*นี่คือการแนะนำคำศัพท์ฉบับผู้เริ่มต้น
มาทำความรู้จัก อีเธอเรียม (Ethereum) เครือข่ายบล็อกเชนเบื้องหลังเหรียญคริปโตเคอร์เรนซีที่ได้ชื่อว่ามีมูลค่ารองลงมาจากบิตคอยน์อย่าง ETH กันหน่อยดีกว่า ปัจจุบันราคาสูงสุดของ ETH ก็ไปถึง 1 แสนบาทไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยสิ่งที่ทำให้ราคาสูงเป็นเพราะเทคโนโลยีเบื้องหลังอีเธอเรียมเป็นโอเพนซอร์ซ เปิดแพลตฟอร์มให้นักพัฒนาคนอื่นๆ สามารถเข้ามาสร้างแอพพลิเคชั่น ผลิตภัณฑ์ และบริการแบบกระจายศูนย์ หรือ Dapps (decentralized application)
Dapps คือ แอพพลิเคชั่นแบบกระจายศูนย์ที่ไม่ถูกควบคุมโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แม้แต่ตัวผู้พัฒนาเอง แต่สามารถดำเนินการได้ด้วยตัวเองผ่าน smart contract หรือสัญญาอัจฉริยะ ที่เขียนขึ้นโดยใช้ภาษาคอมพิวเตอร์ชื่อ Solidity
อีเธอเรียม พัฒนาโดย วีตาลิก บูเจริน ในปี ค.ศ.2015 โดยเขาเคยเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์ Bitcoin Magazine ด้วยความที่เขามีความสนใจในตัวคริปโตฯ และบิตคอยน์อย่างมาก เขาจึงตั้งคำถามว่า เทคโนโลยีบล็อกเชนเบื้องหลังบิตคอยน์เนี่ย จริงๆ แล้วมันไม่ควรจะทำได้แค่เพียงโอนเงินหากันไปมาเท่านั้นนะ เขาเลยได้เริ่มพัฒนาอีเธอเรียมขึ้นมาเป็นบล็อกเชนที่มี smart contract ใส่ลงไปด้วย ซึ่งสัญญาที่ว่านี้สามารถบันทึกข้อมูล ข้อตกลงสัญญา และสามารถยืนยันตัวเองได้ เมื่อเงื่อนไขที่ถูกเขียนไว้ครบถ้วน และกระจายสำเนาไปถึงทุกคนในระบบให้ตรวจสอบกันเอง โดยไม่ต้องมี ‘ตัวกลาง’ หรือมีคนมานั่งตรวจสอบความถูกต้องของเอกสาร (ถ้าเป็นธนาคารก็ต้องมีพนักงานคอยทำหน้าที่ทำธุรกรรมให้)
เมื่อ smart contract ต่างๆ ถูกรันบนเครือข่ายอีเธอเรียม บล็อกเชนอีเธอเรียมจึงไม่ต่างอะไรกับซูเปอร์คอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่เครื่องหนึ่งของโลกเลยก็ว่าได้
การมีสัญญา smart contract ทำให้อีเธอเรียมเป็นมากกว่าบล็อกเชน และ Ether (ETH) ก็เป็นมากกว่าคริปโตฯ เพื่อใช้จ่ายและแลกเปลี่ยน เพราะเหรียญ ETH ถูกใช้เป็นเชื้อเพลิงสำคัญในการทำธุรกรรมต่างๆ บนบล็อกเชนอีเธอเรียม ซึ่งมีนักพัฒนาอื่นเขียนโค้ดมาปลั๊กอิน สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ขึ้นมากมาย เปรียบเสมือนสกุลเงินกลางของเครือข่ายอีเธอเรียม ซึ่งการที่นักพัฒนาทำงานบนอีเธอเรียมจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมด้วย Ether เปรียบเสมือนค่าธรรมเนียม (gas fee) นั่นเอง
ดังนั้น เราจึงได้เห็นธุรกิจหรือแพลตฟอร์มมากมาย ที่เกิดบนบล็อกเชนอีเธอเรียม และต้องจ่ายค่าธรรมเนียมโดย ETH ในการใช้งาน เช่น ธุรกิจการประมูล NFT หรือเกมคริปโตฯ ต่างๆ เช่น CryptoKitties, AXIE Infinity ซึ่งเป็นเกมรูปแบบหารายได้ โดยเบื้องหลังเกมก็คือเทคโนโลยีบล็อกเชนของอีเธอเรียม นี่เอง
แรงบันดาลใจของเครือข่ายบล็อกเชนอื่นๆ
อีเธอเรียมเป็นเครือข่ายบล็อกเชนรุ่นที่พัฒนาต่อยอดมาจากบล็อกเชนรุ่นแรกของบิตคอยน์ ซึ่งสิ่งที่ทำให้มันเป็นได้มากกว่าบิตคอยน์ก็คือความสามารถในการทำสัญญาอัจฉริยะ
อย่างไรก็ตาม อีเธอเรียมก็เป็นแรงบันดาลใจให้นักพัฒนาคนอื่นๆ ออกไปสร้างเครือข่ายบล็อกเชนอื่นในวงการคริปโต โดยนักพัฒนาหลายคนก็เคยเป็นผู้ร่วมก่อตั้งของอีธีเรียมเช่นกัน เช่น กาวิน วูร์ด ผู้พัฒนา Polkadot (เหรียญ DOT) หรือ ชาร์สส์ ฮอสกินสัน ผู้พัฒนา Cardano (เหรียญ ADA) ซึ่งบล็อกเชนที่กล่าวมาถูกขนานนามว่าจะมาเป็นบล็อกเชนรุ่นที่ 3
เพราะจุดที่แตกต่างก็คือ Polkadot กับ Cardano เป็นบล็อกเชนแบบ proof-of-stake ส่วนอีเธอเรียมเป็นรูปแบบ proof-of-work ซึ่งแบบแรกทำงานประมวลผลได้เร็วกว่า และประหยัดพลังงานมากกว่า เพราะแทนที่จะให้คอมพิวเตอร์แต่ละเครื่องแข่งกันแก้สมการ แลกกับสิทธิ์ตรวจสอบธุรกรรม proof-of-stake จะให้ฝากเหรียญเข้ามาเพื่อค้ำประกัน แลกกับสิทธิ์ตรวจสอบ โดยระบบจะเป็นผู้สุ่มเลือกผู้ตรวจสอบขึ้นมาเอง ทว่า ปัจจุบัน ทั้งสองเครือข่ายก็ยังไม่ได้มีการพัฒนาจับต้องได้มากเท่ากับที่อีเธอเรียมทำได้ (อาจจะเพราะอีเธอเรียมเป็นโอเพนซอร์ซแบบที่โค้ดใช้งานง่าย ทำให้มีผู้ใช้งานเยอะ) แต่ก็เป็นเรื่องที่เราต้องจับตาต่อไปในวงการคริปโตเคอร์เรนซี เพราะอะไรก็เกิดขึ้นได้ (แล้วก็เกิดขึ้นแบบสุดทาง เหนือความคาดหมายมาตลอด)
แต่ใช่ว่าอีเธอเรียมจะหยุดแค่นี้ ในปี ค.ศ.2022 แว่วข่าวมาเหมือนกันว่า อีเธอเรียมจะทำการอัพเกรดบล็อกเชนพวกเขาครั้งใหญ่ สู่ ‘Ethereum 2.0’ โดยเปลี่ยนเครือข่ายมาเป็น proof-of-stake เช่นกัน โดยให้เหตุผลว่าจะให้ใช้งานง่ายขึ้นสำหรับบุคคลทั่วไป
อ้างอิงข้อมูลจาก