เคยสงสัยบ้างไหมว่า ชิ้นปลาแซลมอนสีส้มแสนอร่อยที่เคยหาทานยากและราคาแพงจึงกลายเป็นปลาสามัญประจำบ้านได้ในเวลาเพียงไม่นาน (และทำไมมันถึงมีสีส้มได้ขนาดนั้น) ทำไมปลากะพงจึงมีเนื้อที่ร่วนไม่แน่นเหมือนปลาทูน่า ปลาทะเลในจานของเรามาจากไหน และการกินปลาของเราเปลี่ยนโลกไปได้อย่างไร
หนังสือ ‘Four Fish’ ถูกตั้งชื่อตามปลาสี่กลุ่ม (ที่ Paul Greenberg คนเขียนเลือกแล้วว่า) เป็นปลาเศรษฐกิจสำคัญที่มีการประมงอยู่ทั่วทุกมุมโลก พวกมันปฏิวัติอุตสาหกรรมประมงไปตลอดกาล และสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระดับที่พอๆ กัน ปลาสี่กลุ่มนั้นก็คือ แซลมอน ทูน่า กะพง และค็อด
ในขณะที่เทคโนโลยีเรื่องอาหารก้าวล้ำไปทุกวัน แต่ seafood หรืออาหารทะเล คืออาหารประเภทเดียวที่กว่าครึ่งแล้วมนุษย์ยังใช้วิธีเก็บเกี่ยวแบบโบราณด้วยการ ‘ล่า’ ไม่ใช่การบริหารทรัพยากรแบบกสิกรรม
ความเข้าใจโดยรวมของเราหยุดอยู่แค่ ‘ทะเลคือผู้ให้’ จุ่มแหลงไปต้องได้ปลากลับมา และทิ้งอะไรลงไปเดี๋ยวทะเลก็จะรับไว้แล้วพาไปไกลๆ พ้นหูพ้นตาเอง
อันที่จริง สัตว์ในทะเลกลุ่มแรกที่ทำให้มนุษย์เริ่มเอะใจขึ้นมาว่า “เอ… หรือเราจะทำให้ทะเลพังได้จริงๆ” ไม่ใช่ปลา แต่เป็นวาฬ ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ ด้วยขนาดตัว อัตราการเจริญเติบโตที่ช้า และใช้ทรัพยากรมากนี่เอง ทำให้พวกมันมีจำนวนน้อยกว่าสัตว์ในทะเลอื่นๆ วาฬหลายชนิดที่ถูกล่าอย่างหนักในยุครุ่งเรืองของการล่าวาฬ จึงแทบจะสูญพันธ์ุไป
จะว่าไป วาฬเป็นสัตว์ที่มีความ ‘first’ ในหลายเรื่อง ก่อนหน้านั้น การอนุรักษ์สัตว์สักชนิดล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องของการบริหารทรัพยากร ห้ามใจในวันนี้เพื่อจะได้มีกินในวันหน้า[1] ไม่ใช่เพราะว่าสัตว์ชนิดนั้นมีความ ‘พิเศษ’ แต่อย่างใด ซึ่งทั้งหมดนั้นเปลี่ยนไปในปี 1970 เมื่อเสียงร้องเพลงของวาฬหลังค่อมถูกเผยแพร่ต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก เสียงกังวานหวานเศร้าแต่ทรงพลังนั้นทำให้พวกเขาตระหนักขึ้นมาเป็นครั้งแรกว่า วาฬเป็นสัตว์ที่มีสติปัญญา มีสังคม มีความซับซ้อน และในพริบตานั้นเอง การฆ่าวาฬก็กลายเป็นเรื่องผิดศีลธรรมในความรู้สึกของคนหมู่มากขึ้นมา เกิดเป็นกระแสต่อต้านอุตสาหกรรมล่าวาฬทั่วอเมริกาและยุโรป นำไปสู่การห้ามล่าและอนุรักษ์วาฬอย่างจริงจังในระดับโลกในที่สุด
นั่นเป็นครั้งแรกที่ความเห็นของสาธารณชนจำนวนมากถูกผนวกเข้ามาในกระแสการอนุรักษ์ วาฬเป็นสัตว์ทะเลกลุ่มเดียวที่สร้างปรากฏการณ์จับใจคนได้ดีถึงเพียงนั้น และยังคงรักษาสถานะพิเศษของมันเอาไว้ได้อย่างเหนียวแน่นมาจนถึงทุกวันนี้ ในขณะที่ฉลามและปลาใหญ่อื่นๆ ยังคงมีสถานะเป็นอาหารในความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ต่อไป
เรื่องของวาฬเปรียบเสมือนประสบการณ์ความสำเร็จของยูนิคอร์นที่สตาร์ทอัพอื่นๆ พยายามจะดำเนินรอยตาม นับแต่นั้นเป็นต้นมา ความพยายามในการอนุรักษ์สัตว์ไม่ว่าจะชนิดใดก็มักบอกว่าเพราะสัตว์ชนิดนั้น ‘พิเศษ’ ช้างก็พิเศษ กอริลล่าก็พิเศษ นกเงือก ลิ่น เสือดำ ฯลฯ ทำให้มวลชนถูกขับเคลื่อนด้วยการเน้นความพิเศษและความรู้สึกมากกว่าจะหาความรู้และพยายามทำความเข้าใจในเชิงลึกอย่างแท้จริง
กลับมาที่ปลาน้อยทั้งสี่ แซลมอนในท้องตลาดเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่ได้ว่ายทวนน้ำแต่ว่ายอยู่ในกระชัง มันคือตัวแทนของอุตสาหกรรมหายนะที่หนังสือเล่มนี้จะพาคุณไปสัมผัสทุกซอกทุกมุม ให้รู้ว่าฟาร์มแซลมอนคือที่สุดของการทำร้ายธรรมชาติและผู้บริโภคอย่างไร (ชนิดที่ว่าเราเห็นแซลมอนซาชิมิแล้วหมดความน่ากินไปสนิท ขอลาขาดจากปลาชนิดนี้) กะพงเป็นตัวแทนอุตสาหกรรมประมงอย่างที่พอเห็นความหวังว่าจะยั่งยืน ค็อดคือปัญหาการจับปลาเกินขนาดในระดับประเทศ แต่ทูน่า.. เพราะเส้นทางชีวิตของมันพาดผ่านมากกว่าหนึ่งทวีป อุตสาหกรรมทูน่าคือปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขในระดับโลกก่อนจะสายเกินไป
ส่วนตัวแล้ว ชอบบทของทูน่ามากที่สุด Paul พูดถึงทูน่าครีบน้ำเงิน (Atlantic bluefin tuna, Thunnus thynnus) ทูน่ายักษ์ขนาดเกือบสามเมตรด้วยความรู้สึกทั้งป่าเถื่อนทั้งงดงาม จนเราอยากเห็นตัวจริงของมันโลดแล่นในโลกสีครามสักครั้ง ความงามแบบไม่ยอมเชื่องของทูน่าครีบน้ำเงินทำให้เกิดความรู้สึกทั้งอยากชื่นชมและอยากทำลายได้เท่าๆ กัน และโดยมากแล้ว ความปรารถนาที่ขัดแย้งกันทั้งสองฝ่ายนี้ก็ต่อสู้อยู่ในร่างของชาวประมงทูน่าทุกรายไป[2]
จนถึงทุกวันนี้ก็ไม่มีใครรู้ว่าเคยมีปลาในทะเลทั้งหมดกี่ตัว ทุกวันนี้มันเหลืออยู่เท่าไหร่ และต้องทำอย่างไรให้รุ่นลูกรุ่นหลานของเรายังมีปลากินต่อไปได้อีก
ทฤษฎี shifting baselines ของ Daniel Pauly นักวิทยาศาสตร์การประมงบ่งชี้ถึงความน่ากลัวของการไม่มีมาตรฐานหรือมาตรวัดความอุดมสมบูรณ์ที่แท้ เราอาจจะคิดว่าปิดอ่าวไปครึ่งปี ทะเลไทยกลับมาอุดมสมบูรณ์แล้ว! แต่นั่นเป็นเพราะเรายังไม่เคยเห็นตอนที่มันดีจริงๆ ต่างหาก
ไต๋เรือประมงที่รู้จักกันเคยเล่าให้ฟังว่า ทะเลไทยเคยถึงขนาดว่าออกเรือประมงด้วยราคาหลักล้าน หักลบต้นทุนกับค่าแรงลูกเรือแล้วยังคำนวณ ROI ได้เป็นรายวัน ไม่กี่เดือนก็คืนทุน คิดว่ามันเคยอุดมสมบูรณ์ขนาดไหน? แล้วในรุ่นพ่อ รุ่นปู่ รุ่นทวดของพี่เขาอีกล่ะ? (น่าจะมีคนเขียนเรื่องนี้ของทะเลไทยบ้างนะ) เราเริ่มเข้าใจแล้วว่าทำไมนักวิจัยทูน่าชาวฝรั่งเศสจาก IUU ที่เคยมีโอกาสคุยด้วยถึงบอกว่า งานจะยากแค่ไหนก็ต้องทำให้ได้ เพราะเดิมพันมันสูงเหลือเกิน
Paul เขียนหนังสือเล่มนี้ด้วยความรักและหลงใหลในปลาทะเลจนเราสัมผัสได้ และที่ดีมากๆ คือนอกจากจะมีความเข้าใจในแง่วิทยาศาสตร์กับการอนุรักษ์แล้ว Paul ยังเป็นคนหาปลาที่เติบโตขึ้นมากับการจับปลาและเห็นปลาทะเลค่อยๆ หายไปจริงๆ ทำให้สายตาของเขามองทั้งด้านล่าและด้านรักษ์อย่างที่หาได้ไม่ง่ายนัก น่าเสียดายที่พูดถึงปลาเฮร์ริงกับแอนโชวี (ปลากะตัก) น้อยไปนิด ทั้งที่เป็นปลาสองกลุ่มที่นอกจากจะมีความสำคัญทางเศรษฐกิจแล้ว ยังเป็นเหยื่อของสัตว์น้ำที่มีขนาดใหญ่กว่าอีกจำนวนมาก (เช่น ค็อด หรือแม้แต่วาฬบางชนิด) ทำให้จำนวนของเฮร์ริงกับแอนโชวีมีผลต่อการฟื้นฟูประชากรของสัตว์ที่กินมันเป็นอาหารไปด้วย
ก่อนอ่านไม่คิดว่าตัวเองจะชอบหนังสือเล่มนี้มากถึงขนาดนี้ แต่ Four Fish เป็นมากกว่าหนังสือเรื่องปลา จังหวะการเล่าเรื่องที่เข้มข้นชวนติดตาม สาระแน่นแต่เข้าใจง่าย และเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่หยอดมาเป็นระยะ ทำให้แต่ละบทมีเสน่ห์อย่างไม่น่าเชื่อ อ่านเพลินจนหน้าสุดท้าย
ป.ล. เพิ่งรู้ว่าปลานิลเคยถูกใช้ฟอกเงิน ช่วงปี 1990s บรรดาเจ้าพ่อยาเสพติดในอเมริกาใต้ค้าโคเคนแล้วเงินเหลือไม่รู้จะทำอะไร ก็เลยเปิดฟาร์มปลานิลฟอกเงิน มีคนบอกว่าเอา gel pak โคเคนใส่ลังชิ้นปลานิลแล้วหมาดมไม่ออกด้วย เอากะมันสิ
Text by Siripannee Supratya
Illustration by Naruemon Yimchavee
อ้างอิงข้อมูลจาก
Four Fish: The Future of the Last Wild Food by Paul Greenberg
[1] Conservation was seen as necessary for the sake of future exploitation. pg 212.
[2] “I love these fish, but I love to catch them. God, I love to catch them. And I know you need some kind of catch limits because I’d catch all of them if I could.” – A commercial bluefin-tuna harpooner told the report John Seabrook in a 1994 issue of Harper’s Magazine. pg 205.