ลองนึกภาพคุณครูวิชาภาษาอังกฤษหนุ่มประจำโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งในรัฐเมน (Maine) เขาเป็นที่รักของเด็กๆ แต่งงานกับหวานใจที่พบกันตอนเรียนมหาวิทยาลัย มีลูกน้อยวัยซนด้วยกันสองคน ทุกเย็นเขาจะกลับบ้านมาเลี้ยงลูกแทนภรรยาที่ออกไปทำงานกะดึกที่ร้านโดนัท ในช่วงเวลาที่ลูกผล็อยหลับหรือนั่งตาโตอยู่หน้าทีวี ชายหนุ่มจะใช้โอกาสนี้ในการเรียบเรียงเรื่องราวในหัวเป็นตัวอักษรหน้าแล้วหน้าเล่า แล้วส่งเรื่องราวเหล่านี้ไปยังนิตยสารเพื่อหารายได้พิเศษมาเลี้ยงดูครอบครัว
จนกระทั่งวันหนึ่งเขาเขียนนิยายขนาดสั้นชื่อ Carrie เรื่องราวเกี่ยวกับเด็กสาวที่โดนรังแกจนเกินทานทน เธอค้นพบพลังวิเศษในตัวเองแล้วออกล้างแค้นทุกคนอย่างสาสม
และนั่นคือการก้าวเข้าสู่วงการน้ำหมึกอย่างเต็มตัวของ Stephen King ราชันย์แห่งหนังสือสยองขวัญเจ้าของผลงานหนังสือเฉียดร้อยเล่มและยอดขายกว่า 350 ล้านเล่มทั่วโลก
ด้วยสถานะระดับเซเล็บเช่นนี้ ต่อให้คุณเป็นคนขี้กลัว กลัวเลือด กลัวผี กลัวปีศาจ ยังไง้ยังไงคุณก็ต้องเคยได้ยินชื่อสตีเฟน คิงมาก่อน แถมต้องเคยเสพผลงานของเขาด้วย ไม่ผ่านทางตัวอักษรและหน้ากระดาษ ก็ผ่านจอทีวีที่บ้านหรือจอขนาดใหญ่ที่โรงภาพยนตร์ เพราะผลงานของคิงถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์และซีรีส์ให้แฟนๆ ได้ชมกันอย่างสม่ำเสมอ
อย่างในปี 2017 ปีเดียวก็มีผลงานของนักเขียนวัย 70 ปีออกสู่สายตาสาธารณะชนมากถึง 3 เรื่อง ได้แก่ IT ภาพยนตร์สยองขวัญเวอร์ว่าด้วยกลุ่มเพื่อนสนิทที่พยายามโค่นล้มเจ้าตัวตลกเพนนีไวส์, The Dark Tower ภาพยนตร์ไซไฟเกี่ยวกับคาวบอยนักแม่นปืนที่ออกเดินทางเพื่อตามหาหอคอยลึกลับ และ Mr. Mercedes ซีรีส์สืบสวนที่พาผู้ชมลุ้นระทึกว่าใครคือคนร้ายที่ขับรถเบนซ์พุ่งชนฝูงชน
สตีเฟน คิงเป็นหนึ่งในนักเขียนที่มีพรสวรรค์ติดตัวมาแต่กำเนิด แม้จะใช้เวลาพักใหญ่กว่าจะได้ก้าวเท้าเข้าวงการ แต่หนังสือเล่มแรกอย่าง Carrie (1974) ก็ทำให้ชายหนุ่มจากรัฐเมนคนนี้โด่งดังเป็นพลุแตก แถมยังได้รับค่าตอบแทนมากพอจะลาออกจากงานประจำมาอุทิศเวลาทั้งหมดให้กับการเขียนนิยาย โดยที่สามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้อย่างสบายๆ
ฟิกชั่นเล่มต่อๆ มาอย่าง Salem’s Lot (1975), The Shining (1977) และ The Stand (1978) ต่างการันตีชื่อเสียง เงินทอง และที่ทางของคิงในแวดวงน้ำหมึก เสน่ห์ของเขาอยู่ที่เรื่องราวเหนือจินตนาการ การดำเนินเรื่องอันระทึกขวัญ และการสร้างคาแรคเตอร์ตัวละครที่กลมและมีมิติ ยิ่งไปกว่านั้นคิงยังเป็นนักเขียนที่ไม่ได้จำกัดตัวเองอยู่ที่หมวดเขย่าขวัญ (horror) แบบที่นักวิจารณ์ส่วนใหญ่สบประมาท เพราะแม้กระทั่งเรื่องชวนสั่นประสาท (thriller) หรือเรื่องสืบสวนสอบสวนเขาก็เขียนมาแล้ว และเขียนได้ดีเสียด้วย
แม้เส้นทางชีวิตในฐานะนักเขียนของคิงจะดูเรียบง่ายและตรงไปตรงมา—เขียนหนังสือ ขายได้ เขียนหนังสือออกมาอีก—จนเหมือนไม่มีอะไรน่าพูดถึง แต่หากมองให้ลึกลงไปจะพบว่าเขาคือนักเขียนคนสำคัญที่เข้ามาท้าทายความเชื่อเดิมๆ ในแวดวงวรรณกรรม เดิมทีคนส่วนใหญ่มักมองว่านิยายสยองขวัญเป็นเพียงงานเขียนแมสๆ (popular fiction) ซึ่งด้อยค่ากว่าหมวดอื่นๆ ทั้งในเชิงคุณค่าทางวรรณศิลป์และคุณค่าที่มีต่อสังคม บางคนวิจารณ์รุนแรงถึงขั้นบอกว่ามีเพียงคนโง่ๆ เท่านั้นที่อ่านนิยายสยองขวัญ
“คนมักมองว่านิยายที่ขายดีเป็นนิยายห่วยๆ อย่างกับว่าหนังสือที่เข้าถึงคนส่วนใหญ่ได้เป็นหนังสือโง่ๆ เพราะคนส่วนใหญ่โง่ มันเป็นความคิดที่เหยียดชนชั้นเอามากๆ ซึ่งผมไม่เชื่ออะไรแบบนี้หรอก” คิงให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Rolling Stone
ในเรื่อง It (1986) บิล หนึ่งในสมาชิก Losers’ Club เติบโตขึ้นมาเป็นนักเขียนนิยายสยองขวัญ แม้เขาจะไม่ใช่ตัวละครเดียวของคิงที่ประกอบอาชีพนักเขียน แต่เรื่องราวชีวิตของบิลนั้นเหมือนกับชีวิตของคิงไม่มีผิด ตอนที่เรียนวิชาการเขียนสร้างสรรค์ อาจารย์และเพื่อนร่วมชั้นของบิลต่างดูถูกเรื่องสยองขวัญที่เขาเขียนมา บ้างว่ามันเหลวไหลและไม่ซีเรียสพอ บ้างว่ามันไม่ใช่วรรณกรรม (literature) ผู้เป็นอาจารย์ชิงชังผลงานของเด็กหนุ่มมากจนให้เกรด F กับเขาด้วยซ้ำไป ทั้งที่เรื่องที่บิลเขียนก็คือเรื่องราวการต่อกรกับเพนนีไวส์ ซึ่งมีอิทธิพลกับชีวิตวัยเด็กของเขามากๆ อีกทั้งในขณะที่บิลเขียน เขายังรู้สึกเหมือนได้อยู่ใน ‘flow’ ของการทำงานแบบที่คนเราจะเจอเวลาทำงานที่ใช่ด้วยซ้ำ
ในชีวิตจริงของนักเขียนผู้อยู่ในวงการมาแล้วกว่า 40 ปี แม้ว่าคิงจะได้รับรางวัลเกียรติยศอย่าง National Book Award จากประธานาธิบดีบารัค โอบามาแล้ว แต่นักวิจารณ์หลายคนก็ยังคงไม่ยอมรับในความสามารถของเขา หรือแม้กระทั่งยอมรับในคุณค่าที่ผลงานของคิงมีต่อผู้อ่านบางกลุ่ม (จริงๆ ที่ใช้คำว่าบางกลุ่มนี่อาจจไม่ถูกต้องนัก เพราะแฟนคลับคิงก็ไม่ใช่น้อยๆ) เพราะอย่างไรเสียเราก็ปฏิเสธไม่ได้หรอกว่าสิ่งที่ ‘แมส’ มีคุณค่าในตัวของมันเอง และการผลิตผลงานแมสๆ ได้ก็ต้องใช้พรสวรรค์ไม่ต่างจากการสร้างสรรค์ผลงานประเภทอื่นๆ หรอก
มีนักวิชาการหลายคนศึกษางานเขียนของคิงและสรุปคุณค่าที่เรื่องราวสยองขวัญมอบให้กับมนุษย์ เป็นต้นว่า เมื่อได้อ่านเรื่องน่าสยดสยอง คนเราจะได้ปลดปล่อยความรู้สึกแง่ลบที่เก็บกดเอาไว้ออกมา ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกลึกๆ ที่โหยหาความรุนแรง หรือความรู้สึกกลัวบางสิ่งบางอย่างอย่างแรงกล้า
ส่วนตัวคิงเองนั้นเคยอธิบายเรื่องทำนองนี้ไว้ในเรียงความเรื่อง Why We Crave Horror Movies (1984) โดยนักเขียนชื่อดังบอกว่า มนุษย์ทุกคนต่างต้องการความสยดสยองและความหวาดหวั่นที่สามารถควบคุมได้อย่างการดูภาพยนตร์สยองขวัญหรือการขึ้นรถไฟเหาะ เพราะมันเป็นเครื่องยืนยันว่าตัวเองนั้นไม่ได้ขี้ขลาดอย่างที่คิด
หากมองในมุมของเขาเองในฐานะผู้เขียน การเขียนเรื่องราวชวนขนลุกขนพองเช่นนี้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตอย่างแยกไม่ออก ทั้งยังเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เขามีสติสมประกอบ โดยคิงเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่าเขาเสพติดการเขียนมาก และต้องเขียนทุกวัน ไม่เช่นนั้นมันจะเริ่มกระทบชีวิตประจำวัน อีกทั้งเวลานอนหลับเขาก็จะเริ่มฝันประหลาดๆ “…ส่วนใหญ่ฝันไม่ค่อยดีเท่าไหร่หรอก เหมือนกับว่าเครื่องจักรหรือกลไกอะไรซักอย่างที่ต้องใช้เวลาเขียนนิยายมันไม่อยากหยุดพัก แล้วถ้ามันจะไม่ถ่ายทอดออกมาบนกระดาษ มันต้องถ่ายทอดออกมาเป็นอะไรซักอย่าง ผมเลยฝันบ้าๆ แบบนี้”
ส่วนตัวเราเองไม่ได้ชอบเรื่องราวสยองขวัญมากนัก แต่เท่าที่สัมผัสเราประทับใจที่คิงมักบอกผู้อ่านหรือผู้ชมว่า สิ่งที่น่ากลัวที่สุดไม่ใช่สัตว์ประหลาดหรือปีศาจที่ไหน แต่เป็นมนุษย์ด้วยกันเองต่างหาก อย่างในเรื่อง The Mist (1980) ที่คนทั้งเมืองหวาดกลัวสัตว์ประหลาดที่มากับหมอก แต่สุดท้ายแล้วผู้ที่เหลือรอดในซูเปอร์มาร์เก็ตกลับต้องแตกแยกและฆ่าฟันกันเองจากการยุแยงของเพื่อนมนุษย์ที่กระหายเลือดยิ่งกว่าสัตว์ประหลาดเสียอีก
หรือแม้กระทั่งในเรื่อง It (1986) ซึ่งเพิ่งปล่อยภาพยนตร์เวอร์ชั่นรีเมกออกมาในปีนี้ สิ่งมีชีวิตที่น่ากลัวที่สุดก็ไม่ใช่ตัวตลกเพนนีไวส์ แต่เป็นพ่อของเบเวอร์ลี่ต่างหาก—ใครเคยอ่านหรือเคยดูย่อมรู้ดี
ไม่ว่าคุณเองจะคิดว่าหนังสือหรือภาพยนตร์สยองขวัญมีคุณค่าหรือไม่ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่านักเขียนที่ผลิตผลงานออกมาต่อเนื่องตลอดเวลา 40 กว่าปี (และคงยังไม่หยุดในเร็ววันนี้) ไม่ใช่นักเขียนที่โลกใบนี้จะมองข้ามได้ง่ายๆ
เพราะคนแบบคิง ที่นำเอาความบ้าคลั่งและความสยองขวัญมาสร้างสรรค์เป็นผลงานที่ตอบสนองความต้องการลึกๆ ของมนุษย์ที่ต่างบิดเบี้ยวไม่ทางใดก็ทางหนึ่งคงไม่เกิดมาบนโลกบ่อยๆ หรอก
“ผมคิดว่าพวกเราทุกคนล้วนป่วยทางจิต เพียงแต่ว่าคนที่อยู่นอกสถานบำบัดเก็บอาการได้ดีกว่าเท่านั้นเอง” คิงกล่าวไว้เช่นนั้น
อ้างอิง
Magee, Richard. The Haunted Muse: Gothic and Sentiment in American Literature. Cambridge Scholars Publishing, 2016.