13 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ และแคนดิเดตประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกัน ถูกลอบยิงระหว่างปราศรัยหาเสียงที่เมืองบัตเลอร์ รัฐเพนซิลเวเนีย
กระสุนที่ส่งตรงจากหลังคาซึ่งห่างจากทรัมป์ออกไปเพียงราวๆ 130 เมตร เฉี่ยวโดนแค่ใบหูของเขาเท่านั้น “ผมควรจะตายไปแล้ว ผมไม่ควรจะอยู่ตรงนี้” ทรัมป์ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน หลังจากถูกยิง
จนถึงตอนนี้ เรารู้แค่ว่า มือปืนชื่อ โทมัส แมทธิว ครูกส์ (Thomas Matthew Crooks) อายุ 20 ปี ยังไม่มีเหตุผลอธิบายแน่ชัดว่าทำไมเขาจึงก่อเหตุ อย่างไรก็ดี สำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐฯ หรือ FBI กำลังสอบสวนการก่อเหตุครั้งนี้ในฐานะการพยายามลอบสังหาร (attempted assassination) รวมถึงการก่อการร้ายภายในประเทศ (domestic terrorism) ด้วย
ในขณะที่แรงจูงใจยังเป็นปริศนา การก่อเหตุครั้งนี้ย่อมส่งแรงสะเทือนถึงการเมืองและสังคมสหรัฐฯ อย่างแน่นอน – แต่สิ่งที่น่าตั้งคำถามต่อคือ แล้วสังคมแบบไหนที่จะเอื้อให้เกิดการลอบสังหาร?
The MATTER พูดคุยกับ ประจักษ์ ก้องกีรติ รองศาสตราจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงการเมืองเรื่องการลอบสังหาร เพื่อหาคำตอบต่อข้อสงสัยเหล่านี้
การเมืองเรื่องการลอบสังหาร
นอกเหนือจากสงครามระหว่างรัฐ สงครามกลางเมือง การสังหารหมู่ การรัฐประหาร การประท้วง จลาจล ประจักษ์อธิบายว่า ความรุนแรงทางการเมืองอีกประเภทหนึ่งก็คือ การลอบสังหาร
“มันก็คือความรุนแรงทางการเมืองประเภทหนึ่ง แต่เป็นความรุนแรงที่มีลักษณะเฉพาะ จริงๆ ทั้งเหยื่อและผู้กระทำการมีจำนวนน้อยกว่าความรุนแรงประเภทอื่นมาก ส่วนใหญ่ก็เป็นความรุนแรงที่พุ่งเป้าไปที่ตัวบุคคลคนเดียวเลย เราเรียกว่า ความรุนแรงแบบมุ่งเป้า (targeted violence) ไม่ใช่ความรุนแรงแบบไม่เจาะจง (random violence)”
ประจักษ์ชี้ว่า ในภาพกว้างที่สุด การลอบสังหารอาจมีที่มาจากเหตุผลเพียงแค่ 2-3 ประการเท่านั้น
เหตุผลแรก เหตุผลเชิงอำนาจและผลประโยชน์ “การลอบสังหารทางการเมืองถูกใช้เป็นวิธีเพื่อกำจัดคนที่คิดว่าเป็นศัตรูทางการเมืองหรือขัดขวางผลประโยชน์ แค่ฆ่าคนนี้คนเดียว มันอาจจะเปลี่ยนสมการอำนาจ เปลี่ยนทุกอย่างไปเลย สมมติในการเลือกตั้ง แข่งกันดุเดือดอยู่ 2 คน ฆ่าคนนี้ไป ฉันก็ง่ายเลย ฉันไม่มีคู่แข่ง”
เหตุผลที่สอง เหตุผลเชิงอุดมการณ์ “คนที่ก่อเหตุอาจจะเป็นคนธรรมดา แต่มีความเชื่อแรงกล้าในทางศาสนา ทางการเมือง ในแง่ลัทธิอุดมการณ์ทางการเมืองอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วเขามองว่า คนที่เป็นเป้าสังหารของเขากำลังทำอะไรที่ละเมิดความเชื่อหรือเป็นศัตรูทางความเชื่อของเขา”
เหตุผลสุดท้าย เหตุผลเชิงสัญลักษณ์ “สังหารคนที่เป็นภาพตัวแทนอะไรบางอย่าง เป็นสัญลักษณ์ที่มากไปกว่าตัวคนที่เป็นเหยื่อที่โดนสังหาร ไม่ใช่เพื่อแย่งชิงอำนาจ แต่ฆ่าเพราะว่า คนคนนั้น ผู้นำศาสนาคนนั้น หรือกษัตริย์คนนั้น เป็นสัญลักษณ์ของความเชื่อแบบหนึ่ง ฆ่าคนนี้เพื่อไปทำลาย ไปสั่นคลอน ความเชื่อตรงนั้น
“การลอบสังหารก็เกิดขึ้นมานานในโลก มีการศึกษากันเป็น 1,000 ปี พูดง่ายๆ เป็นหนึ่งในรูปแบบความรุนแรงทางการเมืองที่เก่าแก่ที่สุด”
ประจักษ์อธิบายต่อว่า “เพราะมันไม่ต้องใช้คนเข้าไปมีส่วนร่วมเยอะ และเป็นความรุนแรงที่ต้นทุนต่ำ คุณไม่ต้องจัดตั้งใคร อย่างสงครามคุณต้องมีกองทัพ มีอาวุธยุทโธปกรณ์ หรือกลุ่มก่อการร้าย คุณจะต้องมีกลุ่ม องค์กรของตัวเอง แต่ความรุนแรงแบบลอบสังหาร คนเดียวก็ทำได้”
สังคมแบบไหนที่เอื้อให้เกิดการลอบสังหาร?
“จริงๆ ความรุนแรงแบบการลอบสังหารก็มักจะเป็นส่วนหนึ่งของความรุนแรงที่กว้างไปกว่านั้น คือ สังคมนั้นมักจะมีความแตกแยกสูงอยู่ก่อนหน้านั้นแล้ว” นี่คือข้อสังเกตของนักรัฐศาสตร์อย่างประจักษ์
“การลอบสังหารเหมือนเป็นแค่ยอดภูเขาน้ำแข็งที่โผล่ขึ้นมาให้เราเห็น คำถามที่เราต้องถามก็คือว่า เวลาเกิดการลอบสังหารขึ้น มันสะท้อนอะไรในสังคมนั้น”
เขาอธิบายว่า สังคมที่มีการลอบสังหารเกิดขึ้นบ่อยๆ สะท้อนว่า สังคมนั้นจะต้องมี ‘เนื้อดิน’ ที่มีส่วนผสมบางอย่างที่ ‘เป็นพิษ’ (toxic mix) หรือ ‘ส่วนผสมที่อันตราย’ (dangerous mix) ที่เมื่อมาผสมกันเมื่อไร ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรงรูปแบบต่างๆ รวมถึงการลอบสังหารเกิดขึ้นได้
ส่วนผสมแรก คือ การเสื่อมถอยของสถาบันและกฎกติกาทางการเมือง ที่ทำให้ผู้คนตกลงกันได้ ในรัฐสภา ภายใต้รัฐธรรมนูญ ภายใต้กรอบกฎหมาย แต่เมื่อสิ่งเหล่านี้ไม่ศักดิ์สิทธิ์ หรือไม่ถูกยอมรับจากทุกฝ่าย ก็นำไปสู่การใช้ความรุนแรงเพื่อเอาชนะกัน
ส่วนผสมที่สอง คือ การเสื่อมถอยของค่านิยมหรือบรรทัดฐาน (norms) ในสังคม ที่ทำให้มีการยอมรับความเห็นต่าง หรือความอดทนอดกลั้น (tolerance) ในสังคมการเมืองซึ่งย่อมมีความขัดแย้งกันอยู่แล้ว แต่ก็เป็นการขัดแย้งกันแบบมีอารยะ “ตรงนี้เสื่อมถอยเมื่อไหร่ อันนี้แหละน่ากลัว” เขาว่า
“พอมี 2 อย่างนี้มาบรรจบกัน อันนี้อันตรายแล้วนะ มันก็จะเกิดการเมืองของการเป็นมิตรและศัตรู มันจะแบ่งขั้วสูง คนที่ต่างจากเราเหมือนข้าศึกศัตรูในสงคราม พูดง่ายๆ การเมืองมันกลายเป็นสงคราม ฉันต้องเอาชนะให้ได้ ถ้าคุณอยู่ เท่ากับฉันแพ้ มันก็จะนำไปสู่ความคิดที่ว่า ใช้วิธีการอะไรก็ได้แล้ว”
แต่นอกเหนือจากนี้ก็ยังมี ส่วนผสมสุดท้าย ลักษณะของผู้นำที่มีบารมีสูง ก็อาจนำไปสู่ความเสี่ยงของการลอบสังหารได้
“ผู้นำที่มีบารมี และเป็นผู้นำที่มีความเข้มแข็ง มีลักษณะ-คุณสมบัติพิเศษในบางเรื่อง มีความคิด นโยบาย ที่ชัดเจน กระทั่งอาจจะสุดโต่งไป มันก็จะไปสร้างให้เกิดลักษณะที่มันเกิดความแตกแยกในสังคม มีทั้งคนรักและคนเกลียด ก็ง่ายที่จะตกเป็นเหยื่อ หรือเสี่ยงที่จะโดนลอบสังหารได้” ประจักษ์ระบุ
การเมืองไทยเองก็เคยเลือดสาด
อันที่จริง การเมืองไทยก็เคยมีส่วนผสมอย่างที่ประจักษ์ว่า
“สังคมไทยก็ไม่เคยปลอดจากการลอบสังหารนะ เรามีเยอะ แต่เป็นอีกประเภทหนึ่ง เป็นอีกลักษณะหนึ่ง คือมันไม่ symbolic เลย”
เขาอธิบายว่า “การลอบสังหารส่วนใหญ่ คนทำไม่ได้มีเหตุจูงใจต้องการสร้างให้มันเป็นสัญลักษณ์ทางการเมือง และก็ไม่ค่อยเกี่ยวกับเรื่องความคิดความเชื่อทางการเมืองเท่าไหร่ การลอบสังหารส่วนใหญ่ของไทยมักจะมาจากการแย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์ ระหว่างนักการเมืองด้วยกัน ในการเลือกตั้ง”
ประจักษ์เล่าย้อนบรรยากาศการเมืองไทยในช่วงทศวรรษ 2520-2530 ว่าเป็นการสู้กันแบบ ‘เลือดสาด’ ทุกการเลือกตั้งจะต้องมีผู้เสียชีวิต ไม่ว่าจะเป็นหัวคะแนนหรือผู้สมัคร สส. เอง บางครั้งอาจเสียชีวิตถึง 30-40 คนก็มี
จังหวัดที่มีการเลือกตั้งนองเลือด ก็มีทั้งเพชรบุรี บุรีรัมย์ สงขลา ประจวบคีรีขันธ์ ราชบุรี ลพบุรี หรือนครสวรรค์ เหล่านี้ก็คือจังหวัดที่มีเจ้าพ่อ มีผู้มีอิทธิพล หรือคนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสีเทา เศรษฐกิจใต้ดิน มาลงแข่งขันการเลือกตั้ง
“ในสมัยก่อน สื่อก็ยังไม่ได้แข็งแรงมาก กฎกติกาก็ยังไม่ได้แข็งแรง พรรคการเมืองต่างๆ ก็ยังไม่ได้แข่งกันด้วยนโยบาย ในยุคก่อนไม่ได้เอานโยบายมานำเสนอเพื่อแย่งชิงคะแนนเสียงจากประชาชน ฉะนั้น การเมืองก็เป็นการสู้กันของตัวบุคคล โดยเฉพาะพวกเจ้าพ่อผู้มีอิทธิพล ฉันเงินเยอะ ฉันพวกเยอะ ฉันลูกน้องเยอะ สร้างเครือข่ายอุปถัมภ์ไว้แน่นหนา โอกาสที่จะชนะมันก็สูง
“แข่งกันถึงจุดหนึ่ง พอดุเดือดมาก แล้วคิดว่าตัวเองจะแพ้ คราวนี้ เงินก็ไม่พอแล้ว เพราะอีกฝ่ายหนึ่งก็มีเงินเหมือนกัน ถ้าผู้ยิ่งใหญ่มาเจอกัน สมมติเจ้าพ่อกับเจ้าพ่อเจอกัน สุดท้ายมันก็ต้องไปจบด้วยความรุนแรง ก็สังหารคู่แข่งเราซะเลย หรือสังหารหัวคะแนน ผู้ช่วยหลักของฝ่ายตรงข้ามซะเลย โอกาสที่เราจะชนะก็สูง”
อย่างไรก็ดี สิ่งเหล่านี้เริ่มลดลงเมื่อกติการเปลี่ยนไป โดยเฉพาะตั้งแต่หลังมีรัฐธรรมนูญ 2540
“พรรคการเมืองแข็งแรงมากขึ้น และแข่งกันด้วยนโยบายมากขึ้น พูดง่ายๆ คุณไม่ได้เอาตัวคุณไปนำเสนอแล้ว คุณเอานโยบายไปนำเสนอ คุณเอาแบรนด์พรรคไปนำเสนอ ฉะนั้น พอแข่งกันแบบนี้ ต่อให้คุณไปฆ่าคู่แข่ง มันไม่ได้การันตีว่าคุณจะชนะ เพราะคนเขาเลือกที่พรรค คนเขาเลือกที่นโยบาย
“และค่านิยมคนก็เปลี่ยนด้วย ในยุคหลังๆ ที่ผ่านมา สังคมมันเปลี่ยน คนก็ปฏิเสธความรุนแรง คนก็ปฏิเสธการใช้อิทธิพลมืดเหล่านี้ในการเอาชนะกัน กลายเป็นว่า ใครถูกสงสัยว่าใช้ความรุนแรง ใช้อิทธิพลมืด อาจจะพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งด้วยซ้ำ”
เมื่อสังคมสหรัฐฯ แบ่งขั้ว และการเมืองโลกผันผวน
เมื่อกลับมามองสหรัฐฯ ประจักษ์ชี้ว่า ส่วนผสมอันตรายในสังคมอเมริกัน ก็คือการแบ่งขั้ว (polarization) ที่สูงเป็นประวัติการณ์ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา
“เมื่อก่อนมันมีกติกาที่ยอมรับร่วมกัน อย่างน้อยไปจบที่การเลือกตั้ง แต่ล่าสุดเราก็เห็นแล้วว่า บรรทัดฐานตรงนี้ก็โดนละเมิด พอทรัมป์แพ้การเลือกตั้งเมื่อ 4 ปีที่แล้ว และไม่ยอมรับผล ผู้สนับสนุนไปบุกรัฐสภา นั่นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์อเมริกาเลยที่ถึงขั้นเกิดเหตุอย่างนี้ อันนี้ก็เป็นสัญญาณอันตรายแล้ว”
อย่างไรก็ดี ประจักษ์ชี้ว่า สังคมอเมริกาก็มี ‘ประวัติไม่ดี’ ในเรื่องการลอบสังหารอยู่แล้ว ที่ผ่านมา มีประธานาธิบดีที่เสียชีวิตจากการลอบสังหารถึง 4 คน ได้แก่ อับราฮัม ลิงคอล์น (Abraham Lincoln) เจมส์ เอ. การ์ฟิลด์ (James A. Garfield) วิลเลียม แมคคินลีย์ (William McKinley) และ จอห์น เอฟ. เคนเนดี (John F. Kennedy) ยังไม่นับความพยายามลอบสังหารแต่ไม่สำเร็จ ซึ่งก็มีอยู่หลายครั้ง
ในแง่นี้ เขาอธิบายว่า สังคมที่ให้อำนาจกับผู้นำสูงก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดการลอบสังหารสูงกว่า อย่างเช่นระบอบประธานาธิบดีที่มีความเสี่ยงมากกว่าระบอบรัฐสภา “เพราะตรรกะของคน ก็จะรู้สึกว่า มีอำนาจมากขนาดนี้ และคนนี้เป็นตัวปัญหา ถ้ากำจัดคนนี้ ผู้นำคนนี้ได้คนเดียว เราจะเปลี่ยนทุกอย่างเลยนะ เปลี่ยนทิศทางนโยบาย เปลี่ยนนโยบายต่างประเทศ”
ท้ายที่สุด เทรนด์การใช้ความรุนแรงก็ไม่ได้มีแค่ในสหรัฐฯ ประจักษ์ชี้ให้เห็นว่า ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา นักการเมืองตกเป็นเป้าทำร้าย โจมตี หรือลอบสังหารมากขึ้นในหลายๆ สังคม
ยกตัวอย่างเช่นในญี่ปุ่น อดีตนายกฯ ชินโซ อาเบะ (Shinzo Abe) ถูกลอบยิงเสียชีวิตเมื่อเดือนกรกฎาคม 2022 “เหตุการณ์นั้นก็ช็อกสังคมญี่ปุ่น พอมันเกิดขึ้น คนก็ตกใจ เหมือนบรรทัดฐานว่าเราจะไม่ใช้ความรุนแรงต่อกันมันโดนทำลาย และหลังจากอาเบะ ก็มีเหตุการณ์ตามมาอีก 2-3 เหตุการณ์ ที่นักการเมืองญี่ปุ่นโดนทำร้าย”
นอกจากนั้นก็ยังมีอีกหลายประเทศ อย่างเช่นในช่วงก่อนการเลือกตั้งฝรั่งเศสที่ผ่านมา ก็พบว่า มีเหตุการณ์ทำร้ายร่างกายแคนดิเดตและผู้ช่วยหาเสียงมากกว่า 50 ครั้ง
“มันก็สะท้อนอุณหภูมิทางการเมืองในโลก โลกมันผันผวน กฎกติกา ระเบียบระหว่างประเทศก็โดนทำลาย สงครามระหว่างรัฐยังเกิดได้ ไปรุกรานโดยไม่ต้องสนใจกฎกติการะหว่างประเทศ พอเป็นแบบนั้น ถ้ากติกาใหญ่มันโดนทำลาย มันก็ใช้วิธีรุนแรงมากขึ้นในการเอาชนะกัน สังคมมันแตกแยกมากขึ้นทั่วโลก
“เราอยู่ในโลกที่มีเนื้อดินที่มันเหมาะสมอยู่แล้ว ที่อุดมสมบูรณ์มาก ในการทำให้ความรุนแรงผุดขึ้นมา ปะทุขึ้นมาได้ ในแง่นี้มันก็น่ากลัว” เขาว่า