สำหรับเธอ ความไม่เพอร์เฟกต์และปรักหักพังคือเสน่ห์ที่ผสมกลมกลืนอยู่รอบตัวกับในเกือบทุกความสัมพันธ์ เธอเชื่อว่าการพานพบของผู้คน เริ่มต้นจากความเศร้าด้วยซ้ำ ซึ่งเธอไม่ได้มองมันแค่ด้วยสายตาโรแมนทิไซส์จ๋า แต่เขียนมันออกมาเป็นชิ้นงานที่จับต้องได้และกระทบใจใครหลายคนมาแล้วเป็นที่เรียบร้อย
มายด์—ณัฐชานันท์ กล้าหาญ คือหญิงสาวผู้ทำงานหลากหลายจากปลายนิ้วตัวเอง เขียนงานส่วนตัว เขียนสารคดี เขียนบทความ แปลคอนเทนต์และอีกจิปาถะ รวมไปถึงการถ่ายภาพคาแรคเตอร์ชัดในชื่อ Mind da Hed และแม้จะรักภาพของเธอมากๆ แต่แค่เรื่องของตัวหนังสือ เราก็คุยกับเธอได้ยืดยาวมากพอแล้ววันนี้เราจึงจะคุยกับเกี่ยวกับงานหนังสือล้วนๆ
“เราเขียนสเตตัสไว้ทุกวัน เพราะตอนนั้นไม่แน่ใจว่าชอบการเขียนจริงๆ ไหม เลยคิดเองว่าถ้าแค่การเขียนสเตตัสทุกวันยังไม่ชอบ ก็อาจจะไม่ใช่แล้ว ต้องคิดใหม่หรือเปล่า” เธอเริ่มต้นอย่างนั้น รู้ตัวอีกทีก็มีหนังสือที่ทำเองพิมพ์เองในชื่อ ‘Sad at First Sight’ และงานแปลร่วมเล่มแรก อย่าง ‘With Animal สัตว์สัตว์’ ของสำนักพิมพ์ไจไจ
มายด์บอกกับเราว่าบางเรื่องในเล่มก็ต้องแปลไปร้องไห้ไป แถมยังได้ตั้งคำถามกับความเป็นมนุษย์และสัตว์ในแบบที่ต่างออกไปจากที่เคยคิด ทั้งหมดนี้—ไม่มีอะไรเพอร์เฟกต์เลย แล้วเธอก็รักมันเอามากๆ เสียด้วย
Life MATTERs : ย้อนกลับไปที่ Sad at First Sight สักนิด อะไรที่คุณตัดสินใจทำเล่มนี้ขึ้นมา
มายด์ : มันเริ่มมาจากตอนเราอายุ 22- 23 ซึ่งเราเขียนสเตตัสไว้ทุกวัน เพราะตอนนั้นไม่แน่ใจว่าชอบการเขียนจริงๆ ไหม เลยคิดเองว่าถ้าแค่การเขียนสเตตัสทุกวันยังไม่ชอบ ก็อาจจะไม่ใช่แล้ว ต้องคิดใหม่หรือเปล่า
จากตอนนั้น เราก็เขียนสเตตัสมาเรื่อยๆ จนปีที่แล้วเองมั้งที่เพิ่งหยุด เขียนมันทุกวัน มีน้อยมากที่จะไม่ได้เขียน ก็จะมีกฎให้ตัวเองอยู่ประมาณว่าถ้าวันไหนไม่เขียน วันต่อมาก็ต้องเขียนแบบไหน อะไรยังไง แต่การเขียนทุกวันเนี่ย เราไม่ได้บังคับตัวเองว่าต้องเขียนเรื่องอะไรนะ อยู่ที่มู้ดเลย ส่วนใหญ่ก็จะเป็นข้อความที่เกิดมาจากอินเนอร์ของเรา
แล้ววันหนึ่งเราก็คิดว่า อยากทำหนังสือ เหมือนมีอะไรสักอย่างที่บอกเราว่าต้องทำแล้วนะ ก็เลยหยิบวัตถุดิบที่เราเขียนๆ เอาไว้มาใช้ เลยกลายเป็น Sad at First Sight ซึ่งก่อนหน้าเราก็ไม่ได้ตั้งใจว่าที่เขียนทุกวันจะต้องออกมาเป็นหนังสือ เราไม่ได้คิดอะไรเป็นโครงสร้าง ไม่มีการวางพล็อตแล้วโยงเรื่องเข้ามา ไม่มีแบบนั้นเลย เรารู้สึกว่ามันเกิดจาก youth ความเด๋อ ความไร้เดียงสาที่เราจะต้องทำออกมาในอายุเท่านี้จริงๆ
Life MATTERs: ระหว่างเขียนหนังสือกับเขียนสเตตัส คิดว่าอะไรที่เป็นจริงกว่ากัน
มายด์: สำหรับเราเวลาเขียนสเตตัสเราชัดเจนว่าการเขียนนี้จะต้องนำไปสู่อะไรสักอย่าง อาจจะพัฒนาความคิด หรือพัฒนาอะไรก็ได้ ไม่จำเป็นว่าจะต้องเอาไปอยู่ในเล่ม ฉะนั้นมันก็จะดูประหลาดๆ เหมือนกัน แต่เราก็จะไม่ได้สนใจอย่างอื่นว่านี่คือตัวตนในหนังสือ หรือตัวตนในสเตตัส หรืออะไร สุดท้ายแล้วมันคือความแรนด้อมไปหมด แต่ทั้งหมดก็คือเรา
เราเป็นคิดเยอะ คินนู่นคิดนี่ ดีเทลจุกจิก ทั้งเรื่องจำเป็นและไม่จำเป็น ถ้าไม่เอาออกมาก็จะอยู่ข้างในนี้ เราจะกลายเป็นคนเครียดๆ จากที่ทำอะไรงงอยู่แล้วก็จะงงมากขึ้นไปอีก มันจะส่งผลต่อการใช้ชีวิตประมาณนึง มันเลยต้องเขียนออกมา
แล้วสำหรับเรา การเปิดโปรแกรมเวิร์ดเขียน มันก็คนละฟีลกับการเขียนสเตตัส พอเปิดเวิร์ดเราจะเครียด จะรู้สึกว่าต้องกลั่นกรอง ต้องเป็นอะไรที่อ่านเป็นหน้าแล้วสวยงามสิ ดังนั้นในสเตตัสมันเลยเป็นการเริ่มที่จะเขียนก่อน เป็นพื้นที่เก็บวัตถุดิบ เราก็จะได้รู้ว่ามีคนอ่าน ซึ่งจริงๆ คนกดไลก์น้อยมาก ถ้าเทียบจากปีที่แล้วๆ มาจนถึงตอนนี้คนก็ยังไม่ค่อยกดไลก์ที่เราเขียน
ซึ่งตอนแรกๆ มันก็บั่นทอนจิตใจนะ ว่าทำไมไม่มีคนมาอ่านเลย แต่สุดท้ายเราก็หาคำตอบไม่ได้อยู่ดีว่าทำอย่างไรคนถึงจะมา เราไม่สามารถบิดตัวเองเพื่อเขียนให้ตรงกับใครสักคนได้ สุดท้ายเราก็ตอบได้ว่าเราแค่เขียนไปทุกวันก็พอแล้ว มันเหมือนเป็นแค่จุดเล็กๆ สิ่งสำคัญคือเราได้เขียนไปแล้วมากกว่า แลดูเพ้อเจ้อ แต่มันจริง เพราะไม่งั้นเราคงทำไม่ได้มาเป็นปีๆ
Life MATTERs : ชื่อเล่ม Sad at First Sight มาได้ยังไง
มายด์ : คือเราคิดไว้หลายชื่อมาก ตอนทำออกมาก็คิดว่าไหนๆ ทำแล้วก็ทำให้สุดๆ ไปเลย เป็นเราไปเลย แต่พอมาตั้งชื่อก็เลยรู้สึกว่ามันต้องเข้าถึงคนประมาณนึง ไม่ใช่ว่าเราดัดจริตให้คนมาซื้อเพราะชื่อเรื่องอย่างเดียว แต่มันต้องอธิบายในสิ่งที่เราเขียนได้ด้วย เหมือนการตั้งชื่อเรื่องมันทำให้เรียนรู้ว่าเราเป็นตัวเองได้ในจังหวะเวลาที่มันเอื้อให้เราเป็น
ตอนแรกมีชื่อที่เพื่อนสนิทตั้งให้ชื่อว่า ‘นกนางนวลปิดประตูบ้าน’ ตอนแรกเราจะใช้ชื่อนี้ เพราะคิดว่ามันจะเป็นอะไรก็ได้ ด้วยความที่คิดว่ามันเป็นการรวมสิ่งต่างๆ เป็นประโยคบ้าง ข้อความบ้าง เรื่องสั้นบ้าง เหมือนเป็นงานคอนเซปต์นิดนึง ก็เลยคิดว่างั้นเราตั้งชื่อแบบอาร์ตๆ ไปเลย ไม่เกี่ยวกับเรื่องไปเลยไหม
แต่เราก็มาคิดว่าถ้ามีคนมาถามว่าทำไมใช้ชื่อนี้เราก็อาจจะตอบไม่ได้ เลยคิดว่าตัวเองคงไม่ใช่คนที่อาร์ตจนไม่สนอะไรขนาดนั้น ก็เลยลองตั้งชื่อใหม่มาเรื่อยๆ จนมีวันนึง ที่น้องที่สนิทแชทมาคุยเรื่องความรักแล้วเหมือนตอนนั้นเราก็เบลอๆ งงๆ พิมพ์ตอบน้องไปเป็นภาษาอังกฤษ ว่าจริงๆ แล้วความสัมพันธ์หรืออะไรต่างๆ เหล่านี้มันคือ sad at first sight เว้ย เหมือนเราคุยกันธรรมดาแล้วคำนี้มันก็ผุดขึ้นมา
แล้วพอถึงตอนเราเรียงเรื่อง ก็เลยเอาชื่อนี้มา ทีนี้ก็มาคิดว่าจะแน่ใจได้ยังไงว่าชื่อนี้มันจะโอเค เพราะมันก็ดูอี้วนิดนึง เขินๆ เราว่ามันไม่ค่อยเท่ แต่เราชอบมากเลย เพราะงานที่เราเขียนมันค่อนข้างเป็น sad at first sight ด้วย
เวลาเราเขียนสเตตัสหรืออะไรหลายๆ อย่าง มันค่อนข้างเปิดและไปได้หลายทางมาก ขึ้นอยู่กับว่าใครอ่าน มันจะรู้สึกต่างกันไป เพี้ยนต่างกัน น้ำเน่าต่างกัน แต่ส่วนใหญ่มันจะดูเศร้า มีเพื่อนบอกว่าเวลามีตัวละครที่ตายไป หรือเกี่ยวกับ departure หรือการจากไป เราจะเขียนได้ดี ซึ่งการจากไปมันก็ให้อารมณ์เศร้า เราเลยคิดลิงก์กับคำ แล้วลองโทรไปถามแม่ แต่แม่ก็ไม่ได้รู้หรอกว่าเราจะทำอะไร แต่เราค่อนข้างจะมีเคมีที่ดีกับแม่มาก ก็ถามเขาว่าจะใช้ชื่อหนังสือชื่อนี้ดีไหม แล้วแม่ก็บอกว่าเศร้าว่ะ เราก็เลยโอเค ชื่อนี้แหละ (หัวเราะ)
Life MATTERs : ทำไมถึงมองว่าทุกความสัมพันธ์มันเป็น Sad at First Sight
มายด์ : เรารู้สึกว่าทุกความสัมพันธ์ ไม่ว่าเราจะเริ่มต้นอะไรยังไง จะกับคน หรือกับสิ่งของ มันเริ่มต้นด้วยความเศร้า อย่างเช่นการเริ่มต้นเป็นแฟนกันมันดูเป็นการเริ่มต้นด้วยความรักใช่ไหม แต่จริงๆ แล้วมันคือการเริ่มต้นด้วยความเศร้า เพราะเหนือจากความรักไปแล้ว มันคือการต่อสู้กับหลายสิ่งมากในการที่มนุษย์สองคนจะอยู่ด้วยกัน
หรือเราอาจจะเป็นอินโทรเวิร์ตก็ได้ (หัวเราะ) เราถึงรู้สึกว่าการอยู่มากกว่าหนึ่งมันช่างเป็นอะไรที่ยากจัง มันก็เลยดูเศร้ามากเมื่อเจอคู่รักในรูปแบบใดๆ ก็ตาม มันอาจเศร้าแค่ first sight แต่ต่อจากนั้นไม่ว่าจะจบยังไงก็อาจไม่จำเป็นต้องจบเศร้าก็ได้
Life MATTERs : มีการหยิบเรื่องของคนอื่นมาเขียนบ้างไหม
มายด์ : เต็มเลย จริงๆ เรื่องตัวเองไม่ค่อยมีเท่าไหร่ คือเรื่องตัวเองจะเกิดก็เมื่อโดนอะไรเข้ามากระทบหรือรู้สึกกับมันมากจริงๆ เราถึงจะเขียนลงไป ส่วนใหญ่วัตถุดิบเรามาจากการเห็นซีนเล็กๆ เช่นเห็นสิ่งของที่ไม่ปกติในที่ปกติ จริงๆ มันดูนามธรรมมากเลย เช่นเราเจอวิกผมบนพื้นถนน เราก็จะได้ไอเดียมาจากอะไรแบบนี้ มันเป็นความเวียร์ดประมาณนี้
หรือเราเห็นคนแก่ที่แต่งตัววัยรุ่นมากเดินในลิตเติ้ลอินเดีย มันมีความคอนทราสต์หรือความเวียร์ดอะไรบางอย่าง สิ่งนั้นก็จะกลายมาเป็นวัตถุดิบในงานเขียนของเรา บางทีเราได้ยินเพื่อนพูดประโยคอะไรเราก็สามารถเอาไปเขียนต่อได้
ในนี้มันก็จะมีเรื่อง love you to the moon and nothing back ซึ่งเหตุการณ์มันก็จะเป็นผู้หญิงเศร้าๆ คนหนึ่งที่อยู่บนดวงจันทร์ แล้วต้องใช้อ็อกซิเจนจริงๆ มันเป็นเรื่องที่ธรรมดามาก มันเกิดจากที่เราได้ดูซูเปอร์มูนปีที่แล้ว เราเลยอยากเขียนอะไรเกี่ยวกับดวงจันทร์ แล้วมันก็มาเอง หรือบางทีมันก็มาจากเพื่อน เช่นวันนี้เพื่อนเราปิ๊งหนุ่มบนรถไฟฟ้า เราก็รู้สึกว่าแบบนี้มันก็โรแมนติกดีกับการคิดถึงคนที่เราไม่เคยรับรู้ถึงมาก่อน แต่พอมาเขียนมันก็กลายเป็นอีกเรื่องนึงไป
Life MATTERs : คิดว่าคนอ่านสมัยนี้ ตอบรับความไม่เพอร์เฟกต์มากน้อยแค่ไหน
มายด์ : อาจจะขึ้นอยู่กับ imperfection ของแต่ละคนคืออะไรอีก มันตีความได้หลากหลายมาก เรารู้สึกว่าสิ่งที่เรามองว่ามันเพอร์เฟกต์มันอาจจะไม่เพอร์เฟกต์กับคนอื่นได้ ถ้าถามเราว่าอะไรที่เพอร์เฟกต์บ้าง เราก็ไม่สามารถตอบได้ แต่เราจะสามารถบอกได้ว่าสิ่งไหนที่ไม่เพอร์เฟกต์แล้วเราชอบมัน
ส่วนใหญ่มนุษย์ก็ชอบสิ่งที่มันผิดไปจากรูปแบบเดิมอยู่แล้ว ซึ่งตัวมนุษย์เองก็เป็นแบบนั้น จะมีแฟรกเมนต์ มีความลึกลับบางอย่าง ที่รู้สึกว่าเรามีทั้งพาร์ตที่เลวมากๆ และดีมากๆ อยู่ในตัว ถ้าพูดถึงความไม่สมบูรณ์แบบในแบบที่เราเขียนหรือเราเข้าใจ คือสิ่งนี้มันมาพร้อมกับความสัมพันธ์อยู่แล้วนะ
รู้สึกว่าความสัมพันธ์มันสวยงามได้เพราะ imperfection นี่แหละ มันแตกสลาย ไม่ครบ พร่อง พิการ พอมันมากับเรื่องความสัมพันธ์ปุ๊บ คนก็เชื่อมโยงกับมันได้ดีมากๆ ตอบรับได้ดีมากๆ ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์แบบคู่รัก หรือความสัมพันธ์รูปแบบอื่นก็ตาม
Life MATTERs : นอกจากเขียนหนังสือของตัวเองแล้ว คุณยังมีผลงานแปลจริงจังเล่มแรก ทำไมถึงเลือกทำเล่มนี้—With Animal สัตว์สัตว์
มายด์ : จริงๆ เราเป็นคนชอบอ่านวรรณกรรมหรืองานแปลแนวนี้อยู่แล้ว ซึ่งสำนักพิมพ์ไจไจก็จะเลือกเทสต์หนังสือที่ดีและมีความอัลเทอร์เนทีฟนิดนึง เขาก็ส่งมาให้เราอ่าน ตอนแรกเราจะแปลอีกเล่มกับทางไจไจนี่แหละ แต่ปรากฏว่ามีสำนักพิมพ์อื่นมาเอาไปแล้วก็เลยแยกย้ายกันไป
แล้วพอมีเรื่องนี้ที่พี่แบงก์ (ธนาคาร จันทิมา) กับกิ่ง (ณัฐกานต์ อมาตยกุล) เขาก็ไปหาหนังสือมาแปลแล้วเจอ With Animal บวกกับที่เขารู้จักเรา เขาก็คิดว่ามันน่าจะเหมาะเลยลองส่งมาให้อ่าน ลองถามดูว่าเป็นยังไงบ้าง
พอเราอ่านก็แทบจะไม่มีเหตุผลอะไรเลยที่จะไม่ทำ เพราะอ่านแล้วชอบมาก มันคือความไม่เพอร์เฟกต์อีกแล้ว มันคือความปรักหักพังที่ลึกมาก หักแล้วหักอีก ก็ยังจะหักกันต่อไปในรูปแบบที่มันพังอยู่แล้ว ก่อนจะหักก็หักอยู่แล้ว คือมันใช่มาก
แล้วเรื่องก็ไม่ใช่ง่ายๆ แบบว่าคนดีกว่าสัตว์อย่างไร หรือสัตว์ต้องการอยากเป็นมนุษย์อย่างไร หรือจริงๆ มนุษย์ไม่ไ้ด้ดีกว่าสัตว์ คือมันลึกกว่านั้นมาก มันไปไกลกว่านั้นมากแล้ว มีคอนเซปต์ที่สามารถเอาไปปรับใช้ได้หมดเลย มีดีเทลเล็กน้อยบางอย่างที่เรารู้สึกว่าทำไมประโยคเล็กน้อยพวกนี้มันดูอธิบายเรื่องได้ดีขนาดนี้ ไม่ต้องบอกเลยว่าผู้หญิงคนนี้โดนคนนี้ฆ่าตาย คนนี้รู้สึกอกหักมากๆ มันเป็นอุปมาอุปมัยอีกขั้นหนึ่งไปแล้ว
Life MATTERs : ‘สัตว์’ ในหนังสือเล่มนี้อยู่ในฐานะอะไร
มายด์ : มันเป็นอีกอย่างนึงที่เราชอบในเรื่องนี้ คือเราไม่ได้มองว่าคนเป็นคน สัตว์เป็นสัตว์ เรามองมั่วไปหมด พอถามเราว่ามองสัตว์ในฐานะอะไร เราจะย้อนถามกลับว่าจริงๆ แล้วคนอยู่ในฐานะอะไรมากกว่า คือมันซับซ้อนถึงขั้นนั้นเลย มันสลับกันไปหมด บางทีเราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเส้นเรื่องนี้จำเป็นต้องมีคนอยู่ไหม
มัน deconstruct ไปหมด คือเราก็รู้แหละว่านี่คือสัตว์ คือแก้วน้ำ คือโทรศัพท์ คือคน แต่ภายในมันผสมปนเปไปหมดเลย เราไม่ได้สับสนว่าเราเป็นมนุษย์หรือเปล่า เราเป็นสัตว์หรือเปล่า แต่พฤติกรรม นิสัยใจคอ การกระทำบางอย่างที่ยั่วล้อกัน มันปรับให้ตรงข้ามกัน หรือทำสิ่งที่คนไม่ได้ทำแบบนี้ สัตว์ก็ไม่ได้เป็นแบบที่สัตว์เป็น แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้สลับหน้าที่กัน
คือเรารู้สึกว่ามันสามารถคิดไปได้ถึงว่าจริงๆ แล้วไม่มีสิ่งมีชีวิตอนู่ในเรื่องนี้เลยด้วยซ้ำ มันมีสิ่งมีชีวิตอยู่ แต่เราจะรู้สึกว่าทำไมมันแห้งแล้งอย่างนี้ มันด้านไปหมด ถ้าเป็นซีนหนังมันก็เหมือนหนังอาร์ตที่ถ่ายแต่สิ่งของ มีปัจจัยร่วมกัน มีความรู้สึกร่วมกัน ซึ่งบางทีอาจจะเป็นสิ่งของต่างหากที่มีชีวิต ก็ได้
Life MATTERs : เหมือนที่ผ่านมาคุณแปลแต่ non-fiction เป็นหลัก พอต้องมาแปล fiction แบบนี้ถือว่าทำงานยากขึ้นไหม
มายด์ : ยาก ยากมาก เพราะด้วยความที่ With Animal มันมีความเป็นกลอนสูงมาก โครงสร้างภาษาอังกฤษมันเอื้อให้การพูดคำสั้นๆ มันสวยงามได้ เช่น เรื่อง With Fox มันจะมีคำว่า I was pink and you were blue แค่นี้มันก็ดูสวยแล้ว แต่พอเป็นภาษาไทย ถ้ามาแปลว่า ฉันสีชมพู คุณสีฟ้า มันก็อาจจะดูตลกขึ้นมาเฉยๆ ทั้งที่มันเป็นกลอนที่มีความสำคัญมากในเรื่อง มันคือการคอนเนกต์ที่ไม่คอนเนกต์ แล้วค่อนข้างสำคัญมากที่เราจะต้องส่งเซนส์นั้นออกมา
เราเลยต้องทำงานหนักมาก บางทีต้นฉบับใช้คำว่า wild ซึ่งมันแปลเป็นไทยได้เยอะมาก ขึ้นอยู่กับว่ามันอยู่กับกริยาอะไร อยู่กับบริบทไหน บางทีเราก็จะแปลว่าดุร้าย หรือบางทีก็ต้องแปลว่าเร่าร้อนแทน ตรงนี้มันท้าทายแต่มันก็สนุกมากเหมือนกัน พออิน เราก็รู้สึกว่าอยากทำออกมาให้มันอิ่มเหมือนที่เรารู้สึกตอนอ่านต้นฉบับ
เรื่องจังหวะก็ด้วย พอแปลจากอังกฤษเป็นไทย โครงสร้างภาษามันไม่ได้เอื้อให้เรามีจังหวะดีเท่าเขาอยู่แล้ว ฉะนั้นบางอันก็จะต้องขยายเพิ่ม ถึงแม้จะเป็นคำสั้นๆ แต่เราก็ต้องอธิบาย ต้องเขียนขยายอะไรที่มันยาวกว่านั้น บางทีแปลแล้วมันอาจจะไม่ได้ตรงกับคำนั้น แต่เซนส์มันคือแบบนี้ก็ต้องแบบนี้
แม้ว่าเราจะมีการใช้ภาษาที่เป็นคาแรคเตอร์ของเราเองก็ตาม แต่สุดท้ายแล้วถ้าเราอิน เราจะรู้เองว่ามันแค่นี้ไม่ได้ มันจะต้องไปถึงขั้นนี้ แม้ว่ามันจะไม่ได้ตรงกับภาษาอังกฤษที่เราใช้เลยก็ได้ มันอาจจะไม่ได้มีคำศัพท์ภาษาไทยคำเดียวที่ใช้กับคำนี้ได้ อย่างเรื่อง With Egg ที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับมหาวิทยาลัย เป็นหลักสูตรการฟักไข่ ซึ่งอยู่ดีๆ มันก็มีแบบนี้มาดื้อๆ
Life MATTERs : สำหรับหน้าปก With Animal เมื่อดูเผินๆ ผ่านๆ แล้วไม่ค่อยหวือหวาเท่าปกอื่นๆ ของไจไจ
มายด์ : สำหรับเรา มันหวือหวาในรายละเอียด เพราะน้องที่ทำปกเขาใช้เทคนิคการจุด แล้วออกมาสวยงาม ละเอียดมาก ก็ไม่รู้ว่าทำขนาดนั้นได้ยังไง แต่ก็ตอบโจทย์ความ creep มากๆ
ที่ยากคือทุกเรื่องมัน creep หมดเลย แต่ไม่ใช่ creep จนขนหัวลุก จะไม่เย็นเยียบ แต่มันจะเป็นความตาเบิกโพลงในห้องมืด นั่งนิ่งๆ สักพักหนึ่ง มันก็ทำงานกับเราในรูปแบบที่น่าสนใจ พอแปลเสร็จแล้วมานั่งอ่านมันจะรู้สึกโหวงๆ ด้วยตัวละคร หรือกิมมิกอะไรสักอย่างของเรื่อง
อย่าง With Egg มันมีตัวละครที่ขับรถของพี่ชายที่ตายไปแล้ว แค่นี้เราก็รู้สึกว่า พอมันมาอยู่ในนี้ก็กลายเป็นประโยคที่ไม่ธรรมดาไปในทันที สิ่งเล็กๆ น้อยๆ แบบนี้มันค่อยๆ ตอดเรา ให้เรารู้สึกว่ามัน creep ซึ่งคนเขียนเขาก็เป็นคนรักสัตว์ด้วยนะ แล้วก็เป็นอาจารย์ที่สอนเขียนในมหาวิทยาลัยอเมริกา เขาสนใจในพฤติกรรม รูปร่าง นิสัย ลักษณะ
มันก็น่าสนใจดีที่พอถ่ายทอดออกมาเป็นวรรณกรรมมันก็สวยงามในแบบที่ไม่ต้องมาส่งเสริมให้คนหันมารักสัตว์กันสิ พอมาสื่อสารวรรณกรรมมันก็จะได้เห็นในมิติที่ลึกซึ้งกว่านั้น ด้วยความที่เขาเป็นอาจารย์ เป็นนักเขียน ได้รางวัลกันมาทั้งคู่ เลยทำให้เรื่องนี้มันกลมมาก มันเป็นความสนใจที่แท้จริงของเขาทั้งสองคน บวกกับความรู้ความสามารถด้วย
Life MATTERs : เห็นว่าเรื่องนี้มีกลิ่น LGBT แรงมากด้วย
มายด์ : ใช่ แต่ว่าเขาจะไม่ได้ encourage เพศไหนเลยว่า ไม่ได้มองว่า หญิง-หญิง ชาย-ชาย หรือ หญิง-ชาย อันไหนจะดี แต่มันคือการลดสถานะของผู้หญิง ผู้ชายให้มันแบนเรียบ ด้วยความที่เรื่องนี้มีความโผล่ออกมาดื้อๆ หลายอย่าง อยู่ดีๆ ก็มีลูกเป็นยูนิคอร์น
ด้วยความ out of nowhere ของมันทำให้เพศสภาวะไม่ใช่เรื่องสำคัญอีกต่อไป เขาไม่ได้โน้มน้าวว่าเราต้องซัพพอร์ตใครหรือเพศไหน คือเหตุการณ์มันก็ดำเนินของมันไป แบบ เรามีลูกเป็นยูนิคอร์นไม่ว่าพ่อแม่จะเป็นเพศไหนก็แล้วแต่ หรือเราจะอยู่กับหมาจิ้งจอกไม่ว่าเราจะเป็นเพศไหน ในเรื่องก็จะมีวรรคทองของมัน ที่เราแบบ โอ๊ย ทำไมต้องทำกันขนาดนี้
Life MATTERs : ตลอดทั้งเล่มเราจะเจอสัตว์สัตว์กี่ชนิดกัน
มายด์ : ในเรื่องมันมีสัตว์เยอะมาก แล้วในบรรดา with สัตว์ชนิดต่างๆ มันก็จะมี with animal อยู่ด้วย แต่ดันเป็นตุ๊กตายัดนุ่น สิ่งที่เหมือนสัตว์แต่ไม่ใช่สัตว์ แล้วซีนมันก็จะมีความอะไรบางอย่าง เหมือนจะไม่แปลกแต่พออ่านแล้วแบบเอ้า อะไร (หัวเราะ) เช่นมีพนักงานแบงค์ที่อยู่ดีๆ ก็รับฮิปโปมาเลี้ยง
ด้วยความที่เราเป็นคนชอบความผิดปกติในความไม่ปกติอะไรแบบนี้ด้วยมั้ง แล้วตัวละครหลายตัว ก็จะมีความสิ้นหวังจังเลย มันทำให้เรารู้สึกเห็นอกเห็นใจได้โดยที่เราไม่ได้เชื่อมโยงอะไรกับเจ๊คนนี้เลย แต่เรากลับรู้สึกเอาใจช่วย รู้สึกว่าเราคือเพื่อนกันในบางครั้ง น่าจะเป็นเพราะว่าทุกคนเคยผ่านช่วงที่เป็นลูซเซอร์ โมเมนต์ที่ กูไม่ไหวแล้ว อยากนั่งแห้งกลางห้อง ไม่ทำอะไรเลย ซึ่งทั้งหมดนี้มันอยู่ในเล่มนี้แหละ
Photos by Adidet Chaiwattanakul