ช่วงที่ผ่านมา มีดราม่าร้อนๆ เกี่ยวกับวงไอดอลยอดนิยมของบ้านเราอย่างวง BNK48 ทั้งคนรักและคนชัง ต่างก็แบ่งฝ่ายวิวาทะกันให้เอิกเริก ซึ่งนั่นก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะว่าไปแล้วความรักความชังมันก็เป็นเรื่องนานาจิตตัง แต่บางครั้งก็รู้สึกงุนงงกับศิลปินหรือคนทำงานสร้างสรรค์บางคนที่ตั้งแง่รังเกียจเดียดฉันท์ ไปจนถึงการดูถูกดูแคลนวงดนตรีวัยรุ่น, เพลงป๊อป หรือแม้แต่ศิลปะเชิงพาณิชย์ (ที่รู้กันอยู่แล้วว่าเขาเน้นการ ‘ขาย’ เป็นหลัก) เสียเหลือเกิน ทั้งที่จริงๆ แล้ว คนทำมาหากินด้วยศิลปะแทบทุกคนต่างก็ ‘ขาย’ ผลงานตัวเองทั้งนั้น แค่ต่างกันตรงวิธีการขายเท่านั้นเอง
จริงอยู่ที่เราควรรู้เท่าทันกลไกการตลาดและกลยุทธ์การขาย เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อในโลกทุนนิยมอย่างไร้สติ แต่การบอกว่าคนที่หลงใหล ชื่นชมและบริโภคสิ่งที่เป็นกระแสนิยมในสังคมนั้นเป็นคนหลงผิด มืดบอดทางปัญญากันหมดทุกคน ก็ออกจะเป็นการเหมารวมกันเกินไปหน่อย ว่าไหม?
ในประวัติศาสตร์ งานศิลปะชั้นเลิศหลายชิ้นในหลายแขนงก็เกิดขึ้นจากแรงขับทางเศรษฐศาสตร์อย่างอุปสงค์และอุปทานกันไม่มากก็น้อย (คงไม่ต้องพูดถึง ป๊อปอาร์ต ที่เล่นเกี่ยวกับประเด็นนี้อย่างครื้นเครงก็ได้มั้ง)
คือมันก็มีศิลปินหรือคนทำงานสร้างสรรค์บางคนแหละ ที่ทำงานเพื่อรับใช้ศรัทธาและอุดมการณ์อันสูงส่ง ทำงานศิลปะเพื่อศิลปะ เพื่อสังคม เพื่อประเทศชาติ ไปจนถึงสิ่งแวดล้อมและมวลมนุษยชาติ โดยไม่แยแสอามิสสินจ้าง ซึ่งเราก็ชื่นชมในความมุ่งมั่นของพวกเขาเหล่านั้น แต่ไม่ได้หมายความว่าศิลปินที่ทำงานรับจ้างหาเลี้ยงชีพ ทำงานแบบขายๆ เพื่อหาเลี้ยงปากท้องเป็นสัมมาอาชีวะ นั้นเป็นอะไรที่ผิดบาปหรือเลวร้ายเสียเมื่อไหร่ บางครั้งงานที่เกิดจากการรับจ้างอย่างงานภาพประกอบ, หนัง, เพลงโฆษณา หรืองานพาณิชย์ศิลป์อย่างปกหนังสือ ปกแผ่นเสียง ก็มีคุณค่าและความงามไม่ด้อยไปกว่างานศิลปะชั้นสูงเลย ไม่เชื่อดูปกอัลบั้มของ Pink Floyd เอาก็ได้
เราเลยขอยกตัวอย่างงานศิลปะที่มีจุดเริ่มต้นจากการเป็นงานรับจ้าง ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นผลงานศิลปะชั้นเยี่ยมแสนเลอค่าของโลก
เริ่มต้นด้วยการย้อนกลับไปในยุคเรอเนสซองส์ (Renaissance) หรือ ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ ที่เริ่มขึ้นในปลายศตวรรษที่ 14 ถึงศตวรรษที่ 17 หลายคนอาจไม่ทราบว่าเหตุผลที่ศิลปวิทยาการแขนงต่างๆ ในยุคเรอเนสซองส์เจริญก้าวหน้าได้อย่างสุดขีดแบบที่เป็นอยู่นั้น นอกจากเป็นเพราะการขุดพบซากเมืองโบราณของกรีกและโรมัน ซึ่งถือเป็นยุคทองของศิลปะและอารยธรรมของมวลมนุษยชาติ โดยนำศิลปวิทยาการที่ค้นพบนั้นมาปรับปรุง ดัดแปลง และตีความใหม่ จนทำให้ยุโรปในยุคนั้นมีความเจริญก้าวหน้าในด้านศิลปะและศาสตร์ทุกๆ สาขาเป็นอย่างมาก ซึ่งปัจจัยอีกส่วนหนึ่งนั้น เกิดขึ้นจากการอุปถัมภ์ค้ำชูจากเหล่าบรรดาผู้มีอำนาจอย่างศาสนจักร, พระสันตปาปา, ขุนนาง, พ่อค้า, คหบดี, ชนชั้นสูง และเหล่าเศรษฐีตระกูลใหญ่ ผู้มีกำลังทรัพย์และอิทธิพลอย่างสูงในยุคนั้น ที่คอยให้การสนับสนุนเหล่าศิลปินและนักสร้างสรรค์ทั้งหลาย อาทิเช่น ตระกูลวิสคอนตี และ ตระกูลสฟอร์ซา แห่งมิลาน, ตระกูลกอนซากา แห่งแมนทัว และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตระกูลเมดีชี แห่งฟลอเรนซ์ ซึ่งการอุปถัมภ์ค้ำชูเหล่านี้เองที่เป็นส่วนช่วยให้เกิดความเจริญก้าวหน้าทางศิลปวิทยาการและความเจริญงอกงามทางวัฒนธรรมในยุโรปอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
ลำพังตัวศิลปินเอง ก้มหน้าก้มตาวาดๆ ปั้นๆ แกะสลักเยอะๆ ไปมันก็ไม่ได้ทำให้อิ่มท้องได้เองเสียเมื่อไหร่ อย่าลืมว่า นอกจากศิลปินจะต้องกินต้องอยู่เหมือนคนทั่วๆ ไปแล้ว การทำงานศิลปะเองก็เป็นกระบวนการที่ต้องอาศัยค่าใช้จ่ายและเงินทองอยู่ไม่ใช่น้อยเหมือนกัน ไหนจะค่าวัตถุดิบอย่าง สี, กระดาษ, ผ้าใบ, ค่าวัสดุอุปกรณ์ อย่างหินอ่อนชั้นดี หรืออีกจิปาถะ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันก็ไม่ได้ร่วงหล่นมาเองจากฟากฟ้าสุราลัย ให้ศิลปินได้หยิบฉวยไปใช้สอยกันตามใจชอบเสียเมื่อไหร่ หากไม่มีคนคอยอุปถัมภ์ค้ำชู เลี้ยงดูจ้างวาน หรือให้อามิสสินจ้าง ไปซื้อวัสดุอุปกรณ์ ไปซื้ออาหารเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ศิลปินเหล่านั้นก็คงไม่มีโอกาสได้ทำงานสร้างสรรค์ หนักๆ เข้าก็อาจอดอยากไม่มีกินกันเลยด้วยซ้ำ เมื่อวันเวลาผ่านไป ผลงานของศิลปินเหล่านั้นได้กลายงานศิลปะชั้นยอด เป็นสมบัติล้ำค่าของโลกจวบจนทุกวันนี้
อาทิเช่น ผลงาน The Last Supper (1495-1498) ของจิตรกรเอกแห่งยุคเรอเนสซองส์อย่าง เลโอนาร์โด ดา วินชี (Leonardo da Vinci) ภาพวาดฝาผนังแบบปูนแห้ง พระกระยาหารค่ำมื้อสุดท้ายของพระเยซูคริสต์ ท่ามกลางอัครสาวกทั้งสิบสอง ก่อนที่จะทรงถูกนำตัวไปตรึงกางเขน ถือเป็นหนึ่งในภาพวาดที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักมากที่สุดในโลก
เดิมทีภาพวาดนี้ ดา วินชี ได้รับการว่าจ้างจาก ลูโดวีโก สฟอร์ซา ดยุคแห่งมิลาน ซึ่งเป็นผู้อุปภัมถ์ของเขา ให้วาดภาพจิตรกรรมบนฝาผนังโบสถ์ ซานตา มาริอา เดลเล กราซี ในเมืองมิลาน
ดา วินชี เริ่มต้นวาดภาพนี้ในปี 1495 และแล้วเสร็จในปี 1498 โดยไม่ได้วาดอย่างต่อเนื่อง มีเรื่องเล่ากันว่า รองเจ้าอาวาสของโบสถ์ที่ ดา วินชี วาดภาพอยู่ ได้ตำหนิเขาเกี่ยวกับความล่าช้าในการวาดภาพนี้ จนทำให้เขาฉุนขาด เลยร่อนจดหมายไปหาเจ้าอาวาส ใจความว่า ‘เขากำลังกลุ้มใจ เพราะว่ายังหาใบหน้าเหมาะๆ สำหรับเป็นแบบให้ ยูดาส อัครสาวกผู้ทรยศ ที่ขายพระเยซูคริสต์ไม่ได้ ถ้ามาเร่งเขามากนัก เขาจะเอาหน้าของรองเจ้าอาวาสมาเป็นแบบเสียเลยดีไหม?’ สุดท้ายเสียงบ่นก็เงียบหายไปโดยปริยาย เห็นไหมล่ะ ขนาดจิตรกรเอกเอย่าง ดา วินชี ก็โดนจิกงานกับเขาด้วยเหมือนกัน!
จิตรกรรมฝาหนังแบบปูนแห้ง* (Fresco-secco หรือ a secco) เป็นวิธีวาดภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ตรงกันข้ามกับเทคนิคการวาดภาพจิตรกรรมแบบปูนเปียก (Fresco) ที่ใช้สีฝุ่นผสมน้ำแล้ววาดลงบนปูนปลาสเตอร์ที่ยังไม่แห้งซึ่งปาดไว้บางๆ บนผนัง เมื่อปูนแห้งก็จะทำให้สีซึมลงในเนื้อปูนและติดผนังอย่างถาวรโดยไม่ต้องเคลือบสี ส่วนเทคนิคการวาดภาพจิตรกรรมฝาผนังแบบปูนแห้ง จะทำโดยการผสมสีกับสารที่ทำให้ติดผนัง เช่น ปูนขาว, ไข่, กาว, น้ำนม หรือน้ำมัน เพื่อให้สียึดติดกับผนังปูนที่แห้งแล้ว
หรือภาพวาดปูนเปียกบนเพดานโบสถ์น้อยซิสทีน (Sistine Chapel) อันล้ำค่า ที่เล่าเรื่องราวการสร้างโลกของพระผู้เป็นเจ้า ผลงานชิ้นเอกของศิลปินยิ่งใหญ่ในยุคเรอเนสซองส์อีกคนอย่าง ไมเคิลแองเจโล หรือ มีเกลันเจโล (Michelangelo) เอง ก็เป็นงานที่ว่าจ้างโดยพระสันตปาปาจูเลียสที่ 2 ด้วยเช่นกัน
ซึ่งว่ากันจริงๆ แล้ว ไมเคิลแองเจโลก็รับงานนี้ด้วยความไม่เต็มใจ (เพราะเขาคิดว่าตนเองเป็นประติมากร ไม่ใช่จิตรกร) แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ เพราะผู้ว่าจ้างเป็นองค์สันตปาปาผู้ทรงอำนาจ เลยต้องยอมทำให้ด้วยความหงุดหงิดและคับข้องใจ แต่สุดท้ายก็ทำเสร็จตามที่รับมอบหมายจนได้ แถมทำออกมาได้ดีเยี่ยมเสียด้วย ซึ่งต่อมา ภาพวาดเพดานโบสถ์น้อยซิสทีนแห่งนี้ภายหลังได้กลายเป็นผลงานชิ้นเอกและมหัศจรรย์ที่สุดชิ้นหนึ่งของไมเคิลแองเจโล และเป็นสมบัติล้ำค่าที่สุดชิ้นหนึ่งของโลกจวบจนปัจจุบัน
สามารถหาดูเกี่ยวกับเรื่องราวนี้ได้ในหนัง The Agony and the Ecstacy (1965)
หรือผลงานในปี 1642 อย่าง The Night Watch (ผู้รักษาความสงบยามค่ำคืน) หนึ่งในภาพวาดชิ้นสำคัญและมีชื่อเสียงที่สุดในงานจิตรกรรมยุคทองของดัตช์ (Dutch Golden Age paintings) ผลงานมาสเตอร์พีซของศิลปินเอกชาวดัตช์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก เรมบรันต์ ฟัน ไรจ์น (Rembrandt van Rijn) ซึ่งเป็นภาพที่เขาวาดขึ้นตอนที่ยังหนุ่มมาก ๆ เป็นผลงานชิ้นแรก ๆ ที่สร้างชื่อเสียงอันรุ่งโรจน์และส่งให้เขากลายเป็นจิตรกรที่โด่งดังที่สุดในฮอลแลนด์ มันเป็นภาพวาดที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นอัจฉริยะในการวาดภาพที่จับเอารายละเอียดทางอารมณ์อันท่วมท้นของผู้คนแสดงออกมาทั้งทางสีหน้าและภาษากาย แต่ในขณะเดียวกันก็สำรวจลึกไปถึงจิตวิญญาณของพวกเขา โดยเรมบรันต์เป็นจิตรกรที่ขึ้นชื่อในการใช้สีสันอันหนักแน่นและการใช้องค์ประกอบที่สร้างขึ้นจากการผสมผสานระหว่างแสงและเงาอย่างมีจังหวะจะโคน ผนวกกับฝีแปรงอันอิสระและกระฉับกระเฉงในการสร้างมิติสะท้อนบุคลิกลักษณะภายในของคนที่เป็นแบบและนำเอาชีวิตใส่ลงไปในภาพที่เขาวาด
เดิมทีภาพนี้มีชื่อจริงว่า Militia Company of District II under the Command of Captain Frans Banninck Cocq หรืออีกชื่อหนึ่งคือ The Shooting Company of Frans Banning Cocq and Willem van Ruytenburch ส่วนชื่อที่ติดปากคนอย่าง The Night Watch ความจริงนั้นเกิดจากความเข้าใจผิดอย่างใหญ่หลวง เพราะฉากที่เกิดขึ้นในภาพนั้นไม่ใช่ตอนกลางคืน ความมืดในภาพเกิดจากคราบฝุ่น การซ่อมแซมที่ย่ำแย่ และการลงน้ำมันเคลือบเงาหนาหลายชั้นของนักสะสมเพื่อปกป้องภาพเขียนจากกาลเวลาและการประทุษร้าย (ซึ่งเคยมีเกิดขึ้นจริงๆ ในอดีต) และเพื่อเป็นการปิดบังฝีแปรงอันอิสระของเรมบรันต์จากนักวิจารณ์ที่มักจะคิดว่าสไตล์ของเขาเหมือนภาพวาดไม่เสร็จ ซึ่งหลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง ได้มีการซ่อมแซมอย่างสมบูรณ์แบบอีกครั้ง สีสันอันสดใสและแสงสีในยามกลางวันอันเจิดจ้าที่แท้จริงของภาพจึงได้เปิดเผยออกมาในที่สุด
และเป็นที่แน่นอนอยู่แล้วว่า ที่มาของภาพวาดอันเลอค่าชิ้นนี้คืองานรับจ้างวาดดีๆ นี่เอง ซึ่งคนที่จ้างก็ไม่ใช่ใครที่ไหน เป็นคนที่ยืนอยู่ในรูปอย่าง ร้อยเอก ฟรานซ์ แบนนิง ค็อคค์ และสมาชิกของกลุ่ม Kloveniers หรือ กองกำลังพลเมืองติดอาวุธ อาสาสมัครผู้ปกป้องเมืองแห่งอัมสเตอร์ดัมนั่นเอง (ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ต่างก็เป็นชนชั้นสูงและเศรษฐีมีทรัพย์กันทั้งสิ้น)
ซึ่งงานจิตรกรรมชั้นเยี่ยมอย่างภาพนี้ (และภาพอื่นๆ) ในสมัยก่อนมันก็ไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าภาพวาด ที่คนมีเงินจ้างให้จิตรกรวาดขึ้นเพื่อเอาไว้แขวนประดับโบสถ์ วิหาร ปราสาท ราชวัง คฤหาสน์ หรือแม้แต่อาคารสำนักงานต่างๆ มันไม่ได้เป็นของล้ำค่าขนาดที่ภาพ The Night Watch นี้เองเคยถูกเจ้าของ (ที่ซื้อต่อมาอีกทอด) เฉือนขอบของภาพทั้งสี่ด้านออกไปหลายนิ้ว เพื่อให้มันแขวนโชว์อยู่ระหว่างเสาสองต้นของอาคารศาลาว่าการเมืองอัมสเตอร์ดัมได้ (ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำกันเป็นปกติในยุคก่อนศตวรรษที่ 19) ผลลัพธ์ก็คือ มันทำให้บุคคลทางซ้ายของภาพหายไปสองคน และภาพก็สูญเสียมิติทั้งความกว้างและความลึก กว่าที่นักประวัติศาสตร์ศิลปะรุ่นหลังจะรู้ว่าภาพนี้ถูกเฉือนออกไป ก็ตอนได้เห็นภาพเต็มที่ศิลปินดัตช์ในศตวรรษที่ 18 อย่าง เฆอร์ริตต์ ลุนเดนส์ (Gerrit Lundens) ก๊อปปี้เอาไว้ (เพื่อศึกษา) ปัจจุบันภาพก๊อปปี้ที่ว่านี้ถูกแสดงอยู่ในหอศิลป์แห่งชาติ กรุงลอนดอน นั่นเอง (เรื่องนี้สอนให้รู้อีกอย่างว่า การก๊อปปี้มันก็ไม่ได้เลวร้ายเสมอไป เพราะอย่างน้อยที่สุด มันทำให้เราได้รู้ว่าของต้นฉบับนั้นมีความดีงามแค่ไหนนั่นแหละนะ!)
ส่วนภาพ ‘จ้างวาด’ อย่าง The Night Watch ก็กลายเป็นภาพวาดชิ้นเอกของโลกและเป็นผลงานศิลปะล้ำค่าที่สุดของพิพิธภัณฑ์ไรจ์คส์ (Rijksmuseum) เรียบร้อยโรงเรียนเนเธอร์แลนด์ไปในที่สุด
หรือผลงานในปี 1656 อย่าง Las Meninas (นางสนองพระโอษฐ์) ของ ดิเอโก เบลาสเกซ (Diego Velázquez) จิตรกรเอกแห่งยุคทองของสเปน (Spanish Golden Age) ซึ่งถือเป็นภาพวาดที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก โดยมันเป็นภาพวาดที่นำเสนอฉากภายในห้องขนาดใหญ่ ของพระราชวัง รอยัลอัลคาซาร์ แห่งมาดริด ในรัชสมัยของของพระเจ้าเฟลีเปที่ 4 แห่งสเปน โดยมีบุคคลในราชสำนักอย่าง เจ้าหญิงมาร์การิตา เทเรซา แห่งสเปน พระราชธิดาในพระเจ้าเฟลีเปที่ 4 แห่งสเปน ระหว่างยังทรงพระเยาว์ ห้อมล้อมด้วยเหล่านางสนองพระโอษฐ์ พระพี่เลี้ยง ราชองครักษ์ คนแคระ และสุนัขหนึ่งตัว นอกจากนั้นในภาพยังมีตัวจิตรกรอย่างเบลาสเกซ ยืนวาดภาพบนผืนผ้าใบขนาดใหญ่อยู่ข้างๆ ไกลออกไปมีมหาเล็กยืนอยู่ตรงช่องประตู ตัวละครในภาพบางคนจ้องมองมายังผู้ชม แต่บางคนก็จ้องมองกันอยู่ ในขณะที่บนกำแพงฉากหลัง มีกระจกเงาที่สะท้อนภาพครึ่งพระองค์ของพระเจ้าเฟลีเปที่ 4 และสมเด็จพระราชินีนาถ แห่งสเปนอยู่ ซึ่งดูๆ ไปก็คล้ายกับอยู่ในตำแหน่งของผู้ชมที่กำลังจ้องมองมาที่ฉากนี้ แต่ในขณะเดียวกัน นักวิชาการบางคนก็สันนิษฐานว่าภาพนี้เป็นภาพจากกระจกเงาที่สะท้อนภาพเบลาสเกซ ขณะที่กำลังวาดภาพอยู่มากกว่า
ซึ่งองค์ประกอบอันลึกลับซับซ้อนของภาพนี้ ได้กระตุ้นให้เกิดการตั้งคำถามเกี่ยวกับความเป็นจริงและภาพลวงตา ทั้งยังสร้างความสัมพันธ์อันสับสนคลุมเครือระหว่างผู้ชมและตัวละครที่ปรากฏในภาพ ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้มันกลายเป็นภาพที่ถูกวิเคราะห์และตีความอย่างกว้างขวางมากที่สุดในประวัติศาสตร์งานจิตรกรรมตะวันตกเลยก็ว่าได้
ถึงตัวเบลาสเกซเอง จะเป็นจิตรกรเอกในราชสำนักของพระเจ้าเฟลีเปที่ 4 แต่ยุคศตวรรษที่ 17 ศิลปินจิตรกรในสเปนนั้นไม่ค่อยมีสถานะทางสังคมสูงเท่าไหร่นัก และในยุคนั้น งานจิตรกรรมก็เป็นแค่งานช่างฝีมือ มากกว่าจะเป็นงานศิลปะชั้นสูงอย่างบทกวีหรือดนตรี แม้เขาจะฝ่าฟันจนได้รับยศฐาบรรดาศักดิ์เป็นขุนน้ำขุนนางในราชสำนัก แต่เขาก็ต้องรับผิดชอบงานหนักหนาสาหัสจนแทบไม่มีเวลาวาดภาพเท่าไหร่นัก ช่วงแปดปีสุดท้ายของชีวิต เขาวาดภาพได้เพียงสองสามภาพเท่านั้น ส่วนใหญ่แล้วก็เป็นภาพของเหล่าเชื้อพระวงศ์ทั้งนั้น ซึ่งตอนที่เขาวาดภาพ Las Meninas นั้น เขาก็ทำงานรับใช้ราชสำนักมาแล้ว 33 ปีเลยทีเดียว ปัจจุบันภาพวาดนี้จัดแสดงอยู่ที่ พิพิธภัณฑ์ปราโด (Museo del Prado) กรุงมาดริด ประเทศสเปน
หรือภาพวาดในปี 1907 ของจิตรกรเอกชาวออสเตรีย กุสตาฟ คลิมต์ (Gustav Klimt) อย่าง Portrait of Adele Bloch-Bauer I หรือที่รู้จักกันในชื่อ The Woman in Gold ผลงานชิ้นเอกที่เป็นหน้าเป็นตาและความภูมิใจสูงสุดของมหาชนชาวออสเตรีย จนถึงกับมีคนให้สมญานามมันว่า ‘โมนาลิซ่าแห่งออสเตรีย’ ซึ่งภาพนี้เฟอร์ดินานด์ บล็อค นักลงทุนอุตสาหกรรมชาวยิวผู้รักศิลปะที่ร่ำรวยจากธุรกิจค้าน้ำตาลเป็นผู้จ้างวานให้คลิมต์ วาดภาพเหมือนของ อดีเล่ บล็อค–บาวเออร์ ภรรยาของเขาขึ้นมานั่นเอง
ด้วยหลักฐานเหล่านี้ อาจพอให้เราตระหนักได้ว่า ไม่ว่าจะถือกำเนิดมาแบบไหน ด้วยจุดประสงค์อะไร สุดท้ายกาลเวลาและสาธารณชนก็จะเป็นเครื่องพิสูจน์เอง ว่าผลงานศิลปะชิ้นนั้นๆ มันมีคุณค่าพอที่จะอยู่รอดต่อไปในอนาคตหรือเปล่า?
ศิลปะ วรรณกรรม ภาพยนตร์ ดนตรี ไปจนถึงศิลปะในรูปแบบอื่นๆ แม้แต่อาหารการกิน ต่างก็มีรสชาติเฉพาะตัวของมันที่อาจเหมาะสำหรับรสนิยมของแต่ละคน (เว้นแต่ว่ามันจะถูกทำออกมาเพื่อตอบสนองรสนิยมของคนจำนวนมาก) การรับรู้ เข้าใจ ไปจนถึงพึงพอใจกับมันได้ ย่อมต้องอาศัยเวลาในการลิ้มลอง ฝึกฝน เรียนรู้ และทำความเข้าใจกับมัน แต่ท้ายที่สุด ถ้าลองแล้ว เรียนรู้แล้วไม่ชอบ ไม่อิน ไม่ใช่ ไม่โดน มันก็ไม่ได้ผิดบาปอะไร แค่เพราะมันไม่เหมาะกับเราเท่านั้นเอง แล้วก็ใช่ว่ามันจะไม่เหมาะตลอดไป มันอาจไม่เหมาะแค่ในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้นก็ได้
เพลงบางเพลง หรือหนังบางเรื่อง ที่เราไม่ชอบ ไม่อินเอาเสียเลย ผ่านไปอีกหลายปี กลับมาฟัง มาดูใหม่ เราอาจชอบมันขึ้นมาก็ได้ หรือเพลงที่เราชอบฟัง หนังที่เราชอบดูเหลือเกินตอนเด็กๆ พอกลับมาดูมาฟังอีกที ก็ได้แต่นึกว่า กูชอบเข้าไปได้ยังไงวะ! แบบนั้นก็มีถมไป
ตัวผมเองกว่าจะรู้ซึ้งถึงสุนทรียะในรสขมของมะระได้ ก็ตอนอายุปาเข้าไปสี่สิบแล้ว หรือตอนเป็นวัยรุ่นเคยติดรสหวาน รสจัด เวลากินก๋วยเตี๋ยวต้องปรุงหนักๆ ใส่น้ำตาล น้ำส้มสายชู ทีละหลายๆ ช้อน พอมาตอนนี้ ช้อนเดียวก็ไม่ใส่
เพราะความชอบ หรือรสนิยมนั้น เป็นเรื่องที่เลื่อนไหลเปลี่ยนแปลงได้ตามกาลเวลา ไม่ว่าจะด้วยวุฒิภาวะ ความคิดความอ่าน กายภาพ และปัจจัยอื่นๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเพลงป๊อป อย่างเพลงของ BNK48 หรือ ไทรอัมพ์ส คิงดอม ไปจนถึงเพลงร็อค อาร์แอนด์บี หรือเพลงคลาสสิก, หนังอินดี้ หรือ หนังตลาด, ละครเวที หรือ ละครหลังข่าว, ซีรีส์เกาหลี หรือ ซีรีส์ฝรั่ง, งานพาณิชย์ศิลป์ งานวิจิตรศิลป์ หรือ งานศิลปะร่วมสมัย ต่างก็เป็นเช่นเดียวกัน
การวิพากษ์วิจารณ์ และการแสดงความคิดเห็นนั้นเป็นสิ่งดี เป็นกิจกรรมที่ก่อให้เกิดปัญญา แต่บางทีเราก็ต้องแยกให้ออกว่าสิ่งที่เราได้เห็นได้ยินนั้นเป็นการวิพากษ์วิจารณ์เพื่อแสดงความคิดเห็น หรือเป็นแค่การดูถูกเหยียดหยามคนอื่นเพื่อสำเร็จความใคร่ทางวาจาให้สาแก่ใจตัวเองเท่านั้น รสนิยม นั้นเป็นรูปแบบ เป็นสุนทรียะในการดำรงชีวิต ไม่ได้เป็นสิ่งที่เอาไว้เหยียบย่ำและยกตนเองให้สูงส่งกว่าคนอื่น
อ้างอิงข้อมูลจาก
en.wikipedia.org/wiki/The_Last_Supper_(Leonardo_da_Vinci)
en.wikipedia.org/wiki/Sistine_Chapel_ceiling
en.wikipedia.org/wiki/The_Night_Watch
en.wikipedia.org/wiki/Las_Meninas
en.wikipedia.org/wiki/Portrait_of_Adele_Bloch-Bauer_I