ในช่วงปลายปีเป็นช่วงเวลาแห่งงานเทศกาล นอกจากต้นคริสต์มาส บรรยากาศสดใส ตลาด และผู้คนที่แต่งตัวรับหน้าหนาวแล้ว สิ่งที่มากับเทศกาลนี้คือ เพลงประจำเทศกาล กับการวนเปิดเพลงจิงเกิลเบลส์ หรือบทเพลงจากคุณแม่มารายห์ และพ้นจากช่วงนี้ไปหน่อยเราก็จะเริ่มเจอกับมหกรรมเพลงปีใหม่
แน่นอนว่าเพลงเทศกาลเป็นสัญญาณที่ทำให้เรารู้ว่า เรากำลังอยู่ในช่วงเวลาเฉลิมฉลองในช่วงสิ้นปี แต่ไอ้เจ้าธรรมเนียมการเปิดเพลงเทศกาลซ้ำๆ ในพื้นที่ร้านรวงแทบทุกร้าน ทุกสถานที่สำคัญต้องวนเพลย์ลิสต์เดียวกันนี้ ส่งผลกับพฤติกรรมการจับจ่ายของเราไหม?
การเปิดเพลงเทศกาลซ้ำๆ และอาจรวมไปถึงในบรรยากาศของความรื่นเริงบันเทิงใจ กับคำถามว่าเราซื้อของมากขึ้นไหมนั้น อาจตอบก่อนได้เลยว่า ‘ค่อนข้าง’ คือมีความเป็นไปได้ที่การบิวต์บรรยากาศปลายปีจะทำให้เราจับจ่ายมากขึ้นและกระตุ้นยอดขายได้
ช่วงเวลาความสุข คือช่วงเวลาของการซื้อ
ประเด็นเรื่องเพลงหรือดนตรีในพื้นที่ค้าขาย นอกจากจะกระตุ้นความรู้สึกของผู้คนได้แล้ว การจัดวางเพลงที่เหมาะสมยังสัมพันธ์กับการสร้างแบรนด์ด้วย ในแง่ของเพลงวันคริสต์มาส มีงานศึกษาจาก Mood Media ระบุว่า เวลาที่ลูกค้าเดินเข้าร้าน 80% ลูกค้าจะรับรู้ว่าร้านเปิดเพลงตามเทศกาลอยู่
ทีนี้ในความเทศกาล งานสำรวจยังพบว่า กลุ่มตัวอย่างถึง 75% ยอมรับว่า เพลงเทศกาลทำให้ผู้คนชมสินค้าต่างๆ นานขึ้นกว่าปกติ ภาพรวมเพลงที่สนุกสนานของช่วงเทศกาลช่วยให้อารมณ์และความรู้สึกของลูกค้าเป็นไปทางบวกมากขึ้น ลูกค้าที่มีความสุข สนุกไปกับการจับจ่าย มีแนวโน้มที่จะมองหรือมีทัศนคติค่อร้านและต่อแบรนด์ในทางที่ดี
ลองนึกภาพการไปซูเปอร์มาร์เก็ตที่ตกแต่งอย่างสดใส เปิดเพลงสนุกสนาน จะเห็นได้ว่าลูกค้ามีแนวโน้มจะรู้สึกว่าพื้นที่มีความต้อนรับขับสู้ ให้ความรู้สึกว่าพนักงานหรือคนค้าขายเป็นมิตร และเมื่อเรารู้สึกมีความสุข ลูกค้าก็มีแนวโน้มที่จะอยู่ในพื้นที่นานขึ้น เมื่ออยู่นานขึ้นก็จะสนุกไปกับการสำรวจและค้นหาสิ่งที่ตัวอยากจะซื้อจนได้
เมื่อแบรนด์ใหญ่ให้ความสำคัญกับเพลงเทศกาล
ประเด็นเรื่องเพลงที่เปิดในพื้นที่กับการสร้างแบรนด์ เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ธุรกิจน้อยใหญ่อยากให้ทุกองค์ประกอบสมบูรณ์แบบในการประกอบธุรกิจ แบรนด์ยักษ์ใหญ่ทั้งหลาย เช่น วอลมาร์ท หรือทาร์เก็ต ต่างมีการเลือกและเล่นเพลงไปตามเทศกาลสำคัญ เพราะการสร้างบรรยากาศเทศกาลเป็นการส่งสัญญาณสำคัญให้กับผู้ซื้อว่า ‘เวลานี้แหละที่เราต้องไปซื้อของแล้ว-ได้เวลาซื้อของขวัญแล้ว’
อย่างไรก็ตาม นอกจากประเด็นเรื่องเพลงแล้ว บรรยากาศเทศกาลที่ทุกองค์ประกอบบอกเราว่า นี่คือเวลาพิเศษซึ่งสัมพันธ์กับการจับจ่ายของเรา ยังมีงานศึกษาเกี่ยวกับตลาดคริสต์มาสในเมืองต่างๆ ของอังกฤษ พบว่า นอกจากตัวตลาดคริสต์มาสแล้ว บรรยากาศคริสต์มาสยังทำให้ผู้คน กิจการอื่นๆ ของพื้นที่เมืองในภาพกว้างได้รับอานิสงส์ นั่นก็คือมีการจับจ่ายเพิ่มขึ้นมากตามไปด้วย
ในแง่นี้ ช่วงเทศกาลที่ทุกอย่างรอบตัวทำให้เราสนุก สบายใจ ลำดับแรกอาจทำให้เราอยู่ในพื้นที่ร้านค้า ห้างต่างๆ นานขึ้น เมื่ออยู่นานก็จับจ่ายได้ง่ายขึ้น หาสิ่งที่จะซื้อจนได้ ในอีกด้านคือเสียงที่บอกเราตลอดว่า นี่คือเวลาพิเศษนะ ได้เวลาแล้วที่เราจะซื้อของพิเศษๆ ให้ตัวเอง กินอะไรอร่อยๆ ทำอะไรสนุกๆ แค่ครั้งเดียวของปีเอง
ในด้านการจับจ่าย คำว่า ช่วงเทศกาล แง่หนึ่งบ้านเราเองก็มีเกือบทั้งปี แถมช่วงนี้ยังมีการประดิษฐ์เทศกาลใหม่ทุกๆ เดือน เช่น วันเลขซ้ำ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นความสนุกของโลกที่จะชวนให้เราซื้อของมากขึ้น ซึ่งก็ไม่เป็นไรเนอะ นานๆ ที ปีใหม่
อ้างอิงจาก