ในยุคสมัยปัจจุบัน จากที่เทรนด์ความนิยมของโลกสิงสถิตย์อยู่กับวงการดีไซน์มาช้านาน แต่วันนี้เทรนด์ความนิยมของโลกก็หมุนกลับมาที่พรมแดนของศิลปะอีกครั้ง ไม่เพียงสายตาและความนิยมของสาธารณชนที่หันกลับมาจับจ้องและหลงใหลวงการศิลปะ แต่องค์กรธุรกิจ รวมถึงแบรนด์สินค้าทั้งน้อยใหญ่ต่างๆ ก็หันมาใช้ประโยชน์จากงานศิลปะและศิลปินในการประชาสัมพันธ์กันอย่างครื้นเครง จนแทบเรียกได้ว่าไม่มีใครรู้จักคำว่า ‘ศิลปินไส้แห้ง’ อีกต่อไป
ปรากฏการณ์นี้ได้ทำให้เหล่าบรรดาดีไซเนอร์ หรือสถาปนิกระดับซูเปอร์สตาร์ที่เคยเฉิดฉายเฟื่องฟูอยู่ในโลกดีไซน์ หันมาจับโครงการศิลปะ สวมบทบาทเป็นศิลปินกันเป็นแถว ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ มีศิลปินผู้หนึ่ง ที่ทำงานศิลปะที่สำรวจพรมแดนอันเหลื่อมซ้อนระหว่างศาสตร์สองสาขานี้มาอย่างต่อเนื่องยาวนานแล้ว ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่าโทเบียส เรห์แบร์เกอร์ (Tobias Rehberger) ศิลปินเยอรมันผู้มีชื่อเสียงระดับโลก โดยเขาได้รับการยกให้เป็นหนึ่งในศิลปินร่วมสมัยผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกศิลปะยุคปัจจุบัน ผู้ทำงานศิลปะก้าวล้ำไปในพรมแดนของงานสถาปัตยกรรม งานดีไซน์ เพื่อสำรวจจุดบรรจบของศาสตร์เหล่านี้และตั้งคำถามกับแก่นแท้ของมัน
เขามักเล่นสนุกเกี่ยวกับคำถามของงานศิลปะ ว่ามันควรจะมีหน้าที่และประโยชน์ใช้สอยหรือไม่ ทำให้ผลงานของเขาหลายชิ้นไม่ใช่วัตถุสำหรับการจ้องมองแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่ยังมีฟังก์ชั่นและใช้งานได้จริง ไม่ผิดกับงานดีไซน์ จึงทำให้งานของเขายากจำแนกแจกแจงว่าเป็นอะไรกันแน่?
เขาทำงานศิลปะในหลากสื่อหลายแขนง ไม่ว่าจะเป็นภาพวาด ประติมากรรม ศิลปะจัดวาง ศิลปะเชิงโต้ตอบ (Interactive art), สื่อสิ่งพิมพ์, ผลิตภัณฑ์ดีไซน์ ไปจนถึงงานมัลติมีเดียอย่างวิดีโอ, เกม, ภาพยนตร์ และดนตรี ที่เกิดจากการผสมผสานงานช่างฝีมือแบบดั้งเดิมเข้ากับเทคโนโลยีล้ำสมัย
ผลงานของเขามักเปลี่ยนแปลงพื้นที่แสดงงานศิลปะให้กลายเป็นพื้นที่ลูกผสมระหว่างศาสตร์หลายสาขา เพื่อสำรวจบทบาทของศิลปะ สถาปัตยกรรม, และดีไซน์ ด้วยส่วนผสมของความงามทางสายตา และวัตถุที่มีประโยชน์ใช้สอย ที่ร่วมกันสร้างประสบการณ์ร่วมอันแปลกใหม่ แต่ก็เข้าถึงและเข้าใจได้ง่ายสำหรับผู้ชม
ไม่ว่าจะเป็นผลงาน Tsutsumu (2001) สวนหินญี่ปุ่นที่ผุดขึ้นในสวนสาธารณะ เมดิสันสแควร์ ในนิวยอร์ก ที่ประกอบด้วยสวนหิน, ต้นบอนไซ, ม้านั่งยาว และหิมะที่ปกคลุมพื้นอย่างน่าพิศวงแม้จะเป็นในช่วงฤดูร้อน
หรือผลงาน Outsiderin e Arroyo rande, (2002) โคมไฟแก้วแฮนด์เมดรูปทรงเลื่อนไหลละมุนละไม ที่ส่องแสงหลากสีสันตอบสนองต่อการเคลื่อนไหวของคนของอาคาร
หรือผลงาน Gu Mo Ni Ma Da (2006) เรือศิลปะรูปร่างแปลกตาขนาดใหญ่ ที่สร้างขึ้นในนิทรรศการ American Traitor Bitch ที่เขาทำร่วมกับเพื่อนศิลปินชาวเดนมาร์กเชื้อสายเวียดนามอย่าง ดาห์น โว (Danh Vo) โดยได้แรงบันดาลใจจากเรือในความทรงจำที่พ่อของเพื่อนศิลปินชาวเวียดนามต่อขึ้นเพื่อหลบหนีลี้ภัยออกจากเวียดนามหลังจากกรุงไซง่อนแตก
หรือผลงาน 1661-1910 from Nagasaki, Meiji, Setti (2015) ผลงานที่เขาทำให้ Fondation Beyeler ในเทศกาลศิลปะ อาร์ต บาเซล, ชายหาดไมอามี ในรูปแบบของจิตรกรรมฝาผนังที่ประกอบขึ้นจากกระเบื้องโมเสคหลากสี ต่อกันเป็นภาพกิจกรรมทางเพศ อันมีมาจากภาพศิลปะเชิงสังวาส ของญี่ปุ่นอย่าง ‘ชุงกะ‘ ที่ถูกเบลอบังจนรางเลือนด้วยเซ็นเซอร์โมเสก ผลงานชิ้นนี้ตั้งคำถามเกี่ยวกับสิ่งที่คนเราสามารถมองเห็น หรือไม่อาจมองเห็น และความเป็นรูปธรรมที่ถูกเปลี่ยนให้เป็นนามธรรมในกระบวนการเซ็นเซอร์ เฟอร์นิเจอร์อย่างม้านั่งและแจกันไม้ประดับที่วางตั้งอยู่ในพื้นที่แสดงงานถูกออกแบบให้เป็นพิกเซลล้อไปกับภาพโมเสคฝาผนัง สร้างความเชื่อมโยงระหว่างวัตถุสองมิติและสามมิติในห้องแสดงงานเข้าไว้ด้วยกัน
“ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านดีไซน์ และไม่ได้สนใจอะไรกับมันเป็นพิเศษ ผมแค่สนใจในกลวิธีทุกอย่างที่ผมพบเจอในงานสร้างสรรค์สาขาอื่นๆ ที่ผมคิดว่าสามารถตั้งคำถามต่อมุมมองใหม่ๆ ของศิลปะ แต่ท้ายที่สุดแล้ว ถ้าจะพูดกันจริงๆ ผมมองว่าตัวเองเป็นศิลปิน และเป็นประติมากรเสียมากกว่า”
ผลงานศิลปะของโทเบียส มักได้แรงบันดาลใจจากความทรงจำและความประทับใจของเขาที่มีต่อผู้คน สถานที่ และสภาพแวดล้อมรอบตัว ผนวกกับการสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้คน และการร่วมมือทำงานของคนหลายฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แรงงานฝีมือท้องถิ่นจากประเทศต่างๆ
ไม่ว่าจะเป็นการที่เขาใช้เวลาในประเทศแคเมรูน แอฟริกา เพื่อเสาะหาและว่าจ้างช่างฝีมือท้องถิ่นให้ผลิตเก้าอี้ดีไซน์โมเดิร์นชื่อดังของโลกอย่าง เก้าอี้ของเบาเฮาส์ (Bauhaus), เลอกอร์บูซีเย (Le Corbusier) ขึ้นมาใหม่จากความทรงจำ หรือไม่ก็เอาเฟอร์นิเจอร์ของดีไซเนอร์ชื่อดังมาดัดแปลงต่อเติมใหม่ อย่างเช่น เอาเก้าอี้สามขาสุดคลาสิคของ อัลวา อัลโต (Alvar Aalto) อย่าง Stool 60 มาต่อขาเพิ่มอีกขาเพื่อให้นั่งได้อย่างมั่นคงขึ้น
หรือผลงาน art-car series (1999) ที่เขาทำการจำลองรถซูเปอร์คาร์สุดหรูอย่าง McLaren F1, Porsche 911, Mercedes-Benz และ Renault Alpine ขึ้นมาใหม่ ด้วยฝีมือของช่างผลิตรถยนต์ชาวไทยเรานี่เอง โดยเขาทำงานชุดนี้ด้วยการสั่งงานทางโทรศัพท์ และส่งแบบสเก็ตซ์คร่าวๆ จากความทรงจำของเขา โดยไม่มีการวัดขนาดจากรถจริงหรือดูแผนผังโครงสร้างรถแต่อย่างใด ข้อกำหนดในการสร้าง มีเพียงแค่ว่า รถต้องทำออกมาในขนาดที่คนจริงๆ นั่งได้ และสามารถขับได้จริงเท่านั้นเอง ที่เขาทำเช่นนี้เพราะต้องการสร้างรถยนต์ที่มีความเป็นประติมากรรมในตัวของมันเอง และต้องการตั้งคำถามถึงแนวคิดเกี่ยวกับของแท้และของลอกเลียนแบบ รวมถึงเป็นการตีความรถซูเปอร์คาร์ยอดนิยมเหล่านี้ขึ้นมาใหม่จากจินตนาการของตัวศิลปินและความเข้าใจของช่างชาวไทยผู้สร้างรถยนต์เลียนแบบเหล่านี้ขึ้นมา
หนำซ้ำเขายังหยิบเอาชื่อของอาหารไทยที่เขาโปรดปรานในคราที่เคยมาเยื่อมเยือนและใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ อย่าง ข้าวขาหมู (Kao Ka Moo, 2001), ผัดซีอิ้ว (Pad-See-Euw, 2001), ยำไข่เยี่ยวม้า (Yam Kai Yeao Maa, 2001), ยำกุนเชียง (Yam Koon Chien, 2001) และลาบเป็ด (Lap Ped, 2001) มาตั้งเป็นชื่อผลงานประติมากรรมรถซูเปอร์คาร์จำลองเหล่านี้อีกด้วย
ในปี 2009 โทเบียสได้รับรางวัลสิงโตทองคำ (Golden Lion) ในสาขาศิลปินยอดเยี่ยม จากมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 53 ในผลงาน Was du liebst, bringt dich auch zum Weinen (Everything that you love, can makes you cry too) (2009) ศิลปะจัดวางในรูปของคาเฟ่ ที่ตั้งอยู่ในอาคารแสดงศิลปะ Palazzo della ‘Esposizione ที่เปิดให้สาธารณชนเข้าไปใช้บริการได้จริง ภายในคาเฟ่ตกแต่งด้วยสไตล์ที่ผสมผสานระหว่างความย้อนยุคและความล้ำยุค ด้วยการใช้วอลเปเปอร์สีขาวดำลวดลายเรขาคณิตสนุกสนานลวงสายตา ตัดกับเฟอร์นิเจอร์สีสันฉูดฉาดจัดจ้าน รูปทรงแปลกตา ที่ช่วยสร้างบรรยากาศอันน่าพิศวงขึ้นมาในพื้นที่ที่เชื้อเชิญผู้คนให้เข้ามาใช้งาน ซึ่งเขาร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์สัญชาติฟินแลนด์อย่าง Artek ออกแบบและสร้างสรรค์เฟอร์นิเจอร์เหล่านี้ ขึ้นมาเพื่อใช้ในคาเฟ่แห่งนี้โดยเฉพาะอีกด้วย
โทเบียส เรห์แบร์เกอร์ เกิดในปี 1966 ที่เมืองเอสลิงเก็น ประเทศเยอรมนี เขาเข้าศึกษาในสถาบัน Städelschule กรุงแฟรงก์เฟิร์ต ภายใต้การสอนของ โธมัส บายเริลร์ (Thomas Bayrle) ศิลปินเยอรมันผู้บุกเบิกศิลปะแนวป๊อปของเยอรมัน และ มาร์ติน คิปเพนแบร์เกอร์ (Martin Kippenberger) ศิลปินคอนเซ็ปช่วลชาวเยอรมันผู้ทรงอิทธิพล ซึ่งทั้งสองส่งอิทธิพลต่อความคิดของโทเบียสอย่างมาก ในการกำจัดความคิดฟุ้งฝันเกี่ยวกับความลี้ลับเลิศเลอสูงส่งของศิลปะ และอัจฉริยภาพอันเลิศล้ำของศิลปิน และดึงศิลปะให้เข้ามาใกล้ชิดกับวิถีชีวิตประจำวันของผู้คน ผลงานของเขาเป็นการแสดงความเป็นจริงที่ปรากฏขึ้นรอบตัว ผ่านงานศิลปะ, ดีไซน์ และสถาปัตยกรรม โดยไม่เลียนแบบให้เหมือนจริงอย่างทื่อตรง หากแต่เป็นการค้นหานิยามความหมายใหม่ๆ และทำความเข้าใจกับความเป็นจริงที่ว่าด้วยกระบวนการทำงานศิลปะ
เขามีนิทรรศการแสดงศิลปะในหอศิลป์และพิพิธภัณฑ์ชั้นนำของโลกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น หอศิลป์ Whitechapel ในลอนดอน, สถาบันศิลปะร่วมสมัย Fondazione Prada ในมิลาน, พิพิธภัณฑ์ Tate Liverpool ในเมืองลิเวอร์พูล, พิพิธภัณฑ์ Stedilijk ในอัมสเตอร์ดัม เขายังร่วมแสดงงานในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Venice Biennial ครั้งที่ 53 ในปี 2009
ผลงานของเขาถูกสะสมในพิพิธภัณฑ์ชั้นนำอย่าง พิพิธภัณฑ์ Hirshhorn Museum and Sculpture Garden ในวอชิงตัน ดีซี, พิพิธภัณฑ์ Kunstmuseum Wolfsburg ในเยอรมนี และพิพิธภัณฑ์ Serralves ในปอร์โต โปรตุเกส
ข่าวดีสำหรับคอศิลปะบ้านเราก็คือ ล่าสุด ศิลปินชาวเยอรมันผู้นี้ ได้เดินทางมาแสดงนิทรรศการศิลปะในประเทศไทยเป็นครั้งแรกที่ห้างสรรพสินค้าสยามเซ็นเตอร์ ในนิทรรศการชื่อ ‘Siam Center presents Tobias Rehberger’s Siam Art Project’ ซึ่งแสดงผลงานศิลปะจัดวางเชิงโต้ตอบ (Interactive Installation) และมัลติมีเดียของเขา ภายใต้คอนเซ็ปต์ All is Free: Wi-Fi, Parking, Coffee & Freedom ที่ถูกออกแบบมาอย่างล้ำสมัยต้อนรับยุค 4.0 โดยนอกจากผลงานศิลปะจัดวางรูปป้ายไฟกระพริบห้อยเพดานขนาดอลังการ ให้ผู้คนหลากหลายที่เดินผ่านไปผ่านมาในห้างสรรพสินค้าได้ดูชมอย่างตื่นตาตื่นใจแล้ว ยังมีผลงานศิลปะจัดวางในรูปของพื้นที่นั่งเล่น ที่เปิดโอกาสให้คนเข้ามานั่งพักผ่อนคลายอิริยาบถตามอัธยาศัย แถมยังสามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์สื่อสารอย่างสมาร์ตโฟนหรือแทปเล็ตเข้ากับตัวงาน เพื่อสัมผัสกับประสบการณ์ของการมีส่วนร่วมกับงานศิลปะ ผ่านเสียงเพลง และระบบอินเตอร์เฟซกราฟิก ที่เชื่อมต่อกับผลงานศิลปะจัดวางชิ้นนี้ได้อีกด้วย
นิทรรศการ “Siam Center presents Tobias Rehberger’s Siam Art Project” จัดแสดงที่โถงเอเทรียม 2 ชั้น G ศูนย์การค้าสยามเซ็นเตอร์ ตั้งแต่วันที่ 21 สิงหาคม 2018 ที่ผ่านมา ไปจนถึง 21 กันยายนนี้ มิตรรักแฟนศิลปะท่านใดสนใจก็เชิญไปชมกันตามสะดวก หรืออยากทราบข้อมูลเพิ่มเติมก็เข้าไปตรวจสอบที่ siamcenter.co.th
อ้างอิงข้อมูลจาก
หนังสือ The Art of Not Making: The New Artist/Artisan Relationship ผู้เขียน Michael Petry