เดินผ่านห้องประชุม นึกว่าผ่านเขตสงคราม เสียงโวยวายเอ็ดตะโรดังเป็นระยะ สลับกับปึงปัง แม้จะมองไม่เห็นแต่เดาว่าน่าจะเป็นมือของใครสักคนตบโต๊ะอย่างจัง เหล่ามดงานเดินคอตกออกจากห้องประชุมหลังเสียงครืนครั่น แม้จะอยู่นอกห้องแต่ก็พอเดาออกว่าข้างในนั้นเพิ่งระเบิดลงไปสดๆ ร้อนๆ
หากเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน คงกลายเป็นข่าวร้อนไปทั่วออฟฟิศแน่ แต่จากสายตาชินชา มีเพียงหันหน้าไปตามเสียงแล้วหันกลับมาทำงานต่อ บ้างแค่ถอนหายใจกับเสียงพึมพัม “เอาอีกแล้วเหรอ” อนุมานได้ว่าเหตุการณ์นี้คงไม่ใช่ครั้งแรกที่หัวหน้าเจ้าเก่าเจ้าเดิมระเบิดอารมณ์กับเหล่าพนักงานเมื่อไม่ได้ดั่งใจ
เคยเจอกันบ้างหรือเปล่า เจ้านายโมโหร้าย จุดเดือดต่ำ จะว่าไปก็ไม่ได้เป็นแบบนี้ตลอดเวลา ตอนทำงานด้วยกันก็ปกติดีอยู่หรอก แต่พอไปโดนเรื่องไม่ถูกใจ ใครทำอะไรไม่เข้าท่า แตะโดนจุดขึ้นมาก็โมโหเป็นฟืนเป็นไฟ เป็นอันรู้กันว่าถ้าต้องทำงานกับหัวหน้าคนนี้ ต้องเตรียมใจโดนเฉ่งได้ทุกเมื่อ วีนหมดไม่สนลูก(น้อง)ใคร แจกจ่ายอารมณ์ร้ายแบบถ้วนหน้า
จนสิ่งนี้เป็นเหมือนคาแร็กเตอร์ติดตัวพี่คนนั้นไปเลยล่ะ ในมุมหนึ่งบ้างก็บอกว่า ถ้าไม่ได้ทำอะไรผิดก็ไม่โดนหรอกนะ ถ้าโดนก็แปลว่าผิดพลาดอะไรสักอย่างไงล่ะ นี่มาทำงานนะไม่ใช่โรงเรียนเด็กน้อย ถึงจะได้มีใครมานั่งโอ๋ปลอบใจเวลาทำผิด จะว่าใช่ก็คงใช่ แต่ท่ามกลางการแสดงออกมากมาย มันจำเป็นต้องใจร้ายต่อกันขนาดนี้ไหมนะ
ไม่มีใครอยากพลาดจนโดนสับเละ เพราะนอกจากจะเสียผลงานยังไงต้องเสียความรู้สึกที่โดนวีนฉ่ำอีกต่างหาก บางคนชั่วโมงบินสูงหน่อยก็พอจะต้านทานได้ไหว แต่บางคนที่รับไม่ไหวก็คงมีบางแว้บที่อยากลาออกให้พ้นหน้ากันไป ตัวเลขเศร้าๆ จากผลสำรวจของ BambooHR แพลตฟอร์มหางานชื่อดัง ชี้ให้เห็นว่ามีนิสัยร้ายๆ จากหัวหน้าข้อไหนบ้างที่ทำให้พนักงานตัดสินใจลาออก 37% สไตล์การจัดการ 30% ทัศนคติการวางตัว 30% หัวร้อน โมโหร้าย 26% สื่อสารเข้าขั้นแย่ และอีก 24% คุกคามพนักงาน
เดินถอยออกมามองดีๆ ทั้งหมดที่กล่าวมา มันคุ้นๆ แปลกๆ เหมือนจะเข้าตัวพี่คนนั้นแทบทุกข้อเลยหรือเปล่านะ หากจะมีใครสักคนเลือกจากไปเพราะไม่อยากทน เราก็คงไม่แปลกใจเท่าไหร่ เพราะหากเป็นเราเองเราก็ไม่รู้จะต้านทานชาวน้ำตาลตกได้แค่ไหน แต่เอ๊ะ นั่นหมายความว่าคนที่เดินจากไปแล้ว แม้จะเศร้าๆ หน่อยกับการหวังน้ำบ่อหน้า แต่ยังมีอะไรให้หวังนี่นะ เราต่างหากที่ยังอยู่กับพี่คนนั้นแบบไม่ต้องลุ้น
เมื่อต้องทำงานกับพี่คนนี้แบบเลี่ยงไม่ได้ เราจะรับมือยังไง แบบที่ไม่ต้องระเบิดลงพังกันไปข้าง (อย่างที่พี่เขาทำไว้)
- รู้เขารู้เรา
หากทำงานร้อยครั้ง โดนวีนร้อยครั้ง นอกจากจะตั้งคำถามกับพี่เขาที่วีนเกินเรื่องแล้ว เราก็อาจจะต้องกลับมาถามตัวเองว่า แกทำงานยังไงให้โดนวีนทุกรอบขนาดนี้นะ
เราอาจจะต้องหาชนวนระเบิดของพี่เขาให้เจอ ว่าเขาไม่ชอบให้ทำอะไร ไม่ชอบให้พลาดตรงไหน แบบไหนที่ทำแล้วเขาโมโหแน่ ศึกษาจากผู้ประสบภัยรายก่อนๆ เงี่ยหูฟังเรื่องราวในห้องประชุมมาให้ขึ้นใจ บางครั้งมันอาจเป็นเรื่องเล็กน้อยสำหรับเรา แต่ในมุมเขานี่อาจเป็นเรื่องใหญ่ที่ยอมไม่ได้เหมือนกัน การเอาตัวรอดในสงครามนี้มันอาจง่ายแค่ เขาไม่ชอบอะไรก็อย่าทำแบบนั้น แค่นั้นก็ได - ตั้งมั่นให้อารมณ์นิ่งเข้าไว้
เราเข้าใจดีว่าบางคำที่มันแสลงหู บวกกับการแสดงออกเกรี้ยวกราด มากระทบจิตใจเรามากๆ เราเองก็ไม่ใช่พระอิฐพระปูน อยากจะสวนกลับไปบ้างในแบบที่พี่เขาทำ เพื่อให้รู้ว่าโดนเองแล้วจะรู้สึกอย่างไร แต่ลองนึกดูว่าระเบิดลูกเดียวในห้องยังขนาดนี้ มีสองลูกจะขนาดไหน
พยายามประคองสติอารมณ์ตัวเองไว้ อย่างแรกถ้าเรานิ่งกว่า เราอาจจะเป็นคนที่มองหาทางไปต่อได้ดีมากกว่า และอย่างต่อมา หากเราเข้าสู่สนามอารมณ์ด้วยอีกคน มันจะกลายเป็นไฟลามทุ่งเป็นการกระทบกระทั่วส่วนตัว (แม้จะมาจากเรื่องงาน) จนสถานการณ์จบไม่สวยอย่างที่เราคิดไว้ - ฟังแบบให้รู้ว่าฟังอยู่
เวลาโดนวีนสัญชาตญาณอาจให้เลือกหนีมากกว่าสู้ แต่ยิ่งถอยอาจยิ่งโดนต้อน สุดท้ายแล้วอาจจบที่เรานั่งกลัวหัวหด จนไม่รู้ว่าพี่เขาต้องการอะไรกันแน่ ลองมองข้ามความโกรธเกรี้ยวของเขาไป แล้วตั้งใจฟังจริงๆ ว่าสิ่งที่เขาต้องการจากเรื่องนี้คืออะไรกันแน่ ฟังโดยแสดงออกทางภาษากายร่วมด้วย อย่างการสบตา พยักหน้า ตอบคำถามตามเป็นช่วงๆ เพื่อให้เขารู้ว่าเรากำลังกระตือรือร้นที่จะแก้ปัญหาให้เขาอยู่ แม้จะโดนวีนฉ่ำไปด้วยก็ตาม
ภาพรวมของเรื่องที่ช่วยให้เราหลบลี้หนีจากระเบิดอารมณ์ของพี่เขา หนีไม่พ้นการไม่เอาอารมณ์เราลงไปในสนามนั้นด้วย เป็นสิ่งที่พึงระลึกไว้เสมอ สูดหายใจเข้า พ่นลมหายใจออก บอกตัวเองให้หนักแน่นว่าเราไม่จำเป็นต้องเป็นอย่างพี่เขาเลย ยิ่งเราไม่ชอบที่เขาทำแบบนี้ เรายิ่งไม่ควรแสดงออกอย่างไม่มืออาชีพแบบที่เจอมา
เบื้องหลังอาการวีนฉ่ำเหมือนน้ำตาลตก อาจมาจากสาเหตุขี้ประติ๋ว ถ้าจับจุดถูก เลี่ยงได้ก็เลี่ยงไป หากมองในเบื้องต้น หนทางนี้อาจง่ายกว่าการเปลี่ยนตัวตนของเขา (หรือเปลี่ยนงาน) แต่ก็ทนเท่าที่เห็นสมควร หากมันเลยเถิดไปถึงขั้นคุกคาม ทำร้ายร่างกาย จิตใจ ลดทอนความเป็นมนุษย์ เราไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ตัวเองกับการกระทำที่ละเมิดสิทธิในชีวิตเรา เพียงเพราะกลัวว่าจะลุกขึ้นสู้กับคนที่มีตำแหน่ง อำนาจสูงกว่าไม่ได้ การกระทำเหล่านี้มันเลยขีดของคำว่าสไตล์การทำงาน หรือแค่เรื่องนิสัยส่วนตัวไปแล้ว เราควรแจ้งผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างฝ่ายบริหารหรือฝ่ายทรัพยากรบุคคลโดยด่วน
อย่างน้อยให้พี่คนนั้นและคนที่อยู่กับสิ่งนี้มานานได้รู้ว่า การกระทำเหล่านี้มันข้ามเส้นและไม่ใช่เรื่องชินชาที่จะยอมรับได้เสมอไป
อ้างอิงจาก