“ถ้ามันเป็นสิ่งที่ทุกๆคนทำ มันก็จะไม่ใช่แฟชั่น เพราะมันสูญเสียความเป็นต้นฉบับและความพิเศษ รวมถึงไม่สามารถแสดงความเป็นปัจเจกชนได้ซึ่งเป็นเป้าหมายของแฟชั่นในปัจจุบัน แต่ถ้าสิ่งนั้นไม่มีใครทำตามเลย นั่นแปลว่าสิ่งนั้นไม่ใช่แฟชั่นเช่นกัน เพราะมันไม่สามารถทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าเทรนด์ได้ และถ้าไม่มีเทรนด์ ก็ไม่มีแฟชั่น”
อาจารย์ที่สอนวิชาแฟชั่นและสังคมศาสตร์จากสถาบันมารังโกนีที่มิลานได้กล่าวเอาไว้ขณะเล็คเชอร์ในห้อง ทำให้ฉุกคิดว่าดีไซเนอร์ที่เก่งหรือ ‘คนแฟชั่น’ เจ๋งๆ ก็คือคนที่สามารถจะทำการบาลานซ์สองสิ่งนี้ให้เกิดความพอดีได้—ความเป็นปัจเจกและเทรนด์
หลายครั้งที่ในโลกแฟชั่นเกิดการ ‘ก๊อปกันหน้าด้านๆ’ ขึ้น เราคนไทยเองเดินไปไหนมาไหนในกรุงเทพก็เห็นของก็อปกันเกลื่อนกลาดจนเรียกได้ว่าชินชา อาจจะดูแปร่งไปซักหน่อย แต่ที่จริงแล้วการทำซ้ำและดัดแปลงก็เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของแฟชั่นเช่นกัน
และในโลกแฟชั่นที่ตอนนี้แทบจะไม่เหลืออะไรใหม่ๆ ให้เห็นอีกต่อไปเพราะทุกอย่างถูกทำมาหมดแล้ว เราเองอยากจะแนะนำให้ทุกคนรู้จักกับอินสตาแกรมที่กำลังร้อนฉ่าที่สุดในโลกแฟชั่นนี้ @diet_prada ที่จะพาไปดูว่าไอเทมชิ้นไหนก็อป หรือ ‘ได้แรงบันดาลใจ’ มาจากชิ้นไหนก่อนหน้านั้นบ้าง
นี่คืออินสตาแกรมที่เลือกเอาไอเทมชิ้นใหม่บนรันเวย์ มาแปะข้างๆ เจ้าของแรงบันดาลใจให้เห็นกันจะจะ พร้อมใส่แคปชั่นเผ็ดๆ คันๆ หยิกนิดแซะหน่อยตามประสา และแม้เจตนาจะไม่ใช่เพื่อ hate on แบรนด์แฟชั่นใดๆ เป็นพิเศษแต่คอมเมนต์อันเผ็ดร้อนใต้โพสต์ของไดเอต พราด้า ก็ทำให้เกิดสงครามออนไลน์กับ สเตฟาโน่ แกบบานา จากแบรนด์ Dolce and Gabbana มาแล้ว
ซึ่งไม่ว่าดราม่าจะเกิดหรือไม่ ความตั้งใจแท้จริงของเจ้าของแอคเคาต์ที่ขอปิดตัวตนเงียบ (และดูท่าจะเป็นคนในวงการแฟชั่นตัวจริง) คือเพียงแค่ทำในสิ่งที่เหล่าเด็กเนิร์ดในวงการทั้งหลายชอบกันอยู่แล้ว นั่นก็คือการเรียนรู้ว่าเทรนด์ในโลกปัจจุบันนั้นเกิดมาจากอดีตได้อย่างไรนั่นเอง
จุดเริ่มต้นของแอคฯ นี้เกิดจากการที่เขาหรือเธอผู้เป็นเจ้าของเลื่อนดูเว็บไซต์อย่าง style.com ที่รวมเอาลุคใหม่ในแต่ละซีซั่นของแทบทุกแบรนด์เอาไว้ แล้วเม้าท์กับเพื่อนๆ ไปพลาง ประมาณว่า “โอ๊ย ชุดนี้มันกัลลิอาโน่ปี 2000 ชัดๆ เลยไม่ใช่เหรอ” ก็เลยลุกลามถึงขนาดกลับบ้านไปเอารูปมาทาบโชว์กัน จนรู้สึกว่าทนเก็บไว้ในวงแคบๆ ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว แบบนี้ต้องขอแชร์ต่อซักหน่อย
แปลอย่างคร่าวๆ (พร้อมใส่จริตตามฟีลลิ่ง) ลีลาในการแชร์ของเขาหรือเธอนี้ก็เช่นว่า
diet_prada: นิวยอร์คแฟชั่นวีคสปริงซัมเมอร์ 2018 เริ่มต้นได้ออริจินอลมากค่าา @ทอมฟอร์ด ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก @บาเลนซิอาก้า สมัยเกสกิเยร์ (ดีไซเนอร์สมัยก่อน) #ชุดฟินาเล่ #บาเลนซิอาก้า #ทอมฟอร์ด #นิโคลาเกสกิเยร์ #2000s #แฟชั่นปี2000 #เดรป #สไตล์โลกอนาคตเนอะ #แถมได้แขนเสื้อบอลดิสโก้มาจากมาร์เจล่าไปอีก (Maison Martin Margiela) #เดรสนู้ด #นางแบบ #เก๋ #ชุดวันนี้ #อยากอยู่นั่นจังเลยพี่ #ไดเอตพราด้า
- สิ่งที่ Diet_Prada สนใจไม่ใช่แบรนด์จำพวก fast fashion ที่ผลิตมาเพื่อคนส่วนมากอย่าง h&m, zara, mango โดยลอกแบบจากลุคของแบรนด์ไฮเอนด์มาคลี่คลายเล็กน้อย แล้วลดต้นทุนการผลิตตั้งแต่แง่ไอเดีย วัสดุ จนถึงโปรดักชั่น พร้อมผลิตออกมาจำนวนมาก ก่อนจะขายในราคาถูก ซึ่งนั่นถือว่าเป็นวงจรธุรกิจของแบรนด์เหล่านี้อยู่แล้ว แต่ที่น่าสนใจจริงๆ คือการที่พวกแบรนด์ไฮเอนด์ก็ก็อปกันเองวนไปเรื่อยๆ ต่างหาก
ไดเอตพราด้าได้ให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ i-D.com เอาไว้ว่าสมัยนี้คนเราเลียนแบบกันเร็วกว่าเดิมมาก คือถ้าคุณจะก็อปปี้ดีไซน์ของแจ๊กเก็ตจากบาเลนซิอาก้าในปี 1950 ก็อาจจะถือว่ายุติธรรมอยู่ แต่การที่ดีไซเนอร์อื่นจะมาลอกเลียนแบบลุคจากบาเลนซิอาก้าจากฤดูกาลที่แล้ว มันทำให้แฟชั่นตอนนี้เป็นแค่เรื่องของเทรนด์ เทรนด์ แล้วก็เทรนด์ และทำให้ทุกอย่างดูเหมือนๆ กันไปหมดเลย
ทางไดเอตพราด้าให้ความเห็นว่า “การได้แรงบันดาลใจ” และ “การลอกเลียนแบบผลงาน” หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า plagiarism เนี่ยมันมีความต่างกันอยู่ คนเราสมัยนี้พอเห็นสินค้าตัวหนึ่งขายดี ก็ลอกแบบตามบ้างอย่างรวดเร็วเพราะคิดว่าแบรนด์ของเราจะได้ขายดีด้วย ไม่ใช่เพราะว่าผลงานนั้นสวยหรือว่าเพราะชอบด้วยซ้ำ
ซึ่งถ้าถามว่าทำไมกัน โลกแฟชั่นถึงได้เต็มไปด้วยก็อปปี้แคท ก็น่าจะเป็นเพราะว่าแวดวงแฟชั่นคือวงการที่เน้นสื่อทางภาพมาก ซ้ำยังมีตารางการออกสินค้าใหม่อย่างตายตัวอีกด้วย เพราะไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ทางแบรนด์ก็จำเป็นที่ต้องปล่อยคอลเล็คชั่นใหม่ออกมาทุกฤดูกาล จึงทำให้มองเห็นได้ง่ายกว่าวงการอื่นๆว่ามีการลอกเลียนแบบกันเกิดขึ้น
และแม้เราจะยอมรับอย่างโดยดีว่าสิ่งที่เรียกว่าเทรนด์มีอยู่ในทุกๆ วงการ แต่ถ้าหากนี่เป็นวงการอาหาร คงไม่สามารถดูออกได้ชัดขนาดนั้นว่าฤดูใบไม้ผลิปี 2018 สิ่งที่ฮิตติดเทรนด์ที่สุดก็คือโพเกโบวล์จากฮาวาย เพราะวงการอื่นไม่ได้มีวงจรชีวิตที่ตายตัวเหมือนอย่างวงการแฟชั่นนั่นเอง
ไดเอตพราด้ายังให้ความเห็นอีกด้วยว่าแบรนด์ที่โดนทำซ้ำมากที่สุดน่าจะเป็นแบรนด์แฟชั่นที่มีชื่อเดียวกันกับแอคเคาต์ ซึ่งก็คือ พราด้า นั่นเอง แต่ก็เนื่องจากพราด้าวางขอบเขตแบรนด์ไว้กว้างขวาง โปรดักต์มีความหลากหลายมาก จนทำให้เสื้อผ้าบางตัวของบางแบรนด์อาจจะดูเหมือนพราด้าไปซะอย่างนั้นเพราะความบังเอิญล้วนๆ ก็เป็นได้
แต่ถึงอย่างนั้นไดเอตพราด้าก็จะรู้ทันทีหากมีใครพยายามทำตามสูตรของแบรนด์พราด้า เช่น ความเป็นเด็กสาว หรือการจัดชุดที่เอาชุดชั้นในมาใส่ไว้ด้านนอก การเลือกใช้สี ขนนก และพลอยสีปลอมประดับ เห็นแล้วก็จะรู้เลย ว่านี่แหละคือสไตล์ของพราด้า
แต่ถ้าพูดถึงแบรนด์ที่โดนจงใจเลียนแบบการมากที่สุดในสมัยนี้ ก็น่าจะเป็น Balenciaga (บาเลนซิเอก้า) และ Vetement (เวตมองต์) ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับศิลป์ของ Demna Gvasalia ทั้งคู่ “ซึ่งเราคิดว่ามันตลกมากเลยเพราะแบรนด์พวกนี้ก็เอาแบบมาจากมาร์เจล่า (Maison Martin Margiela) สมัยปี 90 อีกทีนะ” ไดเอตพราด้าทิ้งท้ายให้คันยิบๆ ตามสไตล์
แต่ก็อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้น แท้จริงแล้วการทำซ้ำและดัดแปลงเองก็เป็นหนึ่งในดีเอ็นเอที่สำคัญของวงการแฟชั่น ซึ่งในโลกปัจจุบันที่ตอนนี้เรียกได้ว่าไม่มีอะไรออริจินอลอีกต่อไป และไม่เหลืออะไรใหม่ๆให้ทำแล้ว สิ่งสำคัญคงจะเป็นวิธีการเลือกใช้สิ่งที่มีอยู่แล้ว เพื่อมาเป็น เอ่อ…แรงบันดาลใจ..? ซะมากกว่า
Text by Babe Bunnag