นาทีนี้ ถ้าใครไม่ได้มาฟินกับความน่ารักสุดฮาในซีรีส์โรแมนติกคอมเมดี้ Business Proposal คงเรียกได้ว่าพลาด!
จุดเริ่มต้นของความชุลมุนคือนัดบอดที่มีฝ่ายชายคือ คัง แทมู (รับบทโดย อัน ฮโยซอบ) ประธานคนใหม่แกะกล่องของบริษัทจีโอฟู้ดส์ (goFOOD) หนุ่มหล่อการศึกษาสูงที่พกความบ้างานขั้นสุดเข้ามาสืบทอดตำแหน่งต่อจากคุณปู่ เขาไม่ได้ใส่ใจนัดบอดสักเท่าไหร่นัก แต่ทนเสียงคะยั้นคะยอของคนเป็นปู่ไม่ไหวจึงต้องไหลไปตามน้ำ
ส่วนฝ่ายหญิงคือ จิน ยองซอ (รับบทโดย ซอล อินฮา) ทายาทของบริษัทมารีน กรุ๊ป ที่ถูกพ่อเคี่ยวเข็ญแกมบังคับให้ไปนัดบอดครั้งแล้วครั้งเล่าแม้ว่าเจ้าตัวจะค้านแบบสุดลิ่มทิ่มประตู แต่เธอมี ‘อาวุธลับ’ คือเพื่อนสนิทอย่าง ชิน ฮารี (รับบทโดย คิม เซจอง) ที่ยอมเสียสละไปนัดบอดแทนโดยสวมรอยเป็น จิน ยองซอ แล้วทำตัวเพี้ยนๆ ให้คู่นัดบอดยอมยกธงขาวแล้วเป็นฝ่ายปฏิเสธไปเอง
แต่นัดบอดครั้งนี้ไม่เหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา ชายหนุ่มที่อยู่ตรงหน้าก็คือประธานบริษัทที่ ชิน ฮารีทำงานอยู่ แถม คัง แทมู ก็ดันตกหลุมรักกับพฤติกรรมเพี้ยนๆ ของเธอเสียอีก ความสนุกสุดฮาจึงบังเกิดเมื่อชินฮารีต้องพยายามปิดบังสถานะของตัวเองไว้เพราะกลัวจะถูกไล่ออกจากงาน แต่ท่านประธานก็ตามตื๊อไม่เลิกจน จิน ยองซอ ต้องยอมแพ้แล้วสารภาพว่าส่งคนอื่นไปแทนตอนนัดบอด แถมยังหลอก คัง แทมู ซ้ำซ้อนว่า ชิน ฮารี คือฟรีแลนซ์ที่เธอไม่รู้จักกันมาก่อน
ซีรีส์ Business Proposal เป็นเรื่องเบาๆ ที่มีจังหวะให้เราหลุดขำได้ตลอด แต่หากมองทะลุความเป็นโรแมนติกคอมเมดี้ หลายคนคงมีคำถามคาใจเกี่ยวกับวัฒนธรรม ‘นัดบอด’ ของเหล่ามหาเศรษฐี พร้อมด้วยความสงสัยว่าทำไมเจ้าของธุรกิจยักษ์ใหญ่ถึงต้องการให้ลูกหลานคบหากันเอง หรือกระทั่งใช้สานสายสัมพันธ์กับผู้มีอำนาจทางการเมือง
ธุรกิจครอบครัว เมื่อครอบครัวเป็นเรื่องธุรกิจ
แม้หลายคนจะคุ้นชินกับการมองเห็น ‘ผู้บริหาร’ เป็นใบหน้าของบริษัทมหาชน แต่ความจริงแล้วผู้ที่อยู่เบื้องหลังการตัดสินใจสำคัญๆ คือเหล่า ‘คณะกรรมการ’ ซึ่งแต่งตั้งโดยผู้ถือหุ้นเพื่อคอยกำกับดูแลการทำงานของผู้บริหารอีกทีหนึ่ง โดยปกติแล้วผู้ถือหุ้นกับผู้บริหารจึงถือว่าห่างเหินกันพอสมควร แถมยังขัดแย้งในทางผลประโยชน์เสียด้วยซ้ำเพราะทั้งเงินเดือนและโบนัสของผู้บริหารทุกบาททุกสตางค์มาจากกระเป๋าผู้ถือหุ้น นับเป็น ‘ต้นทุน’ สำคัญของโครงสร้างในรูปแบบบริษัทที่นักศึกษาการเงินทุกคนต้องเคยเรียน
อย่างไรก็ดี บริษัท ‘มาตรฐาน’ ข้างต้นนับว่าเป็นส่วนน้อย เพราะธุรกิจส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็นฝั่งเอเชียหรือยุโรปต่างมีโครงสร้างแบบธุรกิจครอบครัว โดยผู้ถือหุ้นคือปู่ย่าตายาย พ่อแม่ พี่น้อง และลุงป้าน้าอา ส่วนคณะกรรมการและผู้บริหารที่แต่งตั้งมาก็คือคนในครอบครัวหรือญาติมิตรสนิทกัน การทำงานในบริษัทจึงไม่ต่างจากเรื่องในครอบครัวในฐานะกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ที่มีคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งซึ่งผู้ถือหุ้นกลุ่มอื่นแทบไม่มีโอกาสรวมตัวเพื่อเอาชนะ
เมื่อเด็กคนหนึ่งเกิดมาในอาณาจักรที่ร่ำรวยจากธุรกิจครอบครัว การตัดสินใจเรื่องส่วนตัวจึงแทบไม่มีทางที่จะแยกขาดจากธุรกิจ โดยเฉพาะการเลือกคู่ครองที่หากตัดสินใจ ‘ดอง’ อย่างมีกลยุทธ์ก็อาจชุบชูให้บริษัทแข็งแกร่งขึ้นจากสายสัมพันธ์ทางธุรกิจหรือทางการเมืองที่คบหาได้แบบสนิทใจ และเป็นเครือข่ายสายสัมพันธ์ที่ยากจะตัดขาด
แม้ฟังดูราวกับพล็อตเรื่องนิยายน้ำเน่า แต่เราสามารถเห็นตัวอย่างได้มากมายทั้งในไทยและในต่างประเทศ ตัวอย่างที่โดดเด่นคือตระกูลลีผู้ก่อตั้งบริษัทซัมซุงกรุ๊ป ผู้นำอันดับหนึ่งของกลุ่มแชโบลซึ่งหมายถึงบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ทรงอิทธิพลทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองในเกาหลีใต้ ลูกหลานของตระกูลลีก็ได้แต่งงานกับยักษ์ใหญ่ในกลุ่มแชโบล เช่น แอลจีและฮุนได ผูกสัมพันธ์กับนักการเมืองระดับสูงรวมถึงอดีตประธานาธิบดี
อีกหนึ่งบริษัทครอบครัวที่สร้างโครงข่ายความสัมพันธ์ได้อย่างน่าประทับใจคือบริษัทโตโยต้ามอเตอร์ที่ก่อตั้งโดยตระกูลโตโยดะ โดยลูกหลานของตระกูลนี้ได้แต่งงานกับอดีตรัฐมนตรี 2 คน และนักธุรกิจแนวหน้าจากหลากหลายตระกูล อาทิ ตระกูลมิตซุย เจ้าของสารพัดธุรกิจตั้งแต่สถาบันการเงินไปจนถึงอสังหาริมทรัพย์ ตระกูลชิมิสึ บริษัทก่อสร้างครบวงจรที่ติด 1 ใน 20 บริษัทก่อสร้างที่ใหญ่ที่สุดในโลก และตระกูลอิชิบาชิ เจ้าของแบรนด์บริดจ์สโตน
ไม่ใช่เฉพาะฝั่งเอเชียเท่านั้นนะครับที่มีการสานสายสัมพันธ์ผ่านการแต่งงาน ฝั่งยุโรปเองก็มีหลายกรณี เช่น การครองรักระหว่างลูกสาวของตระกูลสวารอฟสกี บริษัทคริสตัลชั้นนำของโลก กับอดีตรัฐมนตรีกระทรวงการคลังของออสเตรีย ลูกสาวเจ้าของแบรนด์หลุยส์ วิตตอง ที่ออกเรือนกับทายาทตระกูลธุรกิจไวน์ในอิตาลี
แต่งงานไปแล้วได้อะไรกลับมา?
ไม่ว่าการแต่งงานดังกล่าวจะเกิดขึ้นจากความรักของคนสองคน หรือแรงผลักดันของคนในครอบครัวเพื่อหวังสายสัมพันธ์ทางการเมืองหรือธุรกิจ แวดวงวิชาการก็มีหลักฐานสนับสนุนว่าการแต่งงานสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจจริงๆ
นักการเงินมองว่าการแต่งงานระหว่างสองครอบครัวก็คล้ายกับการควบรวมกิจการที่ผู้บริหารของทั้งสองบริษัทมีโอกาสพบปะพูดคุยใต้หลังคาบ้านหลังเดียวกัน การแต่งงานจึงสร้างประโยชน์มากมายในแง่ธุรกิจ ทั้งการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร องค์ความรู้ และเทคโนโลยีใหม่ๆ หากคู่สมรสมาจากฝั่งการเมืองก็ช่วยในเรื่องชื่อเสียงและเส้นสายเมื่อต้องทำงานร่วมกับภาครัฐ อีกทั้งยังเป็นช่องทางให้เกิดการแบ่งปันทรัพยากรทั้งเงินทุนและบุคคลระหว่างสองตระกูล ที่สำคัญคือการรักษาผลประโยชน์ร่วมกันในฐานะพันธมิตรและอาจนำไปสู่การรวมหัวขจัดคู่แข่งในตลาดอีกด้วย
นอกจากนี้ การเลือกคู่ครองให้ลูกหลานมีความสำคัญในฐานะ ‘หลักประกัน’ ว่าธุรกิจครอบครัวจะยังคงอยู่รอดในอนาคตด้วยการคัดเลือกลูกเขยหรือลูกสะใภ้ที่มีความสามารถทางธุรกิจเข้ามาร่วมดูแลกิจการในกรณีที่ลูกในไส้ไม่มีความสามารถพอ
อ่านถึงตรงนี้ บางคนก็ยังไม่ปักใจเชื่อว่าการแต่งงานจะสร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจได้จริง ผมขอนำเสนองานวิจัยชิ้นหนึ่งโดย อาจารย์ประมวล บุญกาญจน์วนิชา และคณะ ที่ศึกษาว่าการแต่งงานของทายาทตระกูลธุรกิจใหญ่จะส่งผลอย่างไรต่อผลตอบแทนของหุ้นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยรวบรวมข้อมูลการแต่งงานจากหน้าข่าวสังคมในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐตั้งแต่ พ.ศ.2534-2549 พร้อมจำแนกว่าคู่สมรสของทายาทบริษัทยักษ์ใหญ่มาจากตระกูลธุรกิจ ตระกูลนักการเมือง หรือเป็นโนบอดี้จากทั้งสองวงการ เช่นเหล่าดารานักแสดง นางงาม หรือนักวิชาการจากรั้วมหาวิทยาลัย
การศึกษาดังกล่าวพบว่าการแต่งงานของลูกหลานตระกูลธุรกิจในช่วง 15 ปีนั้นถึง 79% เป็นการแต่งงานเพื่อเชื่อมสัมพันธ์ โดยพบว่าหลังจากวันแต่งงาน 60 วัน บริษัทของครอบครัวมี ‘ผลตอบแทนผิดปกติ’ (abnormal return)[i] ราว 5.38% หากแต่งงานกับตระกูลผู้มีอำนาจทางการเมือง และ 2.60% หากแต่งงานกับทายาทตระกูลธุรกิจใหญ่ ส่วนในกรณีที่คู่สมรสเป็นคนนอกวงการ คณะวิจัยจะไม่พบผลตอบแทนผิดปกติแต่อย่างใด
นับว่าน่าสนใจอย่างยิ่งที่นักลงทุนในตลาดประเทศไทยให้คุณค่าสายสัมพันธ์ทางการเมืองมากกว่าสายสัมพันธ์ทางธุรกิจเกือบเท่าตัว เราสามารถอธิบายปรากฏการณ์นี้ว่า ในบางอุตสาหกรรมโดยเฉพาะธุรกิจที่ต้องพึ่งพาใบอนุญาตหรือสัมปทานของภาครัฐ เช่น ธุรกิจโทรคมนาคม ธุรกิจก่อสร้าง ธุรกิจเหมืองแร่ และธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สายสัมพันธ์กับคนในรัฐบาลนับว่ามีคุณค่าอย่างยิ่งเพราะถือเป็น ‘กำลังภายใน’ ให้การทำธุรกิจลื่นไหลไม่ติดขัดหรือกระทั่งกีดกันคู่แข่งรายใหม่ โดยเฉพาะประเทศที่มีกฎหมายกำกับดูแลมากมายจนกลไกภาครัฐอาจถูกใช้เพื่อเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง
การแต่งงานของทายาทตระกูลธุรกิจใหญ่จึงไม่ใช่เรื่องของคนสองคน เพราะการตัดสินใจเลือกคู่ครองอาจส่งผลต่อความมั่งคั่งในอนาคตของทั้งตระกูล เหล่ามหาเศรษฐีจึงต้องเลือกเฟ้นลูกเขยและลูกสะใภ้ที่เหมาะสมเพื่อไม่ให้ ‘เสียโอกาส’ สำคัญที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ธุรกิจของครอบครัว
ดังนั้นชินฮารีจึงถือว่าเจอ ‘งานยาก’ เพราะต่อให้คุณปู่จะรักหลานคังแทมูมากเพียงใด แต่ก็อาจจะต้องคิดหนักหากจะให้ท่านประธานไปแต่งงานกับพนักงานของบริษัทตัวเอง เรื่องราวยุ่งๆ ของทั้งสองจะจบลงอย่างไร อย่าลืมไปติดตามกันได้ใน Business Proposal นะครับ
[i] ผลตอบแทนผิดปกติ (abnormal return) หมายถึงผลตอบแทนของบริษัทหนึ่งๆ ที่สูงกว่าปกติเมื่อเทียบกับผลตอบแทนจากแบบจำลอง เช่น ผลตอบแทนจากแบบจำลองได้เท่ากับ 5% ต่อปี แต่ผลตอบแทนของบริษัทได้เท่ากับ 7% ต่อปี ในกรณีนี้ ผลตอบแทนผิดปกติจะเท่ากับ 2% ต่อปี
อ้างอิงข้อมูลจาก