“ฝากไปบอกเขาด้วยนะว่า …”
“งั้นก็ฝากไปบอกด้วยเหมือนกันว่า…”
เงยหน้าไปก็แสนงง นั่งอยู่ข้างกันแท้ๆ แต่พูดเหมือนอีกคนไม่มีตัวตน นอกจากจะส่งเสียงลอบๆ บอกอีกฝ่ายที่ไม่เต็มใจจะคุยกันแล้ว ยังส่งสัญญาณบอกคนรอบข้างอีกด้วยว่าได้เปิดศึกกันเรียบร้อยแล้ว
ทำงานอยู่ดีๆ ความสงบที่มีก็หายไป เมื่อมีคนประกาศสงครามกันในออฟฟิศ หากไกลตัวเสียหน่อย เราอาจไม่ได้รับผลกระทบอะไร อย่างมากก็ได้ฟังเรื่องกอสซิปกระซิบที่ลอยมาตามลม ผ่านวงสนทนาช่วงพักกลางวัน ผ่านเสียงจอแจในห้องน้ำ รับฟังสักนิด ออกความเห็นสักหน่อย ใครจะเข้าทีมไหนก็เลือกเอาตามเกม
แต่เมื่อสงครามนั้นไม่ได้อยู่ไกล เกิดในทีมของเราเอง มันก็ไม่สนุกอย่างเรื่องของคนอื่นแล้วน่ะสิ คนหนึ่งก็มาเล่าในมุมของตัวเอง ผ่านไปไม่ทันไร อีกคนก็มาเสริมเรื่องในอีกมุมเหมือนกัน นี่ฉันอยู่ในหนังราโชมอนหรือเปล่านะ ใช่ว่าเราอยากจะกระโจนเข้าไปในดราม่าด้วยตัวเองเสียหน่อย ไม่ได้อยากจะรับเผือกร้อนมารองบนมือ ไม่ได้อยากจะมาเป็นกาวใจ จับมือทั้งคู่มาแตะกันให้เรื่องจบอย่างมีความสุข แต่ทำไงได้ เมื่อทั้งทีมมีแค่เราที่พอจะคุยกับทั้ง 2 ฝั่งได้ ก็ต้องรับหน้าที่ไปโดยปริยาย
งานที่มีก็ต้องเดินหน้า แต่เมื่อเขาไม่คุยกันขึ้นมาอาจพาให้งานภาพรวมทั้งทีมเสียไปด้วย นี่สินะ ชีวิตที่คอนเทนต์วิ่งเข้าหา จะปล่อยเบลอเหมือนเรื่องคนอื่นก็ไม่ได้ จะเลือกข้างใครสักคนก็ยิ่งแย่เข้าไปใหญ่ สถานการณ์ตอนนี้จึงบีบบังคับให้เราเลือกเป็นตัวกลางเท่านั้น ไม่เช่นกันบรรยากาศก็จะยิ่งแย่ งานก็จะยิ่งไม่เดิน
เอ แล้วเป็นคนกลางมันแย่ยังไงล่ะ ก็ไม่ต้องเลือกข้างเสียหน่อย แต่ทำไมถึงต้องลำบากใจที่จะเป็น?
ลองนึกดูว่า จากที่เราตั้งใจมาทำงานตามปกติ รับผิดชอบแค่งานที่มีในมือก็ปวดหัวไม่ไหว จะเป็นยังไงหากต้องทำหน้าที่รับมือทั้ง 2 ฝ่ายไปพร้อมกัน นี่ก็เป็นเรื่องที่เราอาจได้เห็นบ่อยๆ เมื่อมีใครไม่ลงรอยกัน ก็ไม่อยากจะสนทนากันไม่ว่าทางตรงหรืออ้อม แต่ด้วยหน้าที่การงานมันค้ำคอ เลยต้องอาศัยคนกลางเป็นคนไปอัปเดตข่าวสารเรื่องราวการทำงานแทนเจ้าตัว กลายเป็นว่าเรามีหน้าที่ทางสังคมเพิ่มมาหนึ่งอย่าง เพื่อรักษาบรรยากาศในทีม (อย่างน้อยก็ไม่แย่ไปกว่าเดิม)
ไปๆ มาๆ ก็อาจกลายร่างเป็นน้องนกของพี่ตา ที่เข้าข้างทั้ง 2 ฝ่ายในสายตาคนอื่นอีกก็ได้ หากไม่แคร์ก็แล้วไป แต่ใครจะอยากกลายเป็นขี้ปากคนอื่นไปอีกคนทั้งที่ไม่ใช่เรื่องของเราตั้งแต่ต้นกันล่ะ
เมื่อตัวเลือกก็ไม่มี หน้าที่ก็ไม่ใช่ แล้วเราพอจะรับมือยังไงกับหน้าที่คนกลางนี้ได้บ้างนะ ลองมาดูวิธีรับมือบางส่วนจาก Indeed และ LinkedIn แพลตฟอร์มหางานออนไลน์เจ้าดังกันดูหน่อย
- เจาะลึกถึงต้นตอ ไหนๆ ก็มีโอกาสได้ฟังทั้ง 2 ฝ่ายแบบไม่ต้องร้องขอ ลองกางแผนผังเรื่องราว ตะโกนขอไวท์บอร์ดจากพิธีกร แล้วเริ่มสืบสาวถึงต้นตอได้เลย ก่อนที่เราจะแก้ปัญหาได้ เราต้องรู้ก่อนว่าจุดเริ่มต้นนั้นมาจากเรื่องอะไร เรื่องเล็กยิบย่อยที่ยังพอให้ทำงานด้วยกันได้ หรือเรื่องใหญ่จนมองหน้ากันไม่ติด เมื่อเราเข้าใจถึงปัญหาแล้ว จะได้ช่วยยับยั้งในจุดที่ทั้งสองโคจรมาเจอได้ตรงเรื่อง
- กำหนดขอบเขตเท่าที่ทำไหว หากการไหว้วานให้ไปบอกคนนั้นที คนนี้ที ทำให้เราไม่เป็นอันทำอะไร เราต้องขีดเส้นเลยว่าเราช่วยได้แค่ระดับไหนโดยไม่ต้องรู้สึกผิด แม้จะอยากให้ทั้ง 2 ดีกันขนาดไหน แต่อย่าลืมว่าเราเองก็ยังมีงานในมือให้รับผิดชอบ เอาหน้าที่ของเราให้เรียบร้อยก่อนจะไปทำหน้าที่เป็นกาวใจ นอกจากจะบอกตัวเองแล้ว ก็ต้องย้ำกับคู่สงครามด้วยว่า เราสามารถช่วยสื่อสาร ไกล่เกลี่ย ในระดับที่ไม่เดือดร้อนถึงตัวเรา
- ยับยั้งไม่ให้กระทบเรื่องงาน จะตีกันเรื่องอะไร ยาวนานแค่ไหนก็ได้ เพราะนั่นคือเรื่องส่วนตัวของพวกเขา แต่เราเองก็อย่าลืมกระทุ้งศอกเตือนทั้ง 2 ว่า อย่าให้เรื่องนี้กระทบถึงงานภาพรวมของทีม ยิ่งเขาเห็นเราพยายามไกล่เกลี่ยให้อาจจะเผลอทำตามใจตัวเองมากไป จนลืมว่าการทะเลาะกันจนถึงขั้นร่วมงานกันไม่ได้ มันส่งผลต่อภาพรวมขนาดไหน
- อย่าอินเกิน ฟังไปฟังมา มันเริ่มละ รับข้อมูลเยอะๆ เข้า อคติเริ่มก่อตัวอย่างลับๆ ในใจ จนเผลอเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งขึ้นมา ต่อให้ปากเราบอกว่าเป็นคนกลาง แต่การแสดงออก การโน้มน้าว พูดคุย มันอาจฉายชัดว่าเรากำลังยืนอยู่ข้างใคร ซึ่งแน่นอนว่าเราได้กลายร่างติดปีกเป็นน้องนกของพี่ตาอย่างเต็มตัว ในขณะที่รับฟังเรื่องราว เราจึงต้องหนักแน่นให้มาก เปิดใจกว้างถึงความแตกต่างของนิสัย วิธีการทำงาน รับฟังโดยไม่ตัดสิน และไม่อินกับฝ่ายไหนมากเกินไป
- อย่าสวมบทผู้ตัดสิน ทางออกที่ดีที่สุดของเรื่องคงไม่พ้นจับทั้ง 2 ฝ่ายมาถกปัญหาที่เกิดขึ้น โดยมีคนกลางคอยนั่งคั่นระหว่างทั้ง 2 แน่นอนว่าเราจะต้องฟังเหตุผลของทั้งคู่ด้วยใจที่เป็นกลาง คอยไกล่เกลี่ยว่าทางออกร่วมกันพอจะมีทางไหนบ้าง แต่สิ่งที่ห้ามเด็ดขาดคงจะเป็น การชี้ถูกชี้ผิด พึงระลึกไว้เสมอว่า เราทำหน้าที่เป็นเพียงคนกลางให้ทั้งคู่ได้ปรับความเข้าใจกันเท่านั้น ไม่ได้มีหน้าที่ไปตัดสินใคร เขาจะเข้าใจกันแค่ไหน จะดีกันหรือไม่ ปล่อยให้เป็นเรื่องที่เขาตัดสินใจกันเอง
- อย่าเผยแพร่เป็นเรื่องสนุกปาก ใครมันจะมีข้อมูลล้นมือไปมากกว่าคนกลางได้ล่ะ เมื่อทั้ง 2 ฝ่ายต่างแย่งกันมาปรับทุกข์เรื่องระทมใจในมุมมองของตัวเองกันทั้งนั้น แม้เราจะรับฟังเรื่องมามากมายแค่ไหน แต่การเผยแพร่เรื่องราวนี้ต่อในมุมเม้ามอยสนุกปาก อาจทำให้เรากลายเป็นคนที่เก็บความลับไม่เป็น เรารู้โลกรู้ นั่นคงไม่ดีกับภาพลักษณ์ในที่ทำงานเท่าไหร่นัก ลองนึกถึงวันที่ 2 คนนั้นดีกันขึ้นมา แล้วพบว่ามีเรื่องราวร้อยแปดเผยแพร่ออกไปจากเรา อาจทำให้เกิดมวยคู่ต่อไปขึ้นก็ได้
ไม่ว่าเขาจะทะเลาะกันหรือดีกันนั้น ปล่อยให้เรื่องราวเป็นเรื่องส่วนตัวที่ทั้งคู่เลือกตัดสินใจกันเอาเอง หน้าที่ของเรามีเพียงแค่ประคับประคองสถานการณ์ ให้การทำงานเป็นไปอย่างราบรื่นตามที่ควรจะเป็นเท่านั้น
แค่ทำงานก็เหนื่อยแล้ว อย่าสวมบทน้องนกของพี่ตาเพิ่มเลยเนอะ
อ้างอิงจาก