ถ้าไม่นับประชากรเชื้อสายจีนที่รักษาแชมป์อันดับหนึ่งของโลกมาแต่ไหนแต่ไร กลุ่มชาติพันธุ์ที่จะได้ใช้วลี “ครองโลก” เป็นรายต่อไปคงหนีไม่พ้นชาวละตินอเมริกา ซึ่งมีจำนวนประมาณ 500 ล้านคนทั่วโลก ทั้งยังเป็นเจ้าของ ภาษาสเปน ที่ถูกใช้สื่อสารมากเป็นอันดับสองของโลกรองจากภาษาจีน จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ ถ้าเราจะได้เห็นดนตรีละตินโดดเด่นขึ้นมาสร้างสีสันและความคึกคักในวงการเพลงระดับโลกจนมีรางวัล GRAMMY Awards เป็นของตัวเองขึ้นมา
พอได้ยินคำว่าละติน เรามักนึกถึงนางงามโลกหน้าสวยๆ คมๆ สโมสรฟุตบอลที่เจ๋งที่สุดในโลก ภาษาสเปน เครื่องเทศเผ็ดร้อน ค็อกเทล Cuba Libre เสื้อผ้าสีสันสดใส และปาร์ตี้ที่ทุกคนร้องเล่นเต้นรำกันแบบสุดเหวี่ยง
แต่ถ้าจะให้ขยายความเรื่องวัฒนธรรมของชาวละตินอเมริกาจนกระจ่างแจ้ง คงต้องใช้เวลากันหลายต่อหลายวัน เพราะนี่คือที่สุดแห่งการผสมผสานของหลายกลุ่มหลากวัฒนธรรม ทั้งสเปน ฝรั่งเศส โปรตุเกส เม็กซิโก คิวบา ปวยร์โตรีโก รวมถึงประชากรในประเทศแถบคาบสมุทรแคริบเบียน
ในความผสมผสานนั้น ‘ดนตรี’ นับเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมที่เข้มข้นและโดดเด่นมากๆ ประกอบไปด้วยแนวเพลงหลากหลายรูปแบบอันเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละเชื้อชาติสมาชิก เช่น ซัลซา ฟลาเมนโก เรเกตอน แทงโก เมเรนเก บาชาตา บองโก ฯลฯ ที่แผ่อิทธิพลเข้าไปผสมในวัฒนธรรมป๊อปอยู่บ่อยครั้ง ไม่แพ้ดนตรีของฝั่งแอฟริกัน และเมื่อเวลาผ่านไป ก็กำเนิดเป็นป็อป-ละตินหรือที่ถูกเรียกแบบกว้างๆ ว่า Urban Music ที่หลายคนได้ยินจนคุ้นหู
วงการดนตรีละตินกว้างใหญ่แค่ไหน?
แน่นอนว่ากว้างใหญ่และจริงจังกันมาก พวกเขามีการมอบรางวัล Latin GRAMMY Awards กันเป็นเรื่องเป็นราว ซึ่งก็เป็นเครือเดียวกับงาน GRAMMY ฝั่งภาษาอังกฤษนั่นแหละ โดยใช้ระบบเสนอชื่อ โหวต และตัดสินเหมือนๆ กัน แต่กรรมการในฝั่งละติน จะถูกคัดเลือกจากกลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิของวงการเพลงละตินนั่นเอง
รางวัล GRAMMY และ Latin GRAMMY นั้นมีศักดิ์เทียบเท่ารางวัลออสการ์ของวงการภาพยนตร์ รางวัลเอ็มมีของวงการโทรทัศน์ และรางวัลโทนีของศิลปะการแสดงละครเวทีและบรอดเวย์ หรือเรียกง่ายๆ ว่าเป็นเกียรติสูงสุดของอาชีพนักร้อง-นักดนตรีเลยก็ว่าได้
โดยในปี 2017 นี้ Latin GRAMMY Awards ก็เดินทางมาถึงปีที่ 18 แล้ว มี 4 รางวัลใหญ่ๆ ที่น่าจับตามอง ได้แก่ Record of the Year, Album of the Year, Song of the Year และ Best New Artist
2017: คลื่นยักษ์ Despacito ที่พัดพาดนตรีละตินสู่ผู้ฟังทั่วโลก
การันตีด้วยยอดวิวบน YouTube ถึง 4,200 ล้านวิวที่เป็นอันดับ 1 ของโลกในตอนนี้ และยอดฟังบน Spotify ถึง 716 ล้านครั้ง เราจึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า Despacito ของ Luis Fonso และ Daddy Yankee คือหนึ่งในปรากฏการณ์ครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดของดนตรีละติน
Despacito อ่านตรงตามตัวว่า เดสปาซิโต มีความหมายว่า “ช้าๆ” ซึ่งเป็นใจความหลักของเนื้อเพลงที่เล่าเรื่องของชายหนุ่มผู้ตกหลุมรักสาวสวย อยากจะเข้าไปเต้นรำด้วย ทำความรู้จักมักจี่ และเมคเลิฟกันแบบค่อยเป็นค่อยไป –ช้าๆ ตามความหมายชื่อเพลง– คนในวงการเพลงต่างเห็นพ้องต้องกันว่า แหม เนื้อเพลงนี่ก็เป็นเหตุผลหลักๆ ที่เพลงดังระเบิดระเบ้อเหมือนกันน่ะแหละ
ในเพลงนี้ สองศิลปินหนุ่มได้ชุบชีวิตแนวเพลง เรเกตอน (Reggaeton) ที่เกือบจะอันตรธานหายไปจากโลกให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง รวมถึงจังหวะเต้นรำสนุกๆ แบบจาเมกา (Jamaican Dancehall) บวกกับเนื้อเพลงแสนวาบหวาม แถม Justin Bieber ยังทำรีมิกซ์เป็นเวอร์ชันภาษาอังกฤษ (ถึงแม้ยอดวิวใน YouTube จะไม่ได้เสี้ยวเวอร์ชันออริจินัลเลยก็ตาม) จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกเลยที่ Despacito จะดังแล้วดังอีก ดังสุรุ่ยสุร่าย และครองตำแหน่งเพลงฮิตประจำหน้าร้อน 2017 ได้อย่างง่ายดาย
สิ่งที่น่าสนใจที่สุดจากปรากฏการณ์ Despacito คือ ยอดวิวไม่ได้มาจากผู้ชมในอเมริกาเหนือและใต้เพียงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย อิสราเอล อิยิปต์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย เรียกว่าสร้างกระแสให้กับดนตรีละตินไปทั่วโลกอย่างที่ PSY แห่งเกาหลีใต้เคยทำเอาไว้ในปีก่อนหน้า
แล้วคนไทยฟังเพลงละตินหรือเปล่า?
เป็นเรื่องไม่คาดฝันในเมืองไทยอีกเหมือนกัน เพราะบ้านเราก็เป็นกลุ่มเป้าหมายกับเขาด้วย โดย 5 หนุ่มป็อปแบนด์จากสเปน DVICIO เขาดังมากๆ ในหมู่แฟนคลับ ถึงกับขนาดที่ว่ามีคอนเสิร์ตไปแล้ว 2 ครั้ง ควบด้วยแฟนมีตแบบใกล้ชิด และยังยกกองมาถ่ายเอ็มวี No Te Vas ถึงเมืองไทยแถมใส่ภาษาไทยเป็นชุดไปตอนต้นเอ็มวีอีกต่างหาก
อีกสัญญาณดีๆ ที่บอกเราว่า ผู้ฟังชาวไทยกำลังเปิดใจรับฟังดนตรีภาษาใหม่ๆ ก็คือ เพลง Reggaetón Lento (Bailemos) ของบอยแบนด์ CNCO ในเวอร์ชันภาษาอังกฤษร่วมกับเกิร์ลกรุ๊ป Little Mix ได้ติดอันดับต้นๆ บนชาร์ตของ 3 สถานีวิทยุเพลงสากลในบ้านเราทั้ง Get 102.5, Eazy 105.5 และ MET107 พร้อมๆ กันเลย
เรารู้จักพวกเขาในฐานะศิลปินเพลงภาษาอังกฤษ แต่ความจริงแล้วนี่แหละละตินตัวจริง!
Enrique Iglesias
อันที่จริงมันก็นานแล้วล่ะ ตั้งแต่สมัยเพลงของเอนรีเก อีเกลเซียส (Enrique Iglesias) อย่างเพลง Do You Know? หรือที่หลายคนรู้จักกันในชื่อ “เพลงปิงปอง” ตามคลื่นวิทยุเมื่อสิบปีก่อน หรือถ้าใหม่ขึ้นมาหน่อยก็จะเป็น I Like How It Feels ที่ได้เจ้าพ่อแร็ปเปอร์พิตบูล (Pitbull) มาร่วมงานด้วย ถ้าไม่ได้หลงใหลในใบหน้าคมคายและใฝเสน่ห์ตรงข้างปีกจมูกด้านขวา (ที่เจ้าตัวจี้ออกไปนานแล้ว) ความสัมพันธ์ของเราเองกับหนุ่มละตินรายนี้คงจบลงไปนานแล้ว
แต่เมื่อได้ไปขุดคุ้ยผลงานดนตรีของเอนรีเกย้อนหลังไปจนถึงอัลบัมแรกในปี 1995 จึงกระจ่างแจ้งแก่ใจว่าเขากรุยทางสู่วงการดนตรีด้วยเพลงภาษาสเปนมาตั้งแต่แรกเริ่ม หาได้พึ่งภาษาอังกฤษไม่ แถมยังมีเพลงฮิตติดชาร์ตอย่าง Si Tú Te Vas และ Enamorado Por Primera Vez ในหลากหลายประเทศที่ใช้ภาษาสเปนเป็นหลัก
แต่เพลงภาษาสเปนของเอนรีเกที่ฝ่าฟันมามีชื่อเสียงในระดับนานาชาติได้คงหนีไม่พ้น Bailando กับจังหวะสนุกสนานที่ผสมผสานทั้งจังหวะเร่าร้อนแบบฟลาเมนโกของสเปน และกลิ่นอายเรเกตอนแบบปวยร์โตรีโกได้อย่างลงตัว ซึ่งเพลงนี้กวาดรางวัลมาแล้วมากมายหลายเวที รวมถึง Latin GRAMMY Awards ในปี 2014 ที่ควบถึง 3 สาขา ได้แก่ Best Urban Song, Best Urban Performance และ Song of the Year กันเลยทีเดียว
เอนรีเกพักหายใจจากการออกอัลบัมเดี่ยวมานานถึง 5 ปีเต็ม แต่ก็ไม่ได้ใจร้ายปล่อยให้แฟนเพลงเหงาหัวจิตหัวใจไปเสียทีเดียว เพราะเจ้าหนุ่มยังปล่อยซิงเกิลออกมาให้ฟังเรื่อยๆ ทั้ง Duele el Corazón เมื่อปีก่อน ตามด้วย Súbeme La Radio เมื่อกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แถมยังมีทัวร์คอนเสิร์ตกับพิตบูลเพื่อนยากตลอดปีนี้อีกด้วย
FUN FACT: เอนรีเกเคยมาแสดงสดในเมืองไทยเมื่อปี 2010 ในคอนเสิร์ตเปิดตัวคลื่นวิทยุ PD RADIO ร่วมกับวงบอยแบนด์เกาหลี Super Junior และ CN Blue (ซึ่งเรามีโอกาสได้ไปดูด้วยแต้มบุญล้วนๆ)
Becky G
มั่นใจว่าหลายคนเคยได้ยินเพลง Shower ของเบคกี้ จี (Becky G) ศิลปินสาวเม็กซิกัน-อเมริกันที่เข้าวงการเพลงตั้งแต่อายุ 15 ปี ด้วยการร่วมงานกับศิลปินเบอร์ใหญ่วิล.ไอ.แอม (will.i.am) ในเพลง Problem ประกอบภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่อง Hotel Transylvania
ความจริงแล้วเบคกี้ จี เบิกทางสายดนตรีของตัวเองด้วยเพลงภาษาอังกฤษนั่นแหละ แต่เธอก็ไม่ลืมที่จะแฝงเอกลักษณ์ความเป็นละตินของตัวเองลงไปเนื้อเพลงเล็กๆ น้อยๆ อย่างเช่นท่อนแร็ปในซิงเกิลแรก Becky from the Block หรือท่อนบริดจ์ในเพลง Can’t Get Enough ที่ได้พิตบูลมาแจมอีกด้วยเช่นเคย
ในด้านพัฒนาการทางดนตรี เบคกี้ จีถือว่าโตเร็วไม่ใช่เล่น ถึงเวลาจะผ่านมาเพียงแค่ 5 ปีจากซิงเกิลแรก แต่สาวน้อยคนนี้ก็มีเพลง Mayores ที่สามารถตะกายขึ้นชาร์ตสู่ Top 5 ใน Latin Billboard ร่วมกับขุ่นแม่บียอนเซ่ (Beyonce) ได้เรียบร้อยในตอนนี้
ตอนนี้เธอกำลังทำอัลบัมภาษาสเปนเต็มตัว โดยปล่อยซิงเกิลในสไตล์เรเกตอนสุดเซ็กซี่อย่าง Sola ออกมาให้ได้ฟังกันสักพักแล้ว โดย เบคกี้ จีได้แรงบันดาลใจมาจากการร่วมทัวร์กับ J Balvin ที่ช่วยเปิดโลกดนตรีละตินแบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เธอให้สัมภาษณ์กับ Billboard ว่า
“พวกเราชาวละตินมีพลังที่กึกก้อง เราอยากร้อง อยากเต้น และเพลงของ J Balvin ก็ทำให้ผู้คนได้สัมผัสพลังแบบนั้น ฉันรู้ตัวเองเลยว่าฉันอยากเป็นแบบนั้น เพราะส่วนหนึ่งของฉันก็เป็นละติน และฉันภูมิใจมากๆ”
FUN FACT: ชื่อจริงของเบคกี้ จีคือ เรบเบกา มารี โกเมซ (Rebbeca Marie Gomez) ซึ่งไม่ได้เกี่ยวดองอะไรกับเซลีนา โกเมซ (Selena Gomez) เลยสักนิด แต่ในวัฒนธรรมตะวันตกนั้นมีนามสกุลน้อย ต้องใช้สอยอย่างประหยัด
Pitbull
ไม่พูดถึงคงไม่ได้ สำหรับแร็ปเปอร์หนุ่มใหญ่คาริสม่าจัดอย่างอาร์มาโด คริสเตียน เปเรซ (Armando Christian Pérez) หรือพิตบูล รายนี้รับหน้าที่เสมือน ส.ส. ในวงการดนตรีละติน เพราะพ่อคุณมักจะซอกแซกไปร่วมงานกับศิลปินอินเตอร์รายอื่นๆ อย่างทั่วถึง ไม่ว่าจะเป็นเอนรีเก หรือเบคกี้ จีที่ได้กล่าวถึงไปแล้ว รวมถึง Akon, Jennifer Lopez, Neyo, Chris Brown, Shakira, Jason Derulo ฯลฯ
เห็นแร็ปจ๋าขนาดนี้ ก่อนหน้านั้นพิตบูลเริ่มต้นมาจากสายป็อป เพราะได้รับอิทธิพลจากสังคมนักดนตรีที่บ้านเกิดในไมอามี่ จากนั้นจึงหันมาฝึกฝนสกิลแร็ปอย่างจริงจัง และได้ร่วมทัวร์กับแร็ปเปอร์ในตำนานอย่าง Eminem และ 50 Cent จนมีชื่อเสียงขึ้นเรื่อยๆ ในเวลาต่อมา
เพลงที่ทำให้พิตบูลเริ่มมีชื่อเสียงในวงกว้างจริงๆ คือ I Know You Want Me (Calle Ocho) ที่ถึงแม้จะไม่เข้าใจความหมายทั้งหมด แต่ก็ร้องตามท่อน Uno dos tres quartro หรือ หนึ่ง สอง สาม สี่ ได้อย่างพร้อมเพรียงกันทุกค่ำคืน (เห็นไหม นับเลขเป็นภาษาสเปนได้แล้ว!) แถมยังเป็นที่เห็นพ้องต้องกันว่า Don’t Stop the Party ได้กลายเป็นเพลงชาติของเทศกาลดนตรี EDM ไปแล้วอย่างไม่ต้องสงสัย
แต่อัลบัมที่พีคมากถึงมากที่สุดจริงๆ ในหมู่ชาวต่างชาติคงหนีไม่พ้น Globalization เมื่อปี 2014 ซึ่งมีเพลง We Are One (Ole Ola) เป็นเพลงเชียร์บอลโลก FIFA อย่างเป็นทางการในปีนั้น รวมถึงซิงเกิลฮิตอย่าง Fun ที่ได้ Chris Brown มาร่วมร้อง และ Time of Our Lives กับเสียงเพราะๆ ของ Neyo อย่างไรก็ตาม พิตบูลแกชอบไปโปรดิวซ์เพลงให้กับศิลปินหน้าใหม่อยู่เรื่อยๆ รับรองว่ามีผลงานให้ฟังกันแบบไม่ขาดสายแน่นอน
FUN FACT: พิตบูลคอนเฟิร์มเป็นมั่นเป็นเหมาะว่าจะมาเปิดคอนเสิร์ตในเมืองไทยเมื่อพฤศจิกายน 2011 และพฤษภาคม 2017 แต่ดันยกเลิกทั้ง 2 รอบซะงั้น ไม่รู้ว่าเป็นคำสาปหรืออย่างไร
WHAT’S HOT?
สำหรับคนที่สนใจดนตรีสายละติน อยากชวนเตรียมความพร้อมสำหรับ Latin GRAMMY Awards 2017 กับอัลบั้มเหล่านี้
JUANES – Mis Planes Son Amarte
เราจะบาปแล้ว บาปอีก บาปซ้ำซ้อนมากๆ ถ้าไม่แนะนำให้ฟังอัลบัม Mis Planes Son Amarte ของฆัวเนส (Juanes) ศิลปินเดี่ยวสุดเก๋าที่กวาดรางวัลจาก Latin GRAMMY Awards เยอะที่สุดถึง 17 รายการ เราขอบนบานสานกล่าวให้เขาชนะสาขา Best Long Form Music Video ในปีนี้ เพราะมหากาพย์เอ็มวีมันเป็นเรื่องเป็นราวได้อลังการสุดๆ ลองไปดูได้ที่นี่
SHAKIRA – El Dorado
จะเป็นบาปอีกเหมือนกันถ้าไม่พูดถึงขุ่นแม่ชากีรา (Shakira) กับตำแหน่งศิลปินหญิงที่ได้รางวัลจากงานนี้เยอะที่สุดถึง 12 รายการ เธอพกพาอัลบัม El Dorado มาคว้าชัยในปีนี้ถึง 5 สาขาด้วยกัน เราขอเอาใจช่วยขุ่นแม่และเพลง Chantaje ให้หอบหิ้วรางวัลกลับบ้านเยอะๆ นะ
CNCO – Primera Cita
สุดท้ายและท้ายสุดคือซีเอ็นซีโอ (CNCO) 5 หนุ่มบอยแบนด์เชื้อสายละตินอเมริกาที่บ้านเกิดอยู่ไมอามี่ ถึงจะฟอร์มวงตั้งแต่ 2015 แต่หนุ่มๆ ก็เพิ่งเป็นที่รู้จักในปีนี้จากเพลง Reggaetón Lento กับจังหวะเรเกตอน (อีกแล้ว) และล่าสุดกับเพลง Mamita ที่ทำให้ทั้งสาวน้อยใหญ่เข่าอ่อนได้ง่ายๆ ต้องคอยลุ้นกันว่าจะคว้ารางวัล Best New Artist มาครองได้ไหม
อย่างไรก็ตาม Latin GRAMMYs 2017 จะประกาศผลในวันที่ 16 พฤศจิกายนนี้ เวลา 20:00 น. ตามเวลาท้องถิ่นของประเทศสหรัฐอเมริกา ใครว่างก็น่าจะลองไปเปิดโลกทางดนตรีกันได้ตามวันเวลาที่ได้บอกไป
เราเองขอทิ้งท้ายไว้ด้วยมุมมองน่าสนใจเกี่ยวกับดนตรีละติน จากอิม—วรรษชล คัวดรี้ ฟีเจอร์เอดิเตอร์แห่งนิตยสาร GQ ที่โปรดปรานดนตรีสาย electropop synth pop จนถึง triphop และสายมู้ดดี้ต่างๆ ซึ่งมองว่าดนตรีฝั่งละตินยังมีข้อจำกัดอยู่
“ด้วยข้อจำกัดทางภาษา ทำให้เพลงละตินไม่แพร่หลายในเมืองไทยเท่าที่ควร โดยที่เรื่องนี้ไม่เป็นปัญหากับประเทศอย่างอเมริกาที่มีคนใช้ภาษาสเปนกันเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว ในพื้นที่อื่นๆ จึงต้องอาศัยเพลงที่ฮิตเป็นบ้าอย่าง Despacito เพื่อดึงให้คนต่างชาติต่างภาษาหันมาสนใจ ก็ได้แต่คิดว่าหลังจากนี้คนไทยจะสนใจเพลงละตินเยอะขึ้นไหมนะ”
และหากถามตัวเธอเอง ถ้าเมื่อไหร่ที่เจอเพลงภาษาสเปนในแนวที่เธอโปรดปรานขึ้นมาแล้วล่ะก็ คงไม่ปฏิเสธที่จะเปิดใจรับฟังมันอย่างแน่นอน ส่วนใครที่อยากลองสัมผัสดนตรีละตินโดยเริ่มจากสายที่คุ้นหูสุดๆ ก่อน ลองติดตาม Latin GRAMMY Awards ในปีนี้ก่อนก็ไม่เสียหลาย.
Text by Theerada Moonsiri
อ้างอิง