ในขณะที่เอลซัลวาดอร์ได้ประกาศให้บิตคอยน์ให้ใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของระบบการเงินดิจิทัลในประเทศอีกขั้น ถึงอย่างนั้น ระบบการเงินดิจิทัลในไทยยังเป็นเรื่องที่ต้องรอดูต่อไป เพราะล่าสุด ผู้ว่าการ ธปท. ไม่สนับสนุนการนำเงินคริปโตมาใช้ชำระหนี้ตามกฎหมาย สาเหตุคือเล็งเห็นเรื่องความปลอดภัยและความผันผวนราคาของเงินคริปโต อีกทั้งตั้งใจหนุนโครงการ CBCD เพื่อเตรียมพร้อมและเป็นทางเลือกให้กับประชาชนในการเปลี่ยนมาใช้เงินดิจิทัลในอนาคต
เมื่อพูดถึงระบบการเงินดิจิทัลในไทยนั้นล้วนมีประเด็นใหม่ๆ เข้ามา ล่าสุดก็มีเรื่องเก็บตกจากปาฐกถาพิเศษ The Future of Financial System อนาคตโลกการเงิน โดย ดร. เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. โดยผู้ว่าการ ธปท. ได้กล่าวยืนยันว่าไม่สนับสนุนให้นำเงินคริปโตมาใช้เป็นสกุลเงินที่ชำระหนี้ตามกฎหมาย เพราะค่าเงินคริปโตมีราคาผันผวน ผู้คนยังขาดความรู้ความเข้าใจที่เพียงพอเกี่ยวกับระบบการเงินดังกล่าว อีกทั้งยังมีเรื่องของความปลอดภัยในโลกไซเบอร์อันอาจนำไปสู่การฟอกเงิน
ที่สำคัญ ผู้ว่าการ ธปท. ยังกล่าวถึงกระแสชักชวนการลงทุนและภัยการเงินดิจิทัลที่ประชาชนยังไม่มีความเข้าใจเพียงพอ จึงเตือนว่าประชาชนควรระมัดระวังความเสี่ยงจากการลงทุนหรือถือครองสินทรัพย์ดิจิทัล รวมทั้งระวังเรื่องการกดลิงก์ที่ส่งมาทางข้อความมือถือ เว็บไซต์ อีเมล และสื่อโซเชียล ซึ่งนำมาสู่การถูกล้วงข้อมูลส่วนตัว
หากกล่าวถึงสภาพการณ์ระบบการเงินไทยก็จะเปลี่ยนแปลงไปแน่นอนในอนาคต เพราะการเข้ามาของเทคโนโลยีบล็อกเชนส่งผลให้มีผู้เล่นก้าวเข้าสู่ระบบการเงินดิจิทัลหลากหลาย ทั้งกลุ่มที่เป็นสถาบันการเงิน และไม่ใช่สถาบันการเงิน หรือแม้กระทั่งไม่มีตัวตนจริง อีกทั้งเทคโนโลยีดังกล่าวยังเอื้อให้ผู้คนสามารถเข้าถึงระบบต่างๆ ได้ทุกที่ทุกเวลาจากอุปกรณ์ดิจิทัลที่มีอยู่ในมือ รวมทั้งประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม
นี่เองถือเป็นความท้าทายของ ธปท. ที่จะเข้ามากำกับดูแลการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามาปรับใช้กับธุรกิจในประเทศ โดยผู้ว่าการ ธปท. ต้องการหนุนโครงการ CBDC เพื่อเตรียมพร้อมและเป็นทางเลือกให้กับประชาชนในการใช้เงินดิจิทัล ตอบรับกับการก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลในอนาคต
แม้ CBDC จะเป็นสกุลเงินดิจิทัล แต่มีความแตกต่างจากเงินคริปโตสกุลต่างๆ โดยธนาคารแห่งประเทศไทยได้ให้ข้อมูลไว้ว่า CBDC เป็นสกุลเงินดิจิทัลที่ธนาคารกลางกำหนดขึ้นให้ใช้เป็นตัวกลางในการชำระใช้จ่ายสินค้าและบริการได้ รวมทั้งมีหน่วยวัดทางบัญชี ในขณะที่ บิตคอยน์ อีเธอเรียม หรือเงินคริปโตสกุลอื่นเป็นเงินดิจิทัลที่ออกโดยภาคเอกชน อีกทั้งมีมูลค่าราคาผันผวน ไม่เหมาะที่จะนำมาใช้เป็นตัวกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ
อีกทั้ง ยังแบ่ง CBDC ออกเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ แบบที่ใช้ทำธุรกรรมระหว่างสถาบันการเงิน และแบบที่ใช้ทำธุรกรรมของภาคธุรกิจและเอกชน การผลักดันให้ใช้ CBDC นั้นได้ริเริ่มจัดตั้ง ‘โครงการอินทนนท์’ ร่วมกับธนาคารพาณิชย์ 8 แห่ง เมื่อปี พ.ศ.2560 เพื่อทดลองใช้โอนเงินข้ามประเทศร่วมกับธนาคารกลางฮ่องกง โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่า ต้องการสร้างและเตรียมพร้อมระบบเงินดิจิทัลของไทยที่เอาไว้ใช้งานในวันที่ประเทศต่างๆ ก้าวเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและนโยบายการเงินของประเทศ
อ้างอิงข้อมูลจาก