*นี่คือการแนะนำคำศัพท์ฉบับผู้เริ่มต้น
เมื่อพูดถึงคริปโตเคอร์เรนซีหรือเงินสกุลดิจิทัลแล้ว แน่นอนว่าต้องเชื่อมโยงมาถึงประเด็นการเข้ามาของระบบการเงินไร้ตัวกลาง หรือ DeFi (decentralized finance) นั่นก็เพราะ DeFi ได้รับแรงบันดาลใจต่อยอดมาจากบล็อกเชน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลังบิตคอยน์และเงินสกุลดิจิทัล
DeFi คืออะไร เกี่ยวข้องกับคริปโตเคอร์เรนซีอย่างไร
DeFi จัดเป็นหนึ่งในคำเรียกที่นำมาใช้ในการบริหารจัดการกระบวนการทำธุรกรรม โดย DeFi จะมาคู่กับคริปโตเคอร์เรนซีและบล็อกเชน มุ่งเน้นขจัดตัวกลางทางเงิน และสร้างระบบการเงินแบบกระจายศูนย์ มีความเป็นสาธารณะ ช่วยให้ทุกคนเข้าถึงการใช้งานได้โดยไม่ต้องผ่านคนกลางอย่างธนาคารหรือโบรกเกอร์
หากเปรียบเทียบภาพให้เข้าใจชัดเจนมากขึ้น ลองนึกถึงตอนทำธุรกรรมกับธนาคารหรือพวกบัญชีการลงทุนต่างๆ เราอาจต้องเตรียมเอกสารมากมายอย่างบัตรประจำตัวประชาชนที่ทางราชการออกให้ หมายเลขประกันสังคม หรือหลักฐานอื่นที่พิสูจน์ตัวตนของเรา ในขณะที่การทำธุรกรรมภายใต้ระบบ DeFi ไม่จำเป็นต้องใช้สิ่งเหล่านี้
นอกจากนี้ DeFi เกี่ยวข้องกับบล็อกเชน เพราะเป็นระบบที่ถูกเขียนขึ้นด้วยซอฟต์แวร์บนบล็อกเชน ทำให้ทุกคนที่อยู่ในเครือข่ายบล็อกเชนนั้นสร้างปฏิสัมพันธ์กันได้ ทั้งผู้ซื้อ ผู้ขาย ผู้ให้ยืม และผู้ยืม รวมทั้งยังเอื้อให้ทุกคนถือสำเนาประวัติการทำธุรกรรม นี่เองที่ทำให้เห็นว่า DeFi เป็นระบบการเงินที่ไม่ได้ถูกควบคุมด้วยหน่วยงานกลาง อันเป็นหัวใจสำคัญของระบบการเงินแบบกระจายศูนย์ นั่นก็เพราะระบบการเงินแบบรวมศูนย์หรือ gatekeeper จะทำให้เกิดข้อจำกัดในการทำธุรกรรม
ที่สำคัญ ระบบดังกล่าวยังทำให้บิตคอยน์หรือเงินสกุลดิจิทัลอื่นๆ แตกต่างจากการชำระเงินดิจิทัลแบบถูกกฎหมายอย่างการทำธุรกรรมผ่านวีซ่าหรือ PayPal อีกด้วย
ยกตัวอย่าง หากเราต้องการซื้อกาแฟสักแก้ว โดยเลือกชำระเงินด้วยบัตรเครดิต แน่นอนว่าสถาบันการเงินหรือธนาคารจะเข้ามามีบทบาทตรงนี้ โดยนั่งคั่นในฐานะตัวกลางระหว่างคุณ (ผู้บริโภค/ผู้ซื้อ) กับเจ้าของร้านคาเฟ่ (คนทำธุรกิจ/ผู้ขาย) เพื่อคอยกำกับการทำธุรกรรมทุกขั้นตอน อีกทั้งยังมีอำนาจในการระงับการทำธุรกรรมและบันทึกไว้ในรายการบัญชี ในขณะที่บิตคอยน์หรือการใช้สกุลดิจิทัลจะตัดขั้นตอนของตัวกลางต่างๆ ออกไป
ทั้งนี้ การทำธุรกรรมภายใต้ DeFi ไม่ใช่แค่เรื่องของการซื้อ-ขายกันแบบไม่ผ่านตัวกลาง แต่ยังครอบคลุมถึงการตัดตัวกลางจากการทำธุรกรรมประเภทให้กู้ยืม ระดมทุนสาธารณะ ซื้อ-ขายตราสารอนุพันธ์ และอื่นๆ
DeFi มีกี่ประเภท อะไรบ้าง
หากพูดถึงแพลตฟอร์ม DeFi ที่ถูกสร้างขึ้นมานั้น ส่วนใหญ่แล้วมักสร้างขึ้นบนอีเธอเรียม นอกจากนี้ แพลตฟอร์ม DeFi ที่เป็นที่นิยม ยังแบ่งออกเป็น
Decentralized Exchanges (DEX): กระดานเทรดหรือตลาดซื้อขายไร้ตัวกลาง ช่วยให้ผู้ใช้งานเทรดคริปโตและแลกเปลี่ยนสกุลเงินได้ โดยไม่มีตัวกลางเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น แลกเปลี่ยนสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นบิตคอยน์หรืออีเธอเรียม
Stablecoin: หากแปลตรงตัวก็หมายถึงเหรียญหรือเงินที่มีความมั่นคง ซึ่งเป็นคริปโตเคอร์เรนซีที่ผูกกับหรือถูกหนุนไว้กับสินทรัพย์ในโลกจริง เช่น สกุลเงินดอลลาร์ ยูโร เป็นต้น เพื่อให้คงความมั่นคงทางมูลค่าไว้ เกิดความผันผวนน้อยลง
Lending Platforms: แพลตฟอร์มที่ใช้ smart contracts ในการจับคู่ผู้กู้และผู้ให้กู้ โดย smart contracts จะมาแทนตัวกลางอย่างธนาคารหรือสถาบันการเงิน ทั้งนี้ การกู้ยืมของ DeFi มีฐานของการมีหลักประกัน หรือก็คือ ผู้กู้จำเป็นต้องวางหลักประกัน ซึ่งมักเป็นเหรียญอีเธอเรียม ทำให้ต่างจากการกู้ยืมกับสถาบันการเงิน เพราะผู้กู้ไม่ต้องเปิดเผยตัวตนหรือใช้คะแนนเครดิตในการค้ำประกันหรือขอกู้
“Wrapped” Bitcoins (WBTC): โทเคนที่แสดงมูลค่าบิตคอยน์บนเครือข่ายอีเธอเรียม ทำให้สามารถใช้บิตคอยน์บนเครือข่ายดังกล่าวได้
Prediction Markets: การใช้ตลาดเพื่อการพยากรณ์ มักนำมาใช้คาดการณ์ถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อประกอบการตัดสินใจในการทำเงิน อีกทั้งยังมีโอกาสในการสร้างกำไรได้
อ้างอิงข้อมูลจาก