Jeff Koons คือศิลปินป๊อปอาร์ตวัย 62 ผู้ยิ่งใหญ่ อื้อฉาว และรวยที่สุดรายหนึ่งของโลก! ชื่อเสียงของเขาบูมขึ้นจากบอลลูนรูปหมาขนาดยักษ์ที่ทำจากสเตนเลสเงาวับ แพสูบลมรูปล็อบส์เตอร์สีส้มสด ประติมากรรมกระเบื้องรูปไมเคิล แจคสันกับลิง จนถึงโปสเตอร์หนังโป๊สุดสยิว และสารพันของดาษดื่นที่เห็นอยู่ทุกที่ —เหล่านี้คืองานสุดไอคอนิกของเขา ที่นอกจากเรียกเสียงฮือฮาแล้ว หลายครั้งยังเรียกเสียงด่าตามมาอีกกระบวน
อย่างที่ว่า งานของคูนส์ส่วนใหญ่มักเป็นการฉวยเอาวัฒนธรรมอเมริกันที่ใครๆ ก็รู้จักดีมาเปลี่ยนให้เป็นงานอาร์ตหลากฟอร์ม อย่างลูกโป่งบิดเป็นรูปสัตว์ เครื่องใช้ในบ้าน หรือของฝากเฉิ่มๆ ตามสถานที่ท่องเที่ยว ได้ถูกเขาจับมาแปลงเป็นทั้งรูปปั้น ภาพเพนท์ หรือประติมากรรมจากต้นไม้! แถมไปไกลระดับที่เคยครองพิพิธภัณฑ์ Whitney Museum of American Art ทั้งตึก และไปโชว์ในพระราชวังแวร์ซายส์มาแล้ว! (นึกภาพลูกโป่งหมาขนาดยักษ์ เดอะ ฮัลค์ และล็อบส์เตอร์ของเล่นแสดงอยู่ในห้องหรูหราวิบวับของราชวงค์ฝรั่งเศสดูสิ)
เพราะความเข้าถึงง่ายแต่เบื้องหลังก็แฝงไว้ด้วยแนวคิดที่ซับซ้อน ทำให้คูนส์มีแฟนคลับอยู่มากมาย เช่นศิลปินใหญ่ชาวอังกฤษ Damien Hirst ศิลปินผู้พลีชีวิตสัตว์แด่งานศิลปะ รวมถึงเซเลบริตี้อย่าง Pharrell Williams และ Lady Gaga ที่ประกาศว่า “Koons คือศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดที่ยังมีชีวิตในยุคของเรา!”
นอกจากผลงานศิลปะจะทำให้เขากลายเป็นศิลปินชื่อก้อง มันยังทำให้เขารวยโคตรๆ อีกต่างหาก โดยรูปปั้นบอลลูนหมาสีส้มหน้าตาไม่แปลกประหลาดนั้นขายได้ในราคาถึง 58.4 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 1,800 ล้านบาท!!! (จะเป็นลม) ทำให้คูนส์ขึ้นแท่นศิลปินที่ยังมีชีวิตอยู่ผู้ร่ำรวยที่สุดทันที

artsper.com
“หาก Andy Warhol จะมีลูกสักคน ใครคนนั้นต้องเป็นเจฟฟ์ คูนส์!”
นั่นคือคำประกาศของ Donna De Salvo หัวหน้าภัณฑารักษ์แห่ง Whitney Museum of American Art พิพิธภัณฑ์ที่เคยจัดแสดงงานของคูนส์มาแล้วหลายรอบ
ที่จริง ไม่ต้องเป็น De Salvo ก็พอจะเห็นจุดร่วมระหว่างคูนส์กับวอร์ฮอลได้ไม่ยาก ด้วยความที่ทั้งสองต่างก็ทำงานป๊อปอาร์ตที่คนเข้าถึงได้ โดยมีวลีเด็ดว่า ‘I love everything.’ และดังเป็นพลุแตกเหมือนๆ กัน
แต่ถึงอย่างนั้น เอาจริงๆ แล้วชีวิตของทั้งคู่กลับแทบไม่มีอะไรคล้ายกันเลย เพราะในขณะที่วอร์ฮอลเป็นลูกชายของผู้อพยพชาวสโลวาเกีย และเป็นเกย์ จึงรู้สึกว่าตัวเองเป็น ‘คนนอก’ ของสังคมอยู่ตลอดเวลา คูนส์กลับมีที่มาจากครอบครัวชนชั้นกลางในเมือง York รัฐเพนซิเวเนีย เป็นลูกชายของนักออกแบบภายในและเจ้าของร้านเฟอร์นิเจอร์ และมีลูกกับภรรยาทั้งเก่าและใหม่รวมกันถึง 8 คน จึงมีแรงสนับสนุนที่แน่นหนาเอาการ
และเพราะคูนส์โตมากับการวิ่งเข้าออกร้านเฟอร์นิเจอร์ของพ่อนี่เอง ทำให้เขาซึมซับสุนทรียะหลากหลายแบบจากโชว์รูมที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ จนถึงตอน 7 ขวบ คูนส์ก็เริ่มหัดเรียนวาดรูป และ—ตามคำของเขา— รู้สึกว่าในที่สุดก็มีอะไรที่ทำได้ดีกว่าพี่สาวเสียที! เขาจึงหลงใหลในสิ่งนี้เอามากๆ แถมพ่อก็ยังสนับสนุนด้วยการให้คูนส์ จูเนียร์ วาดรูปใส่กรอบไปแขวนไว้ในโชว์รูมอีกด้วย
ความหลงใหลกลายเป็นสาเหตุให้คูนส์เลือกเรียนที่โรงเรียนศิลปะที่เมืองบัลติมอร์ ก่อนจะย้ายไปอยู่ชิคาโก้อีกปีหนึ่ง และในปี 1974 หลังจากคูนส์รู้มาจากแม่ว่าซัลบาดอร์ ดาลี (Salvador Dali) ศิลปินเซอร์เรียลลิสต์ในดวงใจ กำลังพักอยู่ที่โรงแรม St. Regis ในนิวยอร์ก เขาจึงต่อสายตรงไปที่โรงแรมแบบดื้อๆ บอกพนักงานว่าขอคุยกับมิสเตอร์ดาลี และทางโรงแรมก็บ้าจี้ต่อสายไปยังห้องของดาลีให้เขาซะงั้น!

คูนส์ในวัยเด็ก via sothebys.com

รูปของ Salvador Dali ถ่ายโดย Jeff Koons ตอนที่ทั้งสองได้เจอกันในปี 1974 via pinimg.com
ความบ้าบิ่น (หรืออาจเป็นความมุ่งมั่น) ทำให้ดาลีนัดพบกับคูนส์ ซึ่งสำหรับศิลปินผู้โด่งดังแล้ว มันอาจเป็นเรื่องเล็กน้อยมากที่จะนัดพบกับนักเรียนศิลปะไร้ชื่อเสียงสักคน แต่กับคูนส์ที่มีอายุเพียง 18 ปี ณ เวลานั้น ความใจดีของดาลีคือเรื่องยิ่งใหญ่และขับเคลื่อนให้เขาเป็นเจฟฟ์ คูนส์ผู้ยิ่งใหญ่ได้ทุกวันนี้
“ผมจำความรู้สึกนั้นได้ ความรู้สึกที่อยากจะเป็นหนึ่งเดียวกับงานศิลปะตลอดเวลา และความรู้สึกว่าผมก็ทำงานศิลปะได้! นั่นคือสิ่งที่ผมรู้สึกจากการที่ดาลีใช้เวลาไม่กี่นาทีคุยกับคนแปลกหน้าอย่างผม ผมว่าศิลปินเด็กๆ หลายคนอยากทำงานอาร์ตเหมือนกัน แต่พวกเขาไม่ได้อยากใช้เวลากับมันตลอดเวลา ถ้าคุณอยากทำจริงๆ คุณจะใช้เวลากับมันตลอด”
และนั่นคือสิ่งที่คูนส์ทำจริงๆ ระหว่างเรียน เขาใช้เวลาไปกับการทำงาน ทำงาน และก็ทำงาน ทั้งแข่งขันวาดภาพ และไปฝึกงานกับ Ed Paschke ศิลปินทรงอิทธิพลแห่งชิคาโก้ในยุคนั้น และเมื่อย้ายมานิวยอร์ก เขาก็ตรงดิ่งไปสมัครงานที่ The Metropolitan Museum of Art (MoMA) เพื่อจะฝังตัวอยู่ในโลกของศิลปะตลอดเวลาอย่างที่เขาอยาก

ผลงานของ Ed Paschke ศิลปินที่คูนส์เคยทำงานเป็นผู้ช่วย ช่วงนั้นหลังเลิกงาน Paschke จะพาคูนส์ไปเที่ยวกลางคืนตามบาร์โป๊ โชว์คนแคระ และร้านสัก ซึ่งเป็นส่วนผสมที่คูนส์เคยหยิบมาใช้ในงานเหมือนกัน via cloudfront.net
ที่ MoMA คูนส์ได้แรงบันดาลใจจากงาน Readymades ของมาร์เซล ดูชองป์ ที่เอาของธรรมดาๆ มาทำเป็นงานศิลป์ เขาจึงเริ่มแต่งองค์ทรงเครื่องด้วยประดับบ้าๆ บวมๆ อย่างการแขวนผ้ากันเปื้อนกระดาษแทนสร้อยคอ ผูกเนคไทซ้อนกันสองชิ้น หรือห้อยดอกไม้สูบลมที่เขาซื้อมาจากร้านของเล่น!
คอสตูมของคูนส์เป็นเรื่องขบขันของบรรดาเพื่อนร่วมงาน จนกระทั่งมีคณะจากรัสเซียมาเยี่ยมชมงาน เผื่อจะเป็นสปอนเซอร์นิทรรศการสักหนึ่งหรือสองชิ้น หัวหน้าเลยขอให้เขาหลบๆ ไปจะได้ไม่ทำให้คณะผู้มาเยือนเสียอารมณ์ คูนส์จึงยักย้ายเอาของเล่นสูบลมไปทำงานศิลปะในอพาร์ตเมนต์ของตัวเองแทน (เป็นเรื่องตลกที่ภายหลัง คูนส์กลับดังขึ้นมาและคนเหล่านี้นี่แหละคือผู้ที่จะซื้องานของเขา)
และจากการสร้างงานในอพาร์ตเมนต์ตัวเอง สัตว์และดอกไม้เป่าลมที่เคยเป็นเครื่องประดับถูกเอามาจัดวางกับแผ่นกระจก กลายเป็นคอลเล็กชั่นเดบิวต์สุดน่ารักของคูนส์ชื่อ Inflatables (1979) ตามมาด้วยคอลเล็กชั่น The New (1981) ที่เขาใช้เงินจากการขายของที่วอลล์ สตรีตซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าใหม่เอี่ยม เช่น เครื่องดูดฝุ่น เครื่องทำความสะอาดพรม มาจัดวางกับหลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ แทนความบริสุทธิ์ผุดผ่องตลอดกาล
งานนี้ทำให้ชื่อของคูนส์โผล่ขึ้นมาอยู่ในบทสนทนาของชุมชนศิลปะบ้าง แต่โชคร้ายที่ตลอดสองปี เครื่องใช้ไฟฟ้าแสนเวอร์จิ้นของเขาดันขายได้เพียงสองชิ้นเท่านั้น แถมคูนส์ยังพลาดโอกาสในการได้ทำสัญญากับดีลเลอร์ศิลปะรายใหญ่อย่าง Mary Boone ด้วย
เขาหอบความผิดหวังและถังแตกกลับไปอยู่กับพ่อแม่อีกครั้งและใช้ความพูดเก่งทำงานเป็นหัวคะแนนให้นักการเมืองที่ฟลอริด้า ก่อนหวนกลับมาทำงานหนักที่นิวยอร์กเพื่อเอาเงินไปทุ่มให้งานคอลเล็กชั่นใหม่ ที่จะเป็นครั้งแรกที่เขาได้แสดงงานเดี่ยว และจะเป็นจุดพลิกชีวิตศิลปินของคูนส์!

Inflatable Flower and Bunny (1979) via wnyc.org

ส่วนหนึ่งจากคอลเล็กชั่น The New via tate.org.uk
งานเซ็ตนั้นมีชื่อว่า Equilibrium (1985) และชิ้นงานชื่อ One Ball Total Equilibrium Tank ก็ได้กลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ทันทีที่คนเห็นมัน เพราะแม้เขาจะยังเล่นกับความธรรมดาด้วยการเอาลูกบาสเก็ตบอลมาจัดแสดง แต่ลูกบาสฯ ของคูนส์นั้นลอย (หรือจม) นิ่งอยู่กลางแทงก์น้ำพอดิบพอดี คล้ายทารกที่สงบนิ่งอยู่ในครรภ์มารดา เป็นภาวะที่คูนส์มองว่าสมดุลระหว่างความตายและการมีชีวิตอยู่ ซึ่งเป็นสภาวะชั่วคราว คล้ายกับการที่คูนส์ออกแบบ (ด้วยความช่วยเหลือจากนักวิทยาศาสตร์หลายคน) ให้ลูกบอลจมลงสู่ก้นแทงก์ภายในระยะเวลา 6 เดือนเท่านั้น

One Ball Total Equilibrium Tank (1985) via nymag.com
หลังจาก Equilibrium คูนส์ยังปล่อยงานชิ้นเด่นๆ จากของธรรมดาสามัญออกมาไม่เว้น อย่างรูปปั้น Popeye (2009-2011) ทำจากสเตนเลสเงาวับจนเห็นเงาสะท้อนของตัวเอง บรรดาห่วงยางและแพลอยน้ำรูปสัตว์ที่ถูกเอามาขึ้นรูปด้วยสเตนเลส เช่น Lobster (2003) และ Dogpool (Logs, 2003-2008) หรืองานที่แหวกออกไปเลยอย่าง Puppy (1992) รูปปั้นหมาขนาดยักษ์ที่ห่อหุ้มด้วยไม้ดอกบานสะพรั่งราวกับเป็นสวนขนาดใหญ่ ภายในมีระบบน้ำ ดิน ที่ทำให้ต้นไม้มีชีวิตอยู่ได้ตลอดช่วงแสดงงาน
หรือจะเป็นงานชุด Celebration (2008) ที่คูนส์เปลี่ยนของเล่นเด็กให้เป็นงานเพนท์ติ้งและประติมากรรมขนาดมหึมา ทั้ง Play-Doh รูปปั้นก้อนแป้งโด (แต่ทำจากอลูมิเนียม) ขนาดสูงท่วมหัว จำลองจากของเล่นที่ Ludwig ลูกชายคนโตของเขาเล่นเป๊ะๆ Cat on a Clothesline หรือรูปปั้นแมวในถุงเท้าสีสดใส และที่ขาดไม่ได้คือรูปปั้น Balloon Dog อันโด่งดังและกลายเป็นอีกหนึ่งภาพจำของคูนส์จนถึงทุกวันนี้

Puppy (1992) via guggenheim-bilbao.eus

Play-Doh และงานชิ้นอื่นๆ ในคอลเล็กชั่น Celebration via googleapis.com
กลับมาพูดเรื่องวอร์ฮอลกันอีกสักนิด แม้งานของทั้งคู่จะมีความป๊อปแบบสุดขั้ว และพูดเรื่องข้าวของรอบตัวคล้ายๆ กัน แต่งานของวอร์ฮอลนั้นเน้นล้อเลียนการผลิตแบบโรงงาน (mass produce) และการลดคุณภาพของสินค้าในโลกทุนนิยม ส่วนงานของคูนส์ยิ่งทำก็ยิ่งพัฒนาไปเป็นสินค้าหรูหรา ด้วยความสมบูรณ์แบบแม้กระทั่งในรายละเอียดที่เล็กที่สุด ใช้วัสดุคุณภาพสูง ผลิตจำนวนจำกัด และยังขายได้ราคาสูงโคตรๆ อีก
ถึงจะพูดว่าเป็นสินค้าหรูหรา แต่งานของคูนส์ก็ไม่ได้อยู่ในสถานะงานอาร์ตสูงส่งซักเท่าไหร่ อันที่จริง งานของคูนส์และตัวเขาเองได้รับเสียงก่นด่าที่นำมาซึ่งการตั้งคำถามเกี่ยวกับความหมายของศิลปะ ที่สั่นสะเทือนไปทั้งวงการ
และงานที่ฉาวโฉ่จนทำให้คูนส์โดนด่ามากที่สุดคงหนีไม่พ้นเซ็ต Made in Heaven (1991) ที่เขากับภรรยาในตอนนั้นคือ Ilona Staller ดาราหนังโป๊ชาวอิตาเลียน (ชื่อในวงการคือ Cicciolina) ทำคอลเล็กชั่นสยิวกิ้วเลียนแบบแพทเทิร์นของหนังโป๊ขึ้นมาด้วยกัน
ในคอลเล็กชั่นมีทั้งรูปเพนท์ติ้งคูนส์ขณะร่วมรักกับหญิงสาวแบบโจ๋งครึ่มสุดๆ รูปรูทวารของไอโลน่าที่คูนส์บอกว่ามีความหมายเหมือนรูปคลาสสิกของ Gustave Courbet ที่ชื่อ The Origin of the World นอกจากนี้เขายังทำรูปปั้นที่ปั้นตามคนทั้งคู่ และประติมากรรมจากแก้วเป็นรูปคู่รักกำลังประกอบกิจกรรมอย่างถึงพริกถึงขิงอีกด้วย งานนี้บางคนเลยก่นด่าว่านี่ไม่ใช่งานอาร์ตแต่มันคือหนังโป๊ดีๆ นี่เอง!

hyperallergic.com

cloudfront.net
อีกหนึ่งเรื่องที่ทำให้คูนส์โดนด่าอยู่เรื่อยๆ คือการเป็นศิลปินที่ไม่ทำงานเอง
เรื่องของเรื่องคือเขามีสตูดิโอขนาดใหญ่ มีลูกมือกว่าร้อยคนที่ช่วยกันทำงานให้เขาตามสั่งแบบเป๊ะๆ (เป็นที่รู้กันดีว่าคูนส์เป็นคนเนี้ยบและเป็น perfectionist อย่างถึงที่สุด) ทั้งวาดรูป ทำรูปปั้น ผสมสี และอื่นๆ แบบที่คูนส์ไม่ต้องลงไปแตะงานเองเลย จน Robert Hughes นักวิจารณ์ศิลปะที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับคูนส์ด่าว่าเขา “ไม่สามารถสลักชื่อตัวเองลงบนต้นไม้ได้ด้วยซ้ำ!”
เมื่อถูกถามเรื่องนี้บ่อยเข้า คูนส์จึงอธิบายนุ่มๆ ว่า “ผมสัมผัสงานเหล่านี้ด้วยวิธีที่ต่างออกไป ท้ายที่สุดแล้วผมก็เป็นคนคิดไอเดียทุกอย่างในชิ้นงาน ระบบที่ซ่อนอยู่ และทุกๆ รอยในภาพวาด และแม้ว่าคนอื่นจะเป็นคนลงสี แต่นั่นก็เป็นวิธีเดียวกับที่ผมจะทำเองเป๊ะๆ ด้วยสีที่ผมเลือกไว้ และวิธีระบายที่ผมกำกับเอง ดังนั้นทุกงานก็คือส่วนหนึ่งของผมที่เกิดจากการขยับนิ้วแค่นั้นเอง”
พอมาคิดดู งานของคูนส์ยังยากจะเกิดขึ้นได้ด้วยคนๆ เดียว เพราะงานที่เขาต้องการจะทำนั้นมีเยอะมาก (แค่เซ็ตประติมากรรมรูปลูกโป่งก็มากมายแล้ว) แถมงานหลายชิ้นก็ยังอาศัยความรู้เรื่องเทคโนโลยี อย่างการสแกนข้าวของแล้วขึ้นรูปสามมิติในคอมพิวเตอร์ ก่อนนำมาแปลงเป็นชิ้นงาน ซึ่งถ้าให้ทำคนเดียวก็ไม่รู้ว่าต้องใช้เวลานานแค่ไหนถึงจะทำสำเร็จขึ้นมาสักคอลเล็กชั่น
นอกจากเรื่องนี้ ฝ่ายคนที่เกลียดคูนส์ก็ยังไม่จบเรื่อง ไหนจะคนที่บอกว่างานของคูนส์เป็นแค่ของโหลๆ ที่เอามาขยายให้ใหญ่จนดูน่าเกรงขามเท่านั้น อย่างรูปปั้นหมีกับตำรวจที่เขาหยิบเอาของฝากทั่วไปมาขยายขนาดจนดูเวียร์ด บางคนก็บอกว่าคูนส์เป็นพวกเหยียดผู้หญิง จากรูปปั้นทะลึ่งๆ ของเขาหลายๆ อัน โดยเฉพาะรูปปั้นผู้หญิงไร้หน้า นั่งปิดหน้าอกอยู่ในอ่างอาบน้ำ และอีกส่วนก็ก่นด่าว่าเขากำลังซ้ำรอยตัวเองด้วยการทำงานบอลลูนซ้ำแล้วซ้ำอีกอยู่ได้!

คูนส์กับลูกมือของเขาในสตูดิโอ via artmarketmonitor.com

controverses.sciences-po.fr
ถึงอย่างนั้น ไม่ว่าคุณจะรักหรือเกลียดคูนส์ ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่างานของเขามีสเน่ห์บางอย่างที่ดึงดูดให้คนเข้าหา ไม่ว่าคุณจะไปยืนส่องหน้าตัวเองบนพื้นผิวรูปปั้นเฉยๆ ตั้งใจถอดรหัสกฏฟิสิกส์เบื้องหลังลูกบาสที่ลอยอยู่กลางมวลน้ำ หรือแค่ไปถ่ายรูปคู่ก็ตาม
และเอาเข้าจริง ถึงคุณจะออกปากสาปแช่ง เขาก็ไม่น่าจะว่าอะไร เพราะศิลปินใหญ่คนนี้เชื่อมั่นและย้ำในบทสัมภาษณ์เสมอว่า ‘Art is in the eye of the beholder.’ หรืองานนั้นจะเป็นศิลปะหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับสายตาของคนมอง เขาถึงตั้งใจเอาข้าวของธรรมดาๆ มาขยายใหญ่ และเคลือบพื้นผิวงานหลายชิ้นจนเงาวาวเป็นกระจก เพื่อให้คนได้มองเห็นตัวเอง และลองสำรวจลึกลงไปในใจของตน
“สิ่งหนึ่งที่ผมภูมิใจมากที่สุดคือการสร้างผลงานที่ให้คนดูไม่รู้สึกกลัวงานศิลปะ แต่รู้สึกว่าพวกเขาสามารถมีส่วนร่วมกับมันได้เต็มที่ผ่านประสาทสัมผัสและสติปัญญา เหมือนได้ใช้งานของผมเป็นฐานเหยียบเพื่อยกตัวพวกเขาให้สูงยิ่งๆ ขึ้นไป” คูนส์ว่า
“ทุกอย่างมันขึ้นอยู่กับคุณ เมื่อไรที่คุณขยับ เมื่อนั้นความหมายถึงจะเกิดขึ้น แต่ถ้าคุณอยู่เฉยๆ มันก็ไม่มีความหมายอะไร ทุกอย่างมันเกิดขึ้นภายในใจของคุณ งานของผมก็เป็นแค่เครื่องมือเท่านั้น”