ตอนนี้ที่ไทเปก็มีงานหนังสือ Taipei International Book Exhibition ที่เราเคยไปเก็บภาพมาฝากกันแล้วที่นี่ และอีกไม่นานก็กำลังจะมีงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติที่หลายคนรอคอย อยากให้มาถึงเร็วๆ
ดูเหมือนว่าความนิยมของงานหนังสือที่เมืองไทยไม่ได้ลดลงเลย และตลาดพ็อกเก็ตบุ๊กก็ดูจะไม่มีทีท่าจะซบเซาซะจนน่าตกใจเหมือนตลาดสิ่งพิมพ์อื่นอย่างหนังสือพิมพ์ หรือนิตยสาร แม้จะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจบ้างอย่างเลี่ยงไม่ได้ แต่แน่ล่ะ…ด้วยความเป็นหนังสือมันก็มีอายุที่ยาวนานกว่าสิ่งพิมพ์ประเภทอื่น จะซื้อเก็บไว้ชั่วลูกชั่วหลานก็ยังได้ มันจึงง่ายกว่าสำหรับคนรักการอ่านที่จะตัดสินใจซื้อหนังสือสักเล่ม
ดูตลาดในบ้านเราแล้วคงเห็นภาพตามกันได้ไม่ยากเท่าไหร่ แต่ถ้าเอาไปเทียบกับตลาดหนังสือโลกล่ะ วงการหนังสือบ้านเราอยู่ตรงไหน? แล้วแวดวงการเขียนการอ่านของเราจะเป็นอย่างประเทศอื่นที่เขาพัฒนาไปไกลแล้วได้บ้างมั้ย? The MATTER ตามไปสัมภาษณ์คุณจรัญ หอมเทียนทอง นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) และผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์แสงดาว และ ปราบดา หยุ่น นักเขียน ศิลปิน และผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ไต้ฝุ่น ระหว่างการไปร่วมงานหนังสือไทเป ในฐานะผู้ที่คลุกคลีและเห็นภาพวงการหนังสือทั้งในบ้านเราและต่างประเทศมามากมาย
งานหนังสือของเรามันเป็นงานที่มีคนค่อนขอดเยอะ
ว่าเป็นงานขายของ ซึ่งเป็นเรื่องจริง
แต่ถ้ารัฐบาลเข้ามาให้ทุนเราจัด เราก็ไม่ต้องจัดงานขาย
The MATTER : เทียบกับวงการหนังสือต่างประเทศหรือนานาชาติ วงการหนังสือไทยอยู่ตรงไหนแล้ว
จรัญ: ผมว่าฟ้ากับเหวเลย ไม่ใช่แค่วงการหนังสือที่ไทเป แต่กับหนังสือทั้งโลกไม่ว่าจะในประเทศที่เจริญแล้วหรือกำลังพัฒนา เพราะแม้กระทั่งในเวียดนามหรืออินเดียรัฐบาลเขาก็จะมาช่วยทำนู่นทำนี่ให้ เหมือนอย่างที่ไทเป ที่การจัดงานหนังสือเขาไประดับโลกได้ ส่วนหนึ่งก็เพราะรัฐบาลเขาช่วยเหลือผ่านเอกชนในการให้เงินมาช่วย แต่รัฐบาลเรามักจะช่วยเหลือผ่านสมาคมกีฬาเป็นหลักมากกว่า เราเคยไปขอร้องว่าเราควรจะมีเจ้าภาพต่างๆ แต่ก็ไม่มี งานหนังสือในบ้านเราจึงไม่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลเลย เราจะได้เฉพาะจากบางอย่างที่เป็นนิทรรศการเท่านั้น
การอ่านหนังสือมันเป็นวัฒนธรรมนะ ที่งานนี้หลายๆ ประเทศเขาทำบูธกันสวยงาม เพราะเขาต้องการขายวัฒนธรรม พอคนเสพหนังสือจากประเทศนั้นเข้าไป เขาก็เกิดความรักความชอบประเทศนั้น เพราะมันเป็นนามธรรมที่เขารู้จัก
ปราบดา: ความจริงต้องบอกว่าหนังสือไทยยังไม่ได้ไปเวทีโลกนะครับ มันมีหนังสือบางประเภทที่ขายลิขสิทธิ์ได้ หรือได้รับการแปลไปบ้าง หลักๆ เท่าที่ทราบจากการทำงานสมาคมเนี่ยก็มีหนังสือภาพสำหรับเด็กซึ่งจะขายไปต่างประเทศได้ค่อนข้างเยอะ ไม่ได้หมายความว่ามันเยอะมากนะ มันแค่เยอะกว่าหนังสือประเภทอื่นๆ นอกจากนั้นก็อาจจะเป็นหนังสือแนววิชาการพวกที่ศึกษาเกี่ยวกับเมืองไทย หรือว่า South East Asia ซึ่งมันก็น้อยมากๆ แล้วก็เฉพาะกลุ่มเหมือนกัน
เพราะฉะนั้นจะบอกว่าหนังสือไทยเป็นที่รู้จักบนเวทีโลกก็ยังไม่ใช่ มันเป็นที่รู้จักเฉพาะกลุ่ม แล้วการเป็นที่รู้จักแบบนี้ก็ไม่ได้ทำให้เมืองไทยปรากฏบนเวทีหนังสือโลกด้วย
The MATTER : จากที่ได้ไปร่วมงานหนังสือระดับนานาชาติหลายปีแล้ว เวลาคนมาเยี่ยมชม เขาจะสนใจอะไรในหนังสือไทยมากที่สุด
ปราบดา: สำนักพิมพ์ส่วนใหญ่ที่มาแสดงหนังสือกับทางสมาคมจะเป็นสำนักพิมพ์หนังสือเด็ก ซึ่งมันจะสื่อสารกับคนต่างชาติง่ายเพราะมีภาพ เท่าที่เห็นความโดดเด่นของหนังสือไทยที่คนสนใจก็คือภาพ นอกจากนั้นที่ไต้หวันก็มีพวกนิยายภาพที่ขายลิขสิทธิ์ได้ เช่น งานของคุณโตโต้ หรืองาน Comic Essay ต่างๆ เพราะมันมีตลาดอยู่ที่นี่ด้วย ซึ่งก็ยังเกี่ยวกับภาพอยู่
ความจริงคนต่างชาติก็คงสนใจหลายอย่าง แต่พอเขามาคุยแล้ว เขาเห็นเท่าที่จำกัด เท่าที่มีแปล หรือเท่าที่มีสำนักพิมพ์มานำเสนอเอง ถ้าเป็นภาษาไทยล้วนๆ เขาก็คงจะไม่สามารถเข้าใจได้
เราเป็นที่รู้จักในแง่การท่องเที่ยว อาหาร
แล้วก็ศิลปะป้องกันตัว แต่ในแง่ศิลปวัฒนธรรมก็ยังไม่ได้โดดเด่น
หรือประวัติศาสตร์ก็ไม่ได้เป็นที่สนใจในระดับสากลเท่าไรนัก
The MATTER : ในหนังสือแบบที่ไม่มีภาพเรายังขาดอะไร หรือยังพัฒนาอะไรต่อไปได้บ้าง
ปราบดา: มันหลายปัจจัยมากครับ ที่สำคัญก็คือเรื่องภาษา หมายถึงว่าฝั่งเมืองไทยเรายังไม่มีระบบการแปลหนังสือจากภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ เหมือนต่างคนต่างทำเองโดยที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจที่ชัดเจน อีกอย่างหนึ่งก็คือ เราต้องยอมรับว่าบนเวทีโลก ประเทศไทยไม่ได้เป็นที่สนใจในเชิงวัฒนธรรมมากนัก เราเป็นที่รู้จักในแง่การท่องเที่ยว อาหาร แล้วก็ศิลปะป้องกันตัว แต่ในแง่ศิลปวัฒนธรรมก็ยังไม่ได้โดดเด่น หรือประวัติศาสตร์ก็ไม่ได้เป็นที่สนใจในระดับสากลเท่าไรนัก
การแปลส่วนใหญ่เราก็ให้คนแปลที่มีความสามารถด้านภาษาแปลกันเอง ซึ่งมันอาจจะไม่ใช่วิธีที่ดีนัก เพราะในเมื่อเราอยากนำเสนอผลงานของเราไปในภาษาอื่น ความจริงเราควรจะได้ผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญในภาษานั้นๆ มาดูให้เรามากกว่า
The MATTER: งานหนังสือที่นี่มีจุดประสงค์ว่า ‘ต้องการสร้างพฤติกรรมการอ่านในระยะยาว’ แล้วงานหนังสือของไทยเราล่ะ
จรัญ: งานหนังสือของเรามันเป็นงานที่มีคนค่อนขอดเยอะว่าเป็นงานขายของ ซึ่งเป็นเรื่องจริง แต่ถ้ารัฐบาลเข้ามาให้ทุนเราจัด เราไม่ต้องจัดงานขาย เราจัดงานส่งเสริมการอ่านอย่างเดียวก็ได้เลย ตอนนี้งานของเราก็สร้างบรรยากาศการอ่าน แต่ในขณะเดียวกันก็แฝงการขาย เพราะทุกสำนักพิมพ์ก็ออกบูธมาขายของ ไม่มีใครอยากมาออกเพื่อโฆษณา เหนือสิ่งอื่นใดคือการอ่านเป็นสิ่งที่รณรงค์ได้ เราอาจจะไปจัดในชนบทด้วยก็ได้ เพื่อให้เกิดการอ่านขึ้น
การอ่านมันคือวัฒนธรรม
การอ่านมันเป็นเรื่องของความต่อเนื่อง
เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำกันอย่างจริงจัง
The MATTER: ตัวอย่างในต่างประเทศที่รัฐบาลช่วยส่งเสริมวงการหนังสือและการอ่าน
จรัญ: ที่เห็นชัดที่สุดก็ที่ไต้หวัน อย่างงาน Taipei Book Exhibition นี้ เขาจัดโดย Taipei Book Fair Foundation เป็นองค์กรเอกชนซึ่งรัฐบาลสนับสนุนเงินให้ งานที่นี่มีกระทรวงวัฒนธรรมเป็นเจ้าภาพ ซึ่งแตกต่างจากการอ่านในบ้านเราที่มักจะถูกผูกเข้ากับกระทรวงศึกษาธิการ แต่จริงๆ ไม่ใช่ เพราะการอ่านมันคือวัฒนธรรม การอ่านมันเป็นเรื่องของความต่อเนื่อง เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำกันอย่างจริงจัง
คิดว่าถ้าไปถามคนต่างชาติก็คงมีน้อยมากๆ
ที่จะรู้จักชื่อนักเขียนไทย
The MATTER : คิดว่าโลกมองมาที่หนังสือไทยหรือนักเขียนไทย เขามองเป็น Individual หรือมองเป็น Country
ปราบดา: เป็น Country ครับ นักเขียนไทยยังไม่ได้เป็นที่รู้จักในเวทีโลกเลย มันอาจจะมีบ้างเฉพาะกลุ่ม เช่นคนที่สนใจประเทศไทย คนที่เรียนภาษาไทย แต่ว่าโดยทั่วๆ ไป คิดว่าถ้าไปถามคนต่างชาติก็คงมีน้อยมากๆ ที่จะรู้จักชื่อนักเขียนไทย เพราะฉะนั้นเวลาที่เขามาดู มาเลือกหนังสือ เขาจะมาดูภาพรวมมากกว่า ไม่ได้ระบุว่าสนใจหนังสือเล่มไหน หรือนักเขียนคนไทย
The MATTER: ในยุคที่มีแพลตฟอร์มอื่นๆ ให้เลือกอ่านเยอะแยะมากมาย เรายังเชื่อมั่นในการอ่านบนกระดาษอยู่ไหม
จรัญ: แพลตฟอร์มต่างๆ มันไม่ได้เป็นอุปสรรคให้คนอ่านหนังสือน้อยลง ผมกลับมองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นโอกาสที่จะสร้างให้คนอ่านมากขึ้น เมื่อคนอ่านไม่ว่าจะในแพลตฟอร์มอะไรก็ตาม มันก็เปิดโอกาสให้เขาได้อ่านก่อน เมื่อเขาอ่านแล้วชอบก็อยากเป็นเจ้าของ การอ่านก็ขยายวงออกไป จะขยายมาซื้อหนังสือหรือไม่ อาจยืนยันไม่ได้ แต่ถ้าคุณทำหนังสือได้ตอบโจทย์คนอ่าน คุณอยู่ได้สบาย เพียงแต่คุณต้องทำการบ้านมากขึ้น ตัวหนังสือต้องมีคุณค่าตัวเอง ซึ่งนวัตกรรมต่างๆ มันก็ช่วยในเรื่องนี้ได้ มันกระตุ้นให้คนอย่างซื้ออยากเป็นเจ้าของมากขึ้น อย่างในบ้านเราก็มีพวก AR ต่างๆ ในหนังสือเด็กบ้าง หรือในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐที่ผ่านมา มันมีความ Interactive ที่ไม่ใช่เป็นแค่ E-Book สแกนมาลงมือถือเท่านั้น
เรื่องเกี่ยวกับจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์
ก็อาจจะมีแนวโน้มให้หนังสือไทยไปสู่ระดับสากลได้
The MATTER: วงการหนังสือบ้านเราจะพอมีทางพัฒนาให้ไปสู่สากลมากกว่านี้ไหม
จรัญ: เรากำลังทำอยู่ สุดท้ายมันก็วนกลับมาที่คำถามว่า รัฐบาลจะช่วยหรือเปล่า บางทีรัฐบาลจะไปโฟกัสที่เม็ดเงินเป็นหลักว่าจะธุรกิจนี้จะทำกำไรให้ประเทศได้กี่หมื่นกี่แสนเหรียญ แต่หนังสือมันไม่ใช่อุตสากรรมแบบนั้นไง สิ่งที่คุณจะได้มากกว่าเงินคือคุณได้วัฒนธรรมต่างหาก
ปราบดา: มันก็ต้องมีการเรียนรู้เป็นระบบมากกว่านี้นะครับ แต่ว่ามันก็มีปัจจัยอื่น คือมันต้องมีความสนใจมาจากข้างนอกด้วย จุดนี้เป็นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ มันอาจต้องพึ่งกระแสตลาดโลก เช่นช่วงนี้มีความสนใจใน South East Asia เป็นพิเศษไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม ก็จะมีคนจากต่างประเทศเข้ามาดูสถานการณ์ ดูว่านักเขียนไทยคนไหนน่าสนใจบ้าง ซึ่งที่ผ่านมายังไม่เคยมีปรากฏการณ์แบบนี้นะครับ แต่มันก็จะเกิดกับเวียดนาม เมียนมาร์ ต้องยอมรับว่าเพื่อนบ้านของเราบางประเทศเขามีประวัติศาสตร์ที่เข้มข้นและเป็นที่รู้จักในเวทีสากล เช่น สงครามเวียดนามหรือออง ซาน ซูจี แต่ไทยเรายังไม่มีอะไรแบบนั้นเลย เพราะฉะนั้นเราเลยมักจะเป็นประเทศที่ถูกมองข้ามไปในแง่ของวรรณกรรม แต่ว่าเรื่องพวกนี้มันไม่ใช่สิ่งที่เราบังคับอะไรได้ การที่เขามีบาดแผลมันก็ไม่ใช่เรื่องดีของเขาอยู่แล้ว เพียงแต่มันเป็นประเด็นทางการเมือง ทางวัฒนธรรมที่ทำให้เป็นที่สนใจในสายตาคนต่างชาติ
เพราะฉะนั้นเราก็คงต้องสร้างความน่าสนใจให้กับตัวเราเองในแง่ศิลปะมากกว่า ถ้าไปในทางนั้นน่าจะมีแนวโน้มที่ดีกว่าการพึ่งการเมือง ประวัติศาสตร์ สังคม อย่างเช่นภาพยนตร์ไทยก็เป็นที่รู้จักในเวทีโลก โดยเฉพาะในด้านที่เป็นศิลปะหน่อย เช่นงานของคุณอภิชาติพงศ์ หรือในแง่ความบันเทิงก็เป็นที่รู้จักว่าเราทำหนังผีได้โดดเด่น ยิ่งถ้าไปถามในเอเชียด้วยกัน หนังผีไทยจะมีชื่อเสียงมาก นั่นแปลว่าเรื่องเกี่ยวกับจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ ก็อาจจะมีแนวโน้มให้หนังสือไทยไปสู่ระดับสากลได้