อิโมจิถือเป็นสิ่งที่ผู้คนในปัจจุบันใช้กันอย่างแพร่หลาย เพราะสามารถใช้แทนการพิมพ์ข้อความได้ อย่างไรก็ดี เจ้าอิโมจิที่ดูไม่มีพิษมีภัยอะไรกลับทำให้ชาวนาแคนาดาคนหนึ่งถูกปรับ เพราะศาลชี้ว่า อิโมจิ ‘ยกนิ้วโป้ง 👍’ ถือเป็นลายเซ็นที่ยอมรับข้อตกลงในสัญญา
เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ผู้พิพากษาชาวแคนาดาตัดสินว่า อิโมจิยกนิ้วโป้งสามารถแสดงถึงการยอมรับข้อตกลงในสัญญาที่ไม่ต่างอะไรกับลายเซ็น ทำให้เกษตรกรรายหนึ่งต้องถูกปรับเงิน 61,442 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 2,159,194 บาท) เพราะไม่ทำตามสัญญา โดยศาลให้เหตุผลว่า “เราจำเป็นต้องปรับคดีให้เข้ากับวิธีการสื่อสารของผู้คนในยุคปัจจุบัน”
จุดเริ่มต้นของเรื่องราวดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม 2021 ที่รัฐซัสแคตเชวัน แคนาดา เมื่อบริษัทธัญพืชเจ้าหนึ่งออกประกาศว่า ต้องการซื้อพืชแฟลกซ์หรือปอ (flax) จำนวน 86 ตัน ในราคา 1712.73 ดอลลาร์สหรัฐฯ (60,188 บาท) ต่อบุชเชล
ต่อมา เคนท์ มิกเกิลโบโรห์ (Kent Mickleborough) ตัวแทนบริษัทได้พูดคุยกับเกษตรกรรายหนึ่ง นามว่า คริส อัคเตอร์ (Chris Achter) ทางโทรศัพท์ พร้อมทั้งส่งรูปภาพของสัญญาให้ทางแชท ซึ่งเนื้อหาในสัญญาระบุว่า ต้องส่งมอบพืชแฟลกซ์ภายในเดือนพฤศจิกายน ปี 2021 และมิกเกิลโบโรห์ยังพิมพ์ข้อความเสริมว่า “โปรดยืนยันสัญญา” ให้แก่อัคเตอร์
โดยอัคเตอร์เพียงตอบกลับมาว่า “👍” หลังจากนั้นเขาไม่ได้ส่งสินค้าให้แก่บริษัทดังกล่าวตามเวลาที่กำหนด ทำให้ตัวแทนบริษัทและเกษตรรายนี้ต่างโต้เถียงกันเกี่ยวกับความหมายของอีโมจิดังกล่าว ซึ่งมิกเกิลโบโรห์ระบุว่า เขาส่งเอกสารสัญญาให้และคิดว่าการตอบกลับด้วยอีโมจินี้คือการยอมรับเงื่อนไขของสัญญา
แต่ทางด้านอัคเตอร์แย้งว่า อิโมจิยกนิ้วโป้งหมายถึงว่าเขาได้รับสัญญาดังกล่าวแล้ว ไม่ใช่ว่าเขายินยอมและยอมรับข้อตกลงในสัญญา “ผมไม่เชื่อว่า อิโมจิยกนิ้วโป้งจะสามารถเป็นลายเซ็นดิจิทัลในสัญญาได้” และยังเสริมว่า “ผมไม่มีเวลาที่จะตรวจสอบสัญญาดังกล่าว แต่ต้องการระบุว่าได้รับข้อความที่ส่งมาแล้วก็เท่านั้น”
ถัดมาในช่วงการพิจารณาคดี ทนายความของอัคเตอร์ คัดค้านคำถามที่ถามเกี่ยวกับความหมายของการยกนิ้วโป้ง โดยแย้งว่าอัคเตอร์ “ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านอิโมจิ”
อย่างไรก็ดี ผู้พิพากษา ทิโมธี คีน (Timothy Keene) ใช้คำจำกัดความของอิโมจิยกนิ้วโป้งจาก dictionary.com โดยเขาระบุว่า “ผมทราบดีว่าอิโมจิไม่ใช่วิธีดั้งเดิมในการ ‘เซ็น’ เอกสาร แต่อย่างไรก็ตาม ภายใต้บริบทของสังคมปัจจุบัน อิโมจิยกนิ้วโป้งก็ถือเป็นอีกหนึ่งวิธีในการสื่อถึงการยินยอมไม่ต่างอะไรกับลายเซ็น”
ทั้งนี้ มีกลุ่มคนบางส่วนค่อนข้างกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยที่ตัดสินให้อีโมจิยกนิ้วโป้งแสดงถึงการยอมรับ โดยมีความคิดเห็นบางส่วนระบุว่า “ผลการตัดสินของคดีนี้จะนำไปสู่การตีความใหม่ของอิโมจิอื่นๆ โดยเฉพาะอีโมจิ ‘กำปั้นกระแทก 👊’ และ ‘จับมือ 🤝’ เพราะอิโมจิเหล่านี้ก็มีความหมายว่าตกลงและยอมรับเช่นกัน”
นอกจากนี้ คีนกล่าวปิดท้ายว่า “ศาลไม่สามารถและไม่ควรขัดขวางกระแสความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี นอกจากนี้ ยังต้องพร้อมรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ เหมือนกับกรณีนี้”
อ้างอิงจาก