แหวนที่ตกทอดมาจากคุณยาย
เสื้อแจ็กเก็ตที่ส่งต่อมาจากแม่ที่ล่วงลับ
หนังสือเล่มโปรดที่อ่านมาตั้งแต่มัธยม
อัลบั้มรูปถ่ายวัยเด็ก
ช่วงชีวิตหนึ่งเราคงมีสิ่งของอันเป็นที่รัก บางครั้งอาจสำคัญถึงขนาดเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เรากลายเป็นเราทุกวันนี้ หากว่าวันหนึ่งเราต้องสูญเสียไปแบบไม่มีสัญญาณเตือนมาก่อน ไม่ว่าจะเพราะทำหายโดยไม่ตั้งใจ ถูกคนนิสัยไม่ดีขโมย หรือแม้กระทั่งภัยพิบัติธรรมชาติที่เกิดขึ้นโดยไม่ทันตั้งตัว แถมดูยังไงก็ไม่มีทางได้ของบางอย่างคืนกลับมา เหตุการณ์เหล่านี้คงทำให้ความรู้สึกเราแตกสลายเป็นเสี่ยงๆ
แล้วทำไมเราถึงรู้สึกเสียใจกับสิ่งของเหล่านี้ด้วยนะ? วันนี้ The MATTER ชวนสำรวจว่า เมื่อต้องสูญเสียสิ่งของที่รัก เราจะสูญเสียตัวตนไหม แล้วผิดไหมที่เราจะเสียใจกับของที่สูญเสียไปแบบไม่มีวันได้คืน?
สิ่งของมาพร้อมกับความทรงจำ
นักจิตบำบัด เจอรัลดีน เทย์เลอร์ (Geraldine Taylor) อธิบายว่า การผูกพันกับสิ่งของที่มีคุณค่าทางใจเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ แม้จะเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะยึดช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งไว้ แต่มนุษย์ก็ยังปรารถนาที่จะทำเช่นนั้น เพื่อเก็บเป็นความทรงจำให้เราหวนระลึกถึงอีกครั้ง
“ไม่สำคัญว่าสิ่งของที่เรารักจะเป็นแค่เปลือกหอยบนชายหาด แต่ประเด็นคือสิ่งของนั้นอยู่กับเราต่างหาก”
เมื่อต้องสูญเสียสิ่งของเหล่านั้น ความเสียใจของเรานั้นมีหลายเหตุผล ไม่ว่าจะเพราะเรามองว่าสิ่งนั้นเป็นตัวแทนคนสำคัญ สิ่งนั้นทำให้เรารู้สึกมีคุณค่า สิ่งนั้นทำให้รู้สึกว่าต้องรับผิดชอบ สิ่งนั้นทำให้เราอุ่นใจ หรือสิ่งอาจเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงสถานะทางสังคมก็ได้ ดังนั้น จึงไม่แปลกหากเราจะรู้สึกโศกเศร้าหลังการสูญเสีย เพราะเป็นเรื่องปกติที่มนุษย์จะมีความผูกพัน โดยเฉพาะหากเป็นสิ่งที่เป็นตัวแทนคนหรือสถานที่เรารัก
หลายครั้งเราจึงไม่ได้เสียใจที่ตัวสิ่งของจริงๆ แต่เราเสียใจเพราะมันเป็นตัวแทนบางอย่างของเราต่างหาก
เราเสียใจที่ทำแหวนที่ตกทอดมาจากคุณยายหาย ไม่ใช่เพราะเราเสียใจถึงอัญมณีเก่าหนึ่งชิ้น แต่มันหมายถึงเราสูญเสียตัวแทนเชื่อมโยงระหว่างคนที่เรารัก และเรารู้สึกเสียใจที่เราไม่สามารถรับผิดชอบมันไว้ได้ เช่นเดียวกับสิ่งของที่เรารักชิ้นอื่นๆ มันไม่ใช่แค่สิ่งของที่มีหน้าตาเหมือนกับของที่วางขายทั่วไป หากแต่เป็นความทรงจำและความผูกพันที่เรามีกับของชิ้นนั้น ที่ทำให้มันพิเศษขึ้นเหนือของสิ่งของอื่นๆ
นอกจากนี้ การสูญเสียสิ่งของที่เรารักยังไปกระตุ้นความเชื่อหลัก (core beliefs) หรือความเชื่อขั้นพื้นฐานตามธรรมชาติ 3 ด้าน ที่ส่วนใหญ่เรามักใช้มองโลกในแง่ลบคือ การมองตัวเอง การมองคนอื่น และการมองโลก ตามแนวคิดของนักจิตวิทยา จูดิธ เบค (Judith Beck) โดยการสูญเสียของสำคัญจะทำให้เรามองว่า ‘โลกนี้น่ากลัวไม่ปลอดภัย’ ซึ่งอาจส่งผลให้เรามีอารมณ์แปรปรวน เหนื่อยง่าย ไม่อยากจะทำอะไร อยากอยู่คนเดียว ไปจนรู้สึกไม่มีคุณค่า มีปัญหาด้านการนอนและการกินคล้ายกับอาการซึมเศร้าหรือวิตกกังวล
รับมืออย่างไรเมื่อต้องสูญเสียสิ่งของที่รัก
หลายคนอาจเลือกที่จะมองข้ามความเสียใจท่ามกลางการสูญเสียนั้นไป และแทนที่ด้วยประโยคปลอบใจที่ช่วยให้เรารู้สึกสบายใจขึ้นสุดคลาสสิกอย่าง “สิ่งของนอกกาย ไม่ตายก็หาใหม่ได้” แต่หลายครั้งประโยคนี้กลับกลายเป็นเหมือนดาบสองคม ด้านหนึ่งก็ทำให้หลายคนมองว่าสิ่งของสำคัญเป็นเพียงเรื่องเล็กๆ ทั้งที่จริงการสูญเสียสิ่งของที่เรารักก็เจ็บปวดไม่น้อยไปกว่าเรื่องอื่นเลย
เรื่องนี้นักจิตบำบัดอย่างอลิซาเบธ ซีโบลต์ เอสพาซา (Elizabeth Seabolt-Esparza) ให้คำปรึกษากับผู้คนในเมืองฮูสตัน รัฐเท็กซัส ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นเมืองหนึ่งที่เกิดภัยพิบัติอย่างเฮอร์ริเคนอยู่บ่อยครั้งว่า คนที่เข้ารับการบำบัดหลายคนต้องเผชิญกับความโศกเศร้าหลังจากเกิดพายุฮาร์วีย์ แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่พยายามจะละทิ้งความเสียใจจากการสูญเสียสิ่งของที่รัก แถมบอกอีกด้วยว่า “ฉันรู้ว่ามันเป็นเรื่องไร้สาระ”
อลิซาเบธจึงลองถามกับพวกเขาว่า ทำไมถึงละทิ้งความรู้สึกของตัวเองอย่างรวดเร็วนัก แล้วก็ได้คำตอบว่า พวกเขากลัวว่านักบำบัดอย่างอลิซาเบธจะเมินเฉยกับความโศกเศร้าที่พวกเขาเจอ แล้วพยายามชวนให้เขามองโลกในแง่ดี และบอกว่าโชคดีแค่ไหนแล้วที่มีชีวิตอยู่
อย่างไรก็ตาม เพื่อที่จะทำให้เรารู้สึกดีขึ้นหลังการสูญเสีย อลิซาเบธในฐานะนักบำบัดจึงแนะนำว่า เราอาจจะต้องลองปล่อยให้ตัวเองได้ร้องไห้ หรือเสียใจกับเรื่องที่เกิดขึ้น พร้อมกับทำตามวิธีอื่นๆ เช่น
- เสียใจได้แต่อย่าโทษตัวเอง – ไม่แปลกเลยถ้าหากเราจะเศร้าเสียใจกับการสูญเสียสิ่งสำคัญเป็นอาทิตย์ๆ แต่การโทษตัวเองอย่าง “อ่อนแอจัง” หรือ “โตขึ้นบ้างเถอะ” นั้นไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้นมา เพราะไม่ว่าการสูญเสียจะเกิดขึ้นกับใคร ก็คงต้องเสียใจเหมือนกัน
- ให้เวลากับตัวเอง – ให้เวลาตัวเองได้เสียใจ ทุกคนมีช่วงเวลาทำใจไม่เท่ากัน ดังนั้น ถ้าเราพร้อมเมื่อไหร่ เราก็ควรให้ตัวเองได้ก้าวผ่านเรื่องเหล่านี้ไป
- เผชิญหน้ากับมัน – เช่น การเขียนบันทึกความรู้สึก อย่างการสูญเสียสิ่งของเหล่านั้นไป ทำให้เรารู้สึกอย่างไร? ชีวิตเราต่างจากเดิมไหม? ถ้าบอกกับสิ่งของชิ้นนั้นได้จะบอกว่าอะไร? จริงๆ แล้วเราสูญเสียอะไรไปกันแน่ มีอะไรเป็นตัวแทนได้อีกไหม? เพราะบางทีเมื่อเผชิญหน้ากับมันได้แล้ว เราจะสามารถเก็บความทรงจำของสิ่งนั้นไว้ในใจ จนตัวเราเองก้าวต่อไปได้
สิ่งของมากมายมักมาพร้อมกับความทรงจำ ทั้งยังเป็นตัวแทนที่ทำให้นึกถึงใครสักคน และเป็นสิ่งที่หล่อหลอมให้เรากลายเป็นตัวเองทุกวันนี้ ความเสียใจหลังสูญเสียสิ่งของเหล่านั้นไปโดยไม่คาดคิดจึงเกิดขึ้นได้เป็นเรื่องปกติ
หากเราเห็นใครที่กำลังเสียใจด้วยเหตุนี้ อย่าลืมรับฟังเขาอย่างจริงใจ ให้พื้นที่ให้เขาได้แสดงความรู้สึกที่แท้จริงออกมา หรือหากคุณเป็นคนสูญเสียของบางอย่างที่รักเอง ก็อย่าลืมว่าการเสียใจกับเรื่องนี้ไม่ใช่สิ่งที่ไม่มีเหตุผล แต่มันเป็นเพราะคุณให้ความสำคัญกับความทรงจำนั้นมากๆ ต่างหาก
อ้างอิงจาก