หลายคนอาจรู้สึกว่าอีโมจิเป็นผลิตผลของยุคนี้เอามากๆ เราเริ่มรู้จักกับมันก็เมื่อมีแก็ดเจ็ตสักเครื่องไว้ในครอบครองและสื่อสารกันสนุกมือ—อาจจะสักสิบปีที่แล้วอะไรอย่างนั้น แต่แท้จริง อีโมจิมีอายุมากว่า 20 ปีมาแล้วทีเดียว
ย้อนกลับไปปี 1999 Shigetaka Kurita พนักงานบริษัทเครือข่ายโทรศัพท์ NTT DoCoMo ผู้อยู่ในทีมพัฒนาแพล็ตฟอร์มอินเทอร์เน็ตบนมือถือ คิดค้นอีโมจิขึ้นมาเพื่อพัฒนาวิธีการสื่อสารของผู้ใช้มือถือชาวญี่ปุ่น โดยอิงจากประสบการณ์และความรู้สึกส่วนตัวที่ว่า ข้อความที่ประกอบด้วยตัวอักษรเพียงอย่างเดียวไม่สามารถถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์ได้อย่างครบถ้วน
“ตอนนั้นทุกอย่าง (ในมือถือ) ถูกแสดงผลเป็นข้อความทั้งหมด แม้กระทั่งพยากรณ์อากาศยังใช้ข้อความว่า ‘ดี’ ซึ่งผมคิดว่ามันเข้าใจยากเกินไป ถ้าเป็นการพยากรณ์อากาศในทีวีจะมีรูปภาพหรือสัญลักษณ์ต่างๆ ประกอบอยู่ด้วยเสมอ เช่น รูปพระอาทิตย์หมายถึง ‘แดดจัด’ แต่ส่วนตัวผมอยากเห็นรูปพระอาทิตย์มากกว่าข้อความที่เขียนว่า ‘ดี’ เสียอีก”
คุริตะนำเสนอไอเดียเรื่องอีโมจิกับบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่าง Fujitsu, Panasonic และ Sharp แต่ไม่มีใครสนใจ ชายหนุ่มจึงตัดสินใจฟอร์มทีมขึ้นมาเพื่อออกแบบอีโมจิด้วยตัวเอง โดยอีโมจิเซ็ตแรกของโลกมีทั้งหมด 176 คาแรกเตอร์ แต่ละตัวเล็กเพียง 12×12 พิกเซล เพื่อให้สามารถแสดงผลบนหน้าจอมือถือสมัยนั้นได้
เหตุนี้ผู้ใช้บริการเครือข่าย NTT DoCoMo จึงมีอีโมจิใช้ก่อนใคร (ทั้งนี้ ในช่วงแรกใช้ได้กับมือถือบางรุ่นที่ผู้ผลิตยินยอมร่วมมือด้วยเท่านั้น) แต่เมื่อได้ยินเสียงตอบรับที่ดีจากชาวญี่ปุ่น เครือข่ายโทรศัพท์อื่นๆ อย่าง SoftBank และ AU เลยหันมาออกแบบอีโมจิให้ลูกค้าของตนบ้าง ในประเทศญี่ปุ่นจึงมีอีโมจิหลายเซ็ตมากๆ
ซึ่งฟังดูเหมือนจะดีที่มีการแข่งขันอย่างเสรี แต่หากมองในเชิงเทคนิคมันไม่ใช่เรื่องดีเท่าไรนัก เพราะอีโมจิของเครือข่ายหนึ่งจะไม่สามารถแสดงผลบนอุปกรณ์ของอีกเครือข่ายได้ แม้ทุกวันนี้การแสดงผลจะเสถียรขึ้น แต่ประเทศต้นกำเนิดอีโมจิก็ยังคงไม่มีอีโมจิกลาง (ทำนองเดียวกับภาษากลาง) ที่ทุกคนใช้เหมือนกันหมดอยู่ดี
แต่หากบินข้ามโลกไปยังฝั่งตะวันตก Apple คือบริษัทที่คิดค้นสิ่งที่ใกล้เคียงกับอีโมจิกลางที่สุดขึ้นมา โดยในตอนแรกแอปเปิ้ลอยากจะเจาะตลาดมือถือในญี่ปุ่น (ซึ่งมีแบรนด์พื้นถิ่นที่แข็งแรงอยู่แล้ว) จึงตัดสินใจ ‘ซ่อน’ คีย์บอร์ดอีโมจิเอาไว้ในระบบปฏิบัติการ ซึ่งมีเพียงผู้ใช้ในแดนปลาดิบเท่านั้นที่สามารถเปิดใช้ได้ แต่ไม่นานเหล่ากีคในโลกตะวันตกก็หาวิธีเปิดมันออกมาใช้จนได้ แอปเปิ้ลจึงได้รู้ว่า จริงๆ แล้วไม่ใช่แค่คนญี่ปุ่นเท่านั้นที่ต้องการสื่อสารด้วยภาพและอารมณ์ แต่คนทั่วโลกต่างก็ต้องการอย่างเดียวกัน!
แล้วทำไมอีโมจิถึงเป็นที่นิยมในสากลโลกได้ถึงเพียงนี้? ต้องย้อนกลับไปดูที่การสื่อสารในชีวิตจริงของมนุษย์ เดิมทีเราไม่ได้สื่อสารด้วยคำพูดเพียงอย่างเดียวอยู่แล้ว แต่เราสื่อสารด้วยโทนเสียง สีหน้า ท่าทาง และภาษากายแบบอื่นๆ
Linda Kaye จาก Edge Hill University เจ้าของงานวิจัยเรื่อง Emoji: Insights, Affordances, and Possibilities for Psychological Science กล่าวว่า “ระบบประสาทมีการตอบสนองที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเทียบระหว่างการดูอีโมจิ และการไม่ดูอีโมจิ แสดงว่าอีโมจิเป็นรูปแบบหนึ่งของการสื่อสารที่ไม่ใช้ภาษา (non-verbal communication)”
เช่นนี้ บนโลกดิจิตัลที่คนเราไม่อาจเห็นหน้ากันและกันได้ (ไม่นับวิดีโอคอล) อีโมจิจึงเป็นดั่งตัวแทนสีหน้าและอารมณ์ของเรา ซึ่งช่วยให้คู่สนทนาตีความสารที่เราต้องการจะสื่อได้อย่างถูกต้อง
ยกตัวอย่างง่ายๆ สมมติว่าเพื่อนคนหนึ่งส่งข้อความมาหาเราว่า “วันนี้ฉันสะดุดล้มตรงป้ายรถเมล์” เราจะรู้แค่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ไม่รู้อารมณ์ความรู้สึกของเพื่อน แต่ถ้าเพื่อนเท็กซ์มาว่า “วันนี้ฉันสะดุดล้มตรงป้ายรถเมล์ ?” เราจะรู้ว่าเพื่อนมีความรู้สึกในแง่ลบ อาจจะเจ็บ อาย หรืออะไรก็แล้วแต่ ในทางกลับกัน ถ้าเพื่อนเท็กซ์มาว่า “วันนี้ฉันสะดุดล้มตรงป้ายรถเมล์ ?” เราจะรู้ว่าเพื่อนกำลังหัวเราะให้กับความซุ่มซ่ามของตัวเอง
แต่ก็ใช่ว่าอีโมจิตัวเดียวจะสื่อสารอารมณ์เดียวหรือตรงกันทั้งหมดสำหรับทุกคน มันก็ยังคงเว้นที่ว่างในการตีความ และเป็นเรื่องเร้นลับเล็กๆ สำหรับบางการสนทนาอยู่ดี ยิ่งในยุคที่อีโมจิพยายามจะครอบคลุมหลายพื้นที่ตั้งแต่ไข่ดาว อะโวคาโด ยันป้ายสัญลักษณ์ที่บางทีเราก็ไม่รู้ความหมายของมัน
ในฐานะชาวมิลเลนเนียลคนหนึ่ง เราเติบโตมาพร้อมๆ กับอีโมจิ จึงคุ้นชินกับการใช้มันแสดงอารมณ์ของตัวเอง รวมทั้งคุ้นชินกับการตีความอารมณ์ของคนอื่นๆ จากอีโมจิที่พวกเขาส่งมา จนอาจเรียกได้ว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตดิจิตัลที่เราขาดไม่ได้
แต่ถึงอย่างนั้นลึกๆ ในใจของเราก็ยังคงเชื่อมั่นในบทสนทนาดีๆ ที่ประกอบด้วยรูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัสของอีกฝ่าย เสียงหัวเราะอันเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละคน รอยยิ้มที่แตะไปถึงนัยน์ตา รายละเอียดแบบนี้ ไม่มีอีโมจิไหนทดแทนได้จริงๆ เสียมากกว่า
cover photo by freepik.com
อ้างอิง