เป็นเรื่องน่าประหลาด ที่งานของนักเขียนชาวญี่ปุ่นมักจะดึงดูดผม ตั้งแต่มุราคามิ จนถึงเอคุนิ คาโอริ และล่าสุดนี้ จุนอิชิโระ ทานิซากิ (Junichiro Tanizaki) ก็ทำให้ต้องอ่านนิยายฉบับแปลไทยของเขา 3 เล่มติดต่อกันเพียงในเวลาอันสั้น—รักแสร้งแรงเสน่หา (Quicksand), เดอะคีย์ (The Key) และ บันทึกของชายเฒ่า (Diary of a Mad Old Man)
หากความสัมพันธ์ซับซ้อนเงียบงันและบรรยากาศแปลกๆ ทำให้มุราคามิเป็นที่นิยม ความสัมพันธ์ซับซ้อนที่ว่าก็เป็นหมัดเด็ดของทานิซากิเช่นเดียวกันแต่มันดำดิ่งลงสู่ด้านมืดแห่งความหมกมุ่นเสียยิ่งกว่า เกือบทั้งหมดดำเนินไปด้วยความบกพร่องทางศีลธรรม และไอเดียพิสดารอย่างเช่นเรื่องความฝันของชายแก่ที่จะให้ลูกสะใภ้ที่ตนหลงรักเหยียบย่ำบนหลุมศพของตนตลอดกาล หรืออะไรทำนองนั้น ก็ชวนให้เกิดคำถามว่าคนแบบไหนกันถึงจะคิดเรื่องราวพวกนี้ขึ้นมาได้
จุนอิชิโระ ทานิซากิ คือหนึ่งในนักเขียนคนสำคัญในยุคโมเดิร์นของญี่ปุ่น เขาเกิดที่โตเกียวเมื่อปี 1886 มีผลงานตีพิมพิ์ครั้งแรกในปี 1910 งานที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นเกี่ยวกับเรื่องความหลงใหลทางเพศที่เกิดขึ้นท่ามกลางวัฒนธรรมญี่ปุ่นซึ่งเป็นรอยต่อของยุคสมัยเก่าและใหม่ ทำให้เขาเป็นตัวเก็งรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมอยู่หลายสมัย ถึงแม้จะไม่เคยได้ก็ตาม และในปี 1964 เขาก็เป็นชาวญี่ปุ่นคนแรกที่ได้รับเลือกเป็นสมาชิกของ American Academy และเขาก็เสียชีวิตในปีต่อมา
ทางด้านชีวิตส่วนตัวของเขาก็เจนจัดเกินใคร มีข่าวว่าเขาพยายามส่งเสริมให้ภรรยาไปรักกับนักเขียนรายอื่น หรือกระทั่งไปยุ่งเกี่ยวกับผู้หญิงของญาติผู้ใหญ่ เข้มข้นถึงขนาดนั้น งานเขียนของเขาก็เช่นกัน
งานของทานิซากิจะมักมีตัวละครที่เข้าครอบงำชีวิตของคนอื่น แล้วลงเอยด้วยการทำลายล้างกันเอง สิ่งนี้พบได้ตั้งแต่เรื่องสั้นเรื่องแรกที่ชื่อ ‘The Tattooer’ (ชื่อภาษาญี่ปุ่น: Shisei) เป็นเรื่องของช่างสักผู้หลงใหลสาวงามที่เขาได้สักลายแมงมุมไว้บนหลังของเธอ ตัวละครเป็นเหมือนแมงมุมที่ทอใยให้คนอื่นติดดัก โดยที่เหยื่อเองก็เต็มใจที่จะเดินเข้าไปด้วย ผมมองว่าเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ของงานทานิซากิ
และด้วยเหตุนี้เอง งานเขียนของเขาจึงมักถูกวิจารณ์ว่าเป็นงานของคนวิปริตที่มีความสุขจากการโดนทำร้ายหรือไม่ก็ทำร้ายคนอื่น ซึ่งนิยายฉบับแปลทั้ง 3 เล่มที่จะหยิบยกมาเล่า ก็คงลายเซ็นเหล่านี้ไว้อย่างครบถ้วน และเพื่อให้เห็นภาพชัดเจน ตั้งแต่บรรทัดนี้ไปจะมีการสปอยล์เนื้อหาบางส่วนของนิยาย
Quicksand รักแสร้งแรงเสน่หา
นิยายเรื่องนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกเป็นตอนๆ ลงในนิตยสาร Kaizo ช่วงปี1928-1930 ว่าด้วยเรื่องของคาคิอุชิ หญิงสาวผู้หนีความจำเจในชีวิตแต่งงานไปลงเรียนวิชาศิลปะ จนได้สานสัมพันธ์กับสาวสวยที่ชื่อมัตซึโกะ ไม่นานเธอก็พบว่า มัตซึโกะเองก็มีวาตานุกิเป็นคนรักอีกคน ฟังแค่นี้อาจจะยังดูเหมือนแค่นิยายน้ำเน่าที่มีตัวเอกเป็นไบเซ็กชวล แต่เนื้อเรื่องที่เหลือมันเดือดดาลสับสนกว่านั้นมากๆ จนกระทั่งในช่วงท้ายเรื่องถูกพาไปไกลมากจนแทบจะเหมือนนิยายคนละเรื่องกับตอนแรก
หนึ่งฉากที่ต้องพูดถึงคือ เลิฟซีนครั้งแรกของตัวเอกทั้งสอง โดยคาคิอุชิขอให้มัตซึโกะเปลือยกายแล้วห่มผ้าปูเตียงเอาไว้เพื่อเป็นแบบให้เธอวาดรูปพระโพธิสัตว์ ความงามของมัตซึโกะทำให้เธอเริ่มร้องไห้ ทันใดนั้นคาคิอุชิพยายามกระชากผ้าปูเตียงออกให้ร่างของมัตซึโกะเปลือยเปล่า ฝ่ายมัตซึโกะก็ดึงสู้ ทั้งคู่ขึ้นเสียงด่าทอกัน คาคิอุชิจึงใช้ปากกัดทึ้งผ้าปูที่นอนให้ฉีกออก หลังจากนั้นเมื่อมัตซึโกะเปลือยล่อนจ้อนทั้งคู่ก็ร้องไห้ คาคิอุชิพร่ำบอกว่าอยากฆ่ามัตซึโกะ ซึ่งมัตซึโกะเองก็ตอบกลับด้วยการบอกว่าให้ทำเลย เธออยากถูกฆ่า หลังจากนั้นทั้งคู่จึงกอดประกบหน้า กลืนกินน้ำตาของกันและกัน…
การเล่าผ่านมุมมองบุคคลที่หนึ่งอย่างคาคิอุชิ (ที่เล่าให้นักเขียนผู้บันทึกเรื่องนี้ฟังอีกที) ทำให้เรารับรู้ภาวะของผู้ที่อยู่ใต้การควบคุม รวมถึงความกระหายอยากให้ตัวเองเป็นที่ต้องการจากคนที่ตนลุ่มหลงได้เป็นอย่างดี โดยช่วงต้นของเรื่องนี้ค่อยๆ สร้างภาพโรแมนติกจากรายละเอียดละเมียดๆ แบบญี่ปุ่น บรรยายความรู้สึกประทับใจของคาคิอุชิที่มีต่อมัตซึโกะอย่างงดงาม
หลังจากนั้นก็ทำลายมันทิ้งจนย่อยยับ ด้วยการค่อยๆ สร้างใยแมงมุมแห่งการโกหกที่ต่อกันไปเป็นทอดๆ ผูกตัวละครให้ทำร้ายกันเอง ท้ายสุดทุกอย่างก็ถูกดูดกลืนลงสู่ความมืด เหมือนชื่อภาษาอังกฤษของมันที่แปลว่าทรายดูดนั่นเอง
The Key เดอะคีย์ (1956)
เล่มนี้มีวิธีเล่าน่าสนใจ เป็นเรื่องราวจากไดอารี่ของสามีภรรยาวัยกลางคนคู่หนึ่งที่เล่าสลับกันไปมา เนื้อหาเกี่ยวกับชีวิตเซ็กส์ของพวกเขา บันทึกของทั้งคู่ถูกซ่อนและล็อกกุญแจไว้ โดยที่ต่างฝ่ายต่างไม่อ่านเรื่องจากมุมของอีกคน
เรื่องเริ่มจากบันทึกฝ่ายสามีที่พยายามหาทางแก้ปัญหาความไม่ลงรอยในเรื่องเซ็กส์กับภรรยา
เมื่อโอกาสมาถึง ทั้งคู่ก็ดิ่งไปกับความหมกมุ่น เสพติดความสุขจากการทำร้ายกัน และไม่ยอมหยุดแม้ว่ามันจะสร้างปัญหาตามมาแค่ไหนก็ตาม
อันที่จริงอาจจะพูดได้ว่า เรื่องนี้เป็นการเล่าความสัมพันธ์แบบ Sadomasochism ที่แท้จริง เพียงแต่ไม่ใช่ภาพสเตอริโอไทป์แบบแส้เฆี่ยนเทียนลน หากแต่ไปในระดับจิตใจที่ลึกกว่านั้น มันคือความสุขทางเพศ เมื่อเกิดความรู้สึกหึงหวงอีกฝ่าย หรือถูกกดขี่ให้ตัวเองรู้สึกน่าสมเพช ซึ่งตัวละครในเรื่องนี้เอง นอกจากจะต้องทุกข์ทรมานทางจิตใจแล้ว ก็ยังต้องรับมือกับอาการป่วยทางร่างกายที่พวกเขาล้วนเลือกพาตัวเองไปสู่จุดนั้น
ในฉากหนึ่ง หลังจากที่สามีช่วยพยาบาลภรรยาจากการเป็นลม ระหว่างที่เธอนอนพักผ่อนอยู่เขาก็ค่อยๆ ถอดเสื้อผ้าเธอแล้วเอาหลอดไฟฟลูออเรสเซนต์สว่างจ้ามาเปิดเพื่อให้เห็นเธอทุกซอกทุกมุม พร้อมกับบรรยายไปด้วยว่าตลอดหลายสิบปีในชีวิตแต่งงาน เขาไม่เคยได้เห็นร่างเปลือยเต็มๆ แบบนี้มาก่อน เนื่องจากนิสัยส่วนตัวของภรรยา และสิ่งนี้ได้กระตุ้นอารมณ์ทางเพศของเขาอย่างรุนแรง
หลังจากนั้นเพื่อให้เธอคงอยู่ในสภาวะนี้ เขาหยิบยาสลบมาเคี้ยวผสมกับน้ำแล้วป้อนให้เธอด้วยปาก เธอกลืนลงไปอย่างง่ายดายจนน่าสงสัยว่าแกล้งหลับอยู่หรือเปล่า แล้วทั้งคู่ก็ร่วมรักกันแบบกึ่งหลับกึ่งตื่น ตอบสนองกันอย่างเร่าร้อนแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ในระหว่างนั้นเองที่ภรรยาครางชื่อคู่เดทของลูกสาวตัวเองขึ้นมา กลายเป็นว่านั่นยิ่งทำให้พวกเขามีความสุขมากขึ้นจากภาพลวงตาคลุมเครือว่าใครกำลังทำกับใครกันแน่
ความพีคคือ เดอะคีย์เป็นนิยายเรื่องรองสุดท้ายของทานิซากิที่ดูจะทับซ้อนกับชีวิตส่วนตัวจริงๆ ของนักเขียนไม่มากก็น้อย อาการป่วยต่างๆ ที่ปรากฎในเรื่องเป็นสิ่งที่ทานิซากิเองกำลังเผชิญอยู่ในขณะนั้น หลังจากนิยายเล่มนี้ตีพิมพ์ได้ไม่นาน เขาก็ล้มป่วยหนัก เส้นเลือดในสมองแตกจนทำให้มือขวาใช้การไม่ได้
Diary of a Mad Old Man บันทึกของชายเฒ่า (1961)
บันทึกประจำวัน (อีกเช่นเคย) ของ อัทซึงิ ชายแก่วัย 77 ที่ลุ่มหลงในตัว ซัทสึโกะ ลูกสะใภ้ผู้งดงามและร้ายกาจของเขา โดยตลอดทั้งเรื่องอัทซึงิจะค่อยๆ ถูกทำลายลงจากตัณหาราคะและสังขารอันแก่เฒ่าของตัวเอง
ในเดอะคีย์เองก็มีการแย้มความเป็น foot fetishism หรือการบูชาคลั่งไคล้เท้าที่ทำให้เห็นภาพความสุขจากการถูกกดขี่ควบคุม และบันทึกชายเฒ่าก็ได้พา foot fetishism ไปสู่จุดสุดยอด
ในฉากท้ายๆ ที่อัทซึงิไปหาทำเลเพื่อสร้างหลุมฝังศพให้ตัวเอง ในตอนแรกเขาตั้งใจให้แท่งหินบนหลุมฝังศพสลักรูปพระโพธิ์ที่สัตว์ที่จะแอบจำลองใบหน้าของ ซัทสึโกะ ลูกสะใภ้ใส่เข้าไป แต่ภายหลังกลับเปลี่ยนใจ ซึ่งการเปลี่ยนใจนี้ก็ไม่ได้ทำให้ลูกหลานสบายใจขึ้นเลย เพราะเขาจะจำลองภาพเท้าของซัทสึโกะลงบนแท่นหลุมศพแทน
ไอเดียนี้มีต้นแบบคือหินสลักรอยพระพุทธบาท ซึ่งการบรรยายความรู้สึกโดยพระเอกเฒ่าของเราก็ช่างยอดเยี่ยม เขาบอกว่าการทำอย่างนี้เมื่อตายไป ซัทสึโกะคงรู้สึกว่าการได้เหยียบย่ำกระดูกของชายแก่ที่น่าเวทนาจะทำให้เธอรู้สึกขยะแขยงแต่ก็น่าจะแอบเสียวซ่านด้วยเช่นกัน ส่วนวิญญาณของเขาเองก็จะโผล่มารองรับน้ำหนักตัวทั้งหมดของเธอผ่านเท้านุ่ม ที่จะทำให้ทั้งเจ็บปวดและมีความสุข วิญญาณของเขาคงจะเรียกร้องให้เธอเหยียบย่ำลงมาอีกเรื่อยๆ ไปตลอดกาล
บันทึกของชายเฒ่า เป็นนิยายเรื่องสุดท้ายของทานิซากิ ถูกเขียนขึ้นหลังจากที่เขาเส้นเลือดในสมองแตกซึ่งทำให้มือขวาใช้การไม่ได้ การเขียนเรื่องนี้จึงมีภรรยาของเขาเป็นผู้ช่วย โดยส่วนตัวแล้ว ผมค่อนข้างชอบเรื่องนี้เป็นพิเศษ ด้วยความที่มันถูกดันไปสุดทาง จนเหมือนเป็นการยั่วล้ออย่างมีอารมณ์ขัน (รีวิวจาก New York Times ก็บอกว่านานครั้งเหลือเกิน ที่จะเห็นอารมณ์ขันจากทานิซากิ) อาจจะพูดได้ว่าบันทึกชายเฒ่าได้รวมเอาเอกลักษณ์อันชัดเจนทุกอย่างของทานิซากิ ที่ถูกพัฒนาสูงสุดและนำมาเล่นอย่างสนุกสนาน เป็นการปลดปล่อยครั้งสุดท้ายก่อนที่เขาจะจากโลกนี้ไป
น่าสนใจที่ทั้งสามเรื่องนี้ ตัวละครมักถูกนำไปเทียบเคียงกับพระโพธิสัตว์ ที่ถูกหมกมุ่นเทิดทูนราวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และตัวเอกของทุกเรื่องก็มีความสุขจากการถูกทำร้ายย่ำยีโดยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของพวกเขาเอง การประทะกันของสิ่งสูงส่งน่าเทิดทูนบูชากับความหมกหมุ่นน่าสมเพช ความโรแมนติกกับความวิปริตบิดเบี้ยวเหล่านี้นี่เอง ที่ทำให้งานเขียนของทานิซากิไม่อาจมีใครเลียนแบบได้—ก็เมื่ออ่านจากประวัติส่วนตัวรวมด้วยแล้ว หลายส่วนอาจจะมาจากชีวิตจริงของเขาเสียด้วยซ้ำ
Text by Theerapat Wongpaisarnkit (Beam Wong)
นิยายของทานิซากิทุกเรื่องที่กล่าวถึง จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์บ้านหนังสือ ซึ่งนอกจากนิยายแล้วยังมีงานรวมบทความของทานิซากิที่ชื่อ ‘เยิรเงาสลัว’ จัดพิมพ์โดย Openbooks ว่าด้วยความงามในเงาสลัวของญี่ปุ่นแบบโบราณ ทั้งบ้าน ห้องน้ำ เครื่องเรือน ฯลฯ ที่ถูกทำลายลงด้วยแสงสว่างจากเทคโนโลยีของตะวันตก จริงๆ แล้วกลิ่นอายวัฒนธรรมญี่ปุ่นอันเข้มข้นและความเป็นตะวันออกกับตะวันตกก็มีปรากฎในนิยายของเขาแทบจะทุกเรื่องเช่นกัน