“แค่คิดว่าจะต้องไปทำงานก็เหนื่อยตั้งแต่ยังไม่เริ่มทำเลย”
ไม่นานมานี้มีเสียงเตือนจากสภาพัฒน์ (สศช.) ชี้ถึงปัญหาที่สังคมต้องเฝ้าระวัง โดยเฉพาะปัญหาสุขภาพจิตของคนวัยทำงานที่มีแนวโน้มสูงขึ้น อ้างอิงจากจากผลสำรวจของ Kisi ปี 2024 พบว่ากรุงเทพฯ ถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 5 จาก 100 เมืองของประเทศทั่วโลก ที่ผู้คนทำงานหนักเกินไป
ด้วยชั่วโมงการทำงานที่สูงถึงสัปดาห์ละ 48 ชั่วโมง ทำให้หลายคนประสบปัญหาเบิร์นเอาต์และความเครียด ตามผลสำรวจของวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดลที่พบว่า คนกรุงเทพฯ 7 ใน 10 มีอาการหมดไฟในการทำงาน
ในขณะที่จากผลการสำรวจของ Forbes Advisor เกี่ยวกับประเทศที่มี work-life balance ดีที่สุดในโลก ปี 2023 พบว่าโคเปนฮาเกน จากเดนมาร์กได้คะแนนสูงสุดเป็นอันดับ 1 แน่นอนว่าการทำงานแบบยืดหยุ่น และไม่มีลำดับชั้น เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เดนมาร์กคว้าแชมป์นี้ไป
แต่นอกเหนือจากเหตุผลที่ว่า ไมค์ ไวกิง (Meik Wiking) ผู้ก่อตั้งวิจัยสถาบันแห่งความสุข (the Happiness Research Institute) นักวิจัย และผู้เขียนหนังสือชื่อดังอย่าง The Little Book of Hygge เชื่อว่าวัฒนธรรมการทำงานที่ให้ความสำคัญกับความสุขอย่าง “arbejdsglæde” (อา-บาย-ส-เกล-เลอะ) ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ชาวเดนมาร์กกลายเป็นประเทศที่มีความสุขกับการทำงานมากที่สุดเช่นกัน
เมื่อเราใช้เวลา 1 ใน 3 ของชีวิตไปกับการทำงาน ความเหนื่อยล้าและความเครียดจากการทำงานย่อมส่งผลกับใจเราไม่น้อย แล้วชาวเดนิชมีเคล็ดลับอะไรที่ทำให้ยังมีความสุขกับการทำงานได้นะ ชวนไปรู้จักวัฒนธรรมการทำงานแบบ “arbejdsglæde” ให้มากขึ้นด้วยกัน
วัฒนธรรมที่ยกให้ความสุขมาเป็นอันดับหนึ่ง
‘Arbejdsglæde’ คนที่ไม่คุ้นเคยกับภาษาแดนิชอาจจะรู้สึกอ่านยากสักหน่อย คำนี้มาจากเดนมาร์ก ไม่ได้มีความหมายในภาษาเราที่แปลได้ตรงตัว แต่รวมๆ แล้วหมายถึงการการทำงานอย่างมีความสุข และการที่มีคำศัพท์ที่พูดถึงความสุขในการทำงานโดยเฉพาะ ก็คงพอทำให้เราเห็นภาพแล้วว่าชาวเดนมาร์กให้ความสำคัญกับความสุขมากขนาดไหน
“ภาษาสามารถกำหนดวิธีคิดและการมองโลกได้” ไมค์ ผู้เขียนหนังสือขายดีเกี่ยวกับการมองโลกให้มีความสุขของชาวเดนมาร์กกล่าว การมีคำเหล่านี้อยู่ในภาษาก็เป็นหลักฐานที่บอกว่าพวกเขาตระหนักถึงเรื่องนี้มากแค่ไหน ก่อนหน้านี้เขาก็ได้นำคำศัพท์ภาษาเดนมาร์กให้ชาวโลกได้รู้จัก อย่างคำว่า ‘ฮุกกะ (hygge)’ จนตอนนี้กลายเป็นคำที่หลายคนคุ้นเคยกันดี อธิบายความหมายของคำนี้แบบคร่าวๆ คือวิธีที่ชาวเดนมาร์กใช้หาความสุขจากสิ่งเล็กๆ และการทำให้พื้นที่รอบๆ อบอุ่น ภายใต้ความมืดมนของฤดูหนาวที่ยาวนานนับเดือน
เช่นเดียวกับ Arbejdsglæde คำที่เขาอยากให้ทุกคนรู้จัก และคาดหวังว่าจะช่วยสร้างความสุขจากการทำงานให้กับหลายๆ คนได้
การจริงจัง เคร่งเครียดกับการทำงาน สำหรับวัฒนธรรมไทยหรือแถบเอเชียส่วนใหญ่มักถูกมองในแง่ดี เพราะแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่น ทุ่มเทกับการทำงาน จนบางครั้งไม่กล้าใช้วันหยุด หรืออาจโดนมองแปลกๆ ได้หากกลับก่อนเวลา จนเป็นปัญหาที่หลายๆ ประเทศในเอเชียเผชิญอยู่ อย่างประเทศญี่ปุ่นก็มีปรากฎการณ์ ‘คาโรชิ’ หรือการตายจากการทำงานหนักเกินไปให้เห็นอยู่บ่อยๆ หรือวัฒนธรรม ‘แก๊ปจิล’ การใช้อำนาจกับคนที่อ่อนแอกว่าในที่ทำงานของเกาหลี ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พนักงานสุขภาพจิตในที่ทำงานย่ำแย่เพราะถูกรังแก และกดดันในการทำงานจากคนที่มีตำแหน่งและอายุมากกว่า
แต่วัฒนธรรมของเดนมาร์กต่างออกไป พวกเขาเชื่อในการมีสมดุลในการทำงาน และให้ความสำคัญกับความสุข มีงานวิจัยของนักเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยวอร์วิค แสดงให้เห็นว่าคนทำงานจะสามารถทำงานได้ดีกว่า 12% เมื่อพวกเขามีความสุขกับงานนั้นไปด้วย
ดังนั้นแม้ชาวเดนมาร์กจะมีชั่วโมงการทำงานน้อยกว่า คิดเป็น 37 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และสามารถลาพักร้อนได้อย่างน้อย 5 สัปดาห์ต่อปีโดยได้รับค่าจ้าง ก็ยังสามารถทำงานได้ดีไม่แพ้กัน เพราะการให้คนทำงานรู้สึกดีต่องานที่ทำช่วยพาให้พวกเขาประสบความสำเร็จ และอยากสร้างสรรค์ผลงานให้กับองค์กรด้วย
แต่ทั้งนี้ก็ต้องใส่ดอกจันไว้สักหน่อยว่าที่เดนมาร์กสามารถยืดหยุ่นการทำงานได้ขนาดนี้ก็เป็นเพราะมีระบบการซัพพอร์ตที่ดีจากภาครัฐ และความมั่นคงของเศรษฐกิจด้วย แต่ถึงอย่างนั้นวัฒนธรรมบางอย่างช่วยให้คนทำงานรู้สึกสบายใจก็เป็นสิ่งที่องค์กรหลายๆ ประเทศควรเรียนรู้ เพราะถ้าคนทำงานมีความสุข ก็จะสามารถผลิตผลงานดีๆ ออกมาได้
วิธีการทำงานอย่างมีความสุขแบบชาวเดนมาร์ก
แม้ว่าวัฒนธรรมของชาวสแกนดิเนเวียจะมีลักษณะเฉพาะและแตกต่างจากไทย แต่การทำงานอย่างมีความสุขก็เป็นเรื่องที่หลายคนสามารถนำไปปรับใช้ได้ ส่วนหนึ่งจากหนังสือ The Art of Danish Living ได้เสนอวิธีที่ช่วยให้เรามีความสุขกับการทำงานไว้ดังนี้
ลองทำ ‘job crafting’
ไม่ใช่ทุกคนที่สนุกกับงานของตัวเอง แต่หนึ่งในวิธีที่จะเพิ่มความพึงพอใจในงานได้คือการ ‘ออกแบบงานด้วยตัวเอง (job crafting)’ คำนี้ถูกบัญญัติโดย เอมี วอเชสเนียสกี้ (Amy Wrzesniewski) ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเยล หมายถึงการเปลี่ยนมุมมองที่มีต่องานของตัวเอง เพื่อให้เรารู้สึกมีความสุขมากขึ้น
คำนี้ค้นพบจากการศึกษาพนักงานทำความสะอาดในโรงพยาบาล ที่บางคนเลือกที่จะสร้างงานขึ้นมาเองโดยที่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของหน้าที่หลัก เช่น การให้กำลังใจผู้ป่วย ไม่ต่างกับอาชีพอื่น เราเองก็สามารถออกแบบงานของตัวเองได้ ด้วยการเพิ่มหรือลดรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เพื่อใช้จุดแข็งของตัวเองไปด้วย เช่น หากเราได้รับหน้าที่หาข้อมูล ทั้งที่เป็นคนชอบพูดคุยกับคนอื่น แทนที่จะเสิร์ชข้อมูลบนกูเกิลอย่างเดียว ก็อาจลองพูดคุยกับคนอื่นๆ เพิ่มเติมด้วยก็ได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นรายละเอียดงานที่เพิ่มเข้ามาต้องเป็นสิ่งที่เราตัดสินใจเลือกได้เองว่าจะทำหรือไม่ทำ และต้องระวังไม่ให้เกินหน้าที่ที่ระบุใน job description ของเรามากเกินไปด้วยนะ
ทำงานให้เหมือนเล่นเกม
ขึ้นชื่อว่างานยังไงก็เป็นเรื่องน่าเบื่ออยู่ดี งั้นลองเปลี่ยนให้เป็นเกม อาจช่วยให้งานนั้นดูน่าสนุกมากขึ้น แถมอาจช่วยให้เราใช้เวลาจดจ่อกับงานก็ได้ เช่น ลองดูว่าภายใน 1 ชั่วโมงเราตอบเมลได้กี่ฉบับ ช่วยเพื่อนร่วมงานไปกี่ครั้ง ทำให้คนที่อารมณ์ไม่จอยสุดๆ หัวเราะได้ไหม ต่อให้ไม่เกี่ยวกับงานโดยตรง แต่อย่างน้อยก็ทำให้เราไม่หดหู่เกินไปได้ก็พอแล้ว
ผูกมิตรกับคนที่ทำงาน
การมีเพื่อนในที่ทำงานช่วยให้เราทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีสุขภาพที่ดี และความสุขกับงานมากขึ้น อาจไม่ต้องถึงกับเป็นตัวตั้งตัวตีจัดงานปาร์ตี้ หรือยิงมุก เล่าเรื่องตลกโปกฮาทุกๆ สิบนาทีก็ได้ หากรู้สึกไม่ใช่ตัวเอง เพียงแค่การทักทายหรือส่งยิ้มเล็กๆ ก็เพียงพอแล้ว การหาเวลาไปทานข้าวด้วยกันช่วงพักกลางวัน พูดคุยเล็กๆ น้อยๆ ในขณะที่อยู่ออฟฟิศก็เป็นการเริ่มต้นที่ดีเช่นกัน แค่นี้ก็ช่วยสร้างบรรยากาศผ่อนคลายได้แล้ว
อย่าให้เป้าหมายในชีวิตมากดดันตัวเองมากเกินไป
งานกำหนดคุณค่าและตัวตนของเราไม่น้อย ดูอย่างคำถามที่ว่า ‘ตอนนี้ทำงานอะไรอยู่’ ก็เหมือนเราได้รู้จักใครสักคนแล้ว เราคงรู้จักคนนั้นได้ง่ายหน่อยหากงานของเขาอาจมีเป้าหมายชัดเจน เช่น ดูแลเด็กๆ หรือช่วยชีวิตคนไข้ แต่ก็ยังมีอีกหลายงานและอีกหลายคนที่ไม่ได้มีเป้าหมายชัดเจน ซึ่งบางทีก็สร้างความกดดันได้ว่าทำไมเราถึงไม่มีเป้าหมายในชีวิตเหมือนใครเขา
แต่ถึงอย่างนั้น เราก็สามารถหาเป้าหมายนอกเหนือจากงานประจำได้เหมือนกันนะ แม้ว่าจะเป็นงานที่อาจรู้สึกว่าไม่มีความหมาย หรือเป็นงานรูทีนที่ไม่รู้สึกท้าทาย แต่อย่างน้อยงานนี้ก็ทำให้เรามีเงินมาดูแลครอบครัว และอาจนำไปต่อยอดสิ่งที่เราชื่นชอบได้ อย่างการนำเงินไปทุ่มเทกับงานอดิเรกที่เรารัก เพื่อทำให้เรามีกำลังใจในการใช้ชีวิตต่อไป นี่ก็อาจเป็นสิ่งที่มีความหมายกับชีวิตของเราได้เหมือนกัน
เชื่อว่าตัวเองกำลังทำสิ่งที่ถูกต้อง
ไม่ใช่ทุกงานจะเป็นงานในฝัน และคงเศร้ามากหากตอนนี้เราได้ทำงานที่เราไม่อยากเติบโตในสายงานนี้ ถ้าตอนนี้รู้สึกว่าอาชีพการงานของเราไม่ก้าวหน้าไปไหน ขอให้เชื่อว่าไม่ว่าเราจะผ่านงานอะไรมามันต้องมีประโยชน์กับเราในอนาคตอย่างแน่นอน
ในขณะที่เรากำลังเบื่อหน่ายหรือท้อแท้กับงานจำเจตรงหน้า ไม่แน่ว่าประสบการณ์งานก่อนหน้านี้ งานอดิเรกที่เราชอบทำในเวลาว่าง หรือกิจกรรมที่เคยเข้าร่วมสมัยมหาวิทยาลัย ถึงจะดูไม่เกี่ยวกับงานตอนนี้ แต่บางทีเศษเสี้ยวความรู้หรือประสบการณ์นั้นอาจมีประโยชน์กับเราในอนาคต หรือช่วยให้เราสร้างสรรค์งานแบบที่ไม่เคยมีใครทำได้มาก่อนก็ได้
ยอมรับว่าความสำเร็จเป็นสิ่งชั่วคราว
คำถามสำคัญหากต้องการมีความสุขกับการทำงานคือ การถามกับตัวเองว่า “จุดไหนที่ตัวเองรู้สึกพอแล้ว” มนุษย์เรามีความทะเยอทะยาน โดยเฉพาะในการทำงาน เรามักคิดถึงความสำเร็จปลายทางเสมอ จะได้เลื่อนตำแหน่งไหม มีรายได้เพิ่มขึ้นกี่เปอร์เซนต์
ความจริงการมีเป้าหมายไม่ใช่เรื่องผิด แต่ปัญหาคือหลังจากบรรลุเป้าหมายแล้ว เราจะรู้สึกมีความสุขแค่ชั่วคราว จากนั้นก็เริ่มชินกับมันและคิดถึงเป้าหมายต่อไป เรียกว่า ‘วงล้อแห่งความพอใจ (hedonic treadmill)’ หัวข้อหลักในการวิจัยด้านความสุข เจ้าวงล้อนี้ทำให้ความสุขของเราลดลง มันจะไม่เคยพอใจ แต่จะไล่ตามเป้าหมายใหม่ต่อไปเรื่อยๆ ดังนั้นอาจเป็นเรื่องเศร้าที่ต้องยอมรับว่า ความสำเร็จอาจทำให้เรามีความสุขได้ไม่นาน การตอบตัวเองให้ได้ว่าจุดไหนถึงรู้สึกพอใจจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อให้เราไม่ไล่ตามความสำเร็จจนลืมว่าสิ่งที่ตัวเองต้องการจริงๆ คืออะไร
วางแผนวันสุดท้ายของชีวิต
การเผชิญหน้ากับความตายเป็นเรื่องน่ากลัว แต่ก็ต้องยอมรับว่าไม่ว่าใครก็หนีไม่พ้น เพียงแค่ช้าหรือเร็วเท่านั้น การวางแผนว่าต่อจากนี้เราจะใช้เวลาที่เหลือบนโลกอย่างไรจะช่วยให้เราจัดลำดับว่าสิ่งใดคือสิ่งสำคัญในชีวิตจริงๆ
ขณะเดียวกันก็ช่วยให้เรากลับมาทบทวนงานของตัวเองครั้ง ว่าเป็นสิ่งที่ตัวเองต้องการจริงไหม หรือมีสิ่งที่ควรให้ความสำคัญกับมันมากกว่า เช่น หากคุณมีความฝันว่าอยากเป็นนักปั่นจักรยาน การทำงานในออฟฟิศที่หาเวลาปลีกตัวได้ยาก เสี่ยงต่ออาการออฟฟิศซินโดรมคงไม่ทำให้คุณเข้าใกล้ความฝันนั้นมากเท่าไหร่ ถ้าอย่างนั้นก็อาจถึงเวลาที่ต้องวางแผนใหม่อย่างรอบคอบแล้ว (เพราะการว่างงานโดยไม่มีแผนสำรองคงไม่สนุกเท่าไหร่) แม้ว่าจะไม่ได้เป็นนักปั่นอย่างที่หวัง แต่การขยับไปทำงานที่ใกล้เคียงกับสิ่งที่หลงใหลก็ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีได้เช่นกัน
แม้ว่าจะเดนมาร์กจะเป็นประเทศที่มี work-life balance ในการทำงานดีที่สุดในโลก แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะไม่มีเรื่องทุกข์เลย เพราะยังมีอีกหลายคนที่ประสบปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิตไม่ต่างจากประเทศอื่นๆ แต่สิ่งสำคัญกว่านั้นคือการพยายามหาทางออก และปรับวัฒนธรรมการทำงานให้คนทำงานมีความสุข และเหลือเวลาเพียงพอให้ค้นหาสิ่งสำคัญในชีวิตนอกเหนือไปจากการทำงาน
อ้างอิง