*นี่คือการแนะนำคำศัพท์ฉบับผู้เริ่มต้น
โลกคริปโตเคอร์เรนซีแม้จะดูเหมือนรถไฟเหาะ แต่ก็มีสิ่งที่เรียกว่า ‘เงินที่มั่นคง’ หรือ Stablecoin อยู่ในนั้น แม้มันจะไม่ได้มั่นคง 100% เพราะมูลค่าก็ยังอ้างอิงกับสกุลเงินใดสกุลเงินหรือสินทรัพย์หนึ่งใดอยู่ดี แต่ความน่าสนใจก็คือ Stablecoin เป็นประเภทสินทรัพย์ที่อยู่เบื้องหลังของระบบการเงินหลายๆ รูปแบบบนโลกคริปโตฯ แล้วเจ้าเหรียญนี้มันเป็นยังไงกันแน่นะ Future Word วันนี้จะพาไปทำความรู้จักกัน
Stablecoin คือ สกุลเงินดิจิทัลหรือคริปโตเคอร์เรนซี ที่มีกลไกสำหรับการคงมูลค่า ยกตัวอย่างเช่นการตรึงมูลค่าด้วยสกุลเงินหลักของโลก หรือสินค้าโภคภัณฑ์หนุนหลัง การตรึงมูลค่าด้วยสินทรัพย์ดิจิทัลหนุนหลัง และการควบคุมปริมาณเหรียญด้วยกลไกทางคอมพิวเตอร์ จึงทำให้ Stablecoin คล้ายกับ ‘เงิน’ เพราะรักษามูลค่า (store of value) เอาไว้ได้ ดังนั้น Stablecoin จึงถูกนำมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระเงินมากขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งคริปโตฯ อื่นๆ เช่น บิตคอยน์ อาจจะทำไม่ได้ เพราะราคาขึ้น-ลงผันผวน
ทีนี้ ลองมาดูกันว่า Stablecoin มีอะไรบ้าง ซึ่งเหรียญเหล่านี้จะถูกแบ่งประเภทโดยมูลค่าที่รองรับ หรือค้ำประกันมันไว้เบื้องหลัง
Fiat-collateralized
Stablecoin แบบรองรับด้วยเงิน (fiat) ซึ่งเป็นแนวคิดที่พื้นฐานที่สุด โดยการนำเงินหรือสกุลเงินต่างๆ ของโลก ไม่ว่าจะดอลลาร์ ยูโร หรือเงินบาทก็ได้ไปฝากไว้กับใครสักคน (ตัวกลาง) และคนคนนั้นจะออกเหรียญออกมา โดยราคาเหรียญอ้างอิงกับมูลค่าสินทรัพย์ที่ค้ำไว้ เช่น เหรียญ Tether หรือ USDT ที่เป็นเหรียญ Stablecoin ที่มีมูลค่าสูงสุดในตลาดคริปโตฯ โดยอ้างอิงมูลค่ากับดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ Libra ซึ่งเป็น Stablecoin ที่เฟซบุ๊กประกาศจะสร้าง ซึ่งจะรองรับด้วยสกุลเงินหลายๆ สกุล อย่างไรก็ตาม การสร้างตัวกลางรับออกเหรียญในระบบนี้ ค่อนข้างใช้เงินมหาศาลในการสร้างความน่าเชื่อถือ
Commodity-collateralized
เป็นวิธีการนำสินค้าโภคภัณฑ์มาค้ำไว้ ไม่ว่าจะทองคำ น้ำมัน ที่ดิน หุ้น ตราสาร หรือกองทุน วิธีนี้ก็ต้องมีตัวกลางหรือหน่วยงานกลางในการดูแลและออกเหรียญเช่นกัน แต่เป็นวิธีที่ไม่ได้รับความนิยมเท่า fiat-collateralized และการทำให้ทรัพย์สินเป็นเหรียญก็เกิดปัญหาขัดกับกฎหมายหลักทรัพย์ในหลายประเทศด้วย โดยเหรียญ Stablecoin รูปแบบนี้ก็เช่น Digix Gold (DGX) ที่ 1 เหรียญเท่ากับ 1 กรัมของทองคำ ซึ่งตัวกลางอยู่ที่สิงคโปร์และสามารถนำเหรียญไปแลกทองคำที่สิงคโปร์ได้ด้วย
Crypto-collateralized
รูปแบบนี้ก็คือเอาคริปโตเคอร์ฯ นี่แหละมาค้ำและสร้าง Stablecoin โดยวิธีนี้ทำให้การสร้างเหรียญไม่อ้างอิงกับตัวกลางใด หรือเป็นการกระจายศูนย์ (decentralized) ทำให้น่าเชื่อถือตัวด้วยมันเอง โดยวิธีการสร้าง จะต้องใส่คริปโตฯ จำนวนมากกว่า Stablecoin ที่สร้างออกมา เพราะว่าคริปโตฯ มีความผันผวนสูง
เหรียญที่น่าสนใจ ก็เช่น Dai ซึ่งเป็น Stablecoin บนบล็อกเชนอีเธอเรียม โดยสามารถนำโทเคนบนบล็อกเชนที่ผู้พัฒนายอมรับ ไปค้ำเพื่อถอน DAI ออกมาได้
Non-collateralized
อันนี้น่าสนใจตรงที่เป็น Stablecoin ที่ไม่ได้รองรับด้วยอะไรเลยในการผลิต ถูกควบคุมมูลค่าด้วยการปรับลดดอกเบี้ยหรืออุปทาน ซึ่งจะคล้ายกับเงินที่เราใช้มากที่สุด เพราะเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ก็ใช้วิธีการปรับลดดอกเบี้ยหรือปรับลดอุปทานของเงิน ไม่ได้เกิดจากการนำทรัพยสินใดมาใช้ในการผลิต วิธีการทำงานคือ หากเหรียญนั้นมีมูลค่าในตลาดอยู่ที่ 2 ดอลลาร์สหรัฐฯ ระบบจะทำการเสกเหรียญขึ้นมาในระบบเพื่อทำให้ราคาของเหรียญลดลงเหลือ 1 ดอลลาร์ เช่น โทเคน Basis
การถือกำเนิดขึ้นของ Stablecoin อยู่บนปลายทางความฝันว่า ในอนาคตผู้คนทั่วโลกจะสามารถเข้าถึงและเลือกใช้สกุลเงินที่ตัวเองคิดว่ามั่นคงได้ โดยไม่ต้องยึดติดสกุลเงินใดหนึ่งอีกต่อไป (อย่างคนไทยก็อาจจะไม่จำเป็นต้องแลกเปลี่ยนด้วย Thai Baht เท่านั้น) ซึ่งจะทำให้ผู้คนในหลายประเทศเช่น เวเนซุเอลาที่ค่าเงินตกลงทุกวันมีทางเลือกและอิสระทางการเงินมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ไอเดียของ Stablecoin ยังขัดกับหลักการการเงินดั้งเดิมในหลายประเทศอยู่มาก และยากมากที่ผู้กำกับกฎหมายจะไม่เข้ามาเกี่ยวข้องในเรื่องนี้
อ้างอิงข้อมูลจาก