เมื่อพูดถึง นิวัต พุทธประสาท เรามักนึกถึงหนังสือ
เหตุผลอย่างแรกคือเขาเป็นนักเขียนที่มีหนังสือรวมเรื่องสั้นและนวนิยายรวมกัน 11 เล่ม หนังสือเล่มแรกของเขา—วิสัยทัศน์แห่งปรารถนาและความตาย ตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2539 ส่วนนวนิยายเล่มล่าสุด—กายวิภาคของความเศร้า เพิ่งถูกตีพิมพ์ไปเมื่อปีที่ผ่านมา
อย่างที่สองคือเขาเป็นบรรณาธิการสำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรม สำนักพิมพ์ที่มุ่งผลิตหนังสือแนวเรื่องแต่ง และให้โอกาสนักเขียนทุกรุ่นได้โชว์ฝีไม้ลายมือมานานถึง 21 ปี
อย่างที่สามคือเขาเป็นเจ้าของ Alternative Writers บูธขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่ในงานสัปดาห์หนังสือฯ ที่เปิดพื้นที่ให้สำนักพิมพ์ขนาดย่อมหรือใครคนไหนที่ลงทุนทำหนังสือเองสามารถนำผลงานมาวางขายได้
สามย่อหน้าข้างต้นคือบทบาทของนิวัตที่เรารู้จักก่อนหน้านี้ ส่วนย่อหน้านี้ เป็นบทบาทใหม่ล่าสุดที่เขาเพิ่งได้รับมา นิวัตลงสมัครเป็นกรรมการสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ และเพิ่งถูกเลือกให้เป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการชุดใหม่ที่จะขับเคลื่อนวงการไปอีกอย่างน้อยสองปี
ไม่ว่าทำอะไร นิวัตเวียนวนอยู่แต่ในสิ่งที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ การพูดคุยในครั้งนี้เลยไม่จำเป็นต้องมีเรื่องอื่น เราคุยกันแต่ในเรื่องที่เกี่ยวกับหนังสือเท่านั้น
Life MATTERs : ทำไมคุณถึงลงสมัครเป็นกรรมการสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ
นิวัต : ตอนแรกก็ไม่ได้คิดจะสมัครนะครับ พอดีคุณตุ๊ก (สุชาดา สหัสกุล) ที่ลงสมัครนายกฯ สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ (ในเวลาต่อมา คุณสุชาดาถูกเลือกให้เป็นนายกฯ—Life MATTERs) ชวนให้สมัครเลยมาคิดอยู่หนึ่งคืน
ผมไม่เคยมีประสบการณ์บริหารองค์กร แต่คิดว่ามันอาจเป็นการก้าวข้ามที่เปลี่ยนผ่านจากการบริหารสำนักพิมพ์หรือสิ่งที่เราพอทำได้ให้ไปสู่การทำงานแบบจริงๆ โดยผลักดันทุกอย่างภายใต้การทำงานขององค์กร เช่น ผลักดันโครงการต่างๆ ที่เคยมีอยู่ หรือเพิ่มโครงการใหม่ๆ ที่น่าสนใจให้เป็นรูปธรรม ซึ่งการเป็นกรรมการมันก็แค่สองปีเท่านั้น เวลาเท่านี้ก็น่าจะทำให้พอรู้ตัวว่าเราสามารถเข้ามาทำงานแบบนี้ได้มั้ย ทนแรงเสียดทาน หรือต่อสู้กับสิ่งที่เกิดขึ้นได้หรือเปล่า ผมเลยอยากลองดูว่ามันจะเปลี่ยนสถานะของเราไปสู่ผู้บริหารองค์กรได้มั้ย
คิดว่าเราอยู่ในแวดวงวรรณกรรมมา ก็พอรู้ว่าจะทำอะไรกับแวดวงนี้ได้บ้าง ถ้าได้ไปช่วยสมาคมฯ หรือช่วยกรรมการท่านอื่นๆ ก็น่าจะได้ช่วยกันแชร์ไอเดียในองค์กรที่เขาขับเคลื่อนงานจริงๆ ได้
Life MATTERs : ลังเลมั้ยครับ
นิวัต : ลังเลครับ เลยปรึกษาแฟน คุณหมู (ปรียา พุทธประสาท) บอกแล้วแต่ ก็เลยลอง (หัวเราะ) ผมเป็นคนชอบต่อสู้ ก่อนลงสมัครก็ไม่ค่อยมั่นใจเท่าไหร่ว่าจะทำงานได้เต็มที่หรือเปล่า แต่คิดว่าเราอยู่ในแวดวงวรรณกรรมมา ก็พอรู้ว่าจะทำอะไรกับแวดวงนี้ได้บ้าง ถ้าได้ไปช่วยสมาคมฯ หรือช่วยกรรมการท่านอื่นๆ ก็น่าจะได้ช่วยกันแชร์ไอเดียในองค์กรที่เขาขับเคลื่อนงานจริงๆ ได้
Life MATTERs : ตั้งใจลงสมัครเพื่อผลักดันแวดวงวรรณกรรมโดยเฉพาะ?
นิวัต : น่าจะเป็นแบบนั้น เพราะธุรกิจหรือการผลักดันด้านอื่นๆ ผมอาจไม่ถนัด แต่ผมมีประสบการณ์การผลักดันด้านวรรณกรรมอยู่ ผมรู้ว่าคนอ่านต้องการอะไร รู้ว่าคนทำหนังสือที่เป็นคนทำวรรณกรรมต้องการอะไร ผมเห็นภาพของสำนักพิมพ์เล็กๆ โรงพิมพ์เล็กๆ หรือร้านหนังสือเล็กๆ ค่อนข้างชัดเจน ผมรู้ว่ามันเกิดปัญหาอะไรขึ้นบ้าง เลยคิดว่าสามารถช่วยแชร์ประสบการณ์ของเราไปสู่องค์กรได้ นี่เลยเป็นจุดหมายหนึ่งที่ผมคิดว่าน่าจะเป็นเฟืองสำคัญ
Life MATTERs : ปัญหาที่คุณเห็นคืออะไร
นิวัต : โอกาสครับ โอกาสของสำนักพิมพ์เล็กค่อนข้างน้อยกว่าสำนักพิมพ์ใหญ่ ไม่ว่าจะเรื่องการทำหนังสือที่บางทีเรามีทุนทำหนังสือแค่ 4-5 เล่มต่อปี ซึ่งถ้าเทียบกับสำนักพิมพ์ใหญ่ จำนวนเล่มเท่านี้ถือว่าน้อยมาก แล้วในจำนวน 5 เล่มนี้ สำนักพิมพ์เล็กยังไม่สามารถปล่อยให้หนังสือเล่มใดเล่มหนึ่งขาดทุนได้ แต่ปัญหาก็คือเราจะผลักดันหนังสือทั้ง 5 เล่มนี้ไปสู่คนอ่านได้ยังไง ต้องทำวิธีไหนหนังสือจะได้ถึงมือคนอ่านถูกกลุ่มเป้าหมาย เพราะผมเชื่อว่าหนังสือทุกเล่มที่สำนักพิมพ์เล็กๆ ทำออกมามันมีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน และถ้าสามารถส่งเสริมให้ไปถึงกลุ่มเป้าหมายจริงๆ ได้ สำนักพิมพ์เล็กๆ ก็จะมีโอกาสเติบโตขึ้นมา
ยังมีเรื่องช่องทางการขายที่บางทีเราคิดว่าไปฝากสายส่งแล้วจะมีปัญหา แต่ความจริง เวลาเราไปฝากร้านค้าเองก็มีปัญหาเหมือนกัน ผมเลยมาคิดว่าเราลดขั้นตอนการฝากขายได้มั้ย หรือลดขั้นตอนต่างๆ ที่มันยุ่งยากได้หรือเปล่า ถ้าสำนักพิมพ์เล็กไม่สามารถที่จะเข้าไปจัดการเรื่องเอกสารหรือเดินทางไปเก็บหนังสือในที่ไกลๆ หรือเก็บเช็คจากแต่ละร้านได้ จะมีวิธีแก้ปัญหาบ้างมั้ย
ผมว่านี่เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายน่าจะได้คุยและหาทางออกร่วมกันว่าทางสำนักพิมพ์ ร้านหนังสือ หรือสายส่งใหญ่ๆ จะสามารถลดขั้นตอนของการจัดการเหล่านี้ได้มั้ย เพื่อให้สำนักพิมพ์เล็กหรือไม่ว่าใครก็ตามได้มีโอกาสเอาหนังสือไปขายในร้านที่เราก็อยากจะวาง แต่ไม่สามารถวางขายได้
Life MATTERs : ร้านหนังสือยังสำคัญอยู่มั้ย
นิวัต : สำคัญอยู่ครับ การที่เราทำหนังสือออกมานั้น ไม่มีทางเลยที่จะไม่วางขายในร้านหนังสือ ร้านหนังสือยังเป็นด่านหน้าที่สำคัญที่สุดสำหรับการทำหนังสือ ไม่ใช่แค่ร้านอิสระเท่านั้น ร้านเชนสโตร์ต่างๆ ก็มีความสำคัญเหมือนกัน
ร้านหนังสือทุกร้านมีความสำคัญกับทุกสำนักพิมพ์ โดยเฉพาะสำนักพิมพ์เล็กยังต้องพึ่งพาร้านหนังสือแน่ๆ จะขายออนไลน์อย่างเดียวก็ไม่ใช่ หรือจะไปวางขายตามงานสัปดาห์หนังสือฯ อย่างเดียวก็ไม่พอนะฮะ กลุ่มคนอ่านมันไม่พอต่อการที่เราผลิตหนังสือออกมา สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ก็อยากเพิ่มช่องทางกระจายหนังสือเข้าร้านใหญ่ๆ ให้ทุกสำนักพิมพ์มากขึ้น แต่ขณะเดียวกัน เราก็ต้องกระตุ้นร้านหนังสือใหญ่ๆ ด้วยว่าต้องขายแบบไหน ซึ่งผมว่าถ้าได้คุยกันก็จะเข้าใจว่าสำนักพิมพ์ต้องการอะไร ร้านหนังสือใหญ่ๆ ต้องการอะไร หรือสำนักพิมพ์ต้องการอะไร แล้วร้านหนังสือเล็กๆ ต้องการอะไร มันต้องเกิดการพูดคุยอย่างเป็นเรื่องเป็นราวก่อนแล้วค่อยมาหาทางปรับแก้ร่วมกัน
เราพบว่าร้านหนังสือบางร้านขาดทุนจนอาจต้องเพิ่มสินค้าที่ไม่ใช่หนังสือมาขาย ส่วนสำนักพิมพ์เล็กก็ลดยอดพิมพ์ลงไปสูงมากเหมือนกัน จากที่เคยพิมพ์ 3,000 เล่มเหลือ 2,000 เล่มหรือ 1,000 เล่ม มันก็เป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกจุดหรอก ทุกคนแค่เอาตัวรอดกันไประดับหนึ่งก่อน
Life MATTERs : แต่เรื่องเหล่านี้ดูเป็นปัญหาสำหรับสำนักพิมพ์และร้านหนังสือมานานแล้ว
นิวัต : ใช่ครับ และเราก็แก้ปัญหานี้กันคนละส่วน เวลาร้านหนังสือใหญ่ๆ หรือสายส่งใหญ่ๆ เกิดวิกฤตหรือปัญหาทางด้านการเงิน เขาก็อาจลดราคาหนังสือ จัดโปรโมชั่น หรือถ้ามีปัญหาด้านการสต็อกหนังสือก็เทสต็อกลดหนังสือให้หมดไป ส่วนสำนักพิมพ์เล็ก เวลาพบว่าหนังสือเล่มไหนขายไม่ได้ เราก็จะหาวิธีการแก้ปัญหา หนึ่งในนั้นคือลดยอดพิมพ์ลงมาให้มันพอดีกับยอดขาย วิธีการเหล่านี้คือการแก้ปัญหาเฉพาะส่วน ต่างคนต่างแก้ปัญหาของตัวเอง ทั้งที่จริงๆ ปัญหามันอาจจะเชื่อมโยงกับส่วนอื่นๆ ของการทำหนังสือด้วย แต่ไม่เคยมีครั้งไหนที่สายส่ง ร้าน และสำนักพิมพ์มานั่งคุยกันว่าเราต้องแก้ปัญหาร่วมกันมั้ย
ผมว่าปัญหานี้เกิดมาเป็นเวลานานเกือบสิบปี แต่ก็ยังไม่ได้รับการแก้ให้ถูกจุดจริงๆ ยังไม่มีการร่วมมือกันอย่างจริงจังนัก มันเลยเป็นปัญหาที่สะสมมา จนวันนี้เราพบว่าร้านหนังสือบางร้านขาดทุนจนอาจต้องเพิ่มสินค้าที่ไม่ใช่หนังสือมาขาย ส่วนสำนักพิมพ์เล็กก็ลดยอดพิมพ์ลงไปสูงมากเหมือนกัน จากที่เคยพิมพ์ 3,000 เล่มเหลือ 2,000 เล่มหรือ 1,000 เล่ม มันก็เป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกจุดหรอก ทุกคนแค่เอาตัวรอดกันไประดับหนึ่งก่อน
Life MATTERs : แบบนี้นักเขียนอยู่ได้มั้ย
นิวัต : ผมเคยคิดโมเดลหนึ่งขึ้นมา แต่ยังไม่สามารถทำได้ คือปกติเราจ่ายค่าลิขสิทธิ์ตามยอดพิมพ์ เลยคิดว่าถ้าเราพิมพ์ 1,000 เล่ม แต่จ่ายค่าลิขสิทธิ์โดยคิดว่ายอดพิมพ์คือ 2,000 เล่มเลยดีมั้ย ซึ่งในทางปฏิบัติยังทำไม่ได้
ในฐานะที่เม่นวรรณกรรมก็เป็นสำนักพิมพ์เล็ก นี่ก็เป็นเรื่องที่ผมคิดมากคิดหนัก ทุกครั้งที่นักเขียนตกลงปลงใจส่งต้นฉบับมา ผมจะบอกเขาก่อนเลยว่าพิมพ์ไม่มากนะ ถ้าเขายอมรับได้ก็โอเค ซึ่งผมก็ไม่อยากจะพูดแบบนั้นหรอก เพราะว่าถ้าเขาไปพิมพ์กับที่อื่นก็อาจจะได้ สามหรือสี่พันเล่ม แต่ผมคิดว่าพูดกันไว้ก่อนเลยจะได้เข้าใจ
Life MATTERs : การพิมพ์หนังสือน้อยลงมีปัจจัยจากอะไรบ้าง
นิวัต : อย่างหนึ่งคือเรื่องของการแบกสต็อก เมื่อก่อนผมก็เคยพิมพ์ 2,000-3,000 เล่ม พอทำหนังสือได้ประมาณสามปี ได้หนังสือกลับมาจากสายส่งกองมหาศาลเลย หมายความว่าเราต้องแบกหนังสือจำนวนนั้นไว้กับตัว ซึ่งถ้าไม่มีสต็อกใหญ่ๆ แล้วทำหนังสือต่อไปเรื่อยๆ มันก็จะเพิ่มพูนขึ้น
ทีนี้ เวลาได้หนังสือกลับมาจากสายส่งหรือร้านหนังสือ สภาพของมันก็ไม่ใช่หนังสือใหม่แล้ว เวลาเอาไปวางขายก็ดูเป็นหนังสือเก่าเก็บ คุณค่าของมันลดลงพอสมควร เป็นเรื่องที่น่าเศร้าและยังหาทางออกไม่ค่อยได้ คิดว่าเรื่องนี้คงต้องไปคุยกับร้านหรือสายส่งว่าสามารถเพิ่มยอดขายให้เราได้แค่ไหน เพราะผมก็อยากพิมพ์หนังสือให้มากขึ้น นักเขียนเองจะได้เงินเพิ่มขึ้นด้วย ผมก็ไม่อยากกดจำนวนยอดพิมพ์ให้มันต่ำหรอก ไม่มีประโยชน์ ผมอยากให้ทุกคนมีความสุขกับการทำงาน นักเขียนเองก็ไม่ใช่เครื่องจักร บางเล่มเขียนตั้งสองปี เขาก็อยากได้ผลตอบแทนที่มูลค่าสูงด้วยเหมือนกัน
Life MATTERs : แต่การเพิ่มยอดพิมพ์ก็ไม่ได้ช่วยการันตียอดขายหรือเปล่า
นิวัต : อันนี้ต้องคุยกันเลย เป็นเรื่องที่ยังไม่เคยได้รับคำตอบจากร้านใหญ่ๆ ว่าจะเพิ่มยอดขายให้เราได้มั้ย ถ้าได้เราก็อาจเพิ่มยอดพิมพ์ขึ้น
Life MATTERs : ถ้าพูดถึงแค่วรรณกรรม คุณคิดว่ากลุ่มคนอ่านแนวนี้มีมากน้อยแค่ไหน เติบโตขึ้นบ้างหรือเปล่า
นิวัต : คนชอบพูดกันว่าคนอ่านหนังสือในเมืองไทยมันน้อย แต่พอถึงงานสัปดาห์หนังสือฯ เราก็จะเห็นกลุ่มคนอ่านที่เยอะพอสมควร ผมเลยคิดว่าเราต้องแยกเป็นประเภทไป กลุ่มคนอ่านวรรณกรรมเองถือว่าเติบโตขึ้นบ้าง แต่ก็ช้ากว่าหนังสือหลายๆ ประเภท
Life MATTERs : เฉพาะวรรณกรรมไทย หรือรวมถึงต่างประเทศด้วย?
นิวัต : วรรณกรรมต่างประเทศยังมีตลาดมากกว่านะครับ เราสามารถรู้ได้ว่านักเขียนคนนี้กำลังดังมากในตลาดโลก หนังสือเล่มนี้กำลังถูกสร้างเป็นหนัง ก็ซื้อลิขสิทธิ์มาจัดพิมพ์ซะ บางเล่มก็ได้ผล เพราะมันมีการโฆษณาทั่วโลกอยู่แล้ว แต่สำหรับวรรณกรรมไทย สมมติเราพิมพ์หนังสือของนักเขียนรุ่นใหม่ออกมา เราต้องสร้างเขาขึ้นมาจากศูนย์ ผมว่าวงการหนังสือก็เหมือนกับธุรกิจเพลงไทยที่บางคนบอกว่ากูไม่ฟังเพลงไทยแล้วนั่นแหละครับ การผลักดันนักเขียนก็เป็นเรื่องยากขึ้น
อีกอย่างคือนักเขียนวรรณกรรมไทยยังน้อยอยู่ ตลาดเลยเติบโตช้า แล้วนักเขียนบางคนกว่าจะมีนักอ่านรู้จักจำนวนมากก็ต้องได้รับรางวัลใหญ่ๆ ก่อน คนถึงจะรู้ว่ามีนักเขียนคนนี้อยู่ในโลก ทั้งที่จริงๆ เขาทำงานมาก่อนหน้านั้นตั้งนาน
จริงอยู่ว่าส่วนหนึ่งก็เพราะการตลาดของวรรณกรรมมันไปไม่ถึงคนอ่านทั่วไป แต่ก็มีปัจจัยอีกหลายอย่างที่เป็นอุปสรรคและเรายังไม่สามารถแก้ไขได้ วงการวรรณกรรมไทยเลยเติบโตช้า เติบโตได้ไม่ทันพอที่จะผลิตออกมาได้สม่ำเสมอ
Life MATTERs : เป็นเพราะคนทำน้อยด้วยหรือเปล่า
นิวัต : จริงๆ สำนักพิมพ์เล็กเกิดขึ้นเยอะนะฮะ แต่ว่าก็ตายลงไปเยอะเหมือนกัน
Life MATTERs : เหมือนอยู่ได้ช่วงหนึ่งแล้วก็หายไป
นิวัต : ใช่ครับ การที่สำนักพิมพ์ไม่ได้ทำงานต่อเนื่องก็ถือเป็นปัญหาหนึ่งเหมือนกัน แต่บางเล่มมันก็เจ๊งจริงๆ แล้วบางสำนักพิมพ์ก็อาจทุนหมด ซึ่งพอทุนหมด เขาก็ไม่สามารถไปหาทุนมาต่อยอดได้ก็ต้องเลือกแล้วว่าจะทำต่อหรือหยุดไป แล้วถ้าทำต่อก็ไม่รู้จะได้เงินคืนหรือเปล่าด้วย
สำนักพิมพ์ที่ทำต่อเนื่องมาเกินสิบปีเลยมีน้อยมาก ยิ่งถ้าเป็นวรรณกรรมด้วยแล้ว นับจริงๆ ไม่น่าเกิน 20-30 สำนักพิมพ์ ซึ่งถือว่าน้อยมาก และอย่างที่บอกว่าวรรณกรรมเติบโตช้าอยู่แล้ว พอเจอแบบนี้ก็ยิ่งเติบโตช้าไปอีก
Life MATTERs : แต่ช่วงหลังก็เหมือนวรรณกรรมได้ความนิยมมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการขายออนไลน์ด้วยหรือเปล่า
นิวัต : ผมเห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งว่าช่องทางการโปรโมตหรือการเข้าถึงตัวคนอ่านดีกว่าเมื่อก่อนเยอะมาก ถ้าเป็นแต่ก่อน ช่องทางที่จะบอกว่ามีหนังสือเล่มใหม่ สำนักพิมพ์นี้มีนักเขียนคนใหม่ เราต้องส่งหนังสือไปให้สำนักพิมพ์หรือนิตยสารรายสัปดาห์รีวิว คนถึงจะรู้กัน ซึ่งมันต้องใช้ระยะเวลาประมาณหนึ่ง บางทีเป็นเดือนถึงจะได้ลง แล้วกว่าจะได้ลง หนังสือมันก็ไปวางที่ร้านก่อนหน้านี้แล้ว กว่าคนอ่านทั่วประเทศจะรู้ว่ามีหนังสือเล่มนี้เกิดขึ้น เขาก็ออกไปซื้อไม่ทัน หนังสือถูกเก็บจากแผง เพราะมันมีเวลาวางไม่นานนัก
แต่ยุคนี้ ทุกคนรู้แล้วว่าจะมีหนังสือเล่มนี้ออกตั้งแต่ก่อนเข้าโรงพิมพ์ สามารถสั่งซื้อล่วงหน้าได้ สำนักพิมพ์ก็อาจให้ส่วนลดเพิ่มขึ้นสำหรับคนอ่านที่สั่งซื้อตั้งแต่ยังไม่เห็นรูปเล่ม ไม่เห็นว่าหนังสือเล่มนี้เขียนว่าอะไร ดีหรือไม่ดี ซึ่งก็ถือเป็นจุดที่ดีเหมือนกัน เพราะมันก็ทำให้สำนักพิมพ์เล็กๆ ได้เงินก้อนหนึ่งไปจ่ายให้นักเขียนหรือโรงพิมพ์ ไม่ต้องควักเนื้อตัวเองออกมามากนัก แล้วมันก็เข้าถึงผู้อ่านหรือกลุ่มเป้าหมายได้เร็วกว่าเมื่อก่อน ผมคิดว่าถ้าทำกันดีๆ การขายออนไลน์ก็จะเป็นผลดีมากกว่า
Life MATTERs : คิดว่าเป็นโมเดลที่น่าปรับใช้?
นิวัต : ทางสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ก็คุยเรื่องนี้กันอยู่ครับ เราคิดว่าออนไลน์น่าจะเกือบเป็นนโยบายหลักที่อยากให้สำนักพิมพ์ต่างๆ ปรับปรุงเรื่องเพื่อจะได้เพิ่มจำนวนยอดขาย และสมาคมฯ ก็อยากผลักดันให้แต่ละสำนักพิมพ์เข้าใจเรื่องออนไลน์มากขึ้นด้วย
Life MATTERs : ถึงขั้นอยากให้แต่ละสำนักพิมพ์ขายเองเลยหรือเปล่า
นิวัต : ขายเองก็ได้ครับ แต่จริงๆ ผมอยากให้ร้านหนังสือเป็นตัวแทนการจัดจำหน่ายมากกว่า เรื่องนี้คนอื่นอาจคิดอีกแบบ บางคนอาจคิดว่าสำนักพิมพ์ถ้าขายเองก็ได้เปอร์เซนต์มากกว่า แต่ผมอยากได้ตัวกลางที่เป็นคนขายหนังสือหรือสายส่ง สำนักพิมพ์อย่างเราจะได้ทำหนังสือเป็นหลัก มุ่งผลิตคอนเทนต์อย่างเดียว ร้านหรือสายส่งก็ทำมาร์เก็ตติ้งแทนเราไป …นี่เป็นความฝันนะ (หัวเราะ)
ถ้ามองเฉพาะวงการวรรณกรรม สำนักพิมพ์อินดี้ถือเป็นกองหน้าเลยนะครับ พวกเขาทำให้หนังสือมีภาพสดใหม่ อย่างพวกสำนักพิมพ์น้องๆ ที่เขียนเองพิมพ์เองออกมา ผมเห็นแล้วได้แต่ทึ่งว่าคิดได้ไง แม่งเจ๋งมาก
Life MATTERs : ตอนที่ลงสมัครเป็นกรรมการ คุณมีนโยบายว่า ‘สำนักพิมพ์อินดี้ก็เป็นสีสันได้’ สีสันที่คุณว่าคืออะไร
นิวัต : สำนักพิมพ์เล็กหรือสำนักพิมพ์อินดี้ไม่ได้เป็นสีสันครับ แต่ว่าเป็นตัวหลัก คือถ้ามองเฉพาะวงการวรรณกรรม สำนักพิมพ์อินดี้ถือเป็นกองหน้าเลยนะครับ พวกเขาทำให้หนังสือมีภาพสดใหม่ อย่างพวกสำนักพิมพ์น้องๆ ที่เขียนเองพิมพ์เองออกมา ผมเห็นแล้วได้แต่ทึ่งว่าคิดได้ไง แม่งเจ๋งมาก ถ้าเป็นเราอาจไม่กล้าพิมพ์ด้วยซ้ำ บางทีผมอาจแก่เกินไป (หัวเราะ) แต่พูดตามตรง เวลาเห็นเด็กรุ่นใหม่ทำอะไรที่ดูเหมือนยังไม่พร้อม แล้วมันเจ๋งออกมา ผมจะเห็นประกายของมัน
ผมคิดว่าหนังสือที่นักเขียนรุ่นใหม่ๆ พิมพ์เองขายเอง หรือหนังสือของสำนักพิมพ์อินดี้ต่างๆ ทำให้เกิดสีสันบางอย่างขึ้น พวกเขาทำหนังสือแปลกๆ หนังสือที่ไม่มีเนื้อหาอยู่ในตลาดออกมา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถ้าเป็นสำนักพิมพ์ใหญ่ก็อาจไม่ทำกัน เขาอาจคิดแล้วว่าทำไปก็ไม่คุ้ม แต่พอเป็นอินดี้ก็จะไม่ค่อยคิดเรื่องตลาดขนาดนั้น เราคิดแค่ว่างานแบบนี้มันเจ๋ง คุ้มค่ากับการที่จะทำออกมาให้คนอ่าน ไม่ได้สนใจหรอกว่าหนังสือเล่มนี้จะอยู่ได้เป็นร้อยๆ ปีมั้ย ถึงเวลาออกก็ต้องออก แม้มันจะยังขาดนั่นนิดนี่หน่อย แต่สิ่งเหล่านี้คือความสด
Life MATTERs : สดแล้วดีหรือไม่ดี
นิวัต : สดมันต้องดีกว่าอยู่แล้ว พี่สุชาติ สวัสดิ์ศรีเคยพูดว่า ระหว่างให้แลกความสดใหม่กับความชำนาญ เขาจะเลือกความสด ซึ่งผมในตอนนั้นเป็นนักเขียนหนุ่มที่ไม่เข้าใจว่าทำไมพี่สุชาติถึงเลือกความสด ผมอยากเขียนเก่งๆ อยากมีความชำนาญมากกว่า แต่พอถึงเวลานี้ ผมอายุ 45 เออ ความสดแม่งสำคัญฉิบหายเลย เพราะว่าพอเราขาดความสด เราก็จะกลัว เขียนแบบนี้ดีหรือเปล่าวะ คิดอยู่อย่างนั้น ทั้งที่เมื่อก่อนก็เขียนแบบนี้แหละ (หัวเราะ)
การคิดมากขึ้นจะทำให้เราขัดเกลาให้กลมกลืนขึ้น ซึ่งก็ดีนะ แต่มันก็จะขาดความสดหรือความไม่ต้องคิดมากไป ความสดมันมีเสน่ห์บางอย่าง และมันจะเผยให้เราเห็นถึงตัวตนของเราในเวลานั้น ลองไปอ่านรวมเรื่องสั้นเล่มแรกของนักเขียนทุกคนสิครับ มันจะเห็นอะไรบางอย่างในตัวนักเขียนคนนั้นที่น่าสนใจกว่าในยุคหลังอีก
Life MATTERs : เพราะแบบนี้หรือเปล่า คนเราถึงไม่ค่อยกล้ากลับไปอ่านงานตัวเอง
นิวัต : แน่นอนครับ เพราะมันเห็นความเว้าแหว่งของตัวเองในเวลานั้น แต่ถ้าถามว่าให้เรากลับไปเขียนแบบนั้นอีกได้มั้ย ก็อย่างที่บอก ไม่ว่ายังไงคุณก็ไปหาความสดแบบนั้นไม่ได้อีกแล้ว คุณจะไม่สามารถเขียนอะไรแบบนั้นได้อีก ทั้งแนวทาง ความคิด หรือว่าวิธีการเขียน มันไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป คุณทำงานผ่านไปสิบปียี่สิบปี กาลเวลาได้ขัดเกลาคุณมา จนคุณเปลี่ยนไปตามยุคสมัย เอาง่ายๆ แค่ภาพถ่ายเก่าๆ เรายังไม่อยากจะเห็นเลย งานเก่ายิ่งไม่ต้องพูดถึง แต่มันก็เป็นความสดจริงๆ เวลากลับไปอ่านก็จะคิดว่า เออ มันเขียนได้ไงวะ (หัวเราะ)
Life MATTERs : คุณคิดว่าความสดใหม่พวกนี้จะทำให้สำนักพิมพ์อินดี้ยืนระยะกันได้ตลอดรอดฝั่งมั้ย
นิวัต : จะมีบางคนรอด แล้วบางคนก็ต้องหายไปเป็นเรื่องปกติ บางคนออกเล่มเดียวแล้วอาจรุ่ง กลายเป็นสำนักพิมพ์มาแรงเลยก็ได้ ทั้งหมดขึ้นอยู่กับการยืนระยะและเงินทุน อันนี้บอกตรงๆ เลยว่าเวลามาทำสำนักพิมพ์มองแค่เรื่องการทำหนังสือกับคอนเทนต์อย่างเดียวไม่ได้ มันมีเรื่องของเงินทุนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แล้วคุณก็ต้องต้องบาลานซ์ทั้งสองฝ่ายให้ได้ ถ้าออกเล่มนี้เจ๊ง เล่มหน้าก็ต้องคิดหนักแล้ว
Life MATTERs : จะมีการพูดคุยเรื่องนี้กับสำนักพิมพ์อินดี้หรือเปล่า
นิวัต : มีพี่คนหนึ่งบอกไว้ว่า เวลามีคนอยากทำหนังสือ โดยเฉพาะเด็กวัยรุ่น คนรุ่นใหม่ คุณห้ามเขาไม่ได้ (หัวเราะ) อยากจะออกก็ต้องให้ออกครับ แล้วเขาก็จะเห็นภาพทั้งหมดเอง ถ้าเขาพร้อมทั้งภาวะของตัวคอนเทนต์ ภาวะของตัวคนทำ จิตใจที่แข็งแกร่ง เงินทุนที่พอจะมีอยู่และจัดการกับมันได้ดี เขาจะเดินหน้าต่อได้ สิ่งเหล่านี้จะทำให้สำนักพิมพ์อินดี้เดินหน้าต่อเนื่องได้มากขึ้น แม้ว่าคุณจะออกแค่สามเล่มต่อปีก็ไม่มีปัญหา ถ้าคุณมีทั้งหมดที่ผมพูดไป แล้วพยายามยืนระยะให้ได้สักห้าปี รับรองว่าคุณอยู่ได้
Life MATTERs : ในฐานะที่คุณเองก็ทำสำนักพิมพ์ มีทริคแนะนำมั้ย
นิวัต : ทริคของผมคือ ถ้าคุณเลือกนักเขียนคนนี้มา หรือเป็นตัวคุณเองที่เขียนไปด้วยและจะเปิดสำนักพิมพ์ด้วย ต้องแน่ใจก่อนว่ามีแฟนเพจพอที่จะซื้อหนังสือของเรา อันนี้ถือเป็นทริคในยุคนี้เลยนะ เพราะถ้าเป็นสมัยก่อน ผมจะหาแฟนนักอ่านได้จากการส่งเรื่องสั้นไปลงตามหน้านิตยสารบ่อยๆ จนคนจำชื่อเราได้
นักเขียนรุ่นใหม่ไม่มีนิตยสารให้เขียนแล้ว สิ่งที่จะเขียนได้ก็คือบล็อก เพจตัวเอง หรือว่าสำนักข่าวออนไลน์ ซึ่งผมว่านักเขียนต้องทำการตลาดผ่านแฟนเพจตัวเองเหมือนกัน และถ้าถามว่าไม่มีเพจเลยได้มั้ย จะเขียนงานอย่างเดียว คำตอบคือไม่ได้ครับ ต้องมี เพราะทุกวันนี้ แฟนหนังสือติดตามคุณผ่านเพจหมดแล้ว
Life MATTERs : รู้ได้ยังไงว่าเขาจำเราได้แล้ว
นิวัต : เวลาไปเดินตามงานวรรณกรรมแล้วมีคนทัก คือเมื่อก่อนสำนักพิมพ์ต่างๆ จะชอบจัดงานเปิดตัวหนังสือ สมมติไปงานหนึ่งเจอพี่เวียง (วชิระ บัวสนธ์) ทัก ไปอีกงานเจอพี่สุชาติทัก เจอนักเขียนคนอื่นทัก ผมก็คิดว่าน่าจะพอมีคนอ่านงานเราบ้างแล้ว เพราะถ้าแวดวงนี้มีคนอ่านอยู่กลุ่มหนึ่ง คนอ่านกลุ่มอื่นก็น่าจะมีอยู่ด้วย
แต่ตอนนี้นักเขียนรุ่นใหม่ไม่มีนิตยสารให้เขียนแล้ว สิ่งที่จะเขียนได้ก็คือบล็อก เพจตัวเอง หรือว่าสำนักข่าวออนไลน์ ซึ่งผมว่านักเขียนต้องทำการตลาดผ่านแฟนเพจตัวเองเหมือนกัน และถ้าถามว่าไม่มีเพจเลยได้มั้ย จะเขียนงานอย่างเดียว คำตอบคือไม่ได้ครับ ต้องมี เพราะทุกวันนี้ แฟนหนังสือติดตามคุณผ่านเพจหมดแล้ว
Life MATTERs : ถ้าอย่างนั้น ตอนที่คุณเริ่มทำสำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรมถือว่าเสี่ยงมั้ย
นิวัต : ผมไม่มีความรู้เรื่องการทำหนังสือมาก่อนเลย (หัวเราะ) มีคอมพิวเตอร์เครื่องเดียวกับต้นฉบับนิยายของผมที่ไม่ผ่านการพิจารณาจากสำนักพิมพ์อื่น แต่วันนั้นยังเป็นวัยรุ่นเลยคิดว่ายังไงก็ต้องพิมพ์หนังสือเล่มนี้ออกมาให้ได้ ก็ทำไปแบบไม่มีความรู้อะไรทั้งสิ้น ก็ได้ตามสมใจ ได้หนังสือหนึ่งเล่ม แล้วก็เจ๊งสมใจ (หัวเราะ)
Life MATTERs : คุณทำยังไงต่อ
นิวัต : เวลาหนังสือเราขายไม่ได้ ขายไม่ออก ไม่ต้องไปดูอย่างอื่นครับ มาดูหนังสือ เอาหนังสือของเรามากางเลยว่ามันขาดอะไรอยู่ เดี๋ยวก็รู้เองว่าชื่อปกไม่ได้ รูปเล่มไม่ได้ ไอ้นี่ไม่ได้ จากตอนนั้น ผมรู้เลยว่าเล่มถัดไปต้องเปลี่ยนวิธีคิด เพราะผมไม่สามารถจะเจ๊งเล่มที่สองสามได้ เพราะถ้าเจ๊งอีก บางทีวันนี้อาจไม่มีสำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรมอยู่เลยก็ได้
เวลาหนังสือของเราไปวางในร้านหนังสือใหญ่ๆ ไม่มีใครบอกว่าหนังสือเล่มนี้เป็นของสำนักพิมพ์อินดี้ นักอ่านทุกคนไม่ได้มองว่าสำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรมเป็นอินดี้ หรือต่อให้เป็นสำนักพิมพ์ใหญ่ ถ้าคุณวางหนังสือตามร้านเล็กๆ คนก็ไม่สนใจว่าคุณเป็นสำนักพิมพ์ใหญ่ ร้านหนังสือทำให้ทุกสำนักพิมพ์เท่าเทียมกันหมด
Life MATTERs : เขียนอย่างเดียวไม่ได้แล้ว ต้องสนใจธุรกิจด้วย
นิวัต : ใช่ครับ ข้อเสียอีกอย่างของสำนักพิมพ์เล็กคือเรื่องธุรกิจอาจด้อยกว่าสำนักพิมพ์ระดับกลางหรือใหญ่ เพราะเราไม่ได้มองเรื่องการตลาดเป็นหลัก มองแค่เรื่องอยากออกหนังสือ ซึ่งไม่ผิดนะครับ ตอนผมทำแรกๆ ก็ไม่มองเรื่องการตลาดเหมือนกัน มองแค่ว่าอยากออกก็ออก แต่นั่นแหละคือข้อผิดพลาด เพราะจริงๆ แล้วเวลาหนังสือของเราไปวางในร้านหนังสือใหญ่ๆ ไม่มีใครบอกว่าหนังสือเล่มนี้เป็นของสำนักพิมพ์อินดี้ นักอ่านทุกคนไม่ได้มองว่าสำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรมเป็นอินดี้ หรือต่อให้เป็นสำนักพิมพ์ใหญ่ ถ้าคุณวางหนังสือตามร้านเล็กๆ คนก็ไม่สนใจว่าคุณเป็นสำนักพิมพ์ใหญ่ ร้านหนังสือทำให้ทุกสำนักพิมพ์เท่าเทียมกันหมด คุณเลยพึ่งอะไรไม่ได้นอกจากทำการตลาดให้หนังสือหรืออะไรต่างๆ ที่จะทำให้หนังสือคุณโดดเด่นขึ้นมา
Life MATTERs : คุณคิดว่าอะไรทำให้หนังสือโดดเด่น
นิวัต : นอกจากเนื้อหาแล้วก็เป็นหน้าปก เพราะเวลาลงไปในแผง การต่อสู้ของหน้าปกสูงมากๆ และหน้าปกก็มีส่วนทำให้หนังสือมันโดดขึ้นมาว่าเล่มไหนจะเป็นที่ต้องตาของคนอ่านมากที่สุด หน้าปกเลยเป็นสิ่งที่ต้องคิดตั้งแต่ต้น แต่เอาเข้าจริง องค์ประกอบเล็กๆ น้อยๆ ก็สำคัญ ถ้าสามารถเก็บให้ได้หมดก็จะช่วยได้เยอะ
Life MATTERs : คุณเลือกกลุ่มคนอ่านอย่างไร
นิวัต : ต้องเริ่มจากการดูว่าหนังสือเล่มนี้เหมาะกับใคร ไม่นานมานี้ ผมเพิ่งทำหนังสือชื่อว่า เรื่องเล่ารอบกุฏิน้อย ให้ วัน ณ จันทร์ธาร เป็นนักเขียนที่ไม่ได้ออกงานมาสิบปีแล้ว หายจากวงการไปเป็นเวลานาน แต่เขามีแฟนเพจที่เกี่ยวกับการตัดเย็บ งานประดิดประดอยอยู่ ปรากฏว่าขายให้แค่แฟนเพจ หนังสือก็เกือบหมดแล้ว นั่นจึงหมายความว่าแฟนเพจมีความสำคัญสูงมาก
Life MATTERs : แล้วกับวรรณกรรม แฟนเพจมีผลขนาดนี้ไหม
นิวัต : เราพยายามผลักดันหนังสือไปให้ถึงแฟนคลับก่อนครับ จากนั้นค่อยผลักดันไปสู่วงนอกให้ได้ อาจต้องหาวิธีการให้เพจต่างๆ มาสัมภาษณ์นักเขียน หรือลุ้นให้เพจที่อยู่นอกกลุ่มเป้าหมายของเราพูดถึงหนังสือ ซึ่งถ้าเล่มไหนได้รับการพูดถึงในเว็บที่โดดไปจากกลุ่มเรา ก็อาจทำให้คนอ่านที่อยู่นอกวงมาสนใจได้ แต่ปัญหาที่ยังติดอยู่ก็คือว่าคนที่จะซื้อนี่แหละ เป็นเรื่องที่ยังแก้ไม่ได้ และสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ก็พยายามจะหาทางแก้ปัญหานี้อยู่
Life MATTERs : โจทย์ยากนะครับ
นิวัต : ยากโคตรๆ (หัวเราะ) แต่พอถึงจุดหนึ่ง ปัญหาทั้งหมดก็จะวกมาจบที่ตรงนี้ ตรงที่ไม่มีคนซื้อ หรือถ้าเขาอยากซื้อแล้วหาไม่ได้ก็เป็นปัญหาเหมือนกัน ผมถึงบอกว่าการขยายกลุ่มคนอ่านในวงวรรณกรรมนั้นยากเย็น มันเติบโตช้าก็ด้วยจุดนี้
Life MATTERs : ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการเติบโตของสื่อออนไลน์ด้วยหรือเปล่า
นิวัต : ไม่เกี่ยวกันหรอกครับ สื่อออนไลน์บางทีก็ค้นหายากนะ อย่างหนังสือเล่ม เวลาอยู่ในชั้นหนังสือค้นหาง่ายกว่าเยอะ แต่ถึงอย่างนั้น การทำหนังสือก็ต้องเปลี่ยนแปลงให้เข้ากับยุคสมัย ทำหนังสือให้แตกต่างจากสื่อออนไลน์ ให้มันมีแพสชั่นของกระดาษ มีการออกแบบที่มากกว่าหนังสือ ดูอย่าง ร่างของปรารถนา ของพี่ม่อน—อุทิศ เหมะมูล ที่ต้องฉีกเพื่ออ่าน ก็ทำให้เห็นว่าหนังสือเล่มยังมีวิธีการต่อสู้กับสื่อออนไลน์ได้อยู่
แต่จะพูดว่าสู้ก็ไม่ถูกนะครับ แค่ทำให้มันโดดเด่น ทำให้คนอยากซื้ออาจถูกกว่า จากที่อ่านบนหน้าเพจฟรีๆ ก็อาจต้องทำให้เขาหยุดคิดว่าทำไมต้องซื้อนี้เล่มนี้วะ เราก็อาจใช้วิธีการคัดเลือกโดยบรรณาธิการ มีการปรับปรุงแก้ไขให้มีความสมบูรณ์แบบมากขึ้น ทำรูปเล่มให้สวยงาม เพื่อทำให้คนอ่านอาจรู้สึกโอเค น่าซื้อขึ้นมาหน่อย
Life MATTERs : คิดว่าการที่หนังสือใหม่ออกกันเยอะๆ ในงานสัปดาห์หนังสือฯ ส่งผลอะไรบ้างมั้ย
นิวัต : ตอนนี้หนังสือใหม่ๆ จะไปรอเปิดตัวในงานสัปดาห์หนังสือฯ เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งผมก็เข้าใจนะ เพราะเวลาสำนักพิมพ์คุยกับนักเขียนก็จะง่ายมาก เดดไลน์คืองานหนังสือ ถ้าไม่ออกงานนี้ก็รออีกปี นักเขียนก็จะกระตือรือร้นกันมากขึ้น นอกจากนี้ สำนักพิมพ์ยังได้เงินสดจากการไปขาย ไม่ต้องรอจากร้านหนังสืออีก
แต่จริงๆ แล้วมันผิดนะครับ เพราะในช่วงที่ไม่มีงานสัปดาห์หนังสือฯ ถือเป็นช่วงที่น่าออกหนังสือมาก ผมเองก็พยายามปรับปรุง พยายามจะออกในช่วงที่ไม่มีงาน ซึ่งพอมาลองดูจริงๆ ก็พบว่าการแข่งขันนั้นน้อยกว่าเยอะมาก ไม่ต้องสู้กับกองทัพหนังสืออันมหาศาลแบบตอนงานสัปดาห์หนังสือฯ
ทำลาย, เธอกล่าว เลยเป็นการรวมเอานักเขียนหญิงหน้าใหม่มาไว้ด้วยกัน ซึ่งต่อให้ตอนทำไม่ได้คิดคอนเซปต์ แต่พออ่านทั้งหมดแล้ว มันกลับมีธีมหนึ่งที่เกิดขึ้นคือความเป็นผู้หญิง มุมมองแบบผู้หญิงที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้นัดหมาย
Life MATTERs : ซึ่งสำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรมก็กำลังจะปล่อยหนังสือใหม่ในช่วงนี้
นิวัต : ใช่ครับ ทำลาย, เธอกล่าว เป็นโปรเจกต์รวมเรื่องสั้นนักเขียนหญิงต่างประเทศที่เคยเกิดขึ้นมาครั้งหนึ่ง ก่อนสุดท้ายกลายเป็นหนังสือที่ไม่มีอยู่ในโลกนี้จริงๆ เพราะมีปัญหาบางอย่าง แต่ความคันยังอยู่ วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา บรรณาธิการประจำเล่ม เลยเปลี่ยนจากนักเขียนหญิงต่างประเทศเป็นนักเขียนหญิงไทย เขาเลือกนักเขียนด้วยตัวเอง ชอบคนไหนก็ติดต่อให้มาเขียนโดยไม่มีคอนเซปต์ว่ามันคืออะไร ทุกคนสามารถเขียนได้โดยอิสระ
ผมเห็นโปรเจกต์นี้แล้วชอบเลยชวนทำอย่างจริงจัง เพราะปกติ งานเขียนรวมเรื่องสั้นนักเขียนหญิงค่อนข้างหายาก ไม่ค่อยมีใครทำ ยิ่งเป็นนักเขียนหญิงที่เขียนวรรณกรรมก็หายากเข้าไปใหญ่ ทำลาย, เธอกล่าว เลยเป็นการรวมเอานักเขียนหญิงหน้าใหม่มาไว้ด้วยกัน ซึ่งต่อให้ตอนทำไม่ได้คิดคอนเซปต์ แต่พออ่านทั้งหมดแล้ว มันกลับมีธีมหนึ่งที่เกิดขึ้นคือความเป็นผู้หญิง มุมมองแบบผู้หญิงที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้นัดหมาย เรื่องความรัก เรื่องการอกหัก เรื่องการไฟต์กันระหว่างความเชื่อแบบผู้หญิงผู้ชาย ถือเป็นโปรเจกต์ที่สดและตัวเรื่องก็สดมากๆ เพราะขนาดคนทำยังไม่รู้เลยว่ามันจะออกมาเป็นยังไง เรียกได้ว่าเอาความสดมาลุยล้วนๆ คือบอกเลยว่ามันไม่ใช่งานที่เรียกได้ว่าสมบูรณ์แบบ แต่เป็นงานที่ทุกคนงัดเอาความสดมาลุยมากกว่า
Life MATTERs : ขอถามถึงตอนคุณเริ่มต้นทำ Alternative Writers ทำไมคุณถึงอยากให้บูธเป็นศูนย์รวมของสำนักพิมพ์เล็ก
นิวัต : เพราะมันไม่สามารถทำคนเดียวได้ สำนักพิมพ์เล็กๆ ถ้าไม่ร่วมมือกันแล้วอยู่ตัวคนเดียวมีโอกาสแป้กสูงมากย้อนกลับไปสมัยเปิดบูธแรกๆ ตอนนั้นมีประมาณสามสี่เจ้าที่มารวมตัวกัน จนเวลาผ่านไป ต่างคนต่างโตไปสร้างกลุ่มนักอ่านในทางของตัวเองได้มากมาย แต่นี่แหละคือสิ่งที่ผมต้องการ เราไม่ได้อยากเติบโตคนเดียว คนอื่นต้องเติบโตด้วย ผมชอบวรรณกรรม ผมก็ทำงานวรรณกรรม ต่อให้เติบโตช้ากว่าก็ไม่เป็นไร
ปัจจุบันก็ยังมีสำนักพิมพ์เล็กๆ ที่เกิดใหม่แล้วเอาหนังสือมาฝากขายที่ Alternative Writers อยู่ ผมเห็นแล้วก็รู้สึกว่าต่อไปเขาจะเติบโตได้แน่ๆ ถ้าเขาสามารถฟันฝ่าช่วงแรกๆ นี้ไปได้ ก็จะทำให้วงการขยายขึ้น เพิ่มกลุ่มคนอ่านได้มากขึ้น
Life MATTERs : กิจกรรมอย่างงานเสวนาก็เริ่มมีมากขึ้น
นิวัต : มันหายไปช่วงก่อนหน้านี้สักสี่ห้าปี เหงาๆ เศร้าๆ เพราะเศรษฐกิจไม่ดี ช่วงหลังร้านอิสระเพิ่มมากขึ้น งานเสวนาก็เลยกลับมา เพราะตัวร้านก็ต้องทำกิจกรรม โดยเฉพาะร้านหนังสือเล็กๆ การจะทำให้คนกลับมาซ้ำได้มันต้องมีอะไรมากกว่าหนังสือ ร้านอื่นเขาก็มีหนังสือขายเหมือนกัน แต่กิจกรรมนี่แหละที่ไม่เหมือน แล้วจะทำให้คนกลับมาที่ร้านได้มากขึ้น
ทุกวันนี้มีร้านหนังสือใหม่ๆ เปิดขึ้นเยอะมาก แล้วก็ทำกันจริงจังด้วย ไม่ใช่แค่เปิดตามความฝัน คือเปิดตามความฝันได้ แต่ว่าธุรกิจก็ต้องลุยด้วยเหมือนกัน
ที่จริงร้านหนังสือเล็กๆ หรือร้านใหญ่ๆ ถ้าเปิดแล้วติดขัดมาที่สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ได้ เพราะเรากำลังจะทำแหล่งรวมข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับหนังสืออยู่ หรือมีปัญหาอะไรก็มาพูดคุยได้ เราอยากช่วยกันแก้ปัญหา คือก่อนหน้านี้ วงการหนังสือขาดจุดให้สอบถามว่าจะไปต่อกับธุรกิจหนังสือได้ยังไง ไม่มีใครรู้ว่าจะหาข้อมูลได้จากไหน ไม่รู้ว่าจะติดต่อใครดี สมมติเปิดร้านหนังสือแล้วขาดหนังสือที่อยากได้ หรือสำนักพิมพ์นั้นดันไม่มีสายส่ง ร้านก็อาจไม่รู้ว่าต้องทำยังไงแล้ว สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ เลยจะทำให้เป็นรูปธรรม เราอยากเป็นศูนย์รวมข้อมูลของคนจะทำธุรกิจหนังสือได้จริงๆ
เราคิดฝันกันไกลว่าจะเก็บข้อมูลให้ครบเท่าที่หนังสือในประเทศไทยเกิดขึ้นมา ถ้าคุณหาข้อมูลเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้ คุณจะต้องรู้ได้ว่าใครเป็นคนทำ คนขาย หรือคนส่ง
Life MATTERs : ข้อมูลแบบไหนที่ทางสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ จะรวบรวม
นิวัต : เราคิดฝันกันไกลว่าจะเก็บข้อมูลให้ครบเท่าที่หนังสือในประเทศไทยเกิดขึ้นมา ถ้าคุณหาข้อมูลเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้ คุณจะต้องรู้ได้ว่าใครเป็นคนทำ คนขาย หรือคนส่ง แต่นี่ก็คือความฝันของพวกเรานะครับที่จะทำเรื่องพวกนี้ให้เสร็จภายในสองปี (หัวเราะ) เป็นเรื่องยากมากๆ เพราะข้อมูลที่มีอยู่ก็น่าจะยังไม่เยอะ อีกทั้งก็ต้องทำโปรแกรมออกมาให้ใช้งานได้ง่ายที่สุด ยากแหละครับ แต่เราก็อยากทำกัน
Life MATTERs : การที่คุณเป็นหนึ่งในคณะกรรมการจะทำให้โฟกัสในการทำสำนักพิมพ์เสียมั้ย
นิวัต : ผมพยายามไล่ทำต้นฉบับที่สำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรมค้างคาอยู่ให้จบภายในปีนี้จะได้มีเวลาไปบริหารเต็มที่ แต่ที่ยังไม่ทราบว่าอนาคตจะเป็นยังไงก็คือการเขียนหนังสือของตัวเอง คงต้องรอดูอนาคตไป เพราะที่จริง ตอนนี้ก็ยังไม่ได้รับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ ยังไม่เห็นสภาพหน้าตาการงานว่าจะมาหนักแค่ไหน แต่คิดว่าถ้ารักษาวินัยของตัวเองได้ก็น่าจะทำได้ครับ เขียนหนังสือด้วย ทำสำนักพิมพ์ด้วย แล้วก็ทำงานสมาคมด้วย ต้องรักษาวินัย
Life MATTERs : ดูเป็นงานที่หนักหนาทั้งนั้น
นิวัต : ถูกต้องครับ (หัวเราะ) เอาแค่การทำสำนักพิมพ์ โดยเฉพาะพ็อคเก็ตบุ๊กนั้น ถ้าไม่ใช่คนสายนี้อาจไม่รู้เลยว่าเราทำงานอะไร ทำไมทำหนึ่งเล่มถึงใช้เวลานานจัง แต่จริงๆ ตั้งแต่ได้ต้นฉบับของนักเขียนมา เราต้องปรับแก้กันหลายหนมาก ปรับตั้งแต่ต้นฉบับจนถึงจัดอาร์ตเวิร์กเสร็จแล้วก็ยังต้องแก้ การทำหนังสือหนึ่งเล่มมันใช้เวลาเป็นสเต็ป กินเวลานาน แต่ละคนก็มีระยะเวลาของตัวเอง นักเขียนบางคนไม่ได้ทำแค่ 1-2 สัปดาห์แล้วเสร็จ บางทีเป็นเดือน บางคนเป็นปีกว่าจะส่งต้นฉบับร่างสองมาให้ การทำสำนักพิมพ์เลยคาดเดาไม่ได้ ไม่สามารถบอกได้ว่าเล่มนี้จะเสร็จเมื่อไหร่
Life MATTERs : เพราะเป็นวรรณกรรมด้วยหรือเปล่า
นิวัต : ก็ใช่ครับ พอมันเป็นวรรณกรรมเราก็อยากทำให้ดีที่สุดเท่าที่สามารถทำได้ ไม่อยากปล่อยให้หลุดจากมือไปเพราะว่ามันต้องเสร็จ มันควรจะออกจากเรา เพราะว่ามันเป็นอย่างที่เราต้องการแล้วมากกว่า
Text by ปฏิกาล ภาคกาย บ.ก.บห. สำนักพิมพ์ปลา ผู้พยายามหลบหลีกความจำเจในชีวิตประจำวันด้วยการพาตัวไปพบผู้คนในแวดวงต่างๆ
Photos by Adidet Chaiwattanakul