“หมอคังมีรายชื่ออยู่ในคนที่จะกลับเกาหลีหรือเปล่าครับ?”
“เปล่าค่ะ”
“เปล่าเหรอ?”
“ค่ะ ฉันจะอยู่ต่อ”
“ทำไมล่ะ? คงไม่ใช่เพราะผมหรอกนะ”
“ทำไมถึงจะไม่ใช่ล่ะ ฉันอยู่ต่อเพราะกัปตันยู ฉันอยากจะใช้เวลากับคุณให้นานกว่านี้… นี่ฉันสารภาพรักแล้วนะคะ จะต้องขอโทษหรือเปล่า”
“แล้วคิดว่าผมจะตอบคุณยังไงล่ะ”
สิ้นคำพูดของยู ชี จิน หมอสาว คัง โมยอน ก็ยื่นหน้าจังหวะเดียวกับที่บิ๊กบอสเอื้อมมือไปคว้าจับเอาใบหน้าของหมอที่เขาชอบมาแลกรอยจุมพิตอันดูดดื่มภายใต้แสงอาทิตย์อัสดงสาดส่องรถกระบะที่แล่นผ่านทุ่งหญ้า การแสดงความรักของทั้งสองคนดูอ่อนหวานนุ่มนวลดั่งความฝัน

couch-kimchi.com
ซีนเมื่อตะกี้ แฟนซีรีส์เกาหลีน่าจะทราบกันดีว่า นี่คือฉากหนึ่งจาก Descendants of the Sun ชีวิตเพื่อชาติ รักนี้เพื่อเธอ ที่กระแสความนิยมมาแรง ถ้ามีการจัดตำแหน่งสามีแห่งชาติสาขาชาวต่างชาติ ต้องมีชื่อของ ซงจุงกิ พระเอกของเรื่องที่เพิ่งอายุ 31 ไปเมื่อวันที่ 19 กันยายนหมาดๆ ติดโผแน่นอน แถมยังสนุกจนแม้แต่ท่านประยุทธ์ จันทร์โอชาก็ยังติดตามอย่างใกล้ชิด (ผ่านช่องทางถูกกฎหมายอย่าง KBS World ด้วยนะ)
ในฐานะคนที่ไม่ค่อยมีโอกาสได้ดูซีรีส์เกาหลีก็ครุ่นคิดว่าเฮ้ย ทำไมซีรีส์เกาหลีถึงฮิตติดลมในระดับที่แฟนละครไทย หรือซีรีส์ชาติอื่นยังต้องเบนเข็มมานั่งดูละครจากคาบสมุทรเกาหลีที่หลายปีก่อนหน้านี้ยังดูไม่ค่อยมีอะไรชวนจิกหมอนขนาดนี้กันนะ เอ้า เราจะพยายามหาเหตุผลว่าทำไมละครเกาหลีถึงแซงหน้าชาติอื่นได้ขนาดนี้

แดจังกึม / dramafever.com
แต่ก่อนจะไปถึงดีเทลว่าทำไม้ทำไมละครเกาหลีถึงดึงดูดคนจัง เราขอจำแนกประเภทของละครเกาหลีไว้แบบคร่าวๆ ก่อนดีกว่า จากการไปพูดคุยกับคอละครเกาหลีที่ติดตามมาหลายปี เราได้ข้อสรุปง่ายๆ ตามความเข้าใจของเราเองว่ าละครของเกาหลีนั้นจะแบ่งย่อยแบบ ได้ 3 แบบ ประเภทแรกคือ ละครย้อนยุค หรือ Sageuk อธิบายเร็วๆ ก็คือกลุ่มละครที่ช่อง 3 เอามาเปิดตลาดบ้านเราจนทำให้หลายคนเปิดใจยอมรับละครแนวนี้ เรื่องที่ดังเปรี้ยงเป็นที่รู้จักก็อย่าง แดจังกึม ลีซาน อ้อ Moonlight Drawn by Clouds ที่หลายคนกำลังพูดถึงก็จัดอยู่ในกลุ่มนี้
ประเภทที่ 2 เป็นละครร่วมสมัย ดำเนินเรื่องอยู่ในโลกปัจจุบันมากขึ้น ประเด็นใกล้ตัวคนดูมากขึ้น เกี่ยวข้องกับสายอาชีพต่างๆ มีความแฟนตาซีบ้างตามวิสัยโลกละคร แต่ก็ถือว่าได้รับความนิยมอย่างสูง ตัวอย่างละครกลุ่มนี้ถ้าย้อนไปไกลๆ ก็อย่าง Autumn in My Heart, Hotelier (อย่าเพิ่งมองหาผมหงอกผู้เขียนเลย) เรื่องใหม่ๆ หน่อยก็ Descendants of the Sun กับ Doctors ก็อยู่ในประเภทนี้เช่นกัน

Autumn in My Heart / mcot-web
ละครประเภทสุดท้าย ตามจริงแล้วไม่มีชื่อเรียกเป็นพิเศษ แต่จากที่เสวนากับหลายๆ คน เราได้ความว่าละครกลุ่มนี้คือ ‘ละครคุณแม่บ้าน’ ด้วยเหตุที่มักเป็นละครช่วงหัวค่ำ ฉายติดกันวันจันทร์-ศุกร์ จำนวนตอนอาจบานปลายไป 200 ตอนได้ และเนื้อหาก็มักมีเรื่องรักๆ ใคร่ๆ และดราม่าในครอบครัวมากกว่าละครสองกลุ่มข้างต้น แต่ละตอนความยาวราว 30 นาที ตัวละครก็เยอะเป็นพิเศษ แต่แทบทุกตอนมีความเกี่ยวโยงกันทางใดทางหนึ่งเสมอ จนคุณอาจต้องการไวท์บอร์ดในการเขียน Mind Map เชื่อมโยงตัวละคร กระนั้นละครแบบนี้ก็สามารถทำเรตติ้งทะลุทะลวง 40% เอาดื้อๆ เรื่องที่ดังและฉายในฟรีทีวีบ้านเรา ก็อย่างเช่น You Are My Destiny ซึ่งมี ยุนอา สมาชิก Girl’s Generation เป็นนางเอก
อะ ประเภทก็แบ่งแล้ว ทีนี้มาดูว่าทำไมซีรีส์เกาหลีทำเอาคนติดงอมแงมกันไปทั้งบ้านทั้งเมือง
1. พระนางมีเสน่ห์

zulucy.tumblr.com
เรื่องหน้าตาสวยหล่อนั้นแต่ละชาติคงมีมาตรฐานที่แตกต่างกันไป แต่ซีรีส์เกาหลีมักไม่เอาดาราที่หล่อที่สุดหรือสวยที่สุดมารับบทพระนาง ในหลายเรื่อง ตัวละครเอกจะปรากฏตัวในมาดหรือหน้าตาที่อาจไม่โดนใจผู้ชมทั่วไป แต่เมื่อเรื่องราวดำเนินไปเรื่อยๆ ยิ่งถ้าเจอนักแสดงเก่งๆ เข้าไปจะเห็นว่าพวกช่างสมบทบาท ทั้งบุคลิก และการพูดจา สมบทบาทเหลือเกิน ไม่ต้องมาเขินฉันติดจริงๆ …นั่นล่ะ รู้ตัวอีกที ก็รักความเป็นตัวละครของดาราเหล่านั้นไปเรียบร้อยแล้ว
2. แฟนเซอร์วิสในจังหวะเหมาะสม
อย่างฉากของซีรีส์ Descendants of the Sun ตอนต้นบทความ ถ้าเป็นละครไทยคงได้เห็นอาการพ่อแง่แม่งอนไม่ยอมรับความรักกันอีกสักพัก ซึ่งมันก็แอบน่าเบื่ออะ เห็นแล้วชัดๆ ว่าชอบจะมายึกยักทำไมเยอะแยะ แต่ในเรื่องนี้ พอจบบทสนทนาที่เหมือนเป็นการสารภาพรักกัน ตัวละครเอกทั้งสองก็ไม่พูดมาก จูบกันอย่างดูดดื่มไปเลย เซอร์ไพรส์คนดูนิดๆ แถมฟินจิกหมอนใช่ย่อยด้วยแหละ

onhapnews.co.kr
หรืออย่าง Moonlight Drawn by Clouds ที่นางเอกปลอมตัวเป็นชายและกลายเป็นขันทีประจำตัวพระราชโอรส ทำให้พระนางอาจไม่ได้กุ๊กกิ๊กใกล้ชิดกันในช่วงต้นเรื่อง แต่เมื่อถึงจังหวะที่คู่พระนางได้มีโอกาสใกล้ชิดกันและมีฉากจูบก็ทำให้เรตติ้งของตอนดังกล่าวพุ่งขึ้นอย่างชัดเจนอันเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าคนดูรอตอนนี้อยู่ ซึ่งผลตอบรับก็ชัดเจนว่าการชงให้คนฟินนั้นได้ผลจริงๆ
3. ตัดจบตอนในจังหวะที่กำลังลุ้น

Forbes.com
ไม่รู้ว่าช่วงหลังทีมงานสร้างละครเกาหลีมาฝึกฝนวิชากับทีมงานตัดต่อของรายการศึก 12 ราศี ของบ้านเราหรือเปล่า เพราะใน Descendants of the Sun ถ้าเป็นบ้านเราหรือแม้แต่ฝั่งฝรั่งก็คงวางฉากจูบที่คนดูฟินจิกหมอนเป็นซีนจบของตอน หรือถ้ามีประเด็นอะไรต่อก็จะเป็นแค่ปมใหม่เบาๆ แต่ไม่ใช่สำหรับชาวเกาหลี เพราะพวกเขาปล่อยฉากหวานให้จบลงอย่างอิ่มเอม แล้วก็กลับไปยังเรื่องหลัก สร้างประเด็นให้กลุ่มตัวละครทั้งกลุ่มต้องมาเครียดและเตรียมตัดสินใจเส้นทางเดินของตัวเองกันต่อ แถมปมที่ใส่เข้ามาใหม่เนี่ยทำให้พระนางที่หวานแหววตะกี้ต้องแยกทางกันเดินไปอีก
คือพวกพี่เล่นชงบทมาเบอร์นี้แล้วคนดูก็คิดว่า “ตอนหน้าก็คงไม่มีอะไรมากหรอก” แต่จริงๆ ไม่ใช่ ก็ต้องไปกรีดร้องตามสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ คาดเดาไปต่างๆ นานา ว่าแล้วมันจะเป็นไงต่อวะเนี่ย เห็นมะ แค่นี้ก็ทำให้คนดูติดตามได้แล้ว
4. Ost. เสริมส่ง
เรื่องนี้ในบ้านเราเห็นชัดมานานแล้วตั้งแต่สมัยละครเรื่อง Full House เริ่มฉาย ด้วยความที่ในเรื่องมีเพลงประกอบอยู่หลายสิบเพลง โดยเฉพาะเพลงเด่นอย่าง I Think I ทำให้บรรยากาศของ Full House ดูอบอุ่นชวนกุ๊กกิ๊กยิ่งขึ้น
เพลงละครเกาหลีนั้นมีผลต่อคนดู หลังจากละครเกาหลียุค Full House มาตีตลาด ละครไทยก็เอาบ้าง ตัดเพลงไปทำเมโลดี้ให้กรุ๊งกริ๊งหรืออลังการขึ้นเพื่อใส่ในละครตามสถานการณ์ต่างๆ
พอปี 2016 Descendant of the Sun ก็จัดเพลงประกอบเยอะเลยจ้า แถมเพลงแทรกแต่ละตอนก็ไม่ซ้ำกันด้วย ต่างเพลงต่างก็ส่งให้ฉากของตอนนั้นๆ ฟินสุดๆ สุดท้ายยังไงคะ ละครก็ติด เป็นติ่งนักแสดง แถมยังเป็นภาระสั่งแผ่นเพลง Ost. มาสะสมอีก
5. ไม่ได้มาแค่เรื่องรัก อาชีพก็หลากหลาย แถมตัวละครมีความเป็นมนุษย์
เอาจริงๆ ประเทศที่ทำละครเน้นเรื่องสัมมาอาชีพไม่ได้มีแต่เกาหลีใต้เท่านั้น ซีรีส์ฝรั่งหรือญี่ปุ่นเองก็ทำอยู่บ่อยๆ (อย่าง The Good Wife ของอเมริกาที่มีนางเอกดำเนินอาชีพทนาย หรือ Legal High ที่ทำให้เห็นแง่มุมทนายที่โลกไม่สวยของญี่ปุ่น) จุดที่สร้างความแตกต่างให้ซีรีส์เกาหลีจึงมาอยู่ที่ประเด็นเรื่องความเป็นคน ที่อาจจะมากกว่าฝั่งฝรั่งหรือญี่ปุ่นหน่อย
อย่างใน Descendant of the Sun ช่วงหนึ่งที่พระ-นางมีปัญหากัน ก็ไม่ได้มาจากการที่ใครมีชู้หรือมีตัวร้ายมาเป่าหู ปัญหาเกิดจากมุมมองทางอาชีพ พระเอกเป็นทหารหน่วยพิเศษอันเป็นสายงานที่ต้องฆ่าคน ส่วนนางเอกนั้นเป็นหมอที่มาพร้อมจิตวิญญาณที่ต้องการรักษาทุกชีวิต เมื่อความต่างหนักขนาดนี้ ตัวละครทั้งสองจึงต้องยุติความสัมพันธ์ เพราะอยู่ต่อไปก็ไม่อาจเข้าใจกันได้ ทั้งยังไม่อาจปฏิเสธงานของฝ่ายตรงข้ามได้ เพราะถือว่าเป็น ‘หน้าที่’ ที่ต่างฝ่ายต่างต้อง ‘รับผิดชอบ’

dramabeans.com
หรืออย่างในเรื่อง Doctors นางเอกผันตัวมาเป็นหมอด้านสมอง และเข้าทำงานในโรงพยาบาลอันเป็นสถานที่ดำเนินเรื่อง เพื่อตามหาหลักฐานการตายของคุณยายเธอที่เสียชีวิตจากการผ่าตัดของหมอในโรงพยาบาลดังกล่าว ในตอนท้ายเรื่อง หมอที่เธอเชื่อว่าเป็นฆาตกรฆ่ายาย กลับต้องมาเป็นคนไข้ที่เธอต้องผ่าตัด ถ้าเป็นละครแนวล้างแค้นโดยสมบูรณ์นี่ก็ถือว่าเป็นฉากที่นางเอกต้องให้หมอคนนั้นชดใช้สิ่งที่เขาทำไว้อย่างสาสม แต่เปล๊า (เสียงสูงมาก) นางเอกกลับบอกความจริงกับพระเอกและหมอคนนั้นว่า เธอเป็นหมอ และจะปล่อยวางเรื่องในอดีต ทำหน้าที่ให้สมกับเป็นบุคลากรที่พยายามรักษาทุกชีวิตที่ผ่านเข้ามาในมือ
เป็นการชงเรื่องหัวใจกับเรื่องส่วนตัวแล้วเขย่าๆ กันออกมา ทำให้คนดูลุ้นจนถึงนาทีสุดท้าย
6. ถึงจะใช้มุกน้ำเน่าเก่าเก็บแต่ก็หักมุมได้เสมอ

หญิงปลอมตัวเป็นชายก็มีบ่อยๆ ในละครเกาหลี / koreandrama.org
ถ้าถามว่า แล้วละครเกาหลีไม่มีมุกอะไรซ้ำซากเหมือนละครชาติอื่นเลยเหรอ มี เยอะด้วย ทั้งหญิงปลอมเป็นชาย หรือจะปมเรื่องแบบแม่สามีเกลียดแฟนของลูกที่มาจากครอบครัวยากจน ไม่คู่ควรกับลูกชายที่กำลังจะเป็นเจ้าของบริษัทยักษ์ใหญ่ ก็มีนะ แถมใช้บ่อยด้วย ผูกเรื่องให้ตัวละครรักกันยากๆ ทำตัวไม่ยอมเข้าหากันจนกระทั่งมีคนหนึ่งโดนเหตุอะไรสักอย่างเลยหันมารักกัน แบบนี้ก็ไม่ใช่ว่าเขาไม่ทำ
การทำละครช่วงหลังของเกาหลีนั้น แม้จะปูเรื่องมาด้วยพล็อตเดิ๊มเดิม แต่ก็มักมีจุดหักมุม ให้เรื่องพลิกผันไป บางเรื่อง ชงมาอย่างยาว ว่าตัวละครหญิงตัวเด่น เกลียดพ่อสามีมากและพยายามหาทางฆ่าแบบแนบเนียน อยู่มาวันหนึ่งพ่อสามีป่วยเพราะโดนยาพิษ ถ้าเป็นละครไทยเราฟันธงได้เลยว่า แม่สาวคนที่พูดถึงตะกี้จะต้องหัวเราะอยู่มุมตึกแล้วดีใจกับแผนการที่สำเร็จ แต่ในละครเกาหลีเรื่องนั้น ตัวละครหญิงที่ว่าก็ตกใจเพราะตัวหล่อนไม่ใช่คนร้าย ก่อนละครจะเปิดเผยอีกทีว่า นอกจากตัวละครหญิงคนนี้แล้ว แม่ขอสามีนั่นล่ะที่เบื่อนิสัยของสามีเลยวางยาซะ คดีพลิก
ดังนั้น ถ้าละครเกาหลีได้ทีมงานสร้างที่ดี ต่อให้เขาเดินตามสูตรแบบบ้านทรายทองของไทย พวกเขาก็อาจจะปรับสถานการณ์บางอย่างให้เร้าใจ มีแฟนเซอร์วิส ทำให้คนดูรักตัวละคร แล้วก็ทำเอาเราร้องไห้ดื้อๆ ในตอนจบของเรื่องได้
นอกจากปัจจัยที่ว่าไปแล้ว ก็ยังมีรายละเอียดเล็กๆ อีกหลายอย่างที่ดูใส่ใจ อย่างการลงทุนในรายละเอียดต่างๆ อย่างฝั่งละครย้อนยุคที่คล้ายกับญี่ปุ่น คือมีการเซ็ตโซนหนึ่งของกองถ่ายเอาไว้สำหรับถ่ายฉากย้อนยุคโดยเฉพาะ หรือฝั่งละครปัจจุบันก็มีรายละเอียดสมจริงสมจังจนทำให้คนเชื่อว่าตัวละครทำอาชีพตามที่ระบุในเรื่องจริงๆ, รีแอคชั่นที่ไม่คีพลุคหล่อๆ สวยๆ ของพระนาง ทำให้เรารู้สึกว่าพวกเขาเป็นคนธรรมดา นั่นไงอินได้เร็วขึ้น, ภาษากายที่ใช้บ่อยแถมยังมีดีไซน์ท่าแปลกๆ ให้คนดูได้ลองทำตามกันอีก ช่วงนี้ก็ท่า มินิฮาร์ทไง ก็ท่ามันน่าร็อกอะ, ฉากตบที่จริงจังมั่กๆ พอๆ กับฉากสวีทจิกหมอน แล้วใครจะไม่เกลียดนางร้ายหรือชอบนางเอกตอนได้เอาคืนคะ!, ฉากสวีทริมน้ำ ทะเลมั่ง แม่น้ำมั่ง ใช้กันบ่อยมากแต่เราก็พร้อมจะติดกับนะ ก็มุ้งมิ้งซะ, พระรองนางรองที่ดูดี มีดี แต่สุดท้ายก็จะ Friend Zone รับประทานไป และยิ่งถ้าเรื่องไหนลืมหาคนรักให้พระรองนางรองเนี่ย จะยิ่งแบบ แกรรรร ทำไมล่ะ ทำไม!
ก็ไม่แปลกที่ละครเกาหลีจะสามารถเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเล ไปทำให้คนติดได้ ทั้งเอเชีย อเมริกา และยุโรป
อ้อ คืนนี้สงสัยจะได้โต้รุ่งกับซีรีส์เกาหลีที่มิตรสหายแนะนำมา #บาย #อดนอนแน่ๆ