เคยสงสัยหรือเปล่าว่าทำไมแม่ไม่เคยจะทิ้งอะไรในบ้านได้เลย?
ของเหลือหมดอายุที่ค้างในตู้เย็นจนไม่เหลือพื้นที่จะใส่ของจำเป็น หันไปมองข้างบน หลังตู้เย็นฝุ่นเกาะเต็มไปด้วยถุงพลาสติกสีนั้นสีนี้ ภายในมีเครื่องเทศแห้งๆ ที่ไม่ได้ถูกใช้มาเป็นปีๆ กับหม้อและกระทะพังๆ ที่ไม่ได้ใช้มานานกว่านั้น ไหนจะกล่องพลาสติกขุ่นๆ เหนือตู้เสื้อผ้าที่ภายในเก็บสิ่งของของเราเมื่อหลายสิบปีก่อนเอาไว้อยู่ ตั้งแต่ของเล่นที่เราร้องไห้จะเป็นจะตายเพื่อขอพ่อซื้อให้ แต่หมดวัยจะเล่นแล้ว ไปจนประกาศนียบัตรไร้สาระที่เราภูมิใจนักหนาตอนได้มา
มองไปทั้งทางเหล่ามินิมอลลิสต์ เขาก็ว่าการละทิ้งสิ่งต่างๆ ที่ไม่จำเป็นต่อเราแล้ว คือหนทางสู่ความสุขและความเติมเต็มที่แท้จริงในโลกบริโภคนิยมและวัตถุนิยม แม้แต่ศาสนา คำสอนในพุทธศาสนาที่เราเรียนรู้มาตั้งแต่เด็ก (ไม่ว่าจะนับถือหรือไม่) ก็ยังมีใจกลางคือการละทิ้งและปล่อยวาง การละทิ้งจึงดูเหมือนเป็นสิ่งที่เราถูกชี้ให้เดินเข้าหาอยู่บ่อยๆ และบ่อยครั้งถูกทำให้ดูเหมือนเป็นสิ่งที่ควรต้องเกิดขึ้นไม่ว่ายังไงก็ตาม
เขาว่ากันว่าพอเราโตขึ้น เราจะปล่อยวางและละทิ้งสิ่งต่างๆ ได้ง่ายขึ้น แม่ไม่เป็นแบบนั้นบ้างเหรอ? เราอาจจะคิดอะไรแบบนั้น หากมองไปรอบๆ ตัวในห้องของเราที่เต็มไปด้วยสิ่งต่างๆ ที่เราเก็บรวมไว้ วันหนึ่งเวลาที่เราจะทิ้งมันจะมาถึงใช่หรือเปล่า? ไม่ว่าจะสิ่งของที่เราไม่ได้ใช้แล้ว ตุ๊กตาเก่าที่แทบจะสลายเหลือแต่เศษนุ่น หรือกระทั่งของขวัญของเขาคนนั้นที่เราหวังว่าเวลาจะพาให้ลืมเสียทีแต่เรายังเก็บไว้ ถ้าเราโตขึ้นเราควรจะละทิ้งพวกมันได้ ใช่ไหมนะ?
ทว่าเมื่อเราเติบโตขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นว่าการละทิ้งบางสิ่งบางอย่างดูเป็นสิ่งที่ไม่ได้มากับวัยไปเสียอย่างนั้น แล้วสรุปที่เขาว่านี่จริงหรือเปล่า? ตกลงแล้วเวลาและการเติบโตทำให้เราละทิ้งอะไรเก่งขึ้นแน่จริงๆ หรือไม่? แล้วเราควรพยายามละทิ้งสิ่งต่างๆ ในชีวิตเราหรือเปล่า?
สิ่งของที่เราไม่ทิ้งเป็นเพราะมันคือสิ่งของอย่างเดียวแน่หรือเปล่า? บ่อยครั้งที่เราถามผู้ใหญ่ในบ้านของเรา หรือถามตัวเองว่าทิ้งสิ่งนี้ดีไหม คำตอบที่ได้มาบ่อยที่สุดคือคำว่า ‘เสียดาย’ ซึ่งก็เข้าใจได้เสมอว่าหลายครั้งมันอาจเป็นสิ่งที่เสียเงินซื้อมาทั้งที แต่คำว่าเสียดายคือฉากหน้าบางอย่าง เรามักไม่ได้ถามไปต่อว่า คำคำนั้นหมายความจริงๆ ว่าอะไร เพราะบ่อยครั้งมันไม่ใช่เพียงเงินเท่านั้นที่เราเสียดาย
งานวิจัย Household Disbandment in Later Life โดยเดวิด เอคเกิดต์ (David Ekerdt) ผอ.ศูนย์ชราภาพวิทยา มหาวิทยาลัยแคนซัส และคณะ เป็นงานวิจัยที่พูดถึงการลดสิ่งของในบ้านเรือนของคนชรา เพื่อช่วยให้พวกเขาสามารถย้ายบ้านได้ เนื่องจากในงานวิจัยเล่าว่า เป็นที่รู้กันดีว่าเมื่อเราใช้ชีวิต กองสิ่งของที่เราถือครองย่อมเพิ่มขึ้นไปกับวัยของเราด้วย ในขณะที่งานวิจัยนี้เกี่ยวกับคนชรา แต่ในหลายๆ แง่มุมมันสามารถนำไปใช้มองใครก็ได้ที่มีประสบการณ์ชีวิตมาบ้างแล้ว โดยในการสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างพบว่าเหตุที่เราไม่ยอมละทิ้งสิ่งของ คือ
- เดี๋ยวก็คงได้ใช้
- เดี๋ยวก็คงได้ขาย
- มีแล้วมีความสุข
- มันคือสิ่งที่บ่งบอกความเป็นเรา
- เป็นสิ่งของที่ทำให้เรามองไปยังอนาคต
- มีคนให้มา
- เป็นความรับผิดชอบที่ต้องส่งต่อ
- มีแนวคิดว่าการเก็บคือสิ่งที่ดีเสมอ
- เก็บเพื่อให้ได้เก็บ
ทั้งนี้ข้อที่เราอยากจะพูดถึงคือข้อ 4 และ 5 นั่นคือ สิ่งของที่บ่งบอกความเป็นเรา และสิ่งของที่ทำให้เรามองไปยังอนาคต ซึ่งถือเป็น 2 เหตุผลที่ทำให้เราเริ่มเข้าใจว่ามนุษย์ไม่ได้มองสิ่งของเป็นเพียงแค่สิ่งของ แต่แทนมันด้วยความหมายบางอย่างอยู่เสมอ ทั้งอาจเป็นสัญลักษณ์ที่ทำให้เรานึกคิดถึงตัวตนของเรา เครื่องดนตรีที่เราเล่นเมื่อตอนเด็ก เครื่องครัวที่ใช้จนเข้ามือ สมุดบันทึก หรือโทรศัพท์บางเครื่องที่เคยมีบทสนทนาสำคัญในชีวิตไหลผ่าน
ทว่าส่วนของเหตุผลที่ 5 อาจต้องอธิบายมากขึ้น สิ่งของที่ทำให้เรามองไปยังอนาคตนั้น ผู้วิจัยยกตัวอย่างเป็นหนังสือที่ยังไม่เคยเปิดอ่าน หรือเสื้อผ้าที่ไซซ์เล็กเกินไป นั่นคือสิ่งที่เรายังไม่ได้ใช้ แต่ว่าคิดกับตัวเองว่าจะได้ใช้ในสักวันหนึ่ง ซึ่งเหตุผลที่คนเราไม่ละทิ้งไม่ใช่เพียงความเสียดายที่ซื้อมาแล้ว แต่เพราะการมีอยู่ของมันทำให้เรามองไปยังอนาคต และตัวตนที่เราสามารถเป็นได้
สิ่งของจึงไม่ใช่เพียงสิ่งของ แต่สิ่งของผูกไว้ซึ่งตัวตนและความเป็นไปได้ สิ่งของอาจทำให้เรานึกถึงยุคทองของเรา สิ่งของอาจทำให้เรานึกถึงอดีตที่ผิดพลาดและเราหวังจะแก้ สิ่งของอาจบอกเราว่าเราเป็นอะไรได้อีก หรือสิ่งของอาจเป็นเหมือนพันธะว่าเรายังเหลือสิ่งที่ต้องสะสาง หรือบางครั้ง “เราต่างมีสิ่งของเครื่องใช้ที่เราครอบครองมา เพื่อให้ได้สำรวจตัวตนใหม่ๆ ของเรา ถึงการเป็นนักดนตรี เป็นพ่อครัว เป็นคนรักกีฬา ก่อนเราจะทิ้งร้างสิ่งเหล่านั้นเมื่อตัวตนดังกล่าวถูกทิ้งไป” บางอย่างเราก็ทิ้งได้ เพราะเราละทิ้งตัวตนไปจริงๆ
อย่างไรก็ตาม บ่อยครั้งการละทิ้งที่เราพูดถึงไม่ได้เป็นเรื่องของวัตถุเท่านั้น เราคิดว่าเมื่อโตไปแล้ว เราอาจจะปล่อยวางกับเพื่อนมากขึ้น เราอาจจะละทิ้งความคิดเกี่ยวกับรักโรแมนติกไป เพราะมีไปกี่ครั้งก็รังแต่จะเจ็บ เรียกง่ายๆ ว่าเรามีความคาดหวังว่า เราจะสามารถละทิ้งในสิ่งที่เกี่ยวข้องกับจิตใจของเราได้นั่นเอง แต่การโตมาในระดับหนึ่ง เรากลับรู้สึกว่าดูยังไงก็ไม่เห็นอนาคตในการละทิ้งสิ่งเหล่านั้นได้เลย ทำไมกันนะ?
บ่อยครั้งคำตอบคือความสูญเสีย เมื่อเข็มนาฬิกาเดิน ความสูญเสียค่อยๆ คืบคลานเข้าหาเรา มันอาจมาในรูปของเพื่อนสักคนที่เราปล่อยให้เวลาพรากไป ความตายของพ่อเพื่อนสักคน การสูญเสียคนรักด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่ง ยิ่งโตเรายิ่งรู้จักกับความสูญเสีย และหากสูญเสียเช่นนั้นแล้ว คำถามคือเรายังอยากจะละทิ้งอะไรๆ อยู่แน่ไหม?
“เขาว่ามันจะดีขึ้น มันไม่เคยดีขึ้น” คำกล่าวของชายวัย 86 ที่สูญเสียภรรยา ซึ่งเขาเป็นหนึ่งในกลุ่มตัวอย่างของ The Loneliness Projects โปรเจ็กต์โดยนักวิชาการหลากหลายแขนง ที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับความเหงาของคนชรา เพื่อให้เราเข้าใจความรู้สึกของการเติบโต ในกรณีของเขาคือการสูญเสียภรรยาไปเมื่อ 5 ปีก่อนจะให้สัมภาษณ์ “การเติบโตคือการสะสมความสูญเสียอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” แซม คารร์ (Sam Carr) หัวหน้าทีมวิจัย The Loneliness Projects จากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมวิทยากล่าวในบทความของเขาเกี่ยวกับโปรเจ็กต์ข้างต้นที่เผยแพร่บน The Conversation
เมื่อเราโตขึ้น การสูญเสียสิ่งสำคัญไม่ได้แปลว่าเราสูญเสียเพียงสิ่งนั้นๆ เท่านั้น แต่คือการสูญเสียชิ้นส่วนเล็กๆ น้อยๆ ที่หลอมเราและสิ่งนั้นไว้ด้วยกัน กลุ่มตัวอย่างของคารร์เล่าประสบการณ์การสูญเสียของพวกเขาว่า พวกเขาสูญเสียสิ่งต่างๆ เช่น ความพยายามในการเดินไปกินข้าวที่ชั้นล่างหลังเสียคนรัก เสียคนที่ยอมรับในเรือนกายอันเหี่ยวย่นของกันและกัน หรือสูญเสียจูบก่อนนอน สิ่งเล็กๆ น้อยๆ เหล่านั้นเคยเป็นสิ่งที่พวกเขาไม่ใส่ใจมาก่อน แต่เมื่อสูญเสียไป มันกลับสร้างหลุมกว้างอยู่ในใจของพวกเขา เช่นนั้นแล้วเราจะยอมละทิ้งสิ่งของใดๆ ได้ยังไง? และการสูญเสียจะคืออะไร หากไม่ใช่การละทิ้งที่เราไม่ได้ขอให้เกิดขึ้น?
การละทิ้งเลี่ยงไม่ได้ ร่างสุดท้ายที่การละทิ้งสามารถกลายร่างเป็นได้คือ การลืม การสูญเสียไปซึ่งความทรงจำ การสูญเสียซึ่งแล้วแต่มุมมองทางปรัชญา โดยหลายๆ คนเรียกมันว่า การสูญเสียซึ่งตัวตน และมันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในบั้นปลายชีวิตของเราแทบทุกคน เมื่อถึงวันที่เราไม่มีตัวเลือกในการจะเก็บอะไรไว้เลย และหากเรารู้อย่างนั้น ใครจะอยากที่จะละทิ้งหรือลืมอะไรไว้กัน?
ที่ผ่านมาเราอาจตอบคำถามที่เราตั้งไว้ในตอนต้นแล้ว 1 คำถาม การโตขึ้นไม่จำเป็นต้องแปลว่า เราสามารถละทิ้งอะไรๆ ได้อย่างง่ายดายขึ้น แต่แล้วมาถึงคำถามที่ 2 “เราควรพยายามละทิ้งสิ่งต่างๆ ในชีวิตเราหรือไม่?” เราจะต้องตอบว่าอะไร ในเมื่อเขาว่าการละทิ้งเป็นสิ่งดี แต่การลงมือทำนั้นกลับทำได้ยาก เราควรพยายามหรือเปล่า?
หลังจากการพาเดินมาตั้งแต่ต้นจนจบ สิ่งที่เราได้รู้คือคำถามดังกล่าวนั้นเองที่เป็นปัญหา เพราะมันไม่ใช่คำถามที่เรามีทางเลือกตอบอยู่จริงๆ ใช่หรือไม่? เราต่างไม่สามารถเลือกได้ว่าเราจะจดจำอะไร และเราจะลบลืมอะไรอย่างแท้จริง อะไรต่างๆ ที่เราสามารถละทิ้งได้ เราจะทำมันโดยอัตโนมัติ หลายๆ กรณีแม้จะเลือกไม่ได้ แต่อะไรที่จะอยู่มันก็จะอยู่ ไม่ว่าการมีอยู่ของมันจะนำมาซึ่งความอบอุ่น หรือเป็นคมมีดกรีดลึกทุกครั้งที่เผอิญนึกถึงมันก็ตาม
อย่างนั้นแล้วหนทางที่เราอาจจะพอสร้างความสบายใจให้ตัวเองได้ คงไม่ใช่การพยายามลืมหรือละทิ้ง แต่คือการพยายามมองมันด้วยความหมาย เช่นเดียวกันกับที่เรามองสิ่งของบางอย่างให้เป็นมากกว่าสิ่งของ สิ่งที่เราละทิ้งหรือไม่อาจละทิ้งนั้นสามารถเป็นบทเรียน เป็นชนวนของคุณค่าที่เราจะยึดถือ เป็นแค่ความทรงจำที่เก็บไว้เพียงเพื่อจะเก็บ หรือเพื่อเป็นความหวังในอนาคต
ไม่มองมันเป็นการปล่อยมือ แต่เป็นหนึ่งในสิ่งของเปื้อนฝุ่นที่วันหนึ่งเราจะได้ใช้
อ้างอิงจาก