ในคืนหนึ่ง บาร์ ณ หัวมุมถนนเรืองรองไปด้วยแสงไฟนีออนสีนวลตาท้าทายความมืดที่โรยตัวอยู่โดยรอบ ภายในร้านเงียบงัน มีเพียงชายหญิงแต่งตัวดีสามคนนั่งไม่ไหวติง พร้อมแก้วกาแฟบนเคาเตอร์ด้านหน้า ส่วนพนักงานชายในชุดสีขาวสะอาดก็ทำงานของตนไปโดยไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับชายหญิงคนใดคนหนึ่งเป็นพิเศษ
นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นในภาพ Nighthawks หนึ่งในภาพเขียนที่โด่งดังที่สุดและสร้างชื่อให้กับ Edward Hopper ศิลปินผู้มีชีวิตอยู่ในอเมริกาช่วงปี 1882–1967 โดยชื่อเสียงที่ได้มานั้นใช่เพราะความสวยงามของภาพวาดเพียงอย่างเดียว หากแต่งานของเขายังอบอวลไปด้วยบรรยากาศความเปลี่ยวเหงาของคนในเมืองใหญ่ ที่ทั้งงดงามและมีแรงดึงดูดแรงกล้า ให้ต้องเข้าไปรู้จักภาพเหล่านั้นให้มากขึ้นและมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
งานศิลป์อีกหลายชิ้นในเวลาต่อมาจนถึงยุคนี้ ไม่ว่าจะงานภาพประกอบ กราฟิกดีไซน์ รวมถึงงานวิดิโอและภาพยนตร์ ก็ได้หยิบเอาภาพแบบฮอปเปอร์มาเป็นฉากหลัง เป็นแรงบันดาลใจ ผลิตซ้ำ หรือกระทั่งใช้เป็นแก่นในการสื่อสารอย่างที่ไม่เคยล้าสมัยหรือน่าเบื่อเลยสักนิด
กลิ่นอายแห่งความโดดเดี่ยวปกคลุมอยู่ในแทบทุกวาดภาพของฮอปเปอร์ เช่น ภาพของหญิงสาวนั่งอยู่บนเตียงและทอดสายตาออกไปนอกหน้าต่างภายใต้แสงยามเช้า ภาพของหญิงสาวอีกคนในชุดเสื้อคลุมและหมวกหรูหรากำลังนั่งมองแก้วกาแฟของตัวเองในคาเฟ่ยามค่ำคืน ภาพตึกที่ตั้งอยู่อย่างเดียวดาย หรือแม้แต่ภาพในโรงละครยามก่อนม่านบนเวทีจะเปิดขึ้น บรรยากาศผู้คนที่นั่งอยู่ในโรงกลับเงียบสงบ เป็นระเบียบ และเย็นชาอย่างน่าประหลาดใจ
สิ่งหนึ่งที่ช่วยให้ความเหงาดำรงอยู่ในภาพของฮอปเปอร์อย่างแยกไม่ออก คือมุมมองที่ศิลปินเรียลลิสต์ผู้นี้ถ่ายทอดออกมา เขามักวาดภาพในมุมที่บังคับให้คนดูอย่างเราๆ ต้องมองผ่านบานหน้าต่าง ช่องประตู หรือมองจากที่ไกลๆ เข้าไปสำรวจผู้คนของเขา เรื่องราวที่ปรากฏตรงหน้าจึงไร้ความแจ่มชัด ราวกับเรากำลังยืนอยู่ข้างนอกและแอบสังเกตเหตุการณ์ข้างในโดยที่ไม่สามารถได้ยินบทสนทนาใดๆ และไม่สามารถล่วงรู้ได้เลยว่าสิ่งใดกำลังเกิดขึ้น ‘จริงๆ’ ในชั่วขณะนั้น
ฮอปเปอร์เคยกล่าวไว้ว่า “งานศิลป์ชิ้นเยี่ยมคือการแสดงออกถึงชีวิตของศิลปิน และชีวิตของศิลปินนี่เองจะสร้างสายตาที่ศิลปินมีต่อโลกภายนอก” ซึ่งน่าจะเป็นคำอธิบายความเป็นเขาได้ดีที่สุด
ฮอปเปอร์เกิดในนิวยอร์กเมื่อปี 1882 ในช่วงที่เขาเติบโตและมีชีวิตอยู่นั้น โลกตะวันตกกำลังสั่นสะเทือนจากการมาถึงของเครื่องจักร อันเป็นผลพวงของการปฏิวัติอุตสาหกรรม การเปลี่ยนแปลงนั้นทำให้เมืองชั้นนำทั่วโลกเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะนิวยอร์กบ้านเกิดของเขา ทว่านอกจากการเปลี่ยนแปลงจะทำให้คนมีชีวิตที่ดีขึ้นแล้ว ฮอปเปอร์ยังรู้สึกว่าเทคโนโลยีกลับยื่นมือเข้ามาขัดขวางความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ มนุษย์กับมนุษย์คนอื่นๆ หรือแม้แต่มนุษย์กับตัวของเขาเองด้วย
ฮอปเปอร์ซุกความรู้สึกนั้นไว้ลึกๆ ระหว่างที่เรียนศิลปะในนิวยอร์กอยู่หลายปี ก่อนจะทนแรงกดดันจากพ่อแม่ที่อยากให้เขาทำงานศิลปะเชิงพาณิชย์ไม่ไหว และหนีไปยังปารีสด้วยการทำทีว่าจะไปเรียนศิลปะที่นั่น แต่อันที่จริง เขาไม่ได้สนใจศิลปะแบบ impressionism อันสวยงามและประณีตที่กำลังเป็นที่นิยมสักเท่าไหร่
ในสายตาของเขา ศิลปะในยุคนั้นเน้นไปแต่เรื่องความงาม และจืดจางในแง่ของความเกี่ยวข้องกับชีวิต และละเลยการพลังอำนาจของคลื่นอุตสาหกรรม ที่กำลังเปลี่ยนชีวิตผู้คนอย่างไม่มีทางหวนคืน ด้วยเหตุนี้ แทนที่จะตั้งใจศึกษางานศิลปะอย่างที่บอกทางบ้านไว้ สิ่งที่เขาทำเป็นประจำระหว่างอยู่ในปารีสจึงเป็นการแบกเฟรมวาดรูปไปสำรวจชีวิตในมุมต่างๆ ของเมืองเสียมากกว่า
เมื่อกลับมายังนิวยอร์ก ฮอปเปอร์ย้ายไปอยู่ในย่านกรีนนิชและเปิดสตูดิโอของตัวเอง ที่นั่นยิ่งทำให้เขารู้สึกถึงความโดดเดี่ยวของเมืองใหญ่มากขึ้นไปอีก สังเกตได้จากกิจกรรมระหว่างนั่งรถไฟของเขา ที่มักเป็นการมองเข้าไปยังตึกออฟฟิศที่รายล้อม จ้องมองชีวิตของผู้คนที่เกิดขึ้นในบานหน้าต่างเล็กๆ และอย่างที่เขาพูดไว้ ตัวตนของเขาสะท้อนออกมาในภาพวาดอย่างชัดแจ้ง และกลายเป็นตัวตนที่ทำให้คนจดจำเขาได้ในฐานะศิลปิน
แม้เอดเวิร์ด ฮอปเปอร์จะถูกกล่าวถึงว่าเป็นศิลปินเรียลลิสต์ แต่ภาพวาดของฮอปเปอร์ก็ไม่ได้เหมือนจริงราวกับภาพถ่ายเสียทีเดียว อันที่จริง ภาพวาดของเขาน่าจะเรียกได้ว่า ‘เกือบ’ เหมือนจริงเสียมากกว่า ด้วยการลดทอนรายละเอียดบางอย่าง ราวกับรอให้คนดูเป็นผู้ประกอบชิ้นส่วนเข้าไปให้สมบูรณ์ด้วยตัวเอง
ความเกือบจริงที่ว่าผสมรวมกับมุมมองในรูปวาดของเขา ที่มักเป็นการจ้องมองผ่านบานหน้าต่างเข้าไป เรื่องราวที่เกิดขึ้นภายในเฟรมภาพวาดจึงคล้ายจะเว้นว่างไว้ให้คนดูเป็นผู้แต่งเติมเข้าไปด้วยซ้ำ หญิงสาวกับชายหนุ่มที่นั่งข้างกันในบาร์กลางดึกอาจเป็นได้ทั้งคู่รักและคนที่บังเอิญได้พบกันครั้งแรก หญิงสาวที่นั่งอยู่คนเดียวในคาเฟ่อาจกำลังรอใครสักคน หรือเพิ่งถูกใครสักคนทิ้งให้เธอนั่งอย่างเดียวดาย ส่วนหญิงสาวที่นั่งจ้องมองท้องฟ้ายามเช้าก็อาจเป็นไปด้วยความสดชื่นหรือเศร้าหมองได้ในคราวเดียวกัน
แม้งานความโดดเดี่ยว เยียบเย็น และโศกเศร้า จะเปล่งประกายออกมาค่อนข้างชัดเจน แต่ก็ยังมีผู้ตีความว่างานของเขามีเศษเสี้ยวของความหวังปรากฎอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นลำแสงตกกระทบบนตึกที่เขาชอบใช้ที่อาจแปลได้ว่าเป็นแสงของวันใหม่ หรือแม้กระทั่งแสงไฟจากบาร์ใน Nighthawks ที่อาจมีความหมายลึกซึ้งกว่าแค่ซีนๆ หนึ่งในค่ำคืน
ในปี 1941 ฐานทัพเพิร์ลฮาร์เบอร์ของอเมริกาถูกกองทัพญี่ปุ่นถล่มยับเยิน บรรดาชาวเมืองนิวยอร์กต่างแตกตื่นและกลายเป็นความระแวดระวังเป็นพิเศษ ในยามกลางคืน ทั้งบ้านและร้านค้าต่างพากันปิดม่านสีดำเพื่อแอบซ่อนสัญญาณการมีชีวิตของคนภายในตึกนั้น ยกเว้นก็เพียงแต่บานหน้าต่างของฮอปเปอร์ในย่านกรีนนิชที่ไม่เคยปิดด้วยม่านดำ และส่องแสงสว่างเป็นจุดเด่นท่ามกลางเมืองที่มืดมิดและเต็มไปด้วยความหวาดกลัว
ห้องสตูดิโอของเขาจึงไม่ต่างอะไรจากบาร์ในภาพ Nighthawks ซึ่งเป็นร้านเดียวที่เปิดไฟสว่างตอนกลางคืน ผู้คนภายในร้านต่างใช้ชีวิตตามปกติไม่ต่างจากศิลปินเจ้าข้องภาพซึ่งเปิดไฟสตูดิโอสว่างจ้าทุกคืน ความกล้าของฮอปเปอร์ที่ย้ายลงมาอยู่ในภาพนี่เอง คือสิ่งที่ผู้คนตีความว่าคือความหวังที่ซุกซ่อนอยู่ท่ามกลางคืนที่เงียบงันและภาวะสงครามรอบตัว
จนกระทั่งตอนนี้สงครามรบพุ่งได้จบลงไปแล้ว ในขณะที่ผู้คนก็คุ้นชินกับอุตสาหกรรมราวกับเป็นเนื้อเดียวกับมัน แต่แสงไฟ ห้องหับ และประตู หน้าต่างของฮอปเปอร์ที่ถูกสร้างขึ้นมาเมื่อหลายสิบปีก่อน ยังคงสะเทือนอารมณ์ใครหลายคนเสมอ แม้เราจะไม่อาจแน่ใจได้เลยว่าความเปลี่ยวเหงาที่สัมผัสได้ คือความรู้สึกเดียวกับที่ฮอปเปอร์ตั้งใจจะสื่อสารหรือไม่ หรือแท้จริงแล้วเป็นเพียงความเหงาของคนเมืองในยุคนี้ ที่แต่งแต้มลงไปเองกันแน่
อ้างอิง