รอยสักและเจ้าของรอยสักถูกมองด้วยสายตานับล้านแบบ บ้างมองว่าสวยงาม บ้างมองว่าสกปรก หรือบ้างก็มองว่าคนที่มีรอยสักจะต้องเป็นคนแรงๆ แต่จริงหรือไม่ว่าภายใต้ภาพเหล่านั้น แต่ละหยดหมึกย่อมมีเรื่องราวและเหตุผลที่แตกต่างกันไปในแต่ละยุคสมัย แต่ละสถานการณ์ รวมถึงแต่ละกลุ่มคน ซ่อนอยู่เสมอ
ในฐานะคนที่ไม่มีความรู้เรื่องสไตล์ Old School แต่ชอบไล่ดูรูปรอยสักสวยๆ ใน Instagram และ Pinterest การมาชมนิทรรศการ ‘Faith, Hope & Love: Sailor Tattoos’ ที่ Upplandsmuseet ประเทศสวีเดน เลยทำให้เราได้รู้ว่าลวดลายที่กะลาสีเรือในยุคปลายศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 นิยมเอามาสักไว้บนร่าง อย่างเรือใบ สมอเรือ แผนที่ เส้นศูนย์สูตร ดอกกุหลาบ ดวงดาว รวมทั้งใบหน้าและเรือนร่างของผู้หญิง ยังเผยให้เห็นพลวัตทางสังคมด้วย
จากข้อมูลในนิทรรศการเอง กล่าวว่าในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 หรือราวๆ ร้อยปีก่อน เหล่ากะลาสีเรือสักเพื่อเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม (คล้ายกับการสักของแก๊งยากูซ่า) และสื่อสารกับคนในกลุ่ม พวกเขามักจะผลัดกันสักให้กันและกันแบบแฮนด์เมด และการที่พวกเขามีรอยสักก็ทำให้ได้ใช้เวลาว่างร่วมกัน เข้ากลุ่มกันได้ง่ายขึ้น
แต่ถึงจะเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มแล้ว ชายหนุ่มเหล่านี้ก็ไม่ได้เปิดเผยความอ่อนแอให้เพื่อนได้รับรู้ด้วยการพูดออกมาโต้งๆ แต่มีวิธีอื่นใดที่พวกเขาใช้แสดงออกแทน อย่างเช่นรอยสักรูปหัวใจ ดอกกุหลาบ และสมอเรือ ที่กลายเป็นเป็นช่องทางการสื่อสารทรงประสิทธิภาพ เพราะตามลำดับแล้ว มันหมายความถึงความอบอุ่น ความรัก และความรู้สึกปลอดภัยที่ได้กลับมาอยู่บนผืนแผ่นดินอีกครั้ง
นอกจากพวกเขาจะไม่พูดเรื่องความอ่อนแอและความคิดถึงบ้านกันแล้ว เรื่องเพศก็เป็นอีกเรื่องที่พวกเขามักไม่พูดถึง นี่จึงเป็นที่มาของการสักลายนางเงือก นักเต้น เกอิชาที่พวกเขาเจอตอนไปรบที่ญี่ปุ่น หรือคู่หมั้นของพวกเขา เพื่อบอกให้ผองเพื่อนรู้ระหว่างอาบน้ำและเปลี่ยนเสื้อผ้าด้วยกันว่า “กูชอบผู้หญิงนะโว้ย!” อีกแบบคือแสดงออกซึ่ง ‘พลังทางเพศ’ และ ‘ความต้องการทางเพศ’ ของตัวเองผ่านรูปเรือนร่างผู้หญิงที่นู้ดบ้าง ไม่นู้ดบ้าง ทั้งจากชีวิตจริงและจากในหนัง
แม้ไม่ต้องเอ่ยปากพูด แต่ลวดลายบนผิวหนังก็บอกเล่าสิ่งที่พวกเขาศรัทธาหรือยึดถือเอาไว้ได้เป็นอย่างดี
ต่อมาการสักในยุโรปและอเมริกาได้ขยายวงจากกะลาสีเรือออกไปยังพลทหารและทหารเรือ โดยลวดลายต่างๆ ในยุคนี้อย่างรูปมือสองมือกำลังเชคแฮนด์ มักจะแสดงถึงมิตรภาพของพวกเขา ส่วนรูปผีเสื้อและนกนางแอ่นก็เคยเป็นลายฮิตของเหล่ากะลาสี ก่อนที่จะกลายเป็นสัญลักษณ์ของ ‘ความเป็นหญิง’ บนผิวหนังของเหล่าสตรีที่ขึ้นแสดงใน circus และ smoking rooms ในภายหลัง แถมยังคงอยู่บนร่างกายของผู้หญิงยุคนี้ที่ต้องการแสดงออกซึ่งความอิสระปราศจากพันธะของตนเองด้วย
ในส่วนของตัวนิทรรศการนั้น สิ่งที่เราชอบคือ บนผนังห้องแสดงงานมีภาพถ่ายของเจ้าของรอยสักร่วมสิบคน ที่เปิดเผยรอยสักพร้อมบอกเล่าความรู้สึกสั้นๆ ที่เผยความอ่อนโยนและความเป็นมนุษย์ของพวกเขา หลายคนเล่าถึงที่มาของแต่ละรอยสักที่ไปได้มาจากประเทศห่างไกลที่พวกเขาไปรบ ราวกับรอยสักคือบันทึกการเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลอันยาวนาน, หนุ่มใหญ่คนหนึ่งบอกว่า เพราะคนมีรอยสักมักดูเป็นคนอันตราย เขาเลยไม่กล้าเปิดเผยรอยสักให้ใครเห็น ไม่ไปว่ายน้ำ ไม่เข้าห้องซาวน่า แต่จะไปกระโดดลงทะเลกับเพื่อนสนิทแทน และอีกคนเล่าถึงราคาของการสักแต่ละครั้งในอดีตที่ถูกมาก จนการสักเป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายและทำได้เองในหมู่เพื่อน ไม่เหมือนปัจจุบันที่ราคาสูงขึ้น เพราะการสักกลายเป็นงานศิลปะมากกว่างานอดิเรก
พอเข้าสู่ยุคศตวรรษที่ 21 รอยสักก็กลายเป็นสิ่งที่ ‘เวรี่ป๊อป’ จนถูกนำมาวางลงบนผลิตภัณฑ์ในชีวิตประจำวันต่างๆ และทำซ้ำในปริมาณมาก ทั้งรองเท้าผ้าใบ รองเท้าส้นสูง เสื้อผ้าดีไซเนอร์ พลาสเตอร์ติดแผล แก้วเซรามิค ทิชชู่ในห้องครัว หรือกระทั่งแพมเพิร์สเด็ก! หรือการสักบนผิวหนังจริงๆ ก็ตาม คล้ายจะกลายเป็นเรื่องสามัญเหลือเกินหากเทียบกับยุคก่อน และแรงบันดาลใจเองก็ออกจะเปลี่ยนไป เมื่อเราเริ่มสักเพราะไม่อยากเหมือนคนอื่น
มองย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นแล้วก็แอบเห็นวงจรของรอยสัก ที่ในวันหนึ่ง มันบ่งบอกว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม ในวันถัดมาบ่งบอกว่าเราโดดเด่นกว่าและไม่เหมือนใคร—และเดี๋ยวก็อาจจะวนกลับมาใหม่
อนึ่ง ลวดลายของรอยสักอาจไม่คงอยู่เหมือนวันแรกจรดเข็มอย่างไร ความหมายและความสำคัญของมันก็แปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลาอย่างนั้น
cover photo by collectorsweekly.com
นิทรรศการ Faith, Hope & Love: Sailor Tattoos ณ Upplandsmuseet เมืองอุปซอลา ประเทศสวีเดน ยกเอาส่วนหนึ่งในคอลเลคชั่นรอยสักกะลาสีเรือของ Maritime Museum เมืองสตอกโฮล์มมาจัดแสดงจนถึงวันที่ 14 มกราคม 2018