คุณเคยสงสัยหรือไม่ว่าก่อนมีคอมพิวเตอร์ ชาวสิ่งพิมพ์ทำงานกันยังไง? มันอาจเป็นเรื่องยากจะจินตนาการ เพราะเราต่างอยู่ในยุคที่ใครๆ ก็สามารถทำงานกราฟิกได้ในคอมพ์หรือแม้แต่ในมือถือของตัวเอง
ย้อนกลับไปในยุคที่ยังไม่มีสตีฟ จอบส์และบิล เกตส์ งานกราฟิกดีไซน์คืองานคราฟต์แท้ๆ เพราะทุกอย่างถูกจัดวางด้วยสองมือบนแผ่นกระดาษและแผ่นฟิล์มด้วยเทคนิคแบบอนาล็อกที่ต้องใช้เวลาและการทุ่มเทแรงกายจากคนจำนวนมากที่ล้วนทำหน้าที่แตกต่างกันออกไป
เพื่อให้เห็นภาพ ลองนึกถึงการวางเลย์เอาต์แม็กกาซีนสักเล่ม หากเป็นสมัยนี้ ด้วยโปรแกรมสำเร็จรูปที่มีในท้องตลาดแล้วแม้แต่คนๆ เดียวก็สามารถรับผิดชอบงานกราฟิกทั้งเล่มได้ (ถ้าใจถึง) เพราะภายในโปรแกรมเดียวเราสามารถลากเท็กซ์ลงมาวางข้างรูปภาพได้เลยพร้อมเพิ่มหรือลดไซซ์ทุกอย่างได้ตามต้องการ มีฟอนต์สารพันและร้อยพันเฉดสีให้เลือกใช้ แถมหากไม่พอใจก็สามารถแก้ไขได้เลยทันที
เทียบกับเมื่อปี 1455 เมื่อโยฮันน์ กูเตนเบิร์ก (Johannes Gutenberg) นักประดิษฐ์ชาวเยอรมันผลิตแท่นพิมพ์ขึ้นใหม่ๆ การพิมพ์ตัวอักษรเป็นเรื่องแสนยุ่งยากเพราะคนทำต้องมานั่งเรียงตัวพิมพ์ทีละตัวกว่าจะได้ทีละหน้า การทำหนังสือขึ้นมาสักเล่มจึงเป็นวาระสำคัญอย่างยิ่ง กูเตนเบิร์กเอง เมื่อสร้างแท่นพิมพ์สำเร็จเขาก็เริ่มต้นจากการพิมพ์ไบเบิลที่เขาศรัทธาเป็นอย่างแรก
ถึงจะลำบากและสร้างความปวดหลังให้คนเรียงฟอนต์ แต่แท่นพิมพ์ของกูเตนเบิร์กก็ได้รับความนิยมมากและถูกยกย่องให้เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่เปลี่ยนโลกไปอย่างสิ้นเชิง อีกทั้งตลอดสี่ร้อยปีถัดมามันยังถูกอิมพอร์ตไปใช้ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ก่อนสิ่งประดิษฐ์ชิ้นใหม่จะเข้ามาพลิกโลกสิ่งพิมพ์อีกครั้ง
สิ่งนั้นคือเครื่อง Linotype หรือสิ่งประดิษฐ์ที่สามารถเรียงตัวอักษรออกมาเป็นแม่พิมพ์เหล็กขนาดหนึ่งบรรทัดแล้วจึงเอาไปเรียงพิมพ์ได้เลย กลไกเบื้องหลังหากอธิบายง่ายๆ อาจพูดได้ว่าในเครื่องจะมีแม่พิมพ์สำหรับตัวอักษรแต่ละตัวอยู่ เมื่อพิมพ์อะไรก็ตามลงไป แม่พิมพ์จะถูกนำมาเรียงเป็นบรรทัดก่อนราดโลหะร้อนๆ ลงไป เมื่อแข็งตัว (ซึ่งใช้เวลาไม่กี่วินาที) โลหะจะหลุดออกจากแป้นพิมพ์กลายเป็นบรรทัดตัวอักษรอย่างเนี้ยบ ส่วนแม่พิมพ์โลหะก็ไหลกลับเข้าไปในเครื่องพร้อมพิมพ์บรรทัดต่อไป
เจ้าเครื่องนี้พลิกโฉมวงการสิ่งพิมพ์จากหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะกระบวนการทั้งหมดแทบจะเกิดขึ้นในตัวเครื่อง มนุษย์มีหน้าที่แค่พิมพ์ตัวอักษรจากแป้นพิมพ์ลงไปแค่นั้นเอง ดังนั้นแม้แต่คนๆ เดียวก็สามารถใช้ Linotype ทำหนังสือพิมพ์เองได้เลย (ในปัจจุบันในอเมริกาก็ยังมีหนังสือพิมพ์ที่ทำโดยคนๆ เดียวด้วยความช่วยเหลือของเครื่องนี้อยู่)
ถึงอย่างนั้น Linotype เองก็ยังมีข้อจำกัดอยู่มาก เช่น แม่พิมพ์ตัวอักษรชุดหนึ่งจะมีแค่ฟอนต์เดียวจึงไม่สามารถเปลี่ยนฟอนต์ในบรรทัดเดียวกันได้แถมขนาดฟอนต์ก็ฟิกซ์ไว้แค่ขนาดเดียว ส่วนกับเรื่องภาพที่เป็นส่วนประกอบที่สำคัญอีกอย่างของงานกราฟิกก็ยังคงขลุกขลักอยู่เพราะกว่าจะพิมพ์ภาพได้ภาพหนึ่ง ภาพนั้นต้องถูกส่งไปแกะเป็นแม่พิมพ์เหล็กมาเสียก่อนซึ่งทั้งแพงและเสียเวลา จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่หนังสือพิมพ์หรือหนังสือสมัยก่อนจะไม่ค่อยมีภาพนั่นเอง
เมื่อถึงยุค 20s การพิมพ์ก็พัฒนาจากเครื่อง Linotype ที่เทอะทะและส่งเสียงกึงกังจนต้องจ้างคนหูหนวกมานั่งพิมพ์ กลายมาเป็นเครื่องที่เรียกว่า Phototypesetting ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าและใช้เทคนิคการฉายแสงลงบนแผ่นฟิล์มแทน
บรรดาตัวอักษรที่เคยอยู่ในรูปแบบของแม่พิมพ์เหล็กจึงถูกย่อส่วนลงมาอยู่ในแผ่นดิสก์ฉลุเป็นตัวอักษรหรือแผ่นฟิล์มเนกาทีฟ เมื่อเอาเข้าเครื่อง Phototypesetting แล้วพิมพ์ตัวอักษรใดๆ เครื่องจะฉายแสงผ่านตัวอักษรนั้นลงบนแผ่นฟิล์ม เมื่อจะนำไปจัดเลย์เอาต์ก็ต้องเอาแผ่นฟิล์มนั้นไปล้างลงกระดาษเสียก่อนแล้วนำมาตัดวางลงบนหน้ากระดาษในตำแหน่งที่ต้องการอีกที
Phototypesetting มีข้อดีมหาศาลคือการที่สามารถปรับขนาดฟอนต์ได้บ้าง จากที่แม่พิมพ์แบบเดิมทำไม่ได้เลย ทั้งยังกำหนดขนาดสเปซระหว่างตัวอักษรได้อีกด้วย และยังพิมพ์ได้เร็วกว่าเครื่องแบบเดิมๆ มาก ส่วนข้อเสียคือการที่มันไม่มีหน้าจอทำให้คนพิมพ์ต้องระวังอย่างมากไม่ให้พิมพ์ผิด สำนักแม็กกาซีนส่วนมากก็ไม่ได้มีเครื่องนี้ไว้ในครอบครอง ทำให้ต้องไปจ้างร้านที่รับทำโดยเฉพาะสร้างความยุ่งยากเพิ่มขึ้นไปอีก
ในความยุ่งยากนั้น หลายสำนักยอมแลก เพราะคราวนี้การใส่รูปภาพหรือภาพวาดลงไปบนสิ่งพิมพ์ไม่ยุ่งยากเท่าสมัยที่ต้องแกะรูปออกมาเป็นแม่พิมพ์แล้ว รูปภาพเองสามารถบรรจุให้อยู่บนแผ่นฟิล์มได้ โดยช่างกราฟิกก็ต้องล้างภาพจากฟิล์มกล้องออกมาในขนาดที่ต้องการ (หรือถ้าจะให้โรงพิมพ์ทำก็ต้องแนบรูปไปกับเลย์เอาต์แล้วบอกว่าจะพิมพ์รูปในขนาดเท่าไหร่)
ขั้นตอนการรวมร่างในยุคนี้น่าจะใกล้เคียงการทำกราฟิกเลย์เอาต์ในปัจจุบันมากที่สุด หลักการง่ายๆ ของมันคือหลังพิมพ์เท็กซ์ออกมาเป็นแผ่นยาว (strip) และภาพขนาดที่จะใช้แล้วก็สามารถนำมาตัดแปะบนแผ่นกระดาษที่ใช้จัดเลย์เอาต์ได้เลย แต่หากจะใส่กิมมิกเพิ่มเข้าไปในการจัดเลย์เอาต์ก็ง่ายๆ ด้วยสองมือเรา เช่นอยากจะทำตัวอักษรให้อยู่บนบรรทัดโค้งๆ ก็ตัดตัวอักษรแต่ละตัวมาเรียงลงบนเส้นที่ร่างไว้ทีละตัวจนกว่าจะเสร็จ
ความซับซ้อนของการจัดเลย์เอาต์แบบนี้จะเกิดขึ้นเมื่อต้องการพิมพ์หลายๆ สีเพราะแต่ละสีต้องมีแผ่นเลย์เอาต์ของตัวเองแยกกันและมีแถบสีแปะไว้เพื่อให้โรงพิมพ์เข้าใจ ดังนั้นแผ่นเลย์เอาต์ล่างสุดจึงอาจเป็นกระดาษได้แต่แผ่นอื่นๆ ที่ซ้อนอยู่ด้านบนต้องเป็นแผ่นฟิล์มใสที่เมื่อซ้อนกันก็จะเห็นภาพรวมของเลย์เอาต์ทั้งหน้าได้พอดี
กระนั้น การตัดแปะยังมีหายนะภัยเกิดขึ้นได้เป็นครั้งคราว เช่น ดีไซเนอร์หลายคนโดนมีดตัดกระดาษบาดระหว่างกำลังหั่นชิ้นส่วนไซซ์จิ๋ว หรือการที่แปะเลย์เอาต์ไว้อย่างสวยงามแต่อากาศดันร้อนจนกาวเยิ้ม และทุกอย่างไหลลงมากองรวมกันหมด เป็นต้น (โธ่)
และเนื่องจากในสมัยนั้นยังไม่มีอินเทอร์เน็ตที่เป็นศูนย์รวมทุกอย่างบนโลกอย่างทุกวันนี้ สื่อสิ่งพิมพ์แต่ละเจ้าจะต้องคอยติดตามแวดวงฟอนต์อย่างใกล้ชิด เพื่อซื้อฟอนต์ใหม่ๆ มาใช้ไม่ให้ตกเทรนด์ ส่วนภาพกราฟิกง่ายๆ ที่หยิบมาใช้ได้เลยก็ต้อง subscribe กับผู้ให้บริการคลิปอาร์ตไว้ โดยจะได้แคตาล็อกรวมคลิปอาร์ตมาทุกเดือนเพื่อนำไปถ่ายรูปมาตัดแปะในเลย์เอาต์อีกที ดังนั้นการที่เราเห็นรูปเดียวกันอยู่ในแม็กกาซีนหลายหัวอาจไม่ใช่เรื่องว่าใครก๊อปใครแต่เป็นเพราะทรัพยากรในยุคนั้นมันก็มีเท่านั้นนั่นแล
เรื่องสนุกๆ ในยุคนั้นยังมีอีก เช่น การเกิดขึ้นของบริษัทสัญชาติอังกฤษชื่อ Letraset ในปี 1959 ผลิตภัณฑ์ของพวกเขาเป็นฟอนต์ที่พิเศษ เพราะไม่ได้ถูกบรรจุอยู่ในแผ่นดิสก์หรือแผ่นฟิล์มแต่กลับมาในรูปแบบของแผ่น dry-transfer ซึ่งมีวิธีการใช้งานง่ายดาย เพียงทาบแผ่นที่มีตัวอักษร A-Z บนกระดาษแล้วใช้ดินสอหรือปากกาฝนทับตัวอักษรที่ต้องการ อักษรตัวนั้นก็จะติดหนึบลงไปบนกระดาษทันที
ฟอนต์ของ Letraset เข้ามาสั่นสะเทือนวงการสิ่งพิมพ์เพราะความง่ายของมันทำให้ใครๆ ก็สามารถทำกราฟิกได้ เช่น โรงเรียน โบสถ์ หรือใครก็ตามที่มีเรื่องอยากจะเล่าทำให้หลังการเปิดตัวเพียงไม่นาน แม็กกาซีนต่างๆ ก็ผุดตามขึ้นมาอีกนับไม่ถ้วนไม่ว่าจะเป็นแม็กกาซีนของวงดนตรีใต้ดินหรือแม็กกาซีนของกลุ่ม LGBTQ ต่างๆ จนมันถูกเรียกว่าเป็นฟอนต์แห่งประชาธิปไตยเลยทีเดียว
แต่แน่นอนที่สุดว่าสิ่งที่เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่พอๆ กับการเกิดขึ้นของแท่นพิมพ์กูเตนเบิร์กเมื่อ 500 กว่าปีก่อนคือวันที่สตีฟ จอบส์ประกาศเปิดตัวเครื่อง Macintosh รุ่นแรกพร้อมหน้าจอที่ใช้งานง่าย เมาส์ และโปรแกรมสำหรับทำกราฟิก ซึ่งเปลี่ยนโลกของการทำกราฟิกดีไซน์และสิ่งพิมพ์ไปตลอดกาล
เรื่องราวหลังจากนั้นคือการทำความรู้จักกับเครื่องมือใหม่ของบรรดากราฟิกมือเก๋า การปรับตัวของโครงสร้างธุรกิจที่เริ่มมีฝ่ายกราฟิกอินเฮาส์เป็นเด็กจบใหม่แทนการจ้างมืออาชีพ และการระเบิดของตลาดเว็บไซต์ที่ต้องการคนทำคอนเทนต์และกราฟิกจำนวนมาก
อาจฟังดูน่าเสียดายอยู่เหมือนกัน ที่การพิมพ์และกราฟิกแบบสมัยก่อนที่แทบจะเป็นงานคราฟต์มือต้องหายไป เพราะการเกิดขึ้นของคอมพิวเตอร์ แต่หากมองย้อนกลับไป การกำเนิดของเครื่องมือชนิดใหม่ในแต่ละยุค ก็เป็นการทลายกำแพงของงานกราฟิกออกไปสู่ดินแดนใหม่ที่ไม่คุ้นเคยให้เหล่าดีไซเนอร์ได้ทดลองกันไปเรื่อยๆ
เพราะอย่างนั้น เรื่องที่น่าทำตอนนี้อาจไม่ใช่การถวิลหาอดีตอันสวยงามและประณีตเพียงอย่างเดียวแต่อาจเป็นการใช้เทคโนโลยีที่มีในมือให้คุ้มค่า (คุ้มราคาโปรแกรม) มากที่สุด และคอยลุ้นว่าในอนาคตอันใกล้ สิ่งประดิษฐ์ใดที่จะมาพลิกโฉมวงการสิ่งพิมพ์ที่เรารักได้อีกครั้งหนึ่ง
อ้างอิง
Graphic Means: A History of Graphic Design Production. Directed by Briar Levit. USA, 2017. Documentary.