ชุดกระโปรงสีสดสวย ดอกไม้ที่เบ่งบานบนศีรษะ คิ้วสีดำหนาและยาวต่อกันเป็นเส้นเดียว ใช่แล้ว—เรากำลังพูดถึง Frida Kahlo จิตรกรหญิงที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดคนหนึ่งในโลก
ผู้คนมากมายรู้จักฟรีดาจากภาพจำดังกล่าวซึ่งแพร่หลายทั่วไปในป๊อปคัลเจอร์และโลกอินเทอร์เน็ต เด็กสาวเห็นเธอเป็นสไตล์ไอคอน เฟมินิสต์บางสายยกย่องเธอเป็นผู้นำทางความคิด จิตรกรฝึกหัดนับถือเธอเป็นบรมครู
เช่นเดียวกับผู้ล่วงลับหลายคนก่อนหน้าเธอ ฟรีดาเป็นอะไรก็ตามที่คนรุ่นหลังแต่งตั้งให้เธอเป็น แต่ในโอกาสนี้เราอยากชวนมาทำความรู้จักฟรีดาผ่านสายตาของเธอเอง นั่นก็คือผ่านภาพวาดเซลฟ์พอทเทรต ที่เธอวาดเอาไว้มากถึง 55 รูป (จากรูปวาดทั้งหมด 143 รูป) ตลอด 47 ปีที่หายใจ
“ฉันวาดรูปตัวเองเพราะว่าฉันมักอยู่คนเดียวและเพราะว่าฉันรู้จักตัวเองดีที่สุด” เธอเคยกล่าวเอาไว้อย่างนั้น
ซึ่งเป็นจริงดังว่า เพราะฟรีดาเริ่มต้นวาดรูปอย่างจริงจังตอนอายุ 18 ปี ช่วงที่เธอพักฟื้นจากอุบัติเหตุรถเมล์ชนกับรถราง ตอนนั้นเธอเคลื่อนไหวร่างกายช่วงล่างไม่ได้และต้องสวมเฝือกเกือบทั้งตัวเพื่อพยุงกระดูกที่แตกหักและแหลกสลาย เธอต้องใช้เวลาอยู่บนเตียงทั้งวัน พ่อจึงมอบอุปกรณ์วาดรูปให้เธอ
ฟรีดาให้คนติดกระจกไว้เหนือเตียง แล้วเริ่มต้นวาดภาพตัวเองเพื่อคลายความเบื่อหน่ายและบำบัดจิตใจ จากนั้น เธอก็ไม่เคยวางมือจากพู่กันได้อีกเลย
และต่อไปนี้คือผลงานที่สร้างสรรค์ด้วยความรักและความร้าวร้านตลอดชีวิตของผู้หญิงชาวเม็กซิกันคนหนึ่ง
1. Self Portrait in a Velvet Dress, 1926
ขณะเกิดอุบัติเหตุ ฟรีดานั่งอยู่บนรถเมล์กับแฟนหนุ่ม Alejandro Gómez Arias ซึ่งเป็นเขานี่เองที่ดึงเหล็กแหลมออกจากช่องท้องของเธอแล้วอุ้มเธอขึ้นมาจากซากปรักหักพังทั้งหลาย
ฟังดูเป็นจุดเริ่มต้นของความรักตราบชั่วนิรันดร์ แต่เปล่าเลย แม้จะผ่านเหตุการณ์เลวร้ายมาด้วยกัน ก็ไม่ได้หมายความว่าความสัมพันธ์จะไม่ระหองระแหง ระหว่างพักฟื้น ฟรีดาจึงวาดรูป Self Portrait in a Velvet Dress แล้วส่งไปง้องอนคนรัก ซึ่งก็สำเร็จด้วยดี แต่ทั้งคู่กลับมาดีกันได้เพียงไม่นาน พ่อแม่ของอเลฮานโดรก็เข้ามาแทรกแซงความสัมพันธ์ด้วยส่งชายหนุ่มไปอยู่ยุโรป
ครั้งหนึ่งฟรีดาส่งจดหมายไปหาคนรัก โดยมีประโยคหนึ่งกล่าวว่า “คุณไม่อาจจินตนาการได้หรอก ว่าการรอคอยคุณอย่างสงบเงียบดั่งในภาพวาดนั้นวิเศษเพียงไร” แต่สุดท้ายความวิเศษคงเหือดหายไปในที่สุด เพราะตั้งแต่นั้นทั้งคู่ไม่ได้เจอกันอีกเลย
2. Frida and Diego Rivera, 1931
ในปี 1929 ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากครอบครัว ฟรีดาแต่งงานกับ Diego Riviera จิตรกรชื่อดังผู้แก่กว่าเธอถึง 21 ปีและเป็นสหายคอมมิวนิสต์แนวหน้าในเม็กซิโกซิตี้
ดิเอโกมีอิทธิผลอย่างมากกับหัวใจ ความรู้สึก ผลงาน และแม้กระทั่งการแต่งกายของฟรีดา อย่างเช่นในรูป Frida and Diego Rivera ที่จิตกรสาววาดขึ้นระหว่างติดตามดิเอโกไปทำงานที่ซานฟรานซิสโก เธอวาดภาพตัวเองเป็นเพียง ‘ภรรยาของศิลปิน’ ไม่ใช่ ‘ศิลปิน’ เพราะในขณะที่ดิเอโกยืนถือจานสีและพู่กัน เธอเพียงจับมือเขาเอาไว้และแต่งกายด้วยชุดกระโปรงพื้นเมืองเม็กซิกันแบบที่สามีชาตินิยมชมชอบ จากเดิมที่เคยสวมใส่ชุดสากลตามสมัยนิยม (นึกภาพชุดในช่วงใกล้ๆ กับ The Great Gatsby)
3. Henry Ford Hospital, 1932
ภาพนี้ตั้งชื่อตามโรงพยาบาลในดีทรอยต์ที่ฟรีดาเข้ารักษาตัวหลังจากแท้งลูกเป็นครั้งที่สอง โดยเธอวาดตัวเองนอนเปลือยเปล่าและเลือดอาบอยู่บนเตียง ร่างกายส่วนบนหันหน้ามาทางผู้ชม แต่ร่างกายส่วนล่างบิดเบี้ยวไปอีกทาง รอบตัวฟรีดามีสัญลักษณ์ต่างๆ ลอยอยู่ เช่น ตัวอ่อนทารก แทนลูกที่เธอไม่อาจมี และดอกกล้วยไม้แทนช่องคลอด สื่อให้เห็นความเจ็บปวดทั้งร่างกายและจิตใจที่เธอต้องเผชิญ
4. Memory, the Heart, 1937
ฟรีดาเคยกล่าวไว้ว่า “ฉันต้องทุกข์ทนกับอุบัติเหตุร้ายแรงถึงสองครั้งสองครา ครั้งหนึ่งคือตอนที่รถรางแล่นทับฉัน… ส่วนอีกครั้งคือตอนที่พบดิเอโก”
ไม่แปลกที่เธอจะพูดเช่นนั้น เพราะแม้ว่าฟรีดาและดิเอโกจะรักกันมากอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ก็ทำร้ายกันและกันมากไม่ต่าง ชื่อเสียงดิเอโกเลื่องลือในฐานะเสือผู้หญิงตั้งแต่ก่อนแต่งงานกับฟรีดา และหลังจากแต่งงานแล้วเขาก็ยังคงคบชู้อยู่เรื่อยๆ ในขณะที่ฟรีดาเองก็มีชู้รักหลายคนเหมือนกัน
แต่การนอกใจครั้งไหนๆ ของดิเอโกก็ไม่ทำให้ฟรีดาเจ็บปวดเท่าครั้งที่เขาไปมีอะไรกับคริสติน่า น้องสาวแท้ๆ ของฟรีดาเอง จนทำให้ภาพนี้ถูกวาดขึ้นมา โดยในรูปจะเห็นว่าน้ำตาไหลอาบหน้าของหญิงสาว ส่วนเลือดของเธอก็กำลังไหลจากหัวใจที่อยู่แทบเท้า ภาพนี้จึงบอกเล่าความปวดร้าวในใจของเธอได้โดยไม่ต้องใช้คำบรรยายอื่นใดเลย
5. Fulang-Chang and I, 1937
คราวนี้ฟรีดาวาดรูปตัวเองกับ Fulang-Chang ลิงที่เธอได้รับจากดิเอโก หลายคนเชื่อว่าลิงเป็นตัวแทนของลูกที่เธอและสามีไม่สามารถมีได้ แต่จะมีความหมายเช่นนั้นจริงหรือไม่ คงมีแต่เขาและเธอเท่านั้นที่จะยืนยัน
ภาพนี้ถูกจัดแสดงครั้งแรกที่ Julien Levy Galley ที่นิวยอร์กในปี 1938 โดยผู้นำกลุ่มเซอร์เรียลลิสม์ Andre Bretom ได้มาเยี่ยมชมและเขียนความเรียงยกย่องให้ฟรีดาเป็นหนึ่งในศิลปินเซอร์เรียลลิสม์ ซึ่งเธอขอบคุณที่เขาชื่นชม แต่ปฏิเสธว่าตนเองไม่ใช่ศิลปินเซอร์เรียลลิสม์
“…ฉันไม่เคยวาดภาพความฝัน” ฟรีดาเอ่ยถึงแนวคิดการสร้างสรรค์งานของกลุ่มเซอร์เรียลลิสม์ ที่อ้างอิงจากความฝันและจิตใต้สำนึก
“ฉันวาดภาพความเป็นจริงของตัวเอง” เธอกล่าว…
6. The Two Fridas, 1939
ฟรีดาวาดภาพนี้หลังจากหย่าขาดจากดิเอโกและกลับไปอยู่ที่เม็กซิโกแล้ว (แต่ทั้งคู่ก็แต่งงานกันใหม่อีกครั้ง โดยแยกกันอยู่คนละบ้าน) โดยภาพนี้สื่อให้เห็นตัวตนที่ขัดแย้งของเธอ ฟรีดาคนหนึ่งสวมเสื้อผ้าแบบสากล ส่วนอีกคนสวมเสื้อผ้าพื้นเมืองแบบที่ดิเอโกชอบ โดยเราสามารถเห็นหัวใจของฟรีดาทั้งสองได้อย่างชัดเจน
The Two Fridas เป็นหนึ่งในผลงานที่โด่งดังที่สุดของเธอ โดยตั้งแต่ปี 1939 ไปจนถึง 1949 เป็นช่วงที่จิตรกรสาวสร้างสรรค์ผลงานออกมาเยอะที่สุด ทำให้เธอเป็นที่รู้จักทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ และสามารถหาเงินเลี้ยงดูตัวเองได้โดยไม่ต้องพึ่งพาดิเอโก ทำให้ฟรีดาไม่ใช่เพียง ‘ภรรยาของศิลปิน’ อีกต่อไป แต่เธอเองก็เป็น ‘ศิลปิน’ อย่างเต็มภาคภูมิ
7. Self-Portrait as a Tehuana, 1943
ภาพนี้เป็นที่รู้จักในอีกชื่อว่า Diego On My Mind เพราะฟรีดาวาดรูปหน้าคนรักของเธอไว้บนหน้าผาก เปรียบดังความคิดคำนึงของเธอที่มีดิเอโกอยู่ในนั้นตลอด ในรูปเธอกำลังสวมตีฮัวนา (Tehuana) ชุดพื้นเมืองแบบที่เขาชอบนักหนา
แม้จะคิดถึงดิเอโก แต่ฟรีดาเองก็รู้อยู่แก่ใจว่าเธอไม่อาจเป็นเจ้าของเขาได้เด็ดขาด โดยเธอเองเคยเขียนข้อความเอาไว้ว่า “ดิเอโกไม่เคยและจะไม่มีวันเป็นสามีของใคร”
8. The Broken Column, 1944
9. The Wounded Deer, 1946
ในช่วงปี 1940s สุขภาพของฟรีดาทรุดลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะบริเวณกระดูกสันหลังที่เจ็บปวดอย่างแสนสาหัส ช่วงแรกเธอจึงต้องใส่คอร์เซ็ตที่ช่วยพยุงหลังถึง 28 ชิ้น บ้างทำจากเหล็ก ปลาสเตอร์ หรือหนัง แต่เมื่อไม่ดีขึ้น เธอต้องเข้าผ่าตัดเพื่อใส่เหล็กเข้าไปดามกระดูกสันหลังเพื่อช่วยให้เธอทรงตัวได้ ซึ่งเธอต้องผ่าตัดใส่เหล็กเช่นนี้ถึงสองครั้ง (ว่ากันว่าตลอดชีวิตฟรีดาเข้าผ่าตัดมากถึง 30 ครั้ง)
นอกจากปัญหาเรื่องกระดูกสันหลังแล้ว ฟรีดายังมีปัญหาสุขภาพอื่นๆ อีกมาก ทั้งอาการติดเชื้อที่มือ โรคซิฟิลิส และความเจ็บปวดที่ขาทั้งสองข้าง อีกทั้งการเสียชีวิตของพ่อในปี 1941 ยังทำให้เธอตกอยู่ในหลุมของโรคซึมเศร้า เมื่อเป็นเช่นนี้เธอจึงอยู่ติดบ้านมากขึ้น และสร้างสรรค์ผลงานออกมาอย่างต่อเนื่อง
โดยภาพ The Broken Column และ The Wounded Deer ได้บอกเล่าความเจ็บปวดและทุกข์ทรมานทั้งทางร่างกายและจิตใจที่ฟรีดาต้องประสบ ไม่ใช่แค่ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่เรียกได้ว่าชั่วชีวิตของเธอก็ว่าได้
ในช่วงบั้นปลายของชีวิต ฟรีด้าอุทิศตนให้กับอุดมการณ์ทางการเมืองเท่าที่สุขภาพจะเอื้ออำนวย เธอมักวาดภาพนิ่ง (still-life) ของสิ่งของที่แฝงนัยคอมมิวนิสต์ และออกไปร่วมเดินขบวนบ้างเป็นครั้งคราว
รูปลำดับท้ายสุดของฟรีดาคือ Viva La Vida, 1954 เป็นภาพวาดแตงโมซึ่งหมายถึง Day of the Dead ตามวัฒนธรรมเม็กซิกัน ระหว่างที่วาดภาพนี้ ฟรีดาสูญเสียขาข้างขวาจากอาการเนื้อตายเน่า (Gangrene) และกำลังทรมานจากโรคปอดบวม เธอเขียนในไดอารี่ไว้ว่า “ฉันรอการจากไปอย่างเปี่ยมสุข และหวังว่าจะไม่กลับมาอีก”
แต่ถึงอย่างนั้น 8 วันก่อนที่เธอจะเสียชีวิตอย่างปริศนา (บ้างว่าเธอสิ้นลมเพราะโรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด บ้างว่าเธอจงใจฆ่าตัวตายโดยการกินยาเกินขนาด—ไม่เคยมีการชันสูตรศพเกิดขึ้น) ฟรีดาได้เขียนข้อความว่า ‘Viva La Vida’ หรือ ‘ชีวิตจงเจริญ’ ลงไปบนภาพวาดแตงโมสีแดงสดซึ่งเป็นผลไม้ของคนตาย
เช่นนี้เราอาจสรุปได้ว่า ศิลปินผู้ร้าวร้านจากรักและร่างกายมาตลอดชีวิตอย่างฟรีดา คาห์โล ก็ยังคงรักในชีวิตที่ได้เกิดมา จนถึงวันตายของตน และด้วยความรักเช่นนั้นเอง ภาพของเธอจึงเต็มเปี่ยมไปด้วย ‘ชีวิต’ อย่างที่คนค่อนโลกยังคงตกหลุมรักงานของเธออยู่เสมอ
อ้างอิง