ไม่ได้ทำแค่งานออกแบบ แต่ยังลามไปถึงการรีเสิร์ช หากลุ่มลูกค้า (ให้ลูกค้าอีกที) คุมงานก่อสร้าง แถมยังช่วยพีอาร์อีกด้วย!
หากพูดถึงอาชีพ Design Consultant หรือที่ปรึกษาด้านการดีไซน์ หลายคนอาจนึกภาพอาชีพนี้ได้ไม่ไกลเกินกว่าภาพสถาปนิกที่ทำงานออกแบบทั่วไป แต่ ปรางค์ — ปรางค์ชมพู กูลพฤกษี หญิงสาวผู้ทำงานเป็น Design Consultant ตัวจริงกลับบอกเราว่าคนที่จะทำงานแบบนี้ได้ต้องไม่หยุดแค่การดีไซน์แต่ต้องก้าวไปทำงานอื่นๆ เพื่อเสริมธุรกิจของลูกค้าเช่นกัน
จากนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สู่การทำงานตำแหน่ง Project Development ให้บริษัทอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่ ก่อนก้าวมาเป็นเจ้าของบริษัทของตัวเองด้วยวัยไม่ถึง 30 ปี ปรางค์เล่าการทำงานให้เราฟังแบบไม่มีกั๊ก ทั้งการเจอลูกค้าที่งงๆ ว่าหน้าที่ Design Consultant คืออะไร ลูกค้าที่ยังตามหากลุ่มลูกค้าที่ใช่ของตนไม่เจอ หรือลูกค้าที่ดีต่อใจชนิดที่ส่งมอบงานไปแล้วยังมีสัมพันธ์ที่ดีอย่างยั่งยืนอยู่
หรือหากคุณเองก็ยังแอบสงสัยอยู่ว่าสรุปแล้วอาชีพนี้เขาทำงานยังไงกันแน่ก็เชิญไปฟังเธอพูดไปพร้อมๆ กันเลย
Life MATTERs : ย้อนกลับไปก่อนจะเปิดบริษัทของตัวเองอย่างทุกวันนี้คุณเคยทำอะไรมาก่อน
ปรางค์ : เมื่อก่อนปรางค์ทำบริษัทอสังหาริมทรัพย์ ตำแหน่ง PD คือ Project Development ปรางค์ทำอยู่ที่บริษัท Magnolia พฤกษา ที่ล่าสุดนี่คืออนันดา PD มีหน้าที่แทนเจ้าของ สมมติว่าเจ้าของอยากจะสร้างโปรเจกต์สักโปรเจกต์หนึ่ง ปรางค์มีหน้าที่ดูว่าคอนเซปต์ควรจะเป็นอะไร เอาข้อมูลจาก marketing research มาดูว่ากลุ่มลูกค้าตรงนี้กับโลเคชั่นนี้เราจะขายยังไง หน้าตาจะเป็นยังไง อยู่ในเมืองห้องควรจะใหญ่หรือควรจะเล็ก ก็จะเป็นการทำงานร่วมกับแผนกมาร์เก็ตติ้ง อีกหน้าที่ของ PD คือการดูแลให้โครงการเสร็จไปตามเวลา ตามแบบ แล้วก็ตามต้นทุน เรียกว่าดูแลทั้งโครงการตั้งแต่ต้นยันจบ
พอทำมาสามปีก็รู้สึกว่าอยากทำเองแล้วก็เลยออกมาเปิดบริษัทชื่อว่า PRE Sustainable Consultancy เราเรียกตัวเองว่าเป็น design consultant ไม่เรียกตัวเองว่าเป็น designer นะ design consultant คือให้คำปรึกษาเรื่องการออกแบบทั้งหมด ส่วนใหญ่เวลาเราบอกลูกค้าว่าเราทำ design consultant ลูกค้าจะไม่เข้าใจว่ามันคืออะไร คุณให้คำปรึกษาเรื่องอะไร เรื่องออกแบบเหรอ ก็ใช่ อันนั้นเป็นส่วนหนึ่ง
ส่วนเรื่องให้คำปรึกษาอื่นๆ ก็จะมีหลายสเกลตั้งแต่บ้านไปจนถึงรีเทล (retail) สมมติว่าลูกค้าอยากให้ออกแบบร้านค้าให้ใหม่ หรือพื้นที่ส่วนกลางของห้างหรืออะไรก็แล้วแต่เราก็จะรีเสิร์ชให้ว่ากลุ่มลูกค้าเขาเป็นใคร ควรใช้พื้นที่แบบไหน
Life MATTERs : งานส่วนใหญ่ที่บริษัทของคุณได้ทำคืออะไร
ปรางค์ : มีหลายๆ แบบเลย อย่างช่วงแรกจะเป็นงาน interior ก่อนเพราะว่าเป็นสิ่งที่ง่ายสุดที่ลูกค้าจะนึกออกว่าการที่สถาปนิกสักคนจะตั้งบริษัทขึ้นมาเขาต้องทำงานออกแบบได้แน่ เขาก็จะวิ่งมาด้วยการบอกว่า “ออกแบบภายในให้หน่อยค่ะ” ส่วนถ้าไม่ใช่การออกแบบบ้านแต่เป็นงาน commercial เราก็จะแนะนำว่าคุณมีกลุ่มลูกค้าหรือยัง คุณมีโลโก้ คุณมี CI (Corporate Identity) หรือยัง ถ้ายังเราก็ช่วยทำให้ พอทำ CI เสร็จแล้ว ทำ interior เสร็จแล้ว มาถึงการสร้าง ลูกค้าทุกคนมีปัญหาเพราะลูกค้าที่มาหาเราจะเป็นขนาดเล็กกับขนาดกลาง เขาก็จะมาแบบ “ร้านนี้เป็นร้านแรกของฉันเลย” “บ้านนี้เป็นบ้านหลังแรกของฉันเลยที่จะรีโนเวต” เขาไม่รู้เรื่องการก่อสร้างแน่นอน ไม่รู้ว่าจะซื้อกระเบื้องยังไง ถูกหรือแพง ไม่รู้จะหาช่างที่ไหน ไว้ใจได้หรือเปล่า อันนี้คือหน้าที่ของเราที่จะช่วยเทคแคร์ต่อ
งานตัวที่สองก็จะเป็นการรีเสิร์ช สมมติว่ามีที่อยู่หนึ่งที่ที่ไม่รู้จะเอาไปทำอะไร เราก็จะช่วยหาแพคเกจให้ว่าตรงนี้มันพอจะเป็นอะไรได้บ้าง ออพชั่น 1 2 3 คุณอยากทำอะไร หลักๆ ก็จะมีงานสองแบบนี้
Life MATTERs : ส่วนมากลูกค้าที่เข้ามาหาคุณมักจะมีปัญหาอะไรมากที่สุด
ปรางค์ : เจอบ่อยสุดคือลูกค้าไม่รู้ว่าตัวเองจะทำอะไร สมมติว่าลูกค้าที่เป็นร้านอาหารหรือผู้ประกอบการสักเจ้าเดินมาด้วยการ “อยากจะทำร้านอาหารค่ะ” “อยากจะทำโรงเรียนสอนภาษาค่ะ” แต่พอปรางค์ถามกลับไปว่ากลุ่มลูกค้าคือใคร ยังไม่รู้ ถ้าคุณไม่รู้ว่าคุณจะขายใคร การดีไซน์พื้นที่หรือการดีไซน์การสื่อสารนี่มันยากมากแล้วก็สิ้นเปลืองทั้งเงิน เปลืองทั้งเวลา เราก็จะพยายามมาจูนกัน ช่วยเขาหากลุ่มลูกค้าก่อน ช่วยคิดว่าถ้าธุรกิจเป็นคน คนนี้จะเป็นผู้หญิงหรือเป็นผู้ชาย ไอ้ร้านอาหารสักร้านหนึ่งเนี่ยจะเป็นผู้หญิงวัยรุ่นหรือจะเป็นผู้ชายวัยกลางคนเพื่อที่จะทำให้เขามีเครื่องมือในการไปสื่อสารกับกลุ่มลูกค้าของตัวเองได้ดีขึ้นแล้วหน้าที่นี้คือพยายามทำให้จุดประสงค์ของลูกค้าชัดเจนเป็นรูปเป็นร่าง
Life MATTERs : ตัวคุณเองมีวิธีหาข้อมูลยังไงว่าร้านไหนเหมาะกับคนกลุ่มไหนหรือสร้างคาแรคเตอร์ของร้านยังไง
ปรางค์ : ส่วนใหญ่เราจะไปสังเกตการณ์ อันนี้เป็นพื้นฐานของการทำรีเสิร์ชทุกอย่าง เราจะไปสังเกตการณ์ก่อนว่าโลเคชั่นตรงนั้นมีลูกค้ากลุ่มไหน เป็นกลุ่มพนักงานออฟฟิศหรือว่ากลุ่มครอบครัว ใช้เวลาช่วงไหนเพราะว่าพนักงานออฟฟิศก็ใช้เวลาคนละเวลากับครอบครัวนะ มันจะทำให้เรามองแล้วว่าตรงนี้ขายตอนกลางวันได้ดี ตรงนี้ขายตอนเย็นได้ดี วิธีการที่สำคัญที่สุดก็คือการไปนั่งดูเยอะๆ ดูหลายๆ ครั้ง แล้วก็สอบถามจากคนแถวนั้น มันอาจจะไม่ใช่แบบสอบถามจริงจัง อาจจะแค่เราไปนั่งร้านกาแฟแถวนั้นแล้วเราก็ไปแอบคุยกับคนทั่วไปว่า เอ๊ะ ทานข้าวที่ไหน ปกติทานอะไร ถ้าขับไปอีกสักชั่วโมงหนึ่งจะขับไปมั้ยคะ หรือถ้ามีร้านมาเปิดแถวนี้จะโอเคมั้ย อยากจะเป็นร้านอะไร ถ้าปิ้งย่างดีมั้ย หรือถ้าเป็นร้านอาหารแบบ fine dining จะนั่งมั้ย มีหลายวิธีค่ะ
Life MATTERs : พูดถึงเรื่องทำเล มันสำคัญมากมั้ยสำหรับการจะสร้างร้านๆ หนึ่งขึ้นมา
ปรางค์ : ที่จอดรถส่งผล คือปรางค์มองว่าทำเลเนี่ยถึงจะเข้ายากยังไงแต่ร้านมีลูกค้าประจำหรือมีกลุ่มลูกค้าที่แน่นอนก็ขายได้ แต่ถ้าที่จอดรถลำบากก็ขายได้ยาก มันจะมีร้านที่ศรีราชา ชื่อ Pitta House มันไปยากมาก ไกลมาก แล้วเข้าไปอยู่ในโซนที่ลึกมากและไม่มีอะไรเลยมีแต่ป่าสองข้างทางแต่คนไปเยอะมาก วันเสาร์อาทิตย์หรือว่าวันหยุดคือเข้าไปนั่งเลยไม่ได้อะ ต้องรอ แต่เขามีที่จอดรถและเซอร์วิสดี หลายๆ ครั้งปรางค์ก็ไปร้านอาหารที่มันไปยากนะ แต่บางร้านที่หาจอดรถยากอันนี้แหละปัญหา
Life MATTERs : คุณมองว่างานสถาปัตยกรรมส่งผลต่อคนมากน้อยแค่ไหน
ปรางค์ : มันเหมือนเราอยู่ในห้องสักห้องที่บ้านมันจะมีที่ที่เราโปรดเป็นพิเศษ ถูกมั้ย ที่ที่ทุกครั้งที่เข้าบ้านฉันจะต้องนั่งโซฟามุมนี้ อาจจะเพราะแค่โซฟาตัวนี้มันนิ่ม แสงตรงนี้มันสว่างพอดี หรือเราอาจจะมีห้องสักห้องที่ไม่ค่อยชอบเข้าไปเลยเพราะว่ามันมืด มันร้อน คือบรรยากาศหรือการตกแต่งภายในหรือสถาปัตยกรรมมันส่งผลต่อความรู้สึกของคนที่เข้าไปอยู่ตรงนั้นแน่นอนอยู่แล้วแค่บางคนอาจจะไม่รู้ มันเหมือนเราไม่ชอบเข้าไปที่อาคารราชการเลยเพราะว่ามันแข็ง ดูไม่เป็นมิตรกับเราเลย แต่เราชอบจะไปคาเฟ่ที่ใช้ไม้ เล็กๆ ไม่ต้องใหญ่ คนไม่ต้องเยอะ นั่นเพราะว่าตัวอาคารหรือตัวสถาปัตยกรรมภายในมันส่งผลกับเราโดยตรง
Life MATTERs : ในฐานะที่เป็นสถาปนิก คุณมองเทรนด์อสังหาริมทรัพย์ในปัจจุบันของบ้านเราเป็นยังไง
ปรางค์ : ปรางค์มองว่าเทรนด์ของอสังหาฯมันไม่ได้อยู่ที่ตัวรูปร่างหน้าตาของสถาปัตยกรรมหรอกเพราะรูปร่างหน้าตาของสถาปัตยกรรมมันถูกกำหนดด้วยความชอบของคน ผู้ประกอบการ A ชอบแบบคลาสสิก ผู้ประกอบการ B ชอบแบบโมเดิร์น มันก็ไม่มีทางหรอกที่มันจะออกมาเป็นอย่างอื่นได้ อันนั้นน่ะมันเป็นความชอบของผู้ลงทุนแต่สิ่งที่เป็นเทรนด์ที่พอจะเห็นได้ชัดเจนคือฟังก์ชั่นของการใช้งาน ของพื้นที่ ทำไมเซ็นทรัลเปลี่ยนมาทำพื้นที่เอาต์ดอร์มากขึ้นเพราะคนไปห้างไม่ได้ไปเพื่อจะไปซื้อของอย่างเดียวแล้ว คนไปห้างไปเพื่อพาหมาไปวิ่งเล่น เมื่อก่อนคอมมิวนิตี้มอลล์มันจะไม่ใช่สเกลนี้ การพาหมาไปวิ่ง ไปนั่งทานกาแฟ ไปนั่งอ่านหนังสือมันจะไม่ใช่สเกลของห้าง มันจะเป็นสเกลของอเวนิวตามทองหล่อ ตามอารีย์ วิลล่าต่างๆ ตอนนี้ห้างเริ่มใช้ฟังก์ชันนี้เข้ามาเพื่อช่วยสร้างสังคมให้คนมาใช้ชีวิต แล้วนอกเหนือจากนั้นการจับจ่ายเดี๋ยวตามมาเอง
ถ้าเป็นรูปลักษณ์ของสถาปัตยกรรมเลยหรือเป็นสไตล์ ปรางค์มองว่ามันไม่มีเทรนด์แล้วแหละตอนนี้ อย่างที่เราจะเห็นว่าคาเฟ่ที่ต่างๆ มันมีหลายสไตล์มาก อยู่ๆ เมดิเตอเรเนียนก็มา อยู่ๆ โซนไหนก็มาหมด มันอยู่ที่ความชอบ ความเห็นส่วนตัวคือมองว่าอยู่ที่การใช้งานที่สำคัญที่สุด สำคัญกว่ารูปร่างหน้าตา มันถึงได้โยงกลับมาว่าทำไมการรีเสิร์ชลูกค้าถึงสำคัญ ทำไมถึงต้องมี design consultant เพราะมันไม่ใช่แค่การออกแบบแต่มันเป็นการทำให้ธุรกิจยั่งยืนด้วยข้อมูลต่างๆ ข้อมูลของลูกค้า คือการออกแบบมันออกมาด้วยความชอบของใครสักคนอาจจะสัก 50 หรือ 60 เปอร์เซ็นต์แต่นอกจากนั้นคุณต้องรู้ด้วยว่าดีไซน์ไปแล้วใครใช้ แล้วมันถูกกันไหม มันถูกกับกลุ่มลูกค้านี้หรือเปล่า
Life MATTERs : แล้วเรื่องการที่คนมักจะถ่ายรูปทุกที่ที่ไปลงไอจี เทรนด์นี้ส่งผลต่อผู้ประกอบการมากมั้ย
ปรางค์ : มากค่ะ ไม่ใช่แค่การถ่ายรูปสถานที่นะ ตอนนี้ปรางค์เชื่อว่าโซเชียลมีเดียเป็นตัวขายงานในหลายๆ ตลาด ทั้งตลาดสถาปัตยกรรม ตลาดดารานางแบบ ตลาดสินค้าเสื้อผ้าหรืออาหาร เพราะมันเป็นสื่อที่เข้าได้ง่ายสุดแล้วมันบูรณาการหมด สมมติว่าเราเข้าไอจี เห็นรูปสวยๆ กดเข้าไปรู้เลยว่าร้านอยู่ที่ไหน เปิดปิดกี่โมง บางทีราคาเท่าไหร่เรารู้ข้อมูลหมดแล้ว คือปรางค์เชื่อว่ามันส่งผลมากเลยแหละเพราะว่าสื่อออนไลน์ทำให้คนที่ไหนก็ไม่รู้เห็นงานของเราแล้วมันก็โยงกันไปเรื่อยๆ อย่างเช่น เพื่อนปรางค์บางคนได้ลงเว็บไซต์ดังๆ จากการโชว์งานขึ้นเฟซบุ๊ค พอสื่อต่างประเทศหรือสื่อใดใดเห็นเนี่ยก็เอาไปลงสื่อของตัวเอง ปรางค์มองว่ามันเป็นช่องทางที่ง่าย กระจายได้เร็ว แล้วก็มีประสิทธิภาพ ก็ช่วยผู้ประกอบการเยอะ
Life MATTERs : ส่วนตัวคุณได้เข้าไปให้คำปรึกษาเรื่องการพีอาร์ผ่านสื่อด้วยมั้ย
ปรางค์ : จะไม่ได้ทำเป็นมาร์เก็ตติ้งแพลนให้แต่จะมีกลุ่มลูกค้าให้เขา อย่างเช่น โรงเรียนสอนภาษา สมมติว่ากลุ่มลูกค้าคือกลุ่มคนที่อยากจะเรียนโทอิค กลุ่มคนนี้คือกลุ่มคนทำงาน เป็นคนที่อยากจะเอาคะแนนภาษาอังกฤษไปอัพเงินเดือนของตัวเองหรือเพื่อจะเอาไปทำงานบริษัทต่างชาติ เรามองว่าโรงเรียนมันไม่ควรจะเด็กมาก แต่มันก็ไม่ควรจะจริงจังมากจนเขารู้สึกว่า โห เหนื่อยจากงานแล้วทำไมฉันยังต้องมาเจอสภาพอะไรที่มันจริงจังอีก พอเราดีไซน์ออกมา ความไม่จริงจังมากมันอาจจะเหมือนบ้านเพื่อนที่เราเข้าไปนั่งคุยกันตอนเย็น อาจจะคุยภาษาอังกฤษกันไป มีขนมมีอะไรให้ทำเหมือนโคเวิร์กกิ้งสเปซ ส่วนสื่อเราต้องยิงไปโซเชียลมีเดียมากที่สุด เราพอจะไกด์ลูกค้าได้ว่ากลุ่มคนกลุ่มนี้ พฤติกรรมเขาเป็นแบบนี้นะ ควรจะทุ่มไปกับสิ่งนี้มากกว่านะ จะเป็นไกด์ให้ ส่วนเรื่องช่วยกันมั้ยมันเป็นเรื่องปกติ ถ้าใครลูกค้าหรือสักคนที่เรารู้จักเปิดร้านหรือกิจการอะไรสักอย่างเราก็จะช่วยแชร์ในโซเชียลมีเดียนี่แหละ
Life MATTERs : กลับไปที่เรื่องการออกแบบ เชื่อว่าลูกค้าหลายคนต้องมาพร้อมกับเรฟเฟอเรนซ์ต่างๆ เช่น จากหนังบ้าง ยากมั้ยกับการทำงานกับเรฟเฟอเรนซ์แบบนั้น
ปรางค์ : ไม่ยาก บางทีง่ายด้วยซ้ำ ถ้าเป็นคนที่เสพสื่อนะ สมมติว่าลูกค้าพูดมาว่าอยากได้บ้านแบบหนังเรื่อง Kingsman เราก็จะป๊อปขึ้นมาเลยว่า อ๋อ สีประมาณนี้ สีเข้มหน่อย หรือว่าลูกค้าบอกว่าฉันชอบผู้กำกับเวส แอนเดอร์สันอะ อยากได้บ้านอย่างนั้น เราก็จะบอกว่าได้ เพราะว่าอย่างน้อยเรามองภาพเดียวกันออก มองโทนสีเดียวกันออกว่า เออ มันเป็นอย่างนี้ บางทีลูกค้าเขาไม่ได้อยู่ในแวดวงการออกแบบเขาจะอธิบายไม่ถูก อย่างเช่น ฉันอยากได้บ้านแบบโมเดิร์นนะ แต่โมเดิร์นของเขาน่ะคือโมเดิร์นเดียวกับเราหรือเปล่า มันคือความเข้าใจที่เราว่ากันไม่ได้เพราะว่าถ้าเอาเราไปคุยเรื่องบัญชีเราก็อาจจะไม่เข้าใจเหมือนกัน การหารูป การหาเรฟเฟอเรนซ์ หรือการชูอะไรสักอย่างหนึ่งมาเป็นเรฟเฟอเรนซ์มันก็ง่าย ไม่ต้องหนังก็ได้ โฆษณาก็ได้ หรือเพลงก็ได้ หรือบอกมู้ดมาก็ได้ อย่างบอกว่ามู้ดแบบบาหลีนะ มันก็ช่วยให้ง่ายต่อการที่เราจะคุยกันแล้วเราจะเข้าใจกันตั้งแต่แรก
Life MATTERs : แบบนี้สิ่งที่ยากที่สุดในงานของคุณปรางค์คืออะไร
ปรางค์ : สิ่งที่ยากที่สุดในงานจริงๆ มันคือการสื่อสารกับลูกค้านี่แหละ บ้านนี่จะยากหน่อยเพราะว่ามีเจ้าของคนเดียว สมมติตกลงกันไปแล้วแหละว่าจะทำอย่างนี้แต่เราก็เข้าใจว่าเข้าไปเจออะไรมา โห นั่นก็สวย ไอ้นี่ก็สวย อยากให้ทุกอย่างมาอยู่ในบ้านหมดเลย ความยากมันคือการ convince เขาว่าสิ่งนี้กลมกล่อมแล้วนะ สิ่งที่คุณเห็นว่าสวยทีละชิ้นๆ ถ้ามาอยู่ด้วยกันมันอาจจะไม่เข้ากันก็ได้ แต่สิ่งที่ทำให้งานมันง่ายก็คือ fact นี่แหละค่ะ ก็คือ data คือความจริง มันไม่มีอีกแล้วนะการที่มาบอกว่าทำอย่างนี้แล้วมันจะไม่สวยนะคะ ลูกค้าก็จะบอกว่า อ้าว ก็ฉันสวยของฉัน แต่มันจะกลายเป็น ถ้าทำอย่างนี้มันจะอยู่ไม่สบายนะคะ เพราะเก้าอี้มันจะเตี้ยไปนั่งแล้วจะเมื่อยนะคะ แสงมันจะเข้าเยอะไปเดี๋ยวจะร้อนนะ มันเป็นเรื่องของข้อมูล เพราะฉะนั้นข้อมูลสำคัญในการทำทุกขั้นตอน
Life MATTERs : ที่บอกว่าคุยกับลูกค้ายากเวลาทำงาน พอเจอคุณลูกค้าที่ต่างจากตัวคุณมากๆ เคยคิดกันไปคนละทางขนาดที่เอา fact มาคุยกันก็ยังมีปัญหาอยู่มั้ย
ปรางค์ : ถ้าเป็นตอนทำออฟฟิศอาจจะมีอย่างนั้นแต่ตอนนี้ที่ปรางค์เปิดบริษัทเองแล้วก็จะมีการสกรีนลูกค้าระดับหนึ่ง เรียกว่าเราคุยกันแล้วคลิกเราถึงจะทำงานกันต่อ ถ้าเรารู้สึกว่า โห มันไม่คลิก เราก็อาจจะบอกเขาไปตรงๆ ว่านี่มันไม่ใช่แนวที่เราถนัดเลยค่ะ เพราะปรางค์มองว่าการจะทำงานด้วยกันมันต้องคุยกันก่อน มันเหมือนสัมภาษณ์งาน เหมือนทดลองงานน่ะ คือถ้าทดลองกันแล้วไปได้ก็โอเค เพราะว่าโปรเจกต์มันก็ไม่ใช่แค่อาทิตย์สองอาทิตย์เสร็จ คือเราต้องคุยกันยาวเหมือนกัน นั่นหมายความว่าปรางค์จะไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องการคุยกันคนละเรื่องกับลูกค้าเท่าไหร่ แต่ถ้าถามว่ากับตอนทำงานองค์กรเป็นมั้ย เป็น เพราะในการทำองค์กรมันไม่ได้มีแค่เรา มันไม่ใช่แค่มีแต่นักเรียนสถาปัตย์ด้วยกัน มันยังมีเรื่องกฎหมาย มีบัญชี มีช่าง มีไอที มีใครต่อใครไม่รู้เต็มไปหมดเลยซึ่งเขาก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าสิ่งที่เราทำมันคืออะไร มันคือ communication skill การสื่อสาร อันนั้นเป็นทักษะว่าเราดีลกับคนได้แค่ไหน มันต้องฝึก
Life MATTERs : เข้าใจว่าเด็กที่มาเรียนสถาปัตย์ส่วนมากจะติสต์ๆ หน่อย ยากมั้ยเวลาที่ต้องออกมาทำงานที่ต้องติดต่อคนเยอะๆ
ปรางค์ : คือนักเรียนที่เรียนศิลปะ ไม่ใช่แค่สถาปัตย์นะ ปรางค์เชื่อว่าเขามีความเป็นศิลปินอยู่มากกว่าคนทั่วไปนิดหน่อยเพราะฉะนั้นการที่จะคุยเรื่องที่เป็น commecial หรือเป็นตรรกะมากๆ มันเหมือนจะมีกำแพงนิดหนึ่ง ซึ่งตอนเรียนหรือตอนทำงานถ้าคุณไปทำงานในบริษัทที่ทั้งออฟฟิศมีแต่สถาปัตย์หรือดีไซเนอร์หมดเลย อันนั้นก็โอเค แต่ในวันที่คุณจะต้องออกไปข้างนอก ที่จะต้องรับผิดชอบอะไรมากขึ้น ต้องสื่อสารกับคนที่มีหน้าที่รับผิดชอบมากขึ้น ต้องคุยกับผู้ใหญ่มากขึ้นมันจะต้องโต ต้องมีวุฒิภาวะ ซึ่งปรางค์เชื่อว่าความเป็นศิลปินมันยังอยู่แหละ แต่มันคือบทบาท มันคือหมวกอีกหนึ่งใบที่ทำให้เราต้องลดความเป็นศิลปินของเราลงหน่อย เพราะปรางค์เชื่อว่าแต่ละคนมีหลายหน้าที่ หลายบทบาท แต่ละบทบาทที่เราแสดงกับแต่ละคนไม่เหมือนกัน
Life MATTERs : ได้ยินมาว่าตอนนี้คุณไปบรรยายให้เด็กที่เรียนสถาปัตยกรรมฟังด้วย คุณมักจะพูดเรื่องอะไรบ้าง
ปรางค์ : ถ้าเป็นนักศึกษาปริญญาตรีก็พยายามจะบอกว่าสิ่งที่คุณจะต้องเจอคืออะไร สิ่งที่คุณจะไปเจอในชีวิตดีไซเนอร์จะมีอะไรบ้าง อะไรที่สำคัญในชีวิตการทำงานคือการตรงต่อเวลา ให้เขาเตรียมตัว หรือถ้าเป็นนักศึกษาปริญญาโทก็จะบอกสิ่งที่ปรางค์ทำในบริษัทว่างานที่ต้องทำมีอะไร คุณควรจะเตรียมตัวเรื่องไหนเป็นพิเศษ ควรจะรู้เรื่องอะไรบ้าง ถ้าบางทีก็อาจจะเอาแผนงานหรืออะไรที่เกี่ยวข้องกับงานไปให้ดูเป็นตัวอย่าง เช่น การวิเคราะห์การเงิน การวิเคราะห์แผนการทำงาน ตารางก่อสร้าง จะเป็นเรื่องประสบการณ์ทำงานเป็นส่วนใหญ่ว่าทำงานในออฟฟิศเป็นยังไง มีอะไรที่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษบ้าง
Life MATTERs : พูดถึงเรื่องชีวิตส่วนตัวบ้าง ได้ยินว่าคุณเป็นคนชอบทำกิจกรรมกลางแจ้งมาก คุณชอบทำอะไรบ้าง
ปรางค์ : จริงๆ ปรางค์เป็นคนชอบกิจกรรมเอาต์ดอร์มาก ชอบปั่นจักรยาน ชอบวิ่งมินิมาราธอน วิ่งเทรล แล้วก็ล่าสุดนี่ปีนผา เป็นคนชอบออกกำลังกายค่ะ ไปเรื่อยแหละ อยู่กับน้ำทะเล พาย paddle board เพราะว่าเพื่อนๆ ก็จะมีแก๊งค์ที่เขาไปวิ่งเราก็จะไปกับเขา
Life MATTERs : คิดว่าการทำกิจกรรมพวกนี้มันส่งผลดีกับชีวิตทำให้เรามี work-life balance มั้ย
ปรางค์ : work-life balance มันส่วนหนึ่ง คือมันเป็นกิจกรรมที่เอาเราออกไปจากความเครียด อย่างปีนผานี่เราคิดเรื่องนอกจากหน้าผาไม่ได้เลย มันจะตก เราก็จะลืมทุกอย่างไปสามสี่ชั่วโมง นอกเหนือจากนั้นเวลาที่เราออกไปเจอคนอื่นๆ ออกไปกับกลุ่มวิ่ง กลุ่มปั่น หรือกลุ่มปีนผาเนี่ยมันจะเจอคนอาชีพอื่นๆ อีก สัตวแพทย์บ้าง ทหารบ้าง นักบัญชีบ้าง การที่เราคุยกันในสภาพแวดล้อมที่เราทำกิจกรรมที่ชอบร่วมกันมันสนุกกว่า เบลนด์กันง่ายกว่า ปรางค์มองว่ามันช่วยเปิดคอนเนคชั่นของเราให้กว้างขึ้น คือมันเหมือนตีกอล์ฟสมัยก่อนที่ผู้ใหญ่ชอบออกไปหาคอนเนคชั่นกัน มันเป็นแบบเดียวกัน แล้วเป็นคอนเนคชั่นที่มีคุณภาพด้วยนะ
Life MATTERs : พอเราฟังมุมมองจากอาชีพอื่นที่อาจจะไม่เหมือนเรามันดียังไงบ้าง
ปรางค์ : ปรางค์มองว่าดีเพราะแม้ว่าเราจะต่างกันสุดขั้วเลยแต่อย่างน้อยมันทำให้เราเข้าใจว่ากลุ่มลูกค้าของเราก็คือคนพวกนี้แหละเพราะว่าคนที่เรียนออกแบบ คนที่เขาคุยภาษาเดียวกับเราเขาก็คงไม่มาจ้างเราแต่เขาจะต้องมาเป็นพาร์ตเนอร์เรา เราคุยกันรู้เรื่องอยู่แล้ว การที่เราได้คุยกับคนที่ต่างกันเราก็จะรู้ว่าเราจะโฟกัสตรงไหน เช่น ในจุดที่เราไม่เคยคิดว่า เฮ้ย มันคือคำถามเหรอ มันคือปัญหาเหรอ กลับกลายเป็นว่าเขาสงสัย ก็ดีตรงที่เขาปล่อยมุมมองที่เราไม่เคยนึกถึงออกมา
Life MATTERs : ทุกวันนี้ความสนุกที่สุดในการทำงานของคุณคืออะไร
ปรางค์ : จริงๆ มันมีความสนุกหลายตอนเพราะว่ารูปแบบของงานมันทำให้เราได้เจอคนเยอะ แล้วแต่ละขั้นตอนจะเจอคนคนละกลุ่ม อย่างขั้นตอนแรกเราเจอกับลูกค้าก็สนุกแล้ว ดีลกันมันเลย ปรางค์เชื่อว่าทุกอาชีพแหละ เมื่อเราที่เป็นฝ่ายรับจ้างเจอกับลูกค้ามันจะต้องมีการคุยให้บรีฟตรง เรียกว่าบรีฟชัด ซึ่งมันไม่ค่อยชัดหรอก อันนี้คือความสนุกแรก ความสนุกที่สองคือตอนเริ่มทำแบบแล้ว เริ่มต้องก่อสร้างจริง คุยกับช่าง คุยกับคนที่เกี่ยวข้องอื่นๆ มันคือการแก้ปัญหาไปเรื่อยๆ แก้ปัญหาหน้างาน แก้ปัญหาด้วยประสบการณ์ ด้วยวิชาชีพของเรา อันสุดท้ายนี่ความสนุกสุดๆ คือ เรียกว่าเป็นความสุขดีกว่าคือเมื่อส่งมอบงานแล้วเขาแฮปปี้ ลูกค้าแฮปปี้เราก็แฮปปี้เนอะ อันนั้นคือความสุข
จริงๆ มีหลายเคสเหมือนกันเพราะว่าลูกค้าส่วนใหญ่ตอนนี้ที่ทำงานด้วยกันก็จะเป็นลูกค้าเก่าแล้วเขาค่อยไปแนะนำเราต่อ บางทีส่งมอบงานไปแล้วเนี่ยลูกค้าก็ถ่ายรูปมาให้ อย่างโรงเรียนสอนภาษาอย่างนี้พอเขาเปิดเฟซบุ๊คเขาก็จะส่งมาว่า “ทำเพจแล้วค่ะ” เขาก็จะแคปแล้วส่งมาให้ดู“ลูกค้ากดไลก์แล้วค่ะ” “มีอินสตาแกรมแล้วค่ะ” “พี่เอาโลโก้ไปใช้แล้วนะคะ” มันก็เป็นความสุขของเราที่ลูกค้านึกถึง
Life MATTERs : สุดท้ายแล้ว คุณมองภาพการเติบโตของบริษัทตัวเองยังไงบ้าง
ปรางค์ : core business เราขายเซอร์วิส คือธุรกิจออกแบบมันคือเซอร์วิสอยู่แล้ว แต่หลังจากนั้นมันคืออาฟเตอร์เซอร์วิส เวลาลูกค้ามีปัญหาเราจะดูแลแม้ว่ามันจะหลุดสโคปงานของเราไปแล้วเพราะเราทรีตว่าเขาเป็นเพื่อน ชื่อบริษัทนี่คือ PRE Sustainable Consultancy สำหรับปรางค์ความยั่งยืนมันไม่ใช่แค่การเป็นอาคารเขียว แต่มันมีทั้ง architecture, local identity และ social relation
เรื่อง architecture ก็อย่างที่รู้กันว่าทำยังไงให้อาคารใช้ประสิทธิภาพจากธรรมชาติและวัสดุก่อสร้างได้มากที่สุด ก็คือพวกอาคารเขียวทั้งหลาย local identity คือความเป็นท้องถิ่น คืออาคารอยู่ตรงนั้นแล้วยั่งยืนก็เพราะมันเหมาะกับสภาพภูมิอากาศและภูมิประเทศ ส่วนที่สาม social relation มันคือความยั่งยืนของความสัมพันธ์ ปรางค์มองว่าอันนี้แหละคือสิ่งที่ทำให้ปรางค์ตั้งบริษัทนี้ขึ้นมา คือเรามองว่าความสัมพันธ์ของทุกๆ อย่างมันช่วยให้เน็ตเวิร์กแข็งแรง ถ้าเรามีลูกค้าสักคน มีคู่ค้า หรือมีซัพพลายเออร์เนี่ย เราไม่อยากทำกันทีเดียวแล้วเลิกร้างกันไป เราอยากอยู่กันยาวๆ แล้วก็ไว้ใจกันได้ คือปรางค์มองว่าเป็นเครือข่ายที่มันจะโตไปด้วยกันซึ่งอะไรที่เป็นเครือข่ายมันแข็งแรงกว่าการที่เราอยู่คนเดียวอยู่แล้ว
หรือแม้กระทั่งความยั่งยืนของธุรกิจลูกค้าเราก็พยายามมากจนทำให้เราต้องดูแลเขาไปจนธุรกิจเขาสำเร็จ
Photos by Adidet Chaiwattanakul