1. แหล่งกำเนิดแสงเพียงหนึ่งเดียวในโมงยามอันดึกสงัดคือโป๊ะไฟตั้งโต๊ะขนาดเล็กกะทัดรัดที่เปล่งสว่างแค่น้อยๆ พอให้สายตาได้มองเห็น เป็นการตัดสินใจพิลึกพิลั่นที่เกิดขึ้นในชั่วระยะแค่สั้นๆ ก่อนที่ผมจะอ่านหนังสือเล่มที่กำลังจดจ่อสมาธิอยู่นี้จนจบ ด้วยเพราะเหลือเพียงไม่ถึงห้าสิบหน้าการทอดท่องไป ผืนแผ่นดินไร้ทรงจำของผมก็จะถึงคราวสิ้นสุดลง หากกระนั้นผมก็ไม่สนใจว่าการหรุบหรู่ดวงไฟจนเหลือเพียงหนึ่งจะทำให้ต้องเพ่งสายตากับตัวอักษรมากกว่าเดิม และก็อาจส่งผลให้การพลิกผ่านแต่ละหน้านั้นช้าลงกว่าที่เป็น แต่ก็ราวกับว่าการโอบคลุมตัวเองไว้ในพื้นที่มืดสนิท เหลือเพียงแสงไฟให้รู้สึกรันทดและโดดเดี่ยว คือการจำลองบรรยากาศที่ผมสัมผัสอยู่ตลอดขณะละเลียดอ่านเรื่องเล่าครั้งใหม่ของคุณวีรพร นิติประภา เรื่องเล่าที่ใช้ชื่อว่า ‘พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ’ เช่นนี้แล้วผมจึงไม่ลังเลที่จะปิดไฟในห้องจนเกือบมืดสนิท และตะบี้อ่านต่อไปในแสงของดวงไฟกระจิริดอันเปลี่ยวดาย
2. เรื่องเล่าของหนังสือเล่มนี้เริ่มต้นขึ้นในห้องเล็กๆ ของบ้านเปลี่ยวเดียวดายที่เขาเรียกมันว่า ห้องสายฝน และหนูดาวก็นั่งฟังเรื่องเรื่องเล่าของครอบครัวเมื่อครั้งเก่าจากคำบอกเล่าของยายศรี ที่ย้อนกลับไปไกลในกาลสมัยก่อนเก่า เมื่อครั้งตาทวดของหนูดาวยังเป็นเพียงเด็กเล็กอยู่ไกลถึงเมืองจีน กระทั่งนาฏกรรมประวัติศาสตร์ของดินแดนอุษาคเนย์ก็ค่อยๆ บิดเคลื่อน ชักพาให้ ‘ตาทวดตง’ ต้องระหกระเหินจากแผ่นดินใหญ่เดินทางมาตั้งต้นชีวิตที่ดินแดนสยาม สืบต่อเป็นบันทึกวงศ์ตระกูลของชายชาวจีนอพยพผู้นี้ที่ไม่เคยถูกจดจาร แม้เมื่อเขาได้เษกสมรสกับหญิงสาวในผืนแผ่นดินอื่น จนก่อกำเนิดเป็นครอบครัวลูกจีนผสม แม้เมื่อลูกๆ ทั้งห้าของเขาได้เติบใหญ่และเรียนรู้ชีวิต และแม้จนประวัติศาสตร์ก็ได้นาบทับเข้ากับวงโคจรที่เคลื่อนไปที่ได้สานพันกันเป็นเรื่องราวอันผกผันฉวัดเฉวียนของหลายชีวิตที่เกี่ยวกระวัดกันไว้ด้วยความทุกข์โศกและชะตากรรมที่รังแต่จะโบยตีซ้ำๆ อย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อยปราณี หากแต่ไม่เคยเลยที่เรื่องราวเหล่านี้จะเคยถูกจารึกจดจารเป็นลายลักษณ์ แค่แต่เฉพาะในเค้ารางของความทรงจำอันลางเรือนเท่านั้น ที่ได้จดจำประวัติศาสตร์ของตระกูลนี้ไว้อย่างมืดมิดหม่นมัวและกระท่อนกระแท่น
3. มุขปาฐะหรือการถ่ายทอดความทรงจำจากปากต่อปากคือรูปแบบการจดจำประวัติศาสตร์ที่สืบเนื่องเสมอมาแต่กาลก่อนที่มนุษย์จะบันทึกลงลายลักษณ์อักษร โดยเรียงร้อยเอาไว้เป็นเรื่องราวอย่างชวนฟัง หากกระนั้นแล้วจุดอ่อนสำคัญของการจดจำอดีตด้วยวิธีนี้ก็ยังปรากฏชัด มันคือความทรงจำที่ไม่อาจวางใจแน่นอนได้ของมนุษย์นั่นเอง
หากเราลองพิจารณาพุทธศักราชอัสดงฯ ด้วยแนวคิดเดียวกันนี้ จะพบว่าเรื่องราวของครอบครัวชาวจีนลูกผสมเองก็ถูกถ่ายทอดจากความทรงจำของยายศรี จากเสียงเล่าของแกที่หนูดาวได้ฟังอยู่เรื่อยๆ เช่นนี้แล้วเราจึงไม่อาจวางใจในปากคำของยายศรีได้เลยว่าถ้อยคำทั้งหมดที่พรั่งพรูผ่านแกจะเชื่อถือได้จริงสักแค่ไหน จะถูกผสมโรงด้วยอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์หรือเรื่องที่แกคิดไปเอง หรือจำพวกที่แกจำถูกจำผิดสักเท่าไหร่ นั่นเพราะ ประวัติศาสตร์ของครอบครัวไร้ทรงจำที่ถูกส่งผ่านถึงเรา(ผู้อ่าน) และหนูดาว จึงล้วนแล้วแต่ถูกลิดรอนด้วยข้อจำกัดของมนุษย์ที่ไม่อาจจดจำทุกสิ่งได้ เช่นนี้ด้วยการพึ่งพิงความทรงจำและอาศัยการบอกเล่าประวัติศาสตร์ของวงตระกูลผ่านมุขปาฐะจึงไม่มีทางเลยที่ประวัติศาสตร์จะไม่แหว่งวิ่นขาดหาย หรือพูดอีกอย่างได้ว่า มันเป็นรูปแบบการบันทึกอดีตโดยยกสิทธิให้ผู้หลงรอดได้บอกเล่าประวัติศาสตร์โดยสมบูรณ์
และด้วยเหตุนี้ ทรงจำของทรงจำจึงคือสิ่งคลุมเครือและเชื่อถือไม่ได้ในแง่ของหลักฐาน และไม่อาจเอามาพิสูจน์อันใดได้เพราะอดีตกาลไม่ได้เหลือสภาพไว้เป็นวัตถุที่สามารถใชักระบวนการพิสูจน์ตีความ เพราะเหลือเพียงแค่คำพูดที่ถูกส่งผ่านแล้ว ส่งผ่านอีก เป็นความทรงจำที่ถูกแปรรูปแล้ว แปรรูปอีก จนความเป็นจริงได้ค่อยๆ รางเลือน และเสียรูปร่างไปในทุกๆ ครั้งที่มันถูกบอกเล่าซ้ำๆ
4. คุณวีรพรกล่าวไว้ว่า หนังสือเล่มนี้ของเธอพูดถึงความหวัง แต่กระนั้นความหวังที่ว่าก็ไม่ได้หมายความถึงประกายแสงอันสดใสที่ฉาบคลุมหนังสือเล่มนี้แต่อย่างใด พุทธศักราชอัสดงฯ ยังคงเป็นงานเขียนที่อุดมไว้ด้วยความเศร้าอันไม่บันยะบันยังต่อมนุษย์ตัวกระจ้อย หากกระนั้นก็ไม่เคยที่พวกเขาจะขาดไร้ซึ่งความหวังที่คอยส่องแสงรำไรให้ได้เห็นเป็นพักๆ ดังว่าแม้ขณะที่ร่างกายได้ถูกกระหน่ำซัดอย่างไม่รู้หยุดแต่เมื่อเรือนกายอันรวดร้าวนั้นเซทรุด โชคชะตาก็ดังว่าจะรั้งรอให้ความหวังได้จุดเติมดวงไฟให้ชีวิตให้อีกครั้ง เพื่อที่ร่างนั้นจะได้ลุกขึ้นอีกครั้ง และเพื่อให้ร่างกายได้ถูกกระหน่ำซัดอีกครั้งอย่างไม่รู้หยุด
ซึ่งเมื่อพูดถึงความหวัง บ่อยครั้งที่เรามักจะวางทาบความหวังไว้บนแผ่นผ้าผืนเดียวกับความสำเร็จ หรือชีวิตอันรุ่งโรจน์สดสว่าง หรือความฝันที่ถูกบันดาลเป็นความจริง กล่าวคือความหวังได้ถูกแปรค่าให้ดำรงอยู่ในความหมายเดียวกับความสุข ว่าหากเมื่อใดที่ใครสักคนหนึ่งเกิดรู้สึกได้ถึงความหวัง นั่นเท่ากับว่าชีวิตเขามีสิ่งเติมเต็มสมบูรณ์พอแล้วในฐานะมนุษย์ที่น่าอิจฉาคนหนึ่ง แล้วก็เป็นบ่อยครั้งที่เรามักจะหยุดความคาดหมายต่อความหวังไว้เพียงเท่านั้น โดยไม่ทันได้ระแวดระวังหรือเตรียมรับมือกับความปรวนแปรซึ่งอาจเกิดขึ้นตามมา ซึ่งผ่านชะตากรรมอันบิดพลิ้วพลิกผันของเหล่าตัวละคร ที่วีรพรได้สะกิดเตือนให้เราตระหนักถึงเรื่องนี้ ว่าแม้ความหวังนั้นสำคัญต่อชีวิต แต่ไม่ใช่ตราบชั่วชีวิตที่เราจะดำรงอยู่ได้อย่างพรั่งพร้อมซึ่งความหวัง
เช่นนี้แล้ว ‘พุทธศักราชอัสดง’ ในความหมายของช่วงยามที่ดวงตะวันใกล้จะหลุบหายในยามเย็นจึงแสดงถึงชั่วขณะของชีวิตที่ให้พอได้มองเห็นแสงแห่งความหวังอันรำไร ที่ให้พอได้ชื่นใจ และให้พอได้ตื้นตัน หากแต่เพียงไม่นานแสงประจำวันก็ถึงแก่กาลลาลับ เลือนจางเหลือเพียงความมืดของรัตติกาลที่เข้าทดแทนฉับพลัน เฉกเช่นความหวังที่ลับหายไปในชั่วขณะคราว ก่อนที่เมื่อเข็มนาฬิกาโคจรครบรอบอีกครั้ง และแสงตะวันคืนกลับในย่ำรุ่ง ที่ความหวังถึงได้หวนกลับคืนมาสู่ชีวิตมนุษย์ เพื่อที่อีกไม่กี่ชั่วโมงให้หลังก็จึงจะคล้อยลับตาไปอีกที หมุนเวียนเป็นพลวัตร คอยแต่ยั่วหลอก กระตุกหวัง หากก็ดึงดันจะมลายหายสิ้นไปทุกคืนวัน เกิดขึ้นและเลือนหายซ้ำๆ เช่นนี้ ตราบกระทั่งสิ้นแสงสุดท้ายแห่งชีวิต
5. กระนั้นแล้วเหนือสิ่งอื่นใด สำหรับผม พุทธศักราชอัสดงฯ คือบทบันทึกที่น่าเชื่อเสียเหลือเกินว่าจะกลายเป็นหมุดหมายสำคัญในฐานะสักขีพยานต่อหลายเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่ถูกบดบังไว้โดยประวัติศาสตร์กระแสหลัก ด้วยการหยิบยกเอาเหตุการณ์ที่ยังคงดำมืดในการรับรู้ของคนหมู่มากมาดำเนินเป็นฉากหลังของเรื่องเล่า ทั้งการนองเลือดของเดือนตุลาก็ดี หรือย้อนไกลถึงช่วงเวลาก่อนกาลสมัยนั้นที่น้อยครั้งจะถูกพาดพิงถึงก็ดี หรือจวบกระทั่งเรื่องเศร้าที่ย้อมทั้งผืนแผ่นดินให้เป็นสีดำก็ดี อดีตกาลอันมืดมิดที่ชวนให้รู้สึกประหวั่นว่าสักวันจะเลือนหายไปจากการระลึกถึง หากว่ามันจะยังดำรงคงไว้แต่แค่เฉพาะในเรื่องเล่าปากต่อปาก แค่ในมุขปาฐะที่บอกต่อสืบสาน หรือแค่ในอดีตกาลที่จารึกไว้ในทรงจำของทรงจำต่อไป