด้าว (Noncitizens) หลังจากนั้นกลุ่มตัวอย่างก็ได้รู้ว่าภายในกลุ่มเหล่านั้น มีการแยกย่อยออกเป็นอาชญากร (Criminals) และผู้ที่ไม่ใช่อาชญากร (Noncriminals) ซึ่งกลุ่มตัวอย่างถูกแบ่งให้รับรู้เกี่ยวกับกลุ่มคนเหล่านี้แตกต่างออกไป กลุ่มหนึ่งใช้ภาษาที่ไม่เฉพาะเจาะจง เรียกเป็นกลุ่มโดยเหมารวม ส่วนอีกกลุ่มเรียนรู้ด้วยการใช้ภาษาที่เจาะจงลงไปเกี่ยวกับผู้คนเหล่านั้น
ผลการทดลองพบว่า การใช้ภาษาอย่างละเอียดเกี่ยวกับกลุ่มคนต่างด้าว ทำให้กลุ่มตัวอย่างเลือกตัดสินพวกเขาให้อยู่ในหมวดอาชญากรน้อยลง และเพิ่มการมีส่วนร่วมในการหาหลักฐานเพื่อประกอบการตัดสิน พร้อมทั้งลดความมั่นใจต่อการตัดสินคนของตัวกลุ่มเป้าหมายอีกด้วย
จากการยกตัวอย่าง 2 งานวิจัยข้างต้น เราอาจสรุปได้ว่า บางส่วนของการมองโลกแบบขาวกับดำนั้นมาจากตัวของเรา แต่อีกส่วนก็มาจากวิธีการที่สังคมบอกเราเกี่ยวกับโลกด้วย และการที่เราเป็นส่วนหนึ่งของสังคมนั้นๆ โดยไม่อาจเลือกได้ ก็กลายเป็นว่านี่อาจเป็นวิธีการคิดแบบตั้งต้นของมนุษย์ไปโดยปริยาย
เรารู้จักเพียงความเป็นมนุษย์ของตัวเอง
สิ่งที่น่าพูดคุยต่อจากประเด็นก่อนหน้าคือ บทสรุปว่าการใช้ภาษาที่เข้าถึงตัวตนของกลุ่มบุคคลมากขึ้น อาจส่งผลให้เรามองโลกอย่างตัดสินน้อยลง อย่างนั้นแล้วเราอาจลองมองไปที่งานวิจัยของโอชิโอะ อัตซึชิ (Oshio Atsushi) ศาสตราจาย์จากสาขาจิตวิทยา คณะ Letters, Arts and Sciences มหาวิทยาลัยวาเซดะ ผู้มีงานวิจัยหลากหลายชิ้นที่มักตกอยู่ใต้หมวดหมู่ของลักษณะบุคลิกภาพ วิธีคิด และมุมมองโลก หนึ่งในนั้นคือสำหรับการมองโลกแบบขาวกับดำ
Dichotomous Thinking Leads to Entity Theories of Human Ability คืองานวิจัยที่เกี่ยวกับเรื่องที่เรากำลังพูดคุยวันนี้ ซึ่งจะเจาะจงลงไปสู่มุมมองที่มีต่อโลกของผู้ที่มองโลกด้วยสายตาขาวกับดำ ผ่านการเชื่อมโยงมุมมอง Dichotomous Thinking กับทฤษฎี Implicit Theories of Intelligence เป็นตัวชี้วัดความเชื่อของคนคนหนึ่ง ว่าพวกเขาเชื่อว่าสติปัญญา ความสามารถ คุณค่า ฯลฯ ของคนคนหนึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่ โดยหากเชื่อว่าสิ่งเหล่านั้นเปลี่ยนแปลงได้ พวกเขาจะตกอยู่ในหมวดของ Incremental Theorist แต่หากไม่เชื่อว่าจะเปลี่ยนแปลง พวกเขาจะอยู่ในหมวดของ Entity Theorist
การเก็บตัวอย่างในนักศึกษาชาวญี่ปุ่นพบว่า กลุ่มตัวอย่างที่มองโลกแบบขาวกับดำ มักเชื่อว่ามนุษย์แต่ละคนไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ หากหน้าตาไม่ดีก็ไม่มีทางหน้าตาดี หากไม่ฉลาดก็ไม่มีวันฉลาด ฯลฯ ซึ่งเป็นผลการทดลองที่ผู้วิจัยเรียกว่า “เป็นไปตามคาด” เนื่องจากผลการทดลองครั้งก่อนหน้าในแง่มุมอื่นๆ ของคนที่มองโลกแบบขาวกับดำของเขา พบว่ากลุ่มตัวอย่างมักมีมุมมองเหมารวมผู้อื่น มองตัวตนผู้อื่นอย่างคับแคบ และเชื่อว่าทุกสิ่งจำต้องมีคำตอบชัดเจน
เราอาจจะมองว่ามันเป็นวิธีการมองโลกที่เลวร้ายเกินจริง แต่หากลองมองไปที่โซเชียลมีเดียในปัจจุบันแล้ว เราอาจเห็นการมองโลกแบบขาวกับดำเหล่านั้นในโลกจริงของเรามากขึ้น เราเห็นคนกี่คนที่มองว่า คนคนหนึ่งต้องเกิดขึ้นมาแล้วรู้เรื่องรู้ราวเลยโดยที่ไม่ต้องเรียนรู้อะไร? เราเห็นคนกี่กลุ่มที่มองมนุษย์ไม่เท่ากันกับตัวเอง เพียงเพราะเพศ เชื้อชาติ สีผิว ลักษณะหน้าตา ความฉลาด? ฯลฯ นั่นคือความสุดโต่งของการมองโลกเพียงขาวกับดำ แต่เรามักตกใจตัวเอง เมื่อหลายๆ ครั้งเราก็เกือบจะลื่นล้มลงไปมีส่วนร่วมกับมุมมองนั้นๆ เนื่องจากโซเชียลมีเดียลดรูปความเป็นคนของเราและคนรอบข้างลง เหลือเพียงสิ่งที่เราหรือเขาพิมพ์ออกมาโดยไม่มีบริบท
ไม่ใช่ทุกอย่างเกิดขึ้นเพราะตัวของเรา รวมถึงมุมมองแบบขาวกับดำ
คุยกันมาขนาดนี้แล้ว เรากำลังต่อว่าการมีมุมมองแบบขาวกับดำอยู่หรือเปล่า? การมีมุมมองเช่นนั้นเหมาะสมกับการถูกประณามเลยใช่ไหม? ถ้าเราจบแบบนั้นก็คงแปลว่า เราไม่เข้าใจในสิ่งที่ตัวเองพูดเลยแม้แต่น้อย เพราะมุมมองดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นจากอากาศธาตุ แต่มีที่มาที่ไปของมันเช่นกัน
งานวิจัยชิ้นสุดท้ายของวันนี้พูดเกี่ยวกับที่มาของการมองแบบโลกแบบขาวกับดำ นั่นคือ Association Between Individual Differences in Dichotomous Thinking and Current and Childhood High-Crime Environments โดยมิเอดะ ทากาฮิโระ (Mieda Takahiro) นักวิจัยจากคณะวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยแพทย์ฟุกุชิมา
ในงานวิจัยชิ้นนี้เห็นว่า วิธีที่ผู้คนมองโลกนั้นเชื่อมโยงโดยตรงกับสภาพความเป็นอยู่ของพวกเขา เช่นนั้นแล้วสภาพแวดล้อมแบบใดกันจะนำมาซึ่งมุมมองโลกเพียงขาวกับดำ? ในการรวบรวมข้อมูลจากประชากรชาวญี่ปุ่นจำนวน 41,284 ราย ซึ่งวัดค่าชี้วัดว่าพวกเขามองโลกแบบขาวกับดำหรือไม่ เทียบกับความถี่ของการเกิดอาชญากรรมในที่อยู่อาศัยปัจจุบันและในวัยเด็ก
ผลปรากฏว่า ยิ่งคนคนหนึ่งอยู่ในพื้นที่ที่มีการก่ออาชญากรรมเยอะ ก็มีโอกาสที่จะทำให้คนคนนั้นมองโลกแบบขาวกับดำ เช่นนั้นแล้วเราอาจเรียกได้ว่า คนที่มองโลกแบบขาวกับดำบางคนอาจมองโลกเช่นนั้น เนื่องจากพวกเขาพัฒนากิจวัตรนั้นๆ มาจากสัญชาตญาณการเอาตัวรอดที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีภัย ประสบการณ์และสภาพแวดล้อมของเราย่อมมีผลกับการมองโลกของเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และบางครั้งมันยังบังคับให้เรารู้จักโลกรอบตัวอย่างเร็วที่สุด ไม่ใช่ละเอียดที่สุด
พอมองอย่างนี้เราก็จะเห็นความขาวกับดำในตัวของเราเอง ทำไมเราเดินห่างจากกลุ่มผู้ชายเวลาเราต้องเดินกลับบ้านคนเดียว? ทำไมเราไม่เชื่อใจคนแปลกหน้า? ทำไมเราถึงมีอคติกับคนหลายๆ คน จากการมองเขาเพียงชั่วอึดใจเดียว? บางครั้งก็เป็นเพราะโลกสอนให้เรามองอย่างนั้น เมื่อนั่นคือสิ่งเดียวที่ป้องกันเราออกจากสังคมที่พร้อมจะทำร้ายเรา
การเป็นมนุษย์นั้นเต็มไปด้วยความสลับซับซ้อน การมองโลกแบบขาวกับดำจึงมักนำไปสู่ผลลัพธ์ในแง่ลบมากกว่าแง่บวก การเปิดใจรับรู้ว่าสิ่งที่เราเห็นและรู้นั้นเป็นเพียงหนึ่งมุมของภาพใหญ่ และโลกยังมีสิ่งที่เราเรียนรู้ได้อีก อาจเป็นก้าวแรกที่ดีในการสร้างสังคมที่เปิดรับมากขึ้น และทำให้เราเติบโตออกไปจากมุมมองเดิมๆ ที่ถูกใส่มาโดยไม่รู้ตัวของเรา ในขณะเดียวกัน นั่นอาจเป็นแค่การเปลี่ยนแปลงในเชิงบุคคลเท่านั้น
สำหรับเราหลายๆ คน โลกไม่ได้ใจดีพอจะหยิบยื่นการเอาตัวรอดด้วยทัศนคติแง่บวกมาให้ คนที่รู้สึกถูกสังคมกดทับไม่ว่าจะรูปแบบใด ย่อมต้องมองโลกอย่างโหดร้ายกว่าคนอื่นเสมอ เช่นนั้นแล้วในขณะที่เราเปิดใจกับสิ่งรอบตัว สิ่งที่จะช่วยให้เราหลุดออกจากการมองโลกแบบขาวกับดำที่เรายืนอยู่ อาจคือการกระตุ้นให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงบางอย่างสำหรับทุกๆ คน
นั่นเองอาจคือวันที่โลกเราจะมีสีสัน เนื่องจากไม่จำเป็นต้องมีใครมองมันเป็นขาวกับดำอีกต่อไป
อ้างอิงจาก