เรารู้สึกประหลาดใจเหลือเกินที่ดีไซเนอร์หญิงหัวก้าวหน้า ผู้โด่งดังถึงขีดสุดในยุค 30s อย่าง Elsa Schiaparelli ไม่มีภาพยนตร์ชีวประวัติเป็นของตัวเอง ทั้งที่ชีวิตของเธอมีรสชาติจัดจ้านกว่าดีไซเนอร์หลายคนที่ร่วมยุคกับเธอเสียอีก
ลองนึกภาพดูสิ—เด็กสาวอายุ 19 ปีจากตระกูลผู้ลากมากดีหนีออกจากบ้านเกิดที่อิตาลี เพื่อหลบเลี่ยงการคลุมถุงชนกับชายชาวรัสเซียที่เธอไม่รัก เธอเดินทางไปลอนดอน ตกหลุมรักกับนักต้มตุ๋นผู้เลี้ยงชีพด้วยการดูลายมือและเป็นคนทรง มีลูกกับเขา 1 คน แต่เมื่อมนต์รักเริ่มเสื่อมคลาย หญิงสาวก็เดินออกจากชีวิตเขาโดยไม่ลังเล แล้วมาเปิดแฟชั่นเฮ้าส์ของตัวเองใจกลางกรุงปารีส
เอลซาปีนบันไดสู่ความสำเร็จด้วยดีไซน์ที่แปลกประหลาดและก๋ากั่น โดยมีเพื่อนเป็นศิลปินเซอร์เรียลลิสม์ชื่อก้องอย่าง Salvador Dali, Jean Cocteau, Man Ray ทั้งยังมีลูกค้าระดับ A-List เช่น Mae West เซ็กส์ซิมโบลแห่งยุค และ Wallis Simpson แม่ม่ายซึ่งกษัตริย์เอ็ดเวิร์ดที่ 8 หลงรักจนยอมสละราชบัลลังก์
เรื่องราวชีวิตของเธอยังระห่ำได้อีก เพราะหลายต่อหลายคน (รวมทั้งเจ้าหน้าที่ FBI) เชื่อว่าดีไซเนอร์ผู้นี้มีจ๊อบเสริมเป็นสายลับให้กับฝั่งเยอรมนีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วย!
และนั่นคือประวัติฉบับย่นย่อของ Elsa Schiaparelli ผู้เป็นคู่แข่งตลอดกาลของดีไซเนอร์ในตำนาน Coco Chanel แม้พวกเราที่เกิดในยุคนี้อาจไม่เคยได้ยินชื่อเธอมาก่อน แต่อยากบอกให้รู้ไว้ว่า ในช่วงรุ่งโรจน์ที่สุดของเอลซา ผลงานของเธอเป็นที่นิยมมากกว่าชาแนลเสียอีก โดยมีเหตุผลหลักๆ สามประการคือ
หนึ่ง—ผู้คนในยุคสงครามโหยหาดีไซน์ที่สุดโต่ง ซุกซน และสนุกสนาน ซึ่งสามารถแต่งแต้มสีสันให้กับช่วงเวลาอันหม่นมืด
สอง—เอลซ่าใช้ชีวิตอยู่ในช่วงที่ศิลปะเซอร์เรียลลิสม์เจริญถึงขีดสุด ดังนั้นผลงานของเธอจึงรับอิทธิพลจากศิลปะแขนงนี้เต็มๆ แถมเธอยังจับมือกับเพื่อนศิลปินเซอร์เรียลลิสม์ออกแบบเครื่องแต่งกายดีไซน์หลุดโลกหลายต่อหลายชุดด้วย
และสาม—เธอเป็นผู้ริเริ่มหลายสิ่งหลายอย่างในวงการแฟชั่น เธอเป็นคนแรกที่ใช้ผ้าเรยอนและผ้ากำมะหยี่, เป็นคนแรกๆ ที่ดีไซน์ wrap dress ที่สาวๆ แห่งศตวรรษที่ 21 กำลังฮิตใส่กันอยู่ตอนนี้, เป็นคนแรกที่แมทช์ชุดราตรีกับเสื้อแจ็คเก็ต, เป็นคนแรกที่ออกแบบชุดว่ายน้ำที่มีบราในตัว, ผู้ให้กำเนิดสีช็อกกิ้งพิงค์ และอื่นๆ อีกมากมายเกินจะไล่เรียงหมดในบทความเดียว
ในโอกาสนี้เราจึงคัดเลือกผลงานเด่นๆ ของเอลซามาบอกเล่าให้ทุกคนฟัง และร่วมจดจำดีไซเนอร์อัจฉริยะคนนี้ไปพร้อมกัน
1. The Lobster Dress
ปี 1937 เอลซาร่วมมือกับซัลบาดอร์ ดาลีเพื่อสร้างสรรค์ The Lobster Dress ชุดราตรีสีขาวซึ่งมีล็อบสเตอร์สีส้มตัวใหญ่พาดกลางบริเวณช่วงล่างลำตัว ซึ่งบางคนอธิบายว่า ‘พาดกลางระหว่างขา’ เลยทีเดียว ผู้คนเห็นเดรสชุดนี้จึงฮือฮากันใหญ่ด้วยนัยทางเพศที่แฝงอยู่ นอกจากนี้ผู้คนยังฮือฮาไปอีกขั้นเมื่อกระดังงาลนไฟผู้โด่งดังอย่าง Wallis Simpson หยิบไปใส่
เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย—อันที่จริงล็อบสเตอร์เป็นสัตว์ที่ดาลีมักหยิบยกมาใช้ในงานของเขาอยู่แล้ว เช่น Lobster Telephone (1936) อันโด่งดัง
2. The Shoe Hat
อีกหนึ่งผลงานจากความร่วมมือของเอลซาและดาลีคือ The Shoe Hat โดยดาลีได้แรงบันดาลใจมาจากรูปถ่ายของภรรยาสุดที่รัก Gala Dali ซึ่งก็เป็นรูปตัวเขาเองนั่นแหละ แต่มีความพิเศษตรงที่เขาวางรองเท้าไว้บนศีรษะและบ่าของตน (ไม่มีบันทึกอธิบายเหตุผลที่ดาลีวางรองเท้าไว้บนร่างกาย) ศิลปินเซอร์เรียลลิสม์ชื่อก้องจึงสเก็ตช์รูปหมวกรูปทรงเหมือนรองเท้าส้นสูงให้เอลซา ผู้นำไปสานต่อจนเกิดเป็นหมวกจริงๆ ในคอลเล็กชั่น Fall/Winter 1937-38 ของเธอ
3. The Tears Dress
ดูท่าเอลซากับดาลีจะเป็นเพื่อนรักกันจริงๆ เพราะ The Tear Dress คืออีกหนึ่งชุดราตรีที่พวกเขาออกแบบร่วมกัน โดยชุดที่ว่านี้ไม่ได้เป็นรูปหยดน้ำตาแต่อย่างใด แต่เป็นรูปรอยขาดแบบเดียวกับที่ดาลีวาดไว้ในรูป Necrophiliac Springtime (1936) และ Three Young Surrealist Women Holding In Their Arms The Skins Of An Orchestra (1936) โดยในทั้งสองรูปนั้นแยกไม่ออกว่า รอยขาดบนเรือนร่างหญิงสาวเป็นรอยขาดของเสื้อผ้าหรือรอยขาดของผิวหนังกันแน่ เป็นการหลอกตาแบบที่ศิลปินเซอร์เรียลลิสม์ทั้งหลายชอบทำนั่นเอง
4. Shocking!
ในขณะที่น้ำหอมสุดคลาสสิคอย่าง Chanel No.5 พลิกวงการเครื่องหอมด้วยขวดรูปทรงสี่เหลี่ยมอันเรียบง่ายและแฝงกลิ่นอายแมสคิวลิน น้ำหอม Shocking! คือขั้วตรงข้ามของมันโดยสิ้นเชิง เพราะน้ำหอมที่เอลซาตั้งชื่อตามสีโปรดของตนอย่าง shocking pink บรรจุมาในขวดรูปทรวดทรงองค์เอวของหญิงสาว ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากส่วนเว้าส่วนโค้งของ Mae West นักแสดงสาวสุดเซ็กซี่ ส่วนตัวน้ำหอมนั้นได้ Jean Carles ตัวพ่อด้านการปรุงน้ำหอมเป็นผู้ผสมกลิ่นให้ (อีกหนึ่งกลิ่นยอดนิยมตลอดกาลจากฝีมือชายผู้นี้คือ Miss Dior นั่นเอง)
โดย Shocking! เป็นน้ำหอมสไตล์โอเรียนทัลที่มีกลิ่นซับซ้อน ท็อปโน้ตประกอบด้วยแม่กลิ่นอัลดีไฮด์ เบอร์กาม็อต เอสตราก้อน และราส์เบอร์รี่, มิดเดิ้ลโน้ตประกอบด้วยน้ำผึ้ง ดอกกุหลาบ กระดังงา คาร์เนชั่น และนาร์ซิสซัส ส่วนเบสโน้ตประกอบไปด้วยกลิ่นธูป ไม้ซีดาร์ พิมเสน หญ้าแฝก โอ๊คมอส วานิลลา มัสก์ อำพัน กานพลู และชะมด
ทิ้งท้ายอีกนิด ถ้าใครเป็นแฟนน้ำหอมของ Jean Paul Gaultier อาจจะรู้สึกคุ้นหน้าคุ้นตาขวดรูปลำตัวหญิงสาวแบบนี้อยู่บ้าง ขอเฉลยว่ากอติเยร์ชื่นชอบ Shocking! มากจนหยิบยืมรูปทรงขวดแบบนี้มาใช้กับน้ำหอมของตนนั่นเอง
5. The Divided Skirt
ในปี 1931 เอลซาออกแบบ ‘กระโปรง’ สำหรับเล่นกีฬา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในคอลเล็กชั่น pour le Sport สำหรับคนยุคเรา ‘กระโปรง’ ที่ว่าก็คือกางเกงขาบานธรรมดาๆ นี่เอง แต่ในช่วงปี 30s ต้องบอกว่าคนทั้งโลกถึงกับช็อคไปเลยทีเดียวเมื่อได้เห็นนักเทนนิสชื่อดังอย่าง Lili de Alvarez ใส่ ‘กระโปรง’ หน้าตาประหลาดเช่นนี้ลงแข่งในรายการเกียรติยศอย่าง Wimbledon
บอกเลยว่าผู้หญิงเมืองร้อนอย่างเราต้องกราบกรานเอลซาอย่างแรง เพราะผลงาน The Divided Skirt ของเธอได้ถูกดีไซเนอร์คนอื่นๆ นำมาพัฒนาต่อจนกลายเป็นกางเกงขาสั้นในที่สุด
เอลซา สเคียปาแรลลีตัดสินใจปิดตัว House of Schiaparelli ในปี 1954 เพราะหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง ผู้คนก็หันเหความสนใจไปที่สไตล์ New Look ของ Christian Dior ซึ่งมีความเป็นเฟมินีนจ๋า เน้นทรวดทรงองค์เอว และตัดเย็บด้วยผ้าจำนวนมาก (ถือเป็นความหรูหราที่ทำไม่ได้ในช่วงสงคราม)
นับแต่นั้นชื่อของเอลซา สเคียปาแรลลีก็ค่อยๆ เลือนรางไปจากความนึกคิดของผู้คนตามครรลองของเวลา แต่ผลงานสร้างสรรค์ของเธอก็ไม่เคยหายไปไหน ถ้าไม่เชื่อลองมองไปรอบๆ ตัวดูสิ เราพนันว่าต้องมีใครซักคนที่กำลังใส่กางเกงขาสั้น, wrap dress หรือไอเท็มสีช็อกกิ้งพิงค์อยู่แน่ๆ
อ้างอิง
schiaparelliperfumes.blogspot.com
Shen, Anne. Bad Girls Through Out History. San Francisco, Chronical Books, 2016.
cover photo by unelibanaiseaparis.com