ถ้าต้องนั่งทำงานตั้งแต่เช้าจรดเย็น จนแทบจะไม่ได้ลุกไปไหน คงจะรู้สึกปวดเมื้อยตามร่างกายอยู่ไม่น้อย เพราะการค้างอยู่ในท่าเดิมเป็นเวลานาน ก็ย่อมตามมาด้วยการปวดเมื่อยของกล้ามเนื้อ ตามส่วนต่างๆ ของร่างกายเป็นธรรมดา
ทว่าพอเริ่มรู้สึกปวดตัวสักที ก็ต้องมานั่งชั่งใจและคิดว่า อาการปวดแบบนี้ แค่ไปนวดก็จะหายปวดไหม หรือควรไปทำกายภาพบำบัดเลยดี แม้ทั้งสองวิธีจะสามารถช่วยฟื้นฟูร่างกายจากอาการปวดได้เช่นเดียวกัน แต่ความต่างเรื่องวิธีการก็อาจให้ผลลัพธ์ที่ไม่เหมือนกันอยู่ดี
กลายเป็นข้อสงสัยชวนสับสนกันไปอีกว่า เมื่อความปวดรุมเร้าร่างกาย เราควรเลือกเข้ารับการรักษาด้วยวิธีไหน วันนี้ The MATTER จึงได้ชวน กภ.วรัญญา จเรวณิช เจ้าของคลินิก ใจยินดีกายภาพบำบัด และ สันติ นาคเครือ นักกายภาพบำบัด มาร่วมแนะนำว่า อาการปวดแบบไหน ที่เราควรเข้าร้านนวด และอาการประไหน เราถึงต้องไปหานักกายภาพ
เมื่อเริ่มรู้สึกปวดเมื่อยจะเลือกไปหาใครดี
คงจะไม่เกินจริงเท่าไหร่นัก หากจะบอกว่า ความรู้สึกปวดเมื้อยตามร่างกาย เกิดขึ้นจนแทบจะเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ เพราะไม่ว่าจะทำกิจกรรมอะไรก็อาจมีอาการปวดเมื่อยได้เสมอ หรือกระทั่งการนั่งทำงานอยู่กับที่เฉยๆ ก็ยังสามารถทำให้เราเป็นออฟฟิศซินโดรม (office syndrome) ได้อยู่ดี
ถึงอย่างนั้น พอเริ่มมีอาการปวดเมื้อยตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย แล้วแค่ไปให้หมอนวด นวดเส้นกดจุด สักชั่วโมงสองชั่วโมง มันจะหายเป็นปลิดทิ้งเลยเสียเมื่อไหร่ เพราะบางทีเราอาจจำเป็นต้องพึ่งพาการดูแลจากนักกายภาพบำบัด เพื่อให้พวกเขาเข้ามารักษาอาการเจ็บปวดของเราด้วยเช่นเดียวกัน
แม้บทบาทหน้าที่ของนักกายภาพบำบัดและหมอนวดจะคล้ายคลึงกัน ทว่าการรักษาของพวกเขานั้น มีเป้าหมายที่แตกต่างกันพอสมควรทีเดียว โดยนักกายภาพบำบัด จะมีหน้าที่ซึ่งเน้นไปในด้านการป้องกัน รักษา และฟื้นฟูร่างกายของผู้ป่วย อันเกี่ยวข้องกับระบบกล้ามเนื้อ กระดูก และระบบประสาท
โดยนักกายภาพบำบัด จะเริ่มจากการประเมิน เพื่อวิเคราะห์สาเหตุของอาการ เพื่อนำไปสู่การวางแผนการรักษาที่เหมาะสม เช่น การใช้เครื่องมือทางกายภาพบำบัด หรือการวางแผนการออกกำลังกายให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคล
ดังนั้นอย่างแรกที่ผู้มีอาการปวดเมื่อยตามเนื้อตัวต้องทำคือการลองสังเกตอาการปวดของตนดูก่อนว่า
- อาการปวดนั้นรบกวนชีวิตประจำวัน โดยไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตนเองได้ไหม?
- อาการปวดที่กำลังเป็นนั้น มีลักษณะเฉพาะเจาะจง ปวดร้าวไปในบริเวณอื่นของร่างกายร่วมด้วยหรือไม่?
- อาการปวดกินระยะเวลานานกว่า 1-2 สัปดาห์ แม้พักผ่อน ดูแลตัวเองอย่างดี ตลอดจนใช้ยาร่วมด้วยแล้วก็ตามหรือไม่?
- พบอาการแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น อาการชา อ่อนแรง บวม อักเสบ หรือข้อยึดติด ตามมาด้วยหรือเปล่า?
หากมีอาการเข้าข่ายดังกล่าว อาจลองเข้าไปตรวจประเมินกับนักกายภาพบำบัด เพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุที่แท้จริงของอาการ อันนำไปสู่การให้นักกายภาพฯ ช่วยวางแผนและให้คำแนะนำในการใช้ชีวิตประจำวัน ตลอดจนคำแนะนำ สำหรับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ท่าทางที่ถูกต้อง และวิธีการออกกำลังกายที่เหมาะสมต่อตัวผู้เข้ารับการรักษาด้วย
ในส่วนของหมอนวดนั้น พวกเขามีหน้าที่ซึ่งเน้นไปในด้านการผ่อนคลาย ด้วยการใช้มือช่วยนวดผ่อนคลายกล้ามเนื้อ เพื่อให้กล้ามเนื้อคลายตัว และเลือดไหลเวียนดีขึ้น สำหรับใครที่สำรวจอาจการปวดเมื้อยของตนเอง แล้วพบว่า
- มีอาการตึงหรือปวดเมื้อยทั่วไปตามร่างกาย
- เมื่อยล้าจากการทำงาน
- ต้องการผ่อนคลายกล้ามเนื้อจากอาการปวด
- ไม่มีประวัติการบาดเจ็บรุนแรงมาก่อน
การนวด จึงจะเป็นวิธีที่ดีสำหรับผู้มีอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย แล้วต้องการผ่อนคลายร่างกาย โดยการนวดจะช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัวและกระตุ้นให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้นด้วย
โดยนักกายภาพได้แนะนำว่า การนวดบ่อยๆ ไม่ได้เป็นอันตรายแต่อย่างใด หากทำอย่างถูกต้องและเหมาะสมต่อสภาพร่างกายของแต่ละคน แต่ ถ้าผู้ใดที่นวดแล้วเกิดอาการบาดเจ็บหรือฟกช้ำตามร่างกาย ควรเว้นห่างรอให้อาการเหล่านั้นหายไปก่อน ยังไม่ควรกลับไปนวดซ้ำ
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ หรือกระดูกพรุน ควรปรึกษาแพทย์ก่อนนวด อีกทั้ง ผู้ที่มีภาวะโรคหลอดเลือดบางประเภท เช่น หลอดเลือดอุดตันหรือเส้นเลือดขอด อาจมีความเสี่ยงหากนวดแรงเกินไปได้ด้วยเช่นกัน ดังนั้นแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดก่อนไปนวดคือ การสำรวจร่างกายของตนเองก่อนและหลังไปนวดให้ดี เพื่อไม่ทำให้ร่างกายได้รับอาการบาดเจ็บจากการนวดนั่นเอง
ทั้งนี้ สำหรับใครที่มีอาการปวดเมื่อย นักกายภาพบำบัดยังได้แนะนำวิธีอื่นๆ เพิ่มเติมนอกเหนือจากการไปนวดและเข้ารับการรักษาโดยนักกายภาพด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น
- การประคบร้อน: เมื่อมีอาการตึงตัว หรือมีอาการปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ สามารถลองประคบร้อนได้ เนื่องจากความร้อนจะช่วยทำให้หลอดเลือดขยายตัว กล้ามเนื้อจะได้รับสารอาหารที่มากขึ้น ช่วยทำให้อาการปวดเมื้อยต่างๆ ลดลง
- การประคบเย็น: สำหรับใครที่รู้สึกว่ากล้ามเนื้อมีอาการอักเสบ ให้รีบประคบเย็นภายใน 24 ชั่วโมง สามารถช่วยลดอาการบาดเจ็บได้ ตลอดจนทำให้ระยะเวลาของการหายสั้นลงด้วยเช่นกัน
- ปรับเปลี่ยนอิริยาบถ: ซึ่งเป็นข้อที่สามารถแก้ได้ง่ายที่สุด โดยเมื่อเรามีการเปลี่ยนท่าบ่อยๆ จะช่วยทำให้กล้ามเนื้อไม่ค้างอยู่ในท่าใดท่าหนึ่งนานจนเกินไป อันเป็นสาเหตุของอารการปวดเมื้อยตามส่วนต่างๆ ของร่างกายนั่นเอง
- พักผ่อนให้เพียงพอ: การนอนหลับเป็นช่วงเวลาสำหรับร่างกายเราในการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ รวมถึงขณะที่เรากำลังหลับ โทนของกล้ามเนื้อจะลดลง ซึ่งหมายความว่ากล้ามเนื้อก็ได้พักเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ด้านนักกายภาพฯ ยังได้แนะนำเพิ่มเติม ถึงข้อควรระวังเมื่อเรามีอการเจ็บปวดกล้ามเนื้อหรือปวดเมื่อยตามร่างกายไว้ว่า อย่างแรกควรหลีกเลี่ยงการใช้งานบริเวณที่เจ็บปวดมากเกินไป อาจทำให้อาการอักเสบหรือบาดเจ็บรุนแรงขึ้น เช่น หากมีอาการปวดบริเวณข้อมือ ก็ควรเลี่ยงการใช้มือยกของหนักๆ หรือออกกำลังกายบริเวณนั้น อย่างที่สองคือห้ามนวดหรือกดแรงเกินไปในบริเวณที่เจ็บ หากต้องการบรรเทาอาการ ให้ใช้การประคบแทน และอย่างสุดท้าย ควรรับการตรวจหาสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวดว่ามีปัญหาอื่นๆ อย่างเส้นประสาท, หลอดเลือด หรือเส้นเอ็นร่วมด้วยหรือไม่ ซึ่งการเจ็บปวดแต่ละส่วนก็จะมีวิธีในการจัดการจะแตกต่างกันออกไป
ยืดเส้นยืดสายกันสักนิด ก็ช่วยได้เช่นกัน
แม้การไปหาหมอนวดหรือนักกายภาพบำบัดจะช่วยคลายอาการปวดเมื้อยตามร่างกายของเราลงได้ ทว่าก็คงปฏิเสธไม่ได้เสียทีเดียวว่า การเข้ารับการรักษาทั้งสองวิธีนั้น จำเป็นต้องใช้เวลาและอาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมด้วยเช่นเดียวกัน นักกายภาพบำบัดจึงได้แนะนำท่าบริหารสำหรับอาการปวดเมื่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการทำงานในแต่ละวันของเรา โดยวิธีเหล่านี้สามารถช่วยลดความไม่สบายตัวและป้องกันไม่ให้อาการลุกลามไปเป็นปัญหาที่รุนแรงได้
- ท่ายืดกล้ามเนื้ออก: เริ่มจากการยื่นแขนตรงเข้ากำแพง พร้อมกับแอ่นอกไปด้านหน้า โดยยืดค้างไว้นาน 10 วินาที ทำซ้ำ 5-7 ครั้ง/วัน
- ท่ายืดกล้ามเนื้อบ่า: นั่งแล้วใช้แขนข้างนึงจับที่เก้าอี้ ส่วนแขนอีกข้างจับที่หัวแล้วยืดไปด้านหน้า ให้รู้สึกตึงบริเวณกล้ามเนื้อบ่า โดยยืดค้างไว้นาน 10 วินาที/ครั้ง ทำซ้ำ 5-7 ครั้ง/วัน
- ท่าออกกำลังกายกล้ามเนื้อบ่า: ยื่นแขนมาข้างหน้าให้ตึง ใช้ยางยืดสำหรับออกกำลังกายดึงรั้งแขนทั้งสองข้างเอาไว้ แล้วค่อยๆ กางแขนออก ทำทั้งหมด 10 ครั้ง/เซ็ต โดยทำ 3 เซ็ต/วัน ซึ่งใครที่ไม่มียางยืดออกกำลังกาย สามารถใช้เป็นขวดน้ำแทนได้
สำหรับใครที่นั่งทำงานนานๆ ตลอดทั้งวัน จนเริ่มรู้สึกปวดตึงตามร่างกาย ก็สามารถสละเวลาสักนิดสักหน่อย แล้วลุกทำท่าตามคำแนะนำของนักกายภาพบำบัดได้ ใช้เวลาไม่นาน แถมยังช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อเราด้วย
ส่วนผู้ใดที่ต้องการเข้ารับการรักษากับนักกายภาพบำบัดหรือไปนวด ก็ต้องไม่ลืมสังเกตอาการ ตลอดจนเงื่อนไขทางร่างกายของตนเอง เพื่อไม่ให้การรักษา ย้อนกลับมาทำร้ายร่างกายของเราได้
อ้างอิงจาก