สำหรับภาพแลนด์สเคป ประกอบด้วยท้องฟ้ากว้างไกล พื้นดินเบื้องล่างที่แบ่งกันได้อย่างเป็นสัดส่วน พร้อมกับพระจันทร์ทรงกลมเต็มตา ถูกถ่ายทอดออกมาในรูปแบบสีที่ค่อนข้างเป็นเอกลักษณ์ ทำให้เราสะดุดตากับผลงาน NFT ชุดนี้ ที่ชื่อว่า ‘highland’ ผลงานจาก ‘erdy’ ที่มีคอนเซ็ปต์ที่ชัดเจน แต่สามารถมีมู้ด บอกเล่าเรื่องราว ได้แตกต่างกันในทุกชิ้น
เราอาจรู้จักหรือเคยเห็นผลงานภาพประกอบของคุณลูกไม้ ผ่านตามาบ้างในชื่อ erdy หรือ ลูกไม้-ดวงกมล คงธนะเจริญชัย ซึ่งชื่อนี้ไม่ได้เป็นชื่อของศิลปินหน้าใหม่ในวงการนักวาดภาพประกอบ แต่สำหรับตลาด NFT ที่หลายคนเริ่มรู้จักในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน เริ่มก่อร่างสร้างโปรเจ็กต์เพื่อมาลองตลาดใหม่นี้ ในช่วงเวลาที่ไม่ห่างกัน เลยทำให้ทุกคนกลายเป็นหน้าใหม่ในตลาดนี้ ด้วยรูปแบบการขายงานที่อาจจะต่างจากงานแบบเดิมไปบ้าง ฐานลูกค้าที่กว้าง อัตราการแลกเปลี่ยน ราคากลาง เลยทำให้ทุกอย่างกลายเป็นของใหม่ที่ทุกคนต้องมาเริ่มนับหนึ่งไปพร้อมกัน
ซึ่งนอกจาก ‘highland’ ยังมีคอลเล็กชั่นการเล่นสีใน ‘iroco’ ที่หยิบจับเอาสีต่างๆ มาใส่ในรูปทรงต่างๆ ชิ้นงานเหล่านี้ นอกจากจะเป็นผลงานที่สามารถสร้างรายได้จากการขายในรูปแบบ NFT แล้ว ใครจะรู้ว่า มันยังทำหน้าที่ช่วยฮีลจิตใจของศิลปิน ให้กลับมามีความสุขกับการวาดอีกครั้ง
เราไปสนทนากับ ลูกไม้ ถึงการเข้าสู่ตลาด NFT ที่กลายเป็นแหล่งฮีลใจให้เธอและศิลปินหลายๆ คน
จาก highland ดินแดนที่มีฟ้ากว้างและพื้นที่อันเงียบสงบ
หากลองเลื่อนดูคอลเลคชั่น highland จะพบว่าสีที่ใช้หลักๆ นั้นมีไม่มากนัก แต่ไม่กี่สีเหล่านั้นสามารถช่วยขับให้บรรยากาศแลนด์สเคปในภาพ เหมือนกับว่าเราจะสามารถไปอยู่ในที่ตรงนั้นได้ สัมผัสบรรยากาศ ความสงบเงียบ ได้จากทุกชิ้นงาน ที่แม้จะอยู่บนคอนเส็ปต์เดียวกัน แต่สามารถเล่าเรื่องออกมาได้แตกต่างกันในทุกชิ้น
“จริงๆ ตั้งใจทำให้บรรยากาศมันเหมือนความฝัน ฉากกลางคืน สงบ ทำเพื่อหนีความเครียดด้วย ก็เลยทำให้มันนิ่งๆ เงียบๆ ที่สุด โทนสีที่ใช้เลยน่าจะเหมาะที่สุด มันเป็นงานวาดเล่นตั้งแต่ปี 2019 แล้วหยิบมาขาย ตั้งเป้าไว้ว่าเฟสแรกจะมี 200 ชิ้น คิดไว้ว่าจะเสร็จประมาณเมษายนถึงกรกฎาคม ปีหน้า ส่วนมากจะตั้งเป้าไว้ว่าเดือนนึงจะมีประมาณสิบถึงยี่สิบชิ้น”
“จุดเด่นน่าจะอยู่ที่บรรยากาศ เราเองก็ตั้งใจทำให้มันดูสงบ เงียบ คนซื้อเขาก็บอกว่า เขารู้สึกสงบจริงๆ เขาชอบ อยากเอาไปแขวนที่บ้าน บางคนก็คิดถึงการไปเที่ยว ทริปนั้น ทริปนี้ มันเลยอาจไปทัชความรู้สึกคนที่คิดตรงกับเราพอดี”
ที่มาที่ไปของ iroco พาเลตสีที่เคยผ่านตา
หาก highland คือความสงบ iroco เหมือนจะเป็นความขี้เล่น ที่ทำให้ทั้งสองคอลเล็กชั่นนั้น มีคาแรคเตอร์ที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน iroco เป็นสีสันที่มาหยอกล้อเราในรูปทรงเบสิกต่างๆ ไม่มีแพทเทิร์นตายตัว ไม่มีรูปแบบที่แน่นอน ทำให้แต่ละชิ้นเองก็มีคาแรคเตอร์ในตัวเองด้วยเช่นกัน
“iroco คอนเซ็ปต์มันเป็นพาเลตสีที่เราเคยทำงานออกแบบเอาไว้ ปกติตอนทำงานออกแบบ เราต้องทำจานสีออกมาหลายแบบ เพื่อจะเลือกว่าอันไหนเหมาะ มันก็จะมีอันที่ถูกใช้จริง ไม่ถูกใช้ เราเลยรวบรวมเอาที่เราเคยทำทั้งหมด มาทำเป็นคอลเลคชั่นดู พอมีคนสนใจก็เลยทำต่อเรื่อยๆ จนมันพัฒนาไปเป็น abstract art นิดนึง”
“จุดเด่นน่าจะเป็นเรื่องของสีเลย ราคามันไม่สูง จริงๆ เราก็ไม่แน่ใจว่าคนชอบเพราะอะไร บางคนก็บอกว่ามันน่ารัก บางคนก็ชอบงานกราฟิก เขาก็สนับสนุนงานแนวนี้อยู่แล้ว”
จุดเริ่มต้นของการเข้าสู่ตลาด NFT
“เพราะเป็นฟรีแลนซ์อยู่แล้วด้วย เลยพยายามหาลู่ทางต่างๆ ที่จะหาเงินอยู่แล้ว ช่วงที่เริ่มมันเป็นช่วงที่กระแสของคอลเลกเตอร์ มีความไฮป์ศิลปินไทย มันไม่ได้ต้องลงทุนมาก ลงไว้ก็ไม่เสียหาย เราเองก็ลงทุนกับคริปโตอยู่แล้ว และมีความเชื่อในตลาดนี้ว่ามันจะไปได้ไกล ยิ่ง NFT ยิ่งเข้ากับงานที่เราทำอยู่แล้ว ลงไว้มันก็เป็นเหมือนการลงทุนชนิดนึง ไม่เสียหาย”
“ตอนแรกเริ่มที่ foundation ช่วงนั้นมีหลายคนที่โพสต์ว่าลงปุ๊บก็ขายได้ปั๊บ เราเลยคิดว่ามันก็คงไม่ยากมั้ง คนยังขายไม่เยอะมั้ง งั้นเราลองเราสักรูปที่เคยทำแล้วกัน หยิบไปขาย ช่วงนั้นมีงานด้วย ก็เลยลงไว้แล้วไม่ได้ไปทำอะไรกับมันเลย มันก็ขายไม่ได้เป็นเดือน พอว่างจากงานที่ทำ ก็นั่งคิดว่าทำไมมันขายไม่ได้วะ”
“พอมีเวลาเลยมานั่งดูตลาดว่าเขาทำอะไรกันมั่ง เขาใช้สื่ออะไรบ้าง มีรูปแบบการขายยังไง คอลเลคเตอร์มาจากไหน ค่อยๆ ศึกษาตลาดตอนนั้น แล้วค่อยเผางานที่ลงชิ้นแรกทิ้ง แล้วทำชิ้นใหม่ลงไปเลย ชิ้นใหม่นั้นขายประมาณอาทิตย์นึงก็ออกเลย”
ทำยังให้งานเราขายได้และขายดีด้วย
“ปัจจัยที่มันขายได้ ไม่ใช่แค่ตัวงานอย่างเดียว ก่อนหน้านี้ ชิ้นงานจากคอลเลคชั่น highland มันได้ขึ้นอยู่หน้าแรกของเว็บ opensea.io จริงๆ ก่อนหน้านี้มันขายออกค่อนข้างยาก เพราะตั้งราคาไว้ที่ 0.05-0.08 ต่ออัน ซึ่งมันค่อนข้างไม่ง่ายมากใน opensea.io เพราะส่วนมากบน opensea.io คนจะซื้อของถูกมากกว่า มันก็จะเงียบมานิดนึง”
“ในขณะที่ iroco จะตั้งราคาต่ำ อยู่ที่ 0.01-0.02 ก็จะขายออกง่ายกว่า เพราะว่ามันเจอทาร์เก็ตของมันแล้ว และราคาถูกด้วย แล้วโชคดีที่ opensea.io เอา highland ไปขึ้นหน้าแรก หลังจากนั้นก็เลยออกรัวๆ มันก็ไปอีกทาร์เก็ตนึงเลย”
“จริงๆ ทั้งสองคอลเล็กชั่นจะเป็นกึ่งๆ แนวทดลองนิดนึง ตอนที่เริ่มต้น เพราะตอนนั้นในตลาด NFT ของไทย เห่อการทำคาแรคเตอร์ ตัวการ์ตูน เรารู้สึกว่าเราเองไม่ได้ชอบทางนั้น ถ้าเราลองทำแนวอื่นอย่างแลนด์สเคป เว็กเตอร์อาร์ต มันจะมีคนซื้อมั้ย พอมีคนซื้อเราก็เลยทำต่อ”
การเข้ามาของ NFT ช่วยเรายังไง
“เรามีปัญหาตรงที่ หลังๆ เราทำงานภาพประกอบแล้วเรารู้สึกไม่อยากวาดรูป เราจะวาดเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า แต่ถ้าให้เรามาวาดสิ่งที่เราอยากวาด หรือต้องทำ exibition งานที่ตัวเองอยากวาดเราก็ทำไม่ได้ รู้สึกวาดรูปแล้วไม่สนุก”
“มันมีช่วงนึงที่เรา คิดว่าถ้าเรามีเงินเก็บประมาณนึง เราจะหยุดวาดรูปไปเลย ไปเป็นเทรดเดอร์ดีกว่า เพราะเราไม่อยากวาดรูปแล้ว อยากจะทิ้งงานวาดรูปไปเลย แต่พอมาทำ NFT แล้วรู้สึกว่าเราก็ยังวาดรูปได้ ก็ยังชอบวาดรูปนี่ เพียงแต่ว่าที่ผ่านมามันไม่มีแรงผลักดันให้เราวาดอะไรก็ได้แล้วมี value ที่ผ่านมาเราอาจจะวาดรูปอะไรก็ได้ลงเฟซบุ๊กที่มันไม่มี value อะไรขึ้นมา เราอาจไม่รู้สึกอินกับมัน พอทำ NFT แล้วเรากลับมารู้สึกสนุกกับการวาดรูปอีกครั้ง อาจเพราะมันขายได้ด้วยมั้ง”
“มันเป็นที่ที่เราวาดอะไรก็ได้ที่เราอยากวาดจริงๆ
แล้วก็มีคนสนใจเราจากสิ่งนั้น
เราไม่ได้ทำด้วยการคิดว่าลูกค้าเขาจะซื้ออะไร
แต่เราทำจากความรู้สึกว่าเราชอบแบบนี้”
“พอมันถูกซื้อ เลยรู้สึกว่าสิ่งที่เราชอบ สิ่งที่เราเชื่อ มันยังมีคนสนใจ มีคนพร้อมซัพพอร์ต เลยทำให้เรากลับมามีความสุขกับการวาดรูปอีกครั้ง”
ตลาดนี้จะอยู่กับเราไปอีกนานแค่ไหน
“ไม่น่าจะมีใครรู้ว่ามันจะอยู่ไปอีกนานมั้ย เวลาคนมาถามว่ามันถึงช่วงฟองสบู่หรือยัง ก็จะตอบว่า เมื่อประมาณ 3-4 ปีที่แล้ว cryptocurrency ตอนที่ BTC ราคาอยู่ที่สามแสนบาท ก็บอกว่าฟองสบู่จะแตก จนตอนนี้มันก็ไปถึงไหนอีกรอบแล้ว เราเลยรู้สึกว่ามันก็คล้ายๆ กัน มันก็คงมีโอกาสไปได้อีก ตัวแพลตฟอร์มอาจจะพัฒนาไปได้อีก”
“มันอาจจะไม่ใช่แค่คุณมาวาดรูปเฉยๆ หวังว่ามันจะขายออก แล้วก็จบ มันก็ต้องมีการพัฒนา อัพเดตข้อมูลข่าวสารของตลาด ว่า NFT ทำอะไรได้บ้าง ประกอบกับดูจุดแข็งของตัวเองไปด้วย มันก็น่าจะอยู่กับเราได้อีกนาน เราก็ต้องรู้จักปรับตัวตามตลาดไปด้วย”
“ไม่นานนี้เพิ่งบอกเพื่อนคนนึงไป ถ้าเข้ามาอาจจะต้องทำใจกับช่วงตลาดเงียบ ว่ามันจะไม่ได้ขายได้ง่ายๆ สิ่งที่อยากจะให้เตรียมคือการเซ็ต position ของตัวเองให้ดี การขาย NFT มันคือธุรกิจอย่างนึง ไม่ใช่แค่การมาวาดรูปขายในตลาดง่ายๆ มันมีเรื่องของแบรนดิ้ง มาเก็ตติ้ง เราต้องสำรวจตัวเองว่างานของเราเป็นสไตล์ไหน กลุ่มลูกค้าของเราเป็นใคร เราอยากลงแพลตฟอร์มไหน แต่ละที่ก็มีคาแรคเตอร์ของมัน อาจจะต้องเริ่มเล่นทวิตเตอร์ ดิสคอร์ด เพื่อโปรโมต”
“ปรับตัวตามตลาดก็ไม่ได้หมายความว่า ลูกค้าอยากได้อะไรต้องวาดตาม แต่ต้องอัพเดต ดูว่าตอนนี้มันเกิดอะไรขึ้นบ้าง”
“อย่างตอนนี้กระแสรูปโปรไฟล์ที่ปล่อยทีละหลักพันถึงหลักหมื่น มันเริ่มซาแล้วมั้ย เราควรจะศึกษาว่าเราทำแล้วเราจะมีจุดแข็งอะไร ไม่ใช่ว่าเขาชอบอะไรแล้วไปวาดแบบนั้น ตลาดด้วยความที่มันเป็นคริปโต มันค่อนข้างผันผวน มันขึ้นแล้วก็ลง เราจะทำตัว ขายในช่วงที่ตลาดลงเหมือนตอนตลาดขึ้นไม่ได้”
“จะดีแค่ไหนหากสิ่งที่เรารัก สิ่งที่ช่วยดึงเราให้ออกจากความเครียด กับสิ่งที่สร้างรายได้ให้เราเป็นสิ่งเดียวกัน พื้นที่ NFT นี้แม้จะไม่ได้ง่ายจนกระโจนเข้ามาแล้วทุกคนจะขายได้เหมือนกันหมด แต่ถ้าหากเราตั้งใจกับการขาย สำรวจตัวเอง สำรวจลูกค้า สำรวจตลาด อาจทำให้เราได้มีสิ่งที่รักและสิ่งที่ขายได้เป็นสิ่งเดียวกันเหมือนกันก็ได้”
หากใครสนใจสามารถติดตามผลงานของคุณลูกไม้ ได้ที่ https://twitter.com/erdyillustrate และถ้าอยากได้งานสักชิ้นติดไม้ติดมือ ลองดูที่ https://opensea.io/erdy_ และ https://foundation.app/@erdy
cover by Waragorn Keeranan