เราพบเห็นงานของปัณยวีร์ครั้งแรกตรงผนังทางเดินขนาดใหญ่ในห้างฯ เอสพลานาดสักเมื่อ 2-3 ปีก่อน เป็นภาพแอ็บสแตรกขนาดยักษ์ที่ให้ความรู้สึกเหมือนกำลังเดินอยู่บนท้องฟ้าละมุนๆ สีฟ้า ขาว และชมพู ส่วนครั้งล่าสุดคือที่ Warehouse 30 ซึ่งงานของเธอจัดแสดงอยู่ที่นั่น เป็นงานที่ถ่ายทอดเรื่องราวของ Amy Winehouse ที่เธอชื่นชอบให้ออกมาเป็นงานสีเข้มข้นเปี่ยมความรู้สึก และคราวนี้เราได้เจอตัวเจ้าของผลงานเองด้วย
ป่าน—ปัณยวีร์ พงศ์สินไทย คือหญิงสาวที่ทำอะไรหลายอย่างเหลือเกิน เธอเคยเป็นทั้งผู้ช่วยศิลปิน ทำโปรดักชั่นคอนเสิร์ตและอีเวนต์ โปรเจกต์เมเนเจอร์โฆษณาเพื่อสังคม รวมถึงงานแบรนดิ้งต่างๆ ล่าสุดเธอกำลังจะทำร้านร่วมกับแฟนที่ทำงานศิลปะด้วยกัน ขายของแต่งบ้าน ขายงานอาร์ต และใช้ชั้นบนเป็นสตูดิโอวาดภาพ—ใช่ ภาพแอ็บสแตรกของเธอเอง
และแม้ว่าวันเวลากับโลกกลมๆ จะทำให้ผู้คนสนิทสนมกับศิลปะได้มากขึ้น แต่สำหรับงานแอ็บสแตรกอาจจะยังไม่ได้อยู่ในพื้นที่ที่คนจะเข้าไปอินกับมันมากขนาดนั้น และในบรรดาศิลปินภาพแอ็บสแตรกที่มีอยู่น้อยนิดในเมืองไทย ปัญยวีร์เป็นหนึ่งในนั้น ซึ่งแม้จะไม่ได้เป็นที่รู้จักในวงกว้างเท่าผู้มาก่อนกาล แต่งานของเธอก็ชวนให้ติดตามจนเราต้องเชื้อเชิญมาคุยกันในวันนี้
ไม่ใช่แค่ในฐานะของศิลปินที่ขับเคลื่อนงานด้วยสุนทรียะภายใน แต่ยังเป็นในฐานะของศิลปินที่นำงานเข้าสู่ระบบแกลเลอรี่ เพื่อขายงานอย่างจริงจังด้วย
LifeMATTERs : อะไรที่ทำให้ใครคนหนึ่งเริ่มวาดภาพแอ็บสแตร็ก
ป่าน : สำหรับเรา ต้องย้อนไปว่าตอนเด็กๆ เราเคยวาดรูปแล้วก็หยุดไป ทีนี้ เมื่อ 3 ปีที่แล้วที่เราลาออกจากที่ทำงาน เราก็ไปนึกถึงที่แม่เคยบอกเราว่า “ระวังนะถ้าไม่วาดรูปเลย มือมันจะเสีย” ก็เลยกลับมาวาดรูปอีกครั้ง ก็วาดรูปทั่วไป หมา แมว ต้นไม้ แล้วก็รับงานจิปาถะของเราไป
ทีนี้ครั้งหนึ่งได้งานเพนต์ผนังที่เอสพลานาด เราก็รู้สึกว่าน่าสนุก อยากลองทำ ซึ่งผนังมันใหญ่มาก คือสูง 4 เมตร ยาว 10 เมตร มีสองฝั่ง มันใหญ่แบบบ้าไปแล้ว สองสามวันแรกเราร้องไห้เลย เพราะเคยวาดแต่ที่เส้นละเอียดๆ ซึ่งมันทำกับชิ้นใหญ่ไม่ได้ในเวลาเท่านั้น
คนที่ทำงานด้วย ซึ่งตอนนี้กลายเป็นแฟนกันแล้ว เขาก็แนะนำว่าลองใช้เทคนิคอื่นๆ มั้ย ใช้ฟองน้ำมั้ย หรือลองใช้พู่กันที่ใหญ่ขึ้น ซึ่งสุดท้ายก็จบที่ว่าเราใช้มือเปล่าเลยดีกว่า ก็ใช้มือควักสีแล้วก็ป้ายๆๆ เลย มันก็จะเป็นเหมือนลายท้องฟ้าสีฟ้าๆ ชมพูๆ จากตอนนั้นเราเลยรู้เลยว่าเราชอบเล่นกับสี แต่ตอนนั้นก็ยังไม่รู้หรอกนะว่างานแอ็บสแตรกคืออะไร หรือมีความหมายยังไง แค่รู้สึกว่าทำแล้วรู้สึกดี เหมือนได้ระบายอารมณ์ หลังๆ ก็เลยเริ่มทำเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
LifeMATTERs : เมื่องานที่ผนังเอสพลานาดเป็นงานแรก ก่อนหน้านั้นเขารู้ได้ยังไงว่าคุณจะทำงานนี้ได้
ป่าน : เราเคยทำงานคอนซัลต์กับเขา ก็เลยได้วาดการ์ดคอนเสิร์ต การ์ดงานอีเวนต์ให้เขา แล้วเขาก็บอกว่ามีงานเพนต์ผนังนะ อยากทำมั้ย ซึ่งตอนนั้นก็ไม่ได้มีเราคนเดียวมีน้องศิลปินอีกสองสามคนด้วย ก็แบ่งกันทำผนังกันคนละชั้น
ซึ่งการตกลงรับงานนี้เลย มันเป็นทั้งข้อดีและข้อเสียสำหรับเรานะ ทุกงานที่เราบอกว่าเราทำได้ คือเราจะคิดไปก่อนว่าจะต้องทำได้ ทำเป็นไม่เป็นไม่รู้ แต่สุดท้ายแล้วมันทำได้อยู่แล้วแหละ
นั่นแหละ ก็ทุลักทุเลแต่ก็ทำได้ พอทำแล้วชอบก็ทำมาเรื่อยๆ ชอบขึ้นเรื่อยๆ จนเริ่มขึ้นว่าต้องจริงจังกับมันมากขึ้นก็เลยทำเว็บไซต์แล้วก็อินสตาแกรมขึ้นมาเพื่อเก็บงาน ก็มีคนเข้ามาดูอยู่บ้าง จนวันหนึ่งพี่ยู (กตัญญู สว่างศรี) เขาบอกว่าเขาชอบงานเรา ทำให้หน่อย อยากได้รูปไปติดผนัง เราก็ชวนพี่ยูว่ามาทำด้วยกันได้นะ เดี๋ยวสอน พี่เขาก็บอกว่าไม่เอา ไม่อยากเลอะ (หัวเราะ)
เราก็เลยได้ทำภาพแอ็บสแตรกให้พี่ยู แล้วพอดีมีเพื่อนทำแกลเลอรี่ เพื่อนก็เลยชวนไปแสดงงานร่วมกับศิลปินคนอื่นๆ ขณะเดียวกันเราก็ยังโพสต์รูปไปเรื่อยๆ ก็เริ่มมีเพื่อนชอบ เพื่อนอยากได้ เราก็เลยทำแจก ถ้ารู้สึกว่าใครชอบมากๆ เราก็จะให้ เพราะเขาคงรู้สึกอะไรกับมัน มันน่าจะมีความหมายอะไรกับเขา
ให้ไปให้มา ก็เริ่มขายได้บ้างผ่านคนรู้จัก มีส่งไปให้เพื่อนที่เรียนที่เมืองนอกบ้าง อย่างแคนาดา หรือซานฟรานฯ ลอนดอน อะไรอย่างนี้ ก็พบว่ามันขายได้เว้ย
LifeMATTERs : หลังจากงานได้เข้าแกลเลอรี่แล้ว เริ่มขายงานแล้ว มีที่อะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง
ป่าน : คือเราได้เรียนรู้เยอะมากจากแกลเลอรี่ บางทีคนที่มาซื้องานเขาไม่ได้ชอบแค่เพราะมันสวยนะ บางทีเขาอยากรู้ว่าเราจะทำงานอีกนานแค่ไหน ก็จะมีคอลเลกเตอร์ถามว่าคุณจะทำงานไปอีกไหม ถ้าฉันซื้อไปในอนาคตมันจะราคาขึ้นรึเปล่า คือเขาไม่ได้สนใจแค่ว่ามันสวย แต่ดูไปถึงว่าศิลปินใช้สียี่ห้ออะไร กระดาษแบบไหน
ดังนั้น หลังๆ เวลาโพสต์งานเราก็เริ่มใส่ข้อมูลลงไปว่าเราใช้เทคนิกอะไรบ้าง ขนาดเท่าไหร่ ตอนแรกๆ ก็ยังไม่โพสต์ราคา ก็พอจะมีคนรู้ว่าขายงานนะ แต่หลังๆ ช่วงที่จนมากๆ เราก็โพสต์ราคาไปเลย ให้คนรู้ไปเลย (หัวเราะ) ซึ่งเราพบว่าเราไม่ดังเลยอ่ะ เราอยู่แค่แบบเงียบๆ คนกดไลก์ต่อรูป 20 คน แต่เราก็พออยู่ได้ งานล็อตเก่าก็ขายหมดแล้ว ตอนนี้ก็เป็นงานล็อตใหม่แล้ว ที่แสดงอยู่ที่นี่ก็เหมือนกัน
LifeMATTERs : มองว่าด้วยความเป็นงานแอ็บสแตรกเอง ทำให้ขายยากขึ้นไหม
ป่าน : มันแล้วแต่กลุ่มนะ ต้องยอมรับว่าคนไทยยังไม่ค่อย appreciate งานแอ็บสแตรก ส่วนใหญ่คนจะชอบภาพเหมือน บางคนอาจจะมองว่ามันก็เป็นภาพสีๆๆๆๆ แล้วยังไงต่อล่ะ แต่สำหรับลูกค้าต่างชาติ เขาอาจจะซื้อด้วยเหตุผลง่ายๆ เช่นเพราะมันเข้ากับวอลเปเปอร์ที่บ้านเค้า หรือบางคนก็ดูแล้วชอบมาก อยากได้ไปไว้ที่บ้าน กลุ่มนี้เขาก็จะมาเดินดูตามแกลเลอรี่ เพื่อซื้อกลับไปในฐานะของตกแต่งบ้าง ของสะสมบ้าง
คือมันก็แล้วแต่คนอีกด้วยนะ อย่างบางคนที่เห็นงานเราทางอินเตอร์เน็ต แล้วก็มาบอกว่าอยากได้งานแบบชิ้นนี้ที่ขายไปแล้ว อยากได้แบบนี้เลย ซึ่งเราก็แบบ ไม่มีแล้ว ทำไม่ได้ (หัวเราะ)
LifeMATTERs : สำหรับคุณแล้วสิ่งที่สื่อสารออกไปผ่านภาพแอ็บสแตรกคืออะไร
ป่าน : อารมณ์ความรู้สึก แรกๆ เราทำงานจากเพลงนะ งานหลายชิ้นของเราจะเป็นชื่อเพลง เพราะเราฟังเพลงแล้วจะเห็นเป็นภาพ เป็นมวลความรู้สึก อีกอย่างที่เป็นทั้งข้อด้อยและข้อดีของเราคือเราวาดรูปเหมือนไม่เป็น ถ้าให้วาดคนแบบเป๊ะๆ เราวาดไม่ได้ แต่เราชอบน้ำหนักสีหรือการเดินทางของมัน ก็เลยจะเป็นเรื่องความรู้สึกซะเยอะ
หรืออย่างงานที่มาแสดงที่ Warehouse 30 นี้ก็มาจากหนังสารคดีของ Amy Winehouse ก็จะเป็นเรื่องตั้งแต่เขาเพิ่งเริ่มตั้งต้น ตอนที่โด่งดัง เริ่มเจอปัญหา กระทั่งตอนเขาตาย งานอื่นๆ จะก็มาจากหนังสือบ้าง ส่วนใหญ่จะเป็นสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกข้างใน
LifeMATTERs : คนที่จะซื้อภาพของคุณไป จำเป็นเป็นต้องรู้ความคิดหรือคอนเซปต์ของคุณมากน้อยแค่ไหน
ป่าน : สำหรับเรา เรายกให้แล้วแต่คนตีความ การเขียนอธิบายมันค่อนข้างยากสำหรับเรา ซึ่งบางคนเขาซื้องานเพราะอ่านเรื่องราวแล้วชอบ เราเคยเจอคนที่ซื้องานแอ็บสแตรกเก็บ พอถามเขาเขาก็บอกว่าซื้อเพราะมันเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการสวดมนต์ เดินจงกรม ซึ่งเขาชอบอะไรพวกนี้ ก็เลยอิน แล้วก็ซื้อ นั่นคือเขาซื้อสตอรี่
แต่เราไม่เน้นสตอรี่ ดังนั้นรูปที่เราโพสต์หรืออยู่ในเว็บไซต์ เราไม่เคยเขียนเลยว่ารูปนี้คืออะไร หมายความว่ายังไง มีที่มายังไง เราก็แค่บอกชื่อรูป บอกเทคนิก และอุปกรณ์ ไม่เล่าอะไรมากกว่านั้น เพราะเรารู้สึกว่ามันเป็นเรื่องของคนดูแล้ว ถ้าเห็นแล้วคุณรู้สึกแสดงว่ามันน่าจะเป็นของคุณ ซึ่งมันจะจำเพาะเจาะจงน้อยกว่า
เช่นเราไปเจอภาพหนึ่งที่รู้สึกว่าสวยจัง อยากได้ แต่พอรู้ว่ามันมาจากเรื่องอีกแบบหนึ่งของศิลปิน ไม่ใช่แบบที่เราคิด เราก็อาจจะไม่อยากได้มันแล้วก็ได้
LifeMATTERs : เวลาจะขายภาพ คุณตั้งราคายังไง
ป่าน : อันไหนชอบมากก็ขายแพง อันไหนชอบน้อยหน่อยก็ขายถูกลงมาหน่อย เพราะอันไหนที่ชอบมากๆ ก็แอบอยากเก็บไว้ไม่ค่อยอยากให้คนซื้อไป
แต่หลังๆ เวลาเจอดีลเลอร์ที่เขาขายงานอาร์ตจริงๆ จังๆ เขาก็จะคิดราคาเป็นตารางเมตร ซึ่งตอนแรกเรารู้สึกว่าขนาดไม่ได้สำคัญเท่าชิ้นงานนะ แต่ก็พบว่าบางทีงานแอ็บสแตรกถ้าชิ้นเล็กๆ เราอาจจะไม่รู้สึกอะไรกับมัน แต่ถ้าชิ้นใหญ่ขึ้นมา เราจะรู้สึกกับมันเยอะ สเกลมันเลยสำคัญจริงๆ แฮะ ตอนหลังเราก็เลยทำแต่งานชิ้นใหญ่ ส่วนราคาก็จะปรึกษาแกลเลอรี่ ว่างานประมาณนี้ ต้องขายเท่าไหร่
LifeMATTERs : มีไหม คนที่ทำแอ็บสแตรกเก่ง หรือคนที่ทำแอ็บสแตรกไม่เก่ง
ป่าน : จริงๆ มันมีเทคนิคหลายอย่างมากเลยนะ อย่างมีพี่คนหนึ่งที่เขาเก่งมากๆ ก็จะเริ่มจากวาดภาพเหมือนก่อน แล้วทำทุกอย่างให้มันยืดออกไปจนกลายเป็นแอ็บสแตรก แบบนี้ดูแล้วรู้เลยว่าเขาเก่ง เขามีการคิดมาแล้ว หรือบางคนก็จะดูว่าคนนี้ใช้สีอะไร ผสมสียังไง ใช้เทคนิคอะไรบ้าง ใช้อุปกรณ์ยังไง เกรียง พู่กัน หรือฝีแปรง แล้วทำกี่เลเยอร์ เลือกเฉดสียังไง
แต่เราว่าอันที่จริง ในงานแต่ละชิ้นก็มีจุดเด่นของมันต่างกัน เช่นงานของคนนี้ใช้การจุดลงไปเยอะมากในเฟรมที่ใหญ่มาก เราก็ต้องให้คะแนนความถึกของเขา หรือบางคนที่มีวิธีเล่าเด่นมากๆ เราก็ต้องให้คะแนนความครีเอทีฟของเขา ซึ่งมันก็แล้วแต่คนมองอีกนั่นแหละ บางคนอาจจะชอบงานที่เป็นเฉดสีป้ายๆๆๆ ก็จะชอบงานที่เก่งในเรื่ององค์ประกอบสี บางคนทำเป็นภาพขาวดำเหมือนลายหมึก แต่ฝีแปรงสวย เขาก็จะได้ในด้านนั้น มันไม่มีอะไรตายตัวเลย
LifeMATTERs : นับจาก 3 ปีก่อนที่เริ่มทำภาพแอ็บสแตรก พบว่างานตัวเองเปลี่ยนไปไหม
ป่าน : เราว่าเราใช้สีเก่งขึ้น เราเริ่มเข้าใจเท็กซ์เจอร์ของสี อุปกรณ์ต่างๆ สมัยโน้นเราเริ่มด้วยสีทาบ้านก็จะเป็นอีกฟีลหนึ่ง ตอนนี้เราก็รู้จักสีอื่นๆ มากขึ้น เข้าใจวิธีการจบงาน เพราะงานแอ็บสแตรกจะจบตอนไหนก็ได้ แต่มันก็มีข้อเสียนะ เพราะบางทีรู้สึกว่าเราอยากทำให้มันสมบูรณ์เกินไป ดังนั้นงานสมัยแรกๆ มันอาจจะสดกว่า ตอนนี้เทคนิคอาจจะเยอะขึ้น แต่ยังไปไม่ถึงขั้นใช้ทฤษฎีอะไร เรายังใช้อารมณ์เป็นหลักเหมือนเดิม
LifeMATTERs : สภาวะแบบไหนที่ทำให้คุณโปรดักทีฟที่สุด
ป่าน : สภาวะที่มีที่ทำงาน (หัวเราะ) แต่ก่อนเราทำงานที่เอสพลานาด เขาจะมีสเปซให้ทำ มันก็สามารถเลอะได้ แต่พอเรามาทำที่บ้านเราทำเลอะมากไม่ได้ ซึ่งงานแบบนี้เราทำแล้วมันจะต้องเลอะไง อย่างตอนทำผนังให้ร้านกาแฟไคเซน เรา wrap ผนังด้านอื่นๆ หมดเลยนะ แต่มันก็ยังเลอะข้างบนเพดานอยู่ดี
ถ้าที่มันกว้างแล้วเลอะได้เราจะทำงานได้อย่างสบายใจมากๆ ทุกวันนี้เราทำในห้องครัว ซึ่งขนาดเล็กประมาณโต๊ะสองโต๊ะ วาดรูปด้วยการเอาเฟรมขึงไว้ตรงเตา แล้วก็ต้องค่อยๆ ป้ายไป อึดอัดมาก (หัวเราะ)
อีกอย่างคือเราจะชอบทำงานตอนกลางคืน หรือบางทีเวลากินเหล้าก็ช่วยได้ ก็เคยจะไปทำงานข้างนอกตอนกลางวันเหมือนกัน แต่บางที่พอเป็นตอนกลางวันที่มีคนอื่นอยู่ด้วย มันยาก มันมีสิ่งต่างๆ ล้อมรอบ เราเลยต้องกลับมาทำที่บ้านอยู่ดี ถึงจะแคบก็เหอะ
LifeMATTERs : ระหว่างวาดภาพมันเป็นช่วงที่สะเทือนอารมณ์มากไหม
ป่าน : เราว่าไม่ค่อยนะ อาจจะมีอารมณ์ที่นึกถึงแล้วอยู่กับมันไปวันสองวัน แต่ช่วงสะเทือนอารมณ์จริงๆ คือหลังแสดงงานเสร็จแล้วมากกว่า มันจะรู้สึกว่างเปล่า ไม่รู้สึกอะไรเลย มันไม่ได้มีความรู้สึกว่า ดีใจจัง ฉันได้แสดงงาน มีเพื่อนมาดู หรือไม่ได้รู้สึกว่าเสียใจจังคนมาดูน้อย ยังขายงานไม่ได้เลย แต่มันกลับไม่ได้รู้สึกว่าได้ผ่านหรือทำอะไรสำเร็จไปเลย ซึ่งมันแย่กว่าสุขหรือทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่งอีกนะ
ซึ่งนี่เป็นประเด็นของเรา เหมือนเราไม่ค่อยยึดติดอยู่กับอะไร พ่อแม่เราเลิกกัน ที่บ้านให้ออกจากบ้านตั้งแต่อายุ 20 แล้วแม่ก็ตาย มีคนรับไปเลี้ยง พอเรียนจบเราก็ออกมาอยู่เอง เราเลยไม่ค่อยรู้สึกยึดติดกับอะไรที่ทำให้รู้สึกดี เพราะเวลารู้สึกดี เราจะกลัวว่ามันจะหายไป
LifeMATTERs : หลังความรู้สึกว่างเปล่าเมื่อแสดงงานเสร็จ อะไรที่ทำให้คุณกลับมาวาดภาพต่อ
ป่าน : พอผ่านไปสักพักมันก็ดีขึ้นแหละ ไปดูหนัง ฟังเพลง ไปเจอคน มันก็ได้แรงบันดาลใจกลับมาเหมือนเดิม อาจจะต้องหยุดไปก่อน แล้วค่อยกลับมาทำต่อ ระหว่างนั้นก็ต้องบำบัดตัวเองให้กลับมาได้ ตอนนี้เราก็ใช้การเล่นเบสซึ่งมันช่วยเยียวยาได้ดีพอๆ กับวาดรูปเลย
LifeMATTERs : ณ ตอนนี้ งานวาดแอ็บสแตรกเป็นอะไรสำหรับคุณ
ป่าน : พอมันเป็นงานหลักมันกลับเป็นภาระมากเลยนะ สมมติมีคนบอกว่าขอให้ใช้สีกับกระดาษที่คุณภาพต่ำกว่านี้ เพื่อให้งานราคาถูกลงได้ไหม สุดท้ายเราก็ทำไม่ได้ มันเข้าเนื้ออยู่ดี คือไม่ค่อยมีใครรู้ว่าสีขวดหนึ่งเท่าขวดน้ำเล็กๆ มันขวดละ 800 นะ แล้วเราต้องใช้ตั้งกี่ขวด เราซื้อสีทีหนึ่งก็เป็นหมื่น สุดท้ายก็เลยต้องทำงานอื่นมาเสริมอยู่ดี กลายเป็นว่าเราต้องทำงานเพื่อมีเงินมาวาดรูปทุกวัน แล้วเราก็ต้องไม่คาดหวังว่ามันจะขายได้ (หัวเราะ)
คือสุดท้ายมันก็พออยู่ได้ แต่ถ้าเราหากินกับศิลปะไปเรื่อยๆ มันอาจจะทำให้เราเสียตัวตน ถ้าเรามองว่าเราจะได้เงินจากมันเท่าไหร่ มันกลายเป็นว่าเราไม่ได้ทำมันด้วยความสุขแล้ว ก็คงไม่ใช่ทาง เราอยากทำโดยไม่ต้องมานั่งคิดถึงเงินที่เราต้องลงทุนหรือเงินที่เราจะได้มา สุดท้ายเลยต้องจัดการให้มันเป็นงานที่หล่อเลี้ยงจิตใจมากกว่า
Photos by Adidet Chaiwattanakul
ติดตามผลงานของปัณยวีร์ได้ที่ //www.facebook.com/veepanyavee/