จากยุคที่จะเล่นอินเทอร์เน็ตแต่ละทีก็ต้องต่อสายโทรศัพท์บ้าน ซื้อบัตรเติมชั่วโมง มาจนถึงตอนนี้ที่แต่ละคนต่างถือสมาร์ทโฟน ไถฟีด โพสต์สเตตัสลงเฟซบุ๊ก ดูคลิปในยูทูบหรือฟังพ็อดแคสต์ระหว่างเดินทางไปทำงาน โลกแห่งการเชื่อมต่อที่เราคุ้นเคยนี้กำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง โดยครั้งนี้คือการพลิกโฉมครั้งใหญ่เพื่อเดินหน้าสู่ยุค ‘Web 3.0’
การเปลี่ยนแปลงของอินเทอร์เน็ตครั้งนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะกว่า 20-30 ปีที่ผ่านมา ผู้คนกว่าหลายล้านคนทั่วโลกต่างเชื่อมโยงกันผ่านเครือข่ายออนไลน์ ในปี ค.ศ.2021 มีการส่งข้อมูลบนโลกอินเทอร์เน็ตเฉลี่ยกว่า 1 พันล้านล้านเมกกะไบต์/วัน ในแต่ละวันมีคนทวีตข้อความใหม่ๆ ถึง 500,000 ทวีต และในหนึ่งวันคนดูคลิปบนยูทูบรวมกันทั่วโลกกว่า 1 พันล้านชั่วโมง อินเทอร์เน็ตคือส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของทั้งโลกไปแล้ว และยังเกี่ยวข้องกับธุรกิจหลายภาคส่วน ไปจนถึงสร้างชีพใหม่ เช่น สตรีมเมอร์ อินฟลูเอนเซอร์
การมาขอยุค Web 3.0 จะส่งผลกระทบกับทุกคนที่เกี่ยวข้องทั้งในแง่บุคคลและองค์กรแน่ๆ แต่แล้ว Web 3.0 มันคืออะไร? เคยมีเวอร์ชั่น 1.0 กับ 2.0 มาก่อนด้วยเหรอ? The MATTER จะมาสำรวจไอเดีย Web 3.0 ที่ต้องบอกก่อนว่าเราทุกคนกำลังอยู่ในยุคเปลี่ยนผ่าน การนิยามความหมายของ Web 3.0 ยังเป็นเรื่องที่อยู่ในการถกเถียง บางแนวคิดอาจทำได้จริง บางแนวคิดอาจไปไม่ถึงฝัน ทว่า ความฝันถึงโลกที่การเชื่อมต่อนั้นไร้ตัวกลางที่จะเข้ามาควบคุม หรือผู้ใช้อย่างเราๆ สามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของตัวเองได้อย่างสมบูรณ์ ก็ควรค่าที่จะไปลองทำความรู้จักและสำรวจความเป็นไปได้ดูสักครั้ง
ก่อนจะมาเป็น Web 3.0
Web 1.0 : ยุคเริ่มต้นที่ในตอนแรกระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ หรือ ‘web’ ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อแชร์ข้อมูลงานวิจัยกันในกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ จนเกิดเป็นการสร้าง World Wide Web ในปี ค.ศ.1993 โดย ทิม เบอร์เนอส์ ลี ต่อมาคนหลายล้านคนได้ใช้เครือข่ายนี้เพื่อค้นหาข้อมูลและความบันเทิง จนมีผู้ให้บริการได้กำไรจากการโฆษณาเมื่อมีคนมาเข้าชมเว็บไซต์ รายงานจาก Polkadot Ecology Research Institute ประเมินว่า Web 1.0 คือช่วงปี ค.ศ.1991-2004
จุดเด่นของอินเทอร์เน็ตยุค Web 1.0 จะเน้นสื่อสารกันในระดับองค์กร และผู้ใช้งานเป็นเพียงคนเสพคอนเทนต์ หรือทำได้ทางเดียวคือรับสาร ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการอ่านจากหน้าเว็บไซต์ของผู้ให้บริการ เช่น Yahoo และ Google การผลิตคอนเทนต์ให้อ่านจึงเป็นส่วนของผู้ให้บริการ และรายได้ที่มาจากโฆษณาก็ตกเป็นของผู้ให้บริการทั้งหมด
Web 2.0 : อินเทอร์เน็ตยุคนี้เป็นยุคที่เรากำลังอาศัยอยู่นี่แหละ ความแตกต่างจากยุค Web 1.0 คือ Web 2.0 จะเน้นการสื่อสารในรูปแบบชุมชน (community) เป็นยุคที่โซเชียลมีเดียมีอิทธิพลอย่างมาก และผู้ใช้งานยังสามารถสร้างคอนเทนต์ผ่านผู้ให้บริการในแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น YouTube หรือ Facebook สามารถอัพโหลดวิดีโอลงบนแพลตฟอร์มได้ โดยผู้ใช้งานก็ได้รายได้จากค่าสปอนเซอร์หรือได้รับส่วนแบ่งจากค่าโฆษณาบนเว็บไซต์ แต่ผู้ให้บริการยังคงมีอำนาจควบคุมคอนเทนต์ที่เหนือกว่า แม้จะไม่ได้เป็นคนผลิตก็ตาม
Web 3.0 : ยุคการเชื่อมต่อในอนาคตที่ยังคงถกเถียงกันถึงนิยามและความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น หลักๆ แล้ว Web 3.0 จะให้ความสำคัญกับความเป็นปัจเจก (individual) ผู้ใช้งานสามารถจัดการข้อมูลของตัวเองได้อย่างสมบูรณ์ ด้วยการใช้ระบบที่ไร้ตัวกลางควบคุมอย่างบล็อกเชน นอกจากนี้ Web 3.0 จะมี AI เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเพื่อประมวลผลให้เป็นไปตามการใช้งาน
ในรายงานของ Singapore Fintech Festival บอกว่า Web 3.0 มีสามองค์ประกอบสำคัญ คือ 1) บริการที่ขับเคลื่อนด้วย AI (AI-driven services) ที่ทำให้ประสบการณ์บนอินเทอร์เน็ตนั้นเฉพาะเจาะจงไปตามแต่ละบุคคล 2) การจัดเก็บข้อมูลไร้ตัวกลาง (decentralised data architecture) ที่เก็บผ่านระบบบล็อกเชนซึ่งยากต่อการแฮ็กข้อมูล และ 3) การประมวลผลใกล้แหล่งข้อมูล (edge computing) ที่จะทำให้อุปกรณ์ทำงานรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ถึงขั้นว่าเราสามารถรันอัลกอริทึมจดจำใบหน้าได้ด้วยสมาร์ทโฟนที่มีอยู่ในมือ
ทำไมต้อง Web 3.0?
Web 2.0 ที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้มีปัญหาใหญ่ที่ยังแก้ไม่ตก คือ ความปลอดภัยของข้อมูล (data security) และความเป็นส่วนตัว (data privacy) ในแต่ละวันมีข้อมูลมากมายที่เก็บจากกิจกรรมที่เราโพสต์ แชร์ ดู กดไลก์ หรือแม้แต่แค่เลื่อนผ่าน ข้อมูลเหล่านี้หลั่งไหลเข้าสู่ผู้ให้บริการ เช่น Meta (Facebook), Google, Amazon ที่นับเป็นกรรมสิทธิ์ของตัวบริษัทและสามารถนำข้อมูลของผู้ใช้งานไปใช้ประโยชน์ หรือส่งต่อให้บุคคลที่สาม การปกป้องข้อมูลของผู้ใช้ของผู้ให้บริการในยุค Web 2.0 ยังถูกตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์อยู่หลายครั้งในกรณีที่ข้อมูลถูกแฮ็กหรือหลุดออกไปจากระบบ
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็เช่นกรณีที่บริษัท Cambridge Analytica ทำการเก็บข้อมูลผู้ใช้งานผ่านแอพฯ ทดสอบบุคลิกภาพใน Facebook ที่ต่อมาในปี ค.ศ.2016 ข้อมูลเหล่านั้นถูกโยงว่านำไปร่วมวิเคราะห์เพื่อทำแคมเปญการเมืองส่งให้ โดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับบลิกัน ได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดี
Web 3.0 อาจมีหน้าตาไม่ต่างจากในตอนนี้มากเท่าไหร่ แต่ด้วยระบบบล็อกเชนที่กระจายการเก็บข้อมูลให้ไปอยู่ในหลายแหล่ง หรือหลายโนด (node) การยืนยันตัวตนที่ต้องได้รับการพิสูจน์จากหลายโนดพร้อมกันจะทำให้การแฮ็กข้อมูลนั้นเป็นไปได้ยาก ต่างจากการเก็บข้อมูลในยุค Web 2.0 ที่มักจะเก็บอยู่ในแหล่งข้อมูลเดียวหรือไม่กี่แหล่ง
“เทคโนโลยีเหล่านี้จะทำให้ผู้ใช้งานมั่นใจและสามารถตรวจสอบได้ ทั้งข้อมูลที่พวกเขาได้รับ ข้อมูลที่ออกจากตัวพวกเขา อะไรบ้างที่พวกเขาจ่ายไปและอะไรบ้างที่ได้พวกเขาได้กลับมา การเซนเซอร์และการผูกขาดจะมีที่ซ่อนเหลือน้อยลงเมื่อเราสนับสนุนให้ผู้ใช้งานสร้างกำแพงเพื่อตัวเอง คิดเสียว่า Web 3.0 คือกฎบัตรแมกนา คาร์ตา (Magna Carta)—รากฐานเสรีภาพของประชาชนที่ลุกขึ้นต่อต้านการเอารัดเอาเปรียบโดยผู้มีอำนาจเผด็จการ” เกวิน วูด ผู้ร่วมก่อตั้ง Ethereum กล่าว
สิ่งที่จะตามมาในยุค Web 3.0
ในยุคอินเทอร์เน็ต Web 3.0 ข้อมูลจะไม่ถูกจัดเก็บและควบคุมโดยตัวกลาง ทุกเว็บไซต์สามารถเชื่อมโยงข้อมูลหากันได้อย่างอิสระ ดังนั้นตัวตนของเราจึงเป็นตัวตนแบบกระจายศูนย์ (decentralized identity : DID) ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวคิดด้านตัวตนบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่อาจได้เห็นในอนาคต แนวคิดนี้เสนอว่า ผู้ใช้งานหรือนิติบุคคลสามารถเป็นเจ้าของตัวตนดิจิทัลและข้อมูลที่เกี่ยวข้องโดยสมบูรณ์ รวมถึงสามารถสั่งการผ่านแอพฯ ได้ว่า อยากให้ปกป้องข้อมูลส่วนไหน และทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาตใคร ข้อมูลแบบกระจายศูนย์หรือไร้ตัวกลางนี้ยังสามารถเชื่อมโยงข้อมูลหากันได้จนถึงขั้นที่ว่า เราสามารถล็อกอินทุกเว็บไซต์ได้โดยใช้ไอดีและพาสเวิร์ดเดียวที่มีความปลอดภัยสูง
อีกประเด็นสำคัญ คือ เมื่อผู้ให้บริการหรือแพลตฟอร์มไม่สามารถควบคุมคอนเทนต์และข้อมูลที่ออกมาจากผู้ใช้งานแล้ว การตัดสินใจหรือนโยบายในอินเทอร์เน็ตจะมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ด้วยความที่การเปลี่ยนแปลงใดๆ ก็ตามจะมาจากกลุ่มผู้ใช้งานหรือกลุ่มคนที่ผลิตคอนเทนต์เป็นหลัก รายได้ที่มาจากคอนเทนต์ก็จะตกเป็นของคนทำคอนเทนต์แบบเต็มๆ เป็นเหมือนโลกที่ระบบเศรษฐกิจขับเคลื่อนด้วยคนทำคอนเทนต์ และ Facebook หรือ YouTube ไม่สามารถแบนคอนเทนต์ได้ตามอำเภอใจ
ประสบการณ์ในการท่องเว็บไซต์ก็อาจจะเปลี่ยนไปเช่นกัน เพราะเมื่อ Web 3.0 รวมเข้ากับเทคโนโลยี AI ระบบจะประมวลผลจากการใช้อินเทอร์เน็ตของแต่ละ จนสุดท้ายออกมาเป็นหน้าเว็บไซต์ที่ปรับไปตามแต่คน เช่น นาย A และ B เข้าเว็บไซต์ Facebook เหมือนกัน แต่หน้าตาเว็บไซต์ (UI) อาจไม่เหมือนกันเลย
และแน่นอน Web 3.0 จะเป็นรากฐานสำคัญที่จะทำให้โลกเสมือน metaverse เป็นจริงได้ ข้อมูลและเทคโนโลยีจาก Web 3.0 จะเกี่ยวข้องกับการสร้างกิจกรรมที่จะมีใน metaverse และมีส่วนช่วยสร้างระบบนิเวศของโลกเสมือนให้เชื่อมต่อกันอย่างลื่นไหล
สุดท้ายแล้ว Web 3.0 ยังเป็นเรื่องที่ใหม่อยู่มากๆๆๆๆ และเรายังต้องตามดูกันต่อไปว่า การเชื่อมต่อโลกอินเทอร์เน็ตในอนาคตจะไปในทางไหน รวมถึงประเด็นที่ต้องถกเถียงและระวัง เช่น การให้อำนาจควบคุมข้อมูลทั้งหมดของตัวเองจะเป็นภาระของผู้ใช้งานไหม การให้อิสระจะก่อให้เกิดคอนเทนต์ที่ไม่เหมาะรึเปล่า หรือใครจะเป็นคนแบกรับค่าใช้จ่ายที่มาจากระบบบล็อกเชน
คงต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะได้เห็นหน้าตา Web 3.0 ที่ชัดเจน ซึ่งก็ยังไม่มีใครรู้ว่าเมื่อไหร่จะมาถึง
อ้างอิงข้อมูลจาก
reutersinstitute.politics.ox.ac.uk
Illustration by Kodchakorn Thammachart