ทุกคนน่าจะเคยมีโมเมนต์นี้… โมเมนต์ที่ต้องใช้ไอเดียหรือความรู้อะไรสักอย่าง แล้วจำได้นะว่าเคยอ่านจากที่ไหนมาสักที่ แต่ถึงเวลาต้องใช้ ดันจำอะไรไม่ได้เลย!
ไม่ว่าจะหนังสือเรียน บทความที่อ่านเพื่อใช้ทำงาน หรือหนังสืออ่านเพื่อพัฒนาตัวเอง คงจะดี.. ถ้าเราจำทุกอย่างที่เราใช้เวลาร่วมเดือนอ่านได้ แล้วหยิบเอาไปใช้ได้จริงด้วย
อย่างหนึ่งที่ต้องจำไว้คือ “การได้รับข้อมูลจากการอ่าน เป็นคนละเรื่องกับการได้รับความรู้ที่จะเอาไปใช้ต่อได้” เราจะเข้าใจแนวคิดและข้อเท็จจริงต่างๆ เหล่านั้นมากขึ้น ก็ต่อเมื่อมีการทดลองใช้ในประสบการณ์จริง ไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์ของเราหรือคนอื่น ถ้าเราอ่านอะไรก็ตาม แล้วไม่ได้มีการย้อนคิดถึงสิ่งที่เราอ่านไปในการเอาปรับไปใช้ เราก็เหมือนแค่เห็นข้อมูลหรือความรู้ผ่านตาเท่านั้น
บทความหนึ่งของ Farnam Street ได้ให้เทคนิคการอ่านเพื่อให้เราสามารถเอาสิ่งที่อยู่ในหนังสือที่เราอ่านไปใช้งานได้ในชีวิตจริง โดยบอกไว้ก่อนว่า มันอาจจะไม่ได้เหมาะกับหนังสือทุกประเภท (ส่วนใหญ่เหมาะกับหนังสือที่อ่านเพื่อเอาความรู้มากกว่าความบันเทิง) รวมถึงไม่ต้องทำตามทุกข้อในลิสต์นี้ แต่อย่างน้อย ก็ดูเป็นเทคนิคที่ดีที่น่าเอาไปลองใช้
เป้าหมายที่ 1 : เชื่อมโยงตัวเรากับหนังสือด้วยเทคนิค Active Reading
‘การเตรียมตัวอ่าน’ เป็นตัวช่วยให้เราใช้ประโยชน์จากการอ่านได้มากกว่า ‘การอ่าน’ เสียอีก Active Reading จึงเป็นการคิดวางแผนว่าเราจะอ่านหนังสือเล่มนี้อย่างไรในแต่ละขั้นตอน ตั้งแต่การตัดสินใจเลือกว่าจะอ่านเล่มไหน จะมีวิธีอ่านหรือจดบันทึกอย่างไร ไปจนถึงมีวิธีคิดทบทวนสิ่งที่ได้จากหนังสือเล่มนี้และเอาไปใช้จริงอย่างไรหลังจากอ่านจบแล้ว
1.1 เลือกหนังสือให้ดี (Choose Great Books)
ปกติแล้ว อะไรคือเหตุผลที่เราเลือกอ่านหนังสือสักเล่ม? จริงๆ มันก็ไม่มีกฎตายตัวหรอก ไม่ใช่ว่าทุกคนต้องอ่านหนังสือขายดีหรือหนังสือที่แนะนำให้อ่านก่อนอายุ xx เสมอไป แต่มันก็พอจะมีคำแนะนำสำหรับเหตุผลที่จะเลือกอ่านหนังสือสักเล่มจากอีกแสนล้านเล่มที่มีอยู่บนโลก อย่างเช่น 1) น่าจะมีประโยชน์กับเราในระยะยาวหน่อย 2) หรือไม่ก็มีอะไรที่ท้าทายความรู้หรือความเชื่อที่มีอยู่ของเราสักหน่อย 3) หรือไม่ก็ตรงกับความสนใจของเราแต่เป็นเรื่องที่เราไม่รู้มาก่อน การเลือกหนังสือจากหนึ่งในสามอย่างนี้ จะช่วยเชื่อมโยงหนังสือเล่มนั้นเข้ากับตัวเรา จิตใจของเรา รวมถึงความนึกคิดของเราได้ และการเชื่อมโยงนั้นจะทำให้เราจดจ่ออยู่กับหนังสือเล่มนั้นได้ดีขึ้น
1.2 หาบริบทที่เกี่ยวข้อง (Get Some Context)
หนังสือบางเล่ม เราจะเข้าใจหรืออินกับมันได้มากขึ้น ถ้าเราพอรู้บริบทที่เกี่ยวข้องมาก่อน เช่น รู้เรื่องราวเกี่ยวกับผู้เขียน หรือสภาพสังคมที่เป็นฉากหลังของหนังสือเล่มนั้น ซึ่งวิธีง่ายๆ ก็แค่ลองเสิร์ชหาอ่านเป็นพื้นฐานสักนิดจากเรื่องย่อของหนังสือก่อนจะเริ่มลงมืออ่าน (แต่ส่วนตัวคิดว่าไม่ควรอ่านไปถึงบทความ/บทวิจารณ์หนังสือ เพราะจะทำให้ครอบงำความคิดของเราเกินไปนะ)
1.3 รู้ว่าอ่านไปทำไม (Know Your Why)
มันไม่ผิดนะ ที่เราจะอ่านหนังสือสักเล่มแค่เพราะอยากอ่าน แต่ถ้าอยากให้สิ่งที่เราอ่านอยู่กับเราไปนานๆ เราอาจจะลองถามตัวเองดูตั้งแต่ก่อนเริ่มอ่านว่า ตกลงเราแค่อ่านหนังสือเล่มนี้เพื่อความเพลิดเพลิน หรืออยากเข้าใจอะไรบางอย่าง หรือเพื่อพัฒนาทักษะไปใช้ในงาน หรืออยากเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวันของเรา และระหว่างที่อ่านไป ก็อาจจะคอยถามตัวเองด้วยว่า อะไรที่เราได้เรียนรู้จากเรื่องนี้บ้าง ตรงกับที่คิดไว้แต่แรกไหม มีอะไรที่คล้ายหรือเอาไปปรับใช้กับสิ่งที่เราต้องเจอในชีวิตจริงบ้าง
1.4 อ่านไวๆ อย่างมีเป้าหมายก่อน (Intelligently Skim)
ก่อนเริ่มลุยอ่านหนังสือทั้งเล่ม ให้ลองดูที่สารบัญ บทนำ ปกหลัง หรือพลิกดูแต่ละส่วนของหนังสือเล่มนั้นไวๆ ก่อน เพื่อให้เห็นว่าเรากำลังจะได้เจอกับอะไรบ้าง อาจจะมีประโยชน์กับการตั้งความคาดหวังและวางแผนวิธีการอ่านของเรา ขณะที่ส่วนของบรรณานุกรมก็น่าสนใจไม่แพ้กัน เพราะส่วนใหญ่แล้ว หนังสือที่ดีนั้นมาจากการสังเคราะห์หนังสือหรือบทความอีกหลายสิบเล่ม บางที.. หลังจากอ่านเล่มนี้จบ การไปตามอ่านบางลิสต์ในบรรณานุกรมก็ช่วยให้เราเรียนรู้อะไรได้มากขึ้น
1.5 เชื่อมโยงกับชีวิตจริง (Match the Book to Your Environment)
แม้ว่าจะไม่จำเป็นเสมอไป แต่การพยายามเชื่อมโยงสิ่งที่อยู่ในหนังสือกับเรื่องที่เกิดขึ้นในชีวิตจริง คือการที่เราพยายามคิดทบทวนและปรับใช้ไประหว่างอ่าน และทำให้ข้อมูลความรู้เหล่านั้น กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ของเรา
เป้าหมายที่ 2 : จดจำในสิ่งที่อ่าน
หลังจากที่เราเชื่อมโยงกับหนังสือด้วย Active Reading แล้ว ขั้นต่อไปคือตัวช่วยที่จะทำให้เราสามารถจดจำสิ่งสำคัญในหนังสือแต่ละเล่มได้ ท่ามกลางสิ่งต่างๆ มากมายที่เราต้องรับมาใหม่จากสื่ออื่นๆ หรือผู้คนมากมายในชีวิตแต่ละวัน
2.1 จดบันทึก (Takes Notes)
อย่ามั่นใจในความทรงจำของตัวเองมากจนเกินไป การจดบันทึกนี่แหละคือการรับประกันความปลอดภัยในความทรงจำอันเปราะบางของเรา รวมถึงจริงๆ แล้ว ยังเป็นขั้นตอนการคิดทบทวนในสิ่งที่เราอ่านไปด้วย ว่าเราเข้าใจมันแค่ไหน ถ่ายทอดมันออกมาได้ไหม ซึ่งบนโลกอินเทอร์เน็ตก็มีสารพัดเทคนิคที่แนะนำกัน ลองเลือกแล้วลองใช้เพื่อหาเทคนิคการจดบันทึกที่เหมาะกับเราดู
ตัวอย่างการจดบันทึกแบบ Blank Sheet Method
- ก่อนเริ่มอ่านหนังสือ ให้เขียนสิ่งที่เรารู้เกี่ยวกับหนังสือ/เรื่องในหนังสือที่เรารู้ไว้ (อาจจะทำเป็น mind-mapping)
- ทุกครั้งหลังเราอ่าน ลองจดบันทึกสิ่งที่เรารู้เพิ่มลงไป เชื่อมโยงกับสิ่งที่เราเขียนไว้แต่แรก
- ก่อนที่จะเปิดหนังสืออ่านต่อทุกครั้ง ลองเปิดโน้ตที่จดไว้ดูก่อน
- เมื่ออ่านหนังสือจบ ให้เก็บเอา ‘blank sheet’ จากหนังสือแต่ละเล่มรวมรวบไว้ในที่เดียวกัน แล้วลองเปิดดูเรื่อยๆ
วิธีนี้จะช่วยให้เราเห็นว่า จริงๆ แล้ว เราได้เรียนรู้อะไรจากหนังสือแต่ละเล่มบ้าง แถมยังช่วยให้เราได้ทบทวนตัวเองด้วย เพราะตอนเริ่มต้นก่อนที่เราจะเริ่มลงมืออ่าน เราจะต้องควานหาความรู้ที่มีในสมองของเราก่อน แล้วแต่ละครั้งที่อ่าน เราก็จะได้เห็นพัฒนาการของตัวเราเอง ว่าเราได้อะไรเพิ่มเติมหรือเกิดการเปลี่ยนแปลงจากสิ่งที่เราเคยอย่างไรบ้าง
2.2 มีสมาธิในการอ่าน (Stay Focused)
เหมือนกับทุกอย่างในชีวิตแหละ เราจะทำสิ่งนั้นได้ดี ถ้าไม่มีสิ่งรบกวน ดังนั้นการตั้งเวลาอ่านหนังสือให้ตัวเอง แล้วตัดสิ่งรบกวนอื่นๆ ออก (อย่างการปิดโนติฟิเคชั่นต่างๆ) จึงเป็นเรื่องสำคัญ แค่เราหาเวลาให้ตัวเองวันละ 15 นาที หรือครึ่งชั่วโมง นั่นก็เพียงพอแล้ว
2.3 ขีดเขียนลงไปในหนังสือบ้างก็ได้ (Mark Up the Book)
เทคนิคนี้อาจจะแล้วแต่คนสักหน่อย แต่อยากให้จำไว้ว่าการขีดเขียน ไฮไลท์ส่วนสำคัญ หรือพับมุมหน้าหนังสือนั้นไม่ใช่เรื่องผิด ถ้ามันจะช่วยทำให้เราจดจำสิ่งที่อยู่ในนั้นได้ดีขึ้น แต่บางคนที่ยืมหนังสือเพื่อนมาหรือไม่อยากให้หนังสือมีริ้วรอย ก็อาจจะใช้วิธีอื่นแทน เช่นการแปะโพสต์อิทหรือจดไว้ที่อื่น (บางคนถึงกับซื้อหนังสือเรื่องเดียวกันสองเล่มก็มี)
2.4 เชื่อมโยงกับสิ่งต่างๆ (Make Mental Links)
ในระหว่างที่อ่าน ลองพยายามเชื่อมโยงสิ่งเหล่านั้นกับสิ่งที่เราอาจจะเคยรู้เคยเห็นมา มันจะช่วยให้เราเข้าใจและจดจำได้ดีขึ้น โดยอาจจะใช้ Mental Model (เครื่องมือที่ช่วยอธิบายการรับรู้ของคนเรา) เป็น Framework ในการสร้างความเชื่อมโยง เช่น
- Confirmation Bias: ถามตัวเองว่าหนังสือเล่มนี้สนับสนุนความคิดที่เรามีอยู่แล้วตรงส่วนไหนบ้าง? ตรงไหนที่เราอ่านผ่านๆ เพราะคิดว่ารู้อยู่แล้ว? (ลองอ่านใหม่อีกทีไหม?)
- Bayesian Updating: ส่วนไหนของหนังสือบ้างที่เปลี่ยนความคิดที่เคยมีของเรา แล้วมันเปลี่ยนได้เพราะอะไร?
- Incentives: อะไรที่น่าจะทำให้ตัวละครหรือคนเขียนคิดแบบนี้? เขากำลังพยายามบอกอะไรหรือต้องการอะไรจากคนอ่าน?
- Social Proof: มีอะไรที่ทำให้เรามีความรู้สึกบางอย่างกับหนังสือเล่มนี้มาก่อนหรือเปล่า? (เช่น รีวิวของคนอื่น หรือ การติดอันดับหนังสือขายดี ความเชื่อที่มีอยู่ในสังคมอยู่แล้ว) คนเขียนพยายามอ้างอิงความเชื่อที่มีในสังคมเพื่อชักจูงเราอยู่หรือเปล่า?
2.5 หยุดเมื่อไม่อยากอ่าน (Stop When Bored)
ชีวิตคนเรามันสั้นและเวลาของเรานั้นมีจำกัด เราไม่จำเป็นต้องอ่านหนังสือทุกเล่มจบก็ได้ เราไม่ต้องอ่านอะไรที่อ่านไปแล้วพบว่าไม่สนุกก็ได้ เคยมีนักเขียนชื่อ Nancy Pearl พูดถึง ‘กฎ 50 หน้า’ (Rule of 50) เอาไว้ว่า เมื่อเราอ่าน 50 หน้าแรกของหนังสือสักเล่มไป เราควรคิดได้แล้วว่าเราควรไปต่อหรือพอแค่นี้
ปล. เธอยังเขียนไว้ด้วยว่า ถ้าเราอายุเกิน 50 ให้เอา 100 ลบด้วยอายุของเรา นั่นคือจำนวนหน้าที่เราควรตัดสินใจแล้วว่าจะวางหนังสือเล่มนั้นลงไหม ขณะที่ถ้าเราอายุถึง 100 ปีเมื่อไหร่ แปลว่าได้เวลาที่เราควรตัดสินหนังสือจากปกได้แล้ว
เป้าหมายที่ 3 : ถามตัวเองว่า แล้วยังไงต่อ?
เมื่อเราอ่านหนังสือจบ อย่าบอกตัวเองแค่ว่า “วันหนึ่งฉันคงได้เอาสิ่งที่อยู่ในหนังสือเล่มนี้ไปใช้” แต่ลองใช้เวลากับหนังสือเล่มนั้นต่ออีกสักนิด เพื่อคิดวางแผนว่า “ฉันจะเอาไปใช้อย่างไร”
3.1 เอาสิ่งที่เรียนรู้จากการอ่านไปใช้ให้เร็วและจริง (Apply What You’ve Learned)
ลองคิดอย่างเป็นรูปธรรมหน่อยว่าบริบทที่ ‘สิ่งที่บอกว่าจะเอาไปใช้’ นั้นคือเมื่อไหร่ ที่ไหน กับใคร ในสถานการณ์ใดได้บ้าง ยิ่งทำได้เร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งดี Feynman Technique เป็นหนึ่งในวิธีที่หลายๆ คนลองแล้วได้ผล โดยการสอนหรือบอกเล่าให้กับคนอื่น เป็นส่วนที่จะทำให้เราจดจำเรื่องที่เราอ่านมาได้ดีที่สุด เพราะมันไม่ใช่แค่การจดจำข้อความมาบอกต่อเท่านั้น เรายังต้องอธิบายและเชื่อมโยงความหมายของสิ่งต่างๆ เพื่อให้คนฟังเข้าใจได้อีกด้วย (ถ้าให้ดี ไม่ว่าเราจะถ่ายทอดด้วยการพูดหรือเขียน พยายามขอฟีดแบคจากคนอ่าน/คนฟังมาด้วย)
3.2 หาวิธีให้สิ่งที่เราจดบันทึกไว้ค้นหาได้สะดวก (Make Your Notes Searchable)
ไม่ว่าจะโดยวิธีไหน จัดการสิ่งที่เราเรียนรู้จากหนังสือแต่ละเล่มให้เข้าถึงและค้นหาง่าย การจัดการความรู้ที่ดีจะทำให้เรามีแหล่งทรัพยากรที่มีค่ามากๆ สำหรับช่วงเวลาที่จำเป็นต้องใช้ ตัวอย่างเครื่องมือในการจัดการความรู้ก็อย่างเช่น อาจจะใช้ Index Card แบ่งสิ่งที่จดบันทึกไว้เป็นหัวข้อ ผู้แต่ง หรือลำดับเวลาในการอ่าน ให้เราค้นหาได้ง่าย หรือการบันทึกแบบดิจิทัล ก็อาจช่วยให้เราค้นหาจากการเสิร์ชได้ง่ายขึ้น และการกลับไปอ่านทบทวนสิ่งที่เขียนบันทึกอยู่เสมอๆ ก็ช่วยได้เช่นกัน
3.3 อ่านซ้ำถ้าจำเป็น (Reread, If You Want To)
แม้ปลายทางของลิสต์หนังสือที่ต้องอ่าน-อยากอ่าน ดูเหมือนจะไม่มีที่สิ้นสุด แต่หลายครั้งการอ่านหนังสือบางเล่มซ้ำอีกครั้ง ก็ช่วยให้เราได้อะไรมากขึ้นกว่าการอ่านครั้งแรก อย่างไรเสีย เป้าหมายการอ่านของเราก็ไม่ใช่ปริมาณ แต่เป็นคุณภาพอยู่แล้ว
แม้บทความใน Farnam Street จะตั้งชื่อว่า “อ่านอย่างไรให้จำได้” (How to Remember What You Read) แต่ส่วนตัวคิดว่าสุดท้าย.. เราจำทุกเรื่องที่เราอ่าน เห็น ได้ยิน หรือได้เจอทั้งหมดไม่ได้อยู่ดี แต่สิ่งที่น่าชวนกันคิดมากกว่าคือการที่เราจะเรียกเอาสิ่งที่อยู่ในหนังสือ (หรือสิ่งที่เรารับรู้มา) ไปใช้เมื่อยามที่จำเป็นต้องใช้ได้อย่างไร
เพราะบางครั้ง.. เราก็ใช้เวลานานหลายปีในการสะสมคลังความคิดและความรู้ เพียงเพื่อจะหยิบมันมาใช้ในช่วงเวลาสำคัญไม่กี่นาทีที่อาจจะเปลี่ยนชีวิตเราได้เท่านั้นเอง
Tips : เรื่องเกี่ยวกับการอ่านที่เราควรรู้
|
อ้างอิงข้อมูลจาก