อยากลาออก แต่ถ้าออกก็ไม่มีเงิน เลยต้องก้มหน้าก้มตาทำงานต่อไป ทั้งที่ใจไม่อยู่ตั้งนานแล้ว หรือบางคนยื่นใบลาออกไปแล้ว แต่กลับรู้สึกเหมือนทุกวันทำงานที่เหลืออยู่นั้นช่างยาวนานเหลือเกิน
ถ้าเราย้อนกลับมาสำรวจบรรยากาศการทำงานทั่วโลกตอนนี้ State of the Global Workforce 2022 โดย Gallup รายงานว่า สถิติ ‘ความเครียด’ ของคนทำงานทั่วโลกโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นสูงขึ้นกว่าปีก่อนหน้า และสูงสุดในรอบทศวรรษที่ผ่านมา ส่วน รายงานล่าสุดจาก Deloitte พบว่า 40% ของเจเนอเรชั่น Z และเกือบ 25% ของคนรุ่นมิลเลนเนียล อยากยื่นใบลาออกในอีก 2 ปีข้างหน้า โดยเหตุผลหลักๆ เป็นเรื่องความกังวลด้านสุขภาพจิตและความเครียด
แต่ในความจริงจะมีสักกี่คนที่ยื่นใบลาออกไปดื้อๆ หรือเปลี่ยนงานได้ทันทีอย่างที่ใจอยากจะไป
ซาราห์ (Sarah) content creator ในบริษัทแห่งหนึ่งของนิวยอร์ก ให้สัมภาษณ์กับ welcometothejungle ว่าหลังจากที่เธอทำงานไปได้แค่ 8 เดือน ทุกอย่างเริ่มไม่เป็นอย่างที่คิด ทั้งเจอเจ้านายจุกจิก (micromanage) เดดไลน์ไฟลุกจนแทบไม่ได้หายใจ แต่เธอยังออกจากงานไม่ได้ เพราะถ้าออกไป เงินจะไม่พอกับค่าใช้จ่าย และเธอไม่อยากกลับไปพึ่งพาพ่อแม่ที่บ้าน หรือบางคนที่เรามีโอกาสได้พูดคุยมา ก็เจอปัญหาที่ต้องทำงานให้ครบตามสัญญา แต่ไม่ว่าจะเกิดขึ้นด้วยเหตุผลใด การรอคอยนี้ต่างยาวนานและทรมานใจ เราเลยอยากชวนมาดูวิธีการก้าวผ่านช่วงเวลาเหล่านี้กัน
- ลองฟีดแบ็กปัญหา
สำหรับคนที่เริ่มรู้สึกว่าอยากลาออก บางครั้งความรู้สึกลบๆ ที่เกิดขึ้นอาจมาจากปัญหา เช่น ความท้าทายของงาน การเติบโต เงินเดือน หรือแม้แต่ปัญหากับเพื่อนร่วมงาน เซอร์ทริซ เกรซ (Sertrice Grice) ผู้ร่วมก่อตั้ง Mattingly Solutions บริษัทที่ปรึกษาที่ให้ความสำคัญกับ DEI (diversity, equity and inclusion) กล่าวว่า การฟีดแบ็กปัญหาเหล่านี้ควรเป็นเรื่องปกติที่คุยกันได้ ซึ่งไม่แน่ว่าการได้พูดออกไปอาจช่วยให้หัวหน้า ฝ่ายทรัพยากรบุคคล หรือคนที่รับผิดชอบได้รับรู้ปัญหาและพยายามหาทางแก้ไข เพื่อให้เราทำงานที่เดิมต่อไปได้ราบรื่นยิ่งขึ้น
สุดท้ายแล้ว ถ้าเราลองปรับตัว เปิดใจคุยอย่างเต็มที่ แต่ทุกอย่างยังไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม แถมยังเครียดเพิ่มขึ้นทุกวัน แบบนี้อาจจะถึงเวลาที่เราต้องมองหาทางเลือกใหม่ๆ ให้กับตัวเองแล้วล่ะ
- Reframe มุมมองต่องาน
สำหรับคนที่แน่ใจว่าจะลาออกแล้ว แต่จำเป็นต้องอยู่ที่เดิมไปก่อน หนึ่งในวิธีที่น่าสนใจคือ Reframe หรือการปรับมุมมอง ให้ความหมายใหม่กับงานๆ นั้น โดยอาจจะเปลี่ยนจากการมองว่า “เราติดแหง่กอยู่กับงานๆ นี้” มาเป็น “เรายังอยู่กับงานๆ นี้เพราะ…” ซึ่งแน่นอนว่าแต่ละคนมีเหตุผลที่ต่างกันออกไป เห็นได้จากงานวิจัย Jobs, Careers, and Callings: People’s Relations to Their Work ที่พบว่าคนเรามองงานเดียวกันด้วยมุมมองที่แตกต่างกันได้ 3 รูปแบบหลักๆ ได้แก่ Job (โฟกัสไปที่ผลตอบแทนและความจำเป็นทางการเงิน) Career (โฟกัสไปที่การเติบโตในระยะยาว) และ Calling (โฟกัสที่ความสุขกับตัวเองและเป็นประโยชน์กับคนอื่น)
ลอรี ซานโตส (Laurie Santos) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาของมหาวิทยาลัยเยล ที่เชี่ยวชาญด้านการศึกษาเรื่องความสุข เล่าถึงเคสตัวอย่างที่น่าสนใจว่า บางคนอาจจะปรับมุมมองด้วยการมองผลกระทบเชิงบวกของงานนั้นมากกว่ารายละเอียดยิบย่อย เช่น การทำงานกำจัดหนู ในอีกแง่มุมหนึ่งก็คือการแก้ปัญหาและช่วยเหลือผู้คนได้เหมือนกัน หรือบางคนอาจเป็นเหตุผลส่วนตัวไปเลยก็ได้ เช่น ทำเพื่อครอบครัว เพื่อให้มีค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เพื่อให้ได้ทักษะบางอย่างไปต่อยอดบนเส้นทางที่จะเดินต่อไป
- ลิสต์สิ่งที่ชอบ สิ่งไม่ชอบ และความสำเร็จเล็กๆ ในงานนั้น
อีกวิธีที่น่าสนใจคือการเขียนสิ่งที่ชอบและสิ่งที่ไม่ชอบในงานนั้นออกมาเป็นข้อๆ เช่น อะไรที่ทำให้เรารู้สึกแย่กับงานนี้ อะไรที่ดึงดูดให้เราอยากเข้ามาทำงานนี้ตั้งแต่ต้น? แล้วลองลำดับความสำคัญ โดยอาจจะทำสิ่งที่ชอบตอนเช้าเพื่อสร้างแรงผลักให้สู้กับงานในช่วงที่เหลือของวัน หรือเติมกำลังใจว่างานนี้ยังพอมีข้อดีที่ตอบโจทย์บางอย่างในชีวิตได้อยู่นะ นอกจากนี้เราอาจจะลองลิสต์ความสำเร็จเล็กๆ ในช่วงเวลาที่ผ่านมา เพื่อประเมินความก้าวหน้าและทบทวนตัวเอง ซึ่งการลิสต์สิ่งเหล่านี้นอกจากจะสร้างกำลังใจให้กับตัวเองแล้ว ยังใช้สำหรับการต่อรองเรื่องค่าตอบแทน ไปจนถึงการสัมภาษณ์งานในอนาคตได้อีกด้วย
- เปลี่ยนโฟกัสไปยังเป้าหมายการทำงาน แทนตัวบุคคล
หลายครั้งที่ความรู้สึกอยากลาออก มาจากเหล่ามนุษย์ท็อกซิกที่เราต้องร่วมงานด้วย เราอาจจะใช้วิธีเปลี่ยนโฟกัสไปที่ตัวงานและเป้าหมายของการทำงาน แทนตัวบุคคลและอารมณ์ความรู้สึก โดยปิดโหมดการฟังเพื่อซึมซับอารมณ์ความรู้สึก มาเป็นเปิดโหมดการฟังเพื่อโฟกัสว่าเราต้องทำอะไรต่อไป เพื่อให้งานๆ นี้ดำเนินต่อไปอย่างราบรื่น
- หาคอนเน็กชั่นและเปิดใจคุยกับคนใหม่ๆ
นอกจากการทำงานในออฟฟิศแล้ว latimes.com แนะนำว่าการออกไปเจอเพื่อน เจอผู้คนใหม่ๆ เพื่อแลกเปลี่ยนความถนัดและความสนใจ บางทีอาจจะช่วยให้เราได้รู้จักงานที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน แถมยังช่วยเพิ่มโอกาสให้คนอื่นๆ นึกถึงเรา เมื่อมีโปรเจ็กต์หรืองานที่ตรงกับความสนใจของเราอีกด้วย
แต่สุดท้ายแล้ว ไม่เป็นไรเลยถ้าเราจะยังไม่เจองานที่ดีกว่า ไม่เป็นไรเลยถ้างานที่ทำอยู่จะไม่เป็นอย่างที่คิดไว้ เพราะแต่ละคนต่างมีจังหวะในการเติบโตและเบ่งบานแตกต่างกัน และคงมีสักวันแหละที่เป็นวันของเราจริงๆ
อ้างอิงจาก