เมื่อเร็วๆ นี้มีข่าวคราวเกี่ยวกับการไขปริศนาในภาพวาดชิ้นเอกในประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก ภาพวาดที่ว่านี้มีชื่อว่า Salvator Mundi (1500) (เป็นภาษาละตินแปลว่า Savior of the World หรือ พระผู้ช่วยให้รอดของโลก ซึ่งหมายถึง พระเยซู นั่นเอง) ผลงานของศิลปินเอกแห่งยุคเรอเนสซองส์ เลโอนาร์โด ดา วินชี (Leonardo da Vinci)
ภาพวาดพระเยซูคริสต์สีน้ำมันบนแผ่นไม้วอลนัตภาพนี้ ถูกประมูลขายไปโดยสถาบันประมูลคริสตี้ส์ นิวยอร์ก ในราคา 450.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 13,608 ล้านบาท มันถูกซื้อไปโดย มุฮัมมัด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย ทำให้กลายเป็นภาพวาดราคาแพงที่สุดในโลกเท่าที่เคยมีการขายมา ภาพวาดนี้เป็นหนึ่งในภาพวาดจำนวนน้อยกว่า 20 ชิ้น ที่คาดว่าเป็นผลงานของดา วินชี ถึงแม้จะมีปริศนาและข้อโต้แย้งบางอย่างเกี่ยวกับหลักฐานและที่มาที่ไปของภาพก็ตามที
ยังมีปริศนาอีกอย่างเกี่ยวกับภาพวาดนี้ ตรงที่พระเยซูในภาพวาด นอกจากจะชูนิ้วเป็นสัญลักษณ์ไม้กางเขนที่ปรากฏบ่อยครั้งในภาพวาดของพระเยซูคริสต์ทั่วๆ ไป แต่รายละเอียดอันโดดเด่นอีกประการในภาพนี้ก็คือ มืออีกข้างของพระองค์ยังถือลูกแก้วซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของทรงกลมฟ้าแห่งส รวงสวรรค์ (Celestial sphere) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนบทบาทของพระองค์ในฐานะพระผู้ช่วยให้รอดของโลกนี้นั่นเอง
ซึ่งเจ้าลูกแก้วที่ว่านี่แหละ ที่เป็นต้นเหตุของปริศนาที่ผู้เชี่ยวชาญและนักประวัติศาสตร์ศิลปะหลายคนฉงนสนเท่ห์ เพราะถ้าว่ากันตามหลักความเป็นจริงแล้ว ลูกแก้วกลมแบบนี้จะมีลักษณะเป็นเสมือนเลนส์นูน ซึ่งน่าจะฉายภาพเสื้อคลุมด้านหลังลูกแก้วให้เป็นภาพขยายหัวกลับและกลับซ้ายเป็นขวา แต่ภาพของเสื้อคลุมที่ปรากฏหลังลูกแก้วที่ปรากฏในภาพวาดนี้กลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น แต่กลับเป็นภาพเสื้อคลุมในมุมมองตามปกติ แทบจะไม่บิดเบี้ยวเลยด้วยซ้ำไป ทั้งๆ ที่ดา วินชีเป็นศิลปินที่ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับปรากฏการณ์หักเหของแสงเป็นอย่างดี หลักฐานก็คือในสมุดบันทึกของเขานั้นเต็มไปด้วยภาพสเกตซ์ของหลักการหักเหของแสงในวัตถุต่างๆ มากมาย
นั่นทำให้เกิดคำถามว่าทำไมเขาจึงวาดรูปนี้ออกมาในลักษณะนี้กันแน่?
เมื่อไม่นานมานี้ นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเออร์ไวน์ มาร์โค เหลียง (Marco Liang) และทีมงาน ร่วมกันไขปริศนานี้ด้วยการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์กราฟิกในการจำลองภาพวาด Salvator Mundi ขึ้นมาใหม่ในรูปแบบ 3 มิติ และศึกษาว่าแสงจะหักเหผ่านทรงกลมของลูกแก้วในลักษณะต่างๆ ได้อย่างไรบ้าง?
หลังจากเปรียบเทียบภาพจำลอง 3 มิติกับภาพต้นฉบับ พวกเขาได้ข้อสรุปว่า ลูกแก้วในภาพวาดนี้ไม่ใช่ลูกแก้วตันๆ ที่ถูกหลอมออกมาแบบเดียวกับลูกแก้วพยากรณ์ของหมอดูที่เราเห็นกันตามปกติทั่วไป หากแต่น่าจะเป็นลูกแก้วที่กลวงข้างในต่างหาก นั่นแสดงให้เห็นว่า ดา วินชี วาดภาพนี้ในแบบเหมือนจริงตามหลักวิทยาศาสตร์นั่นเอง
โดยโปรแกรมคอมพิวเตอร์กราฟิกนี้ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อจำลองฟิสิกส์ของการไหลของแสง เป้าหมายโปรแกรมนี้ก็คือการจำลองลักษณะวัตถุกึ่งโปร่งใสที่ทำจากแก้ว หรือลักษณะของน้ำได้ดีขึ้น
พวกเขาเริ่มต้นจากการสร้างฉากในภาพวาดขึ้นมาใหม่ในรูป 3 มิติ โดยผสมผสานพื้นผิวและโครงสร้างของวัตถุทั้งหมดที่กระทบแสง โดยรวมทั้งมุมมองในภาพและแหล่งกำเนิดแสง จากนั้นอัลกอริทึมของโปรแกรมก็จะทำการแกะรอยลักษณะของแสงที่ส่องไปยังฉากในภาพ ว่าทำงานอย่างไร
ต่อมาพวกเขาจำลองภาพวาดในแบบเสมือนจริงอย่างคร่าวๆ ในรูปทรงเรขาคณิต เพื่อคำนวณรายละเอียดเกี่ยวกับลูกแก้วและมือที่ถือมัน ด้วยการเปรียบเทียบระหว่างลูกแก้วกับมือ พวกเขาประเมินว่าลูกแก้วน่าจะมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 13.6 ซม. และมีระยะทางจากร่างกายของผู้ถือ 25 ซม. พวกเขายังปรับรูปจำลองเรขาคณิตของภาพให้มือสัมผัสกับลูกแก้วอย่างนุ่มนวล โดยใช้โปรแกรมซอฟต์แวร์ Maya ที่ใช้ทำแบบจำลอง 3 มิติ และอนิเมชั่น
ด้วยการศึกษาเงาในภาพวาด ทีมนักวิทยาศาสตร์ได้ข้อสรุปว่า
ตัวละครในภาพถูกส่องโดยแสงสว่างจ้าจากด้านบนและกระจายไปรอบข้าง พวกเขายังคำนวณว่าผู้วาดภาพน่าจะอยู่ห่างจากแบบราวๆ 90 ซม.
จากฉากจำลองแบบเสมือนจริงนี้ พวกเขาทำการทดสอบว่าลูกแก้วในมือนั้นเป็นลูกแก้วแบบไหนกันแน่ ผลลัพธ์ที่ได้นั้นน่าสนใจว่า หนทางเดียวที่ทีมนักวิทยาศาสตร์จำลองภาพวาดให้ออกมาเหมือนกับต้นฉบับมากที่สุดคือการใช้ลูกแก้วกลวงเท่านั้น เพราะลูกแก้วกลวงจะฉายภาพด้านหลังออกมาอย่างบิดเบือนในรูปแบบเฉพาะตัว ยกตัวอย่างเช่น เส้นตรงที่ถูกฉายผ่านศูนย์กลางของลูกแก้วจะไม่บิดเบี้ยว ในขณะที่เส้นตรงที่ไม่ผ่านศูนย์กลางของลูกแก้วจะบิดเบี้ยวในลักษณะที่ไม่ต่อเนื่องกับขอบลูกแก้ว ซึ่งรายละเอียดของผ้าคลุมเบื้องหลังลูกแก้วในภาพวาดนี้ก็ปรากฏออกมาในลักษณะเดียวกัน ทีมนักวิทยาศาสตร์ยังทำการทดลองจำลองความหนาของลูกแก้วในภาพวาดในแบบที่แตกต่างกันไป ท้ายที่สุดก็คาดคะเนว่าความหนาของตัวลูกแก้วกลวงในภาพน่าจะไม่เกิน 1.3 มม. เท่านั้นเอง
คำถามที่น่าสนใจก็คือในยุคนั้นมีวัสดุเช่นนี้หรือไม่ และดา วินชี เองมีความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการหักเหของแสงดังที่ปรากฏในภาพวาดจริงไหม หรือเขาแค่วาดออกมาผิดพลาดกันแน่?
เหลียงและทีมงานได้ร่วมกันศึกษาค้นคว้าสมุดบันทึกของดา วินชี จนได้ข้อสรุปว่า ดา วินชีน่าจะมีความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับเรื่องแสงเป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังมีการบันทึกเอาไว้ว่าลูกแก้วกลวงนั้นเป็นที่รู้จักกันอย่างดีในยุคสมัยของดา วินชี และปรากฏอยู่ในภาพวาดของศิลปินในยุคนั้นอีกมากมายหลายภาพ อันที่จริงศิลปินในยุคเรอเนสซองส์นั้นต่างก็เป็นผู้เชี่ยวชาญในการวาดภาพสภาวะต่างๆ ของแสงกันทั้งนั้น
เหลียงและทีมงานจึงมั่นใจกับข้อสรุปของเขาอย่างมาก โดยเขากล่าวว่า “การทดลองของพวกเราแสดงให้เห็นว่าการจำลองภาพวาดด้วยโปรแกรม 3 มิติ สามารถพิสูจน์ว่าภาพวาดของเลโอนาร์โด ดา วินชี นั้นน่าจะถูกวาดออกมาอย่างถูกต้องตามหลักการของวัสดุ การหักเหของแสง และความรู้ทางวิทยาศาสตร์เป็นอย่างดี ซึ่งน่าทึ่งว่านี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในยุคคริสต์ทศวรรษ 1500 ด้วยซ้ำไป”
ถึงแม้เหลียงและทีมงานจะไม่ใช่คนแรกที่สันนิษฐานว่าลูกแก้วในภาพวาด Salvator Mundi นั้นเป็นลูกแก้วกลวง เพราะก่อนหน้านี้ วอลเตอร์ ไอแซกสัน (Walter Isaacson) นักเขียนและนักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกัน ผู้เขียนชีวประวัติ เลโอนาร์โด ดา วินชี เองก็เคยตั้งข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับลูกแก้วในมือของพระเยซูว่าน่าจะเป็นลูกแก้วกลวง เช่นเดียวกับนักวิชาการอีกหลายคน แต่อย่างไรก็ดี เหลียงและทีมงานก็เป็นคนแรกที่แสดงหลักฐานทางกายภาพอย่างเป็นเรื่องเป็นราวว่าดา วินชีวาดภาพนี้แบบเหมือนจริงตามหลักวิทยาศาสตร์ ไม่ได้เมกเอาเองแต่อย่างใด
ซึ่งน่าจะช่วยไขปริศนาและข้อข้องใจของหลายๆ คนเกี่ยวกับภาพวาดราคาแพงมหาศาลภาพนี้ไปได้บ้าง ไม่มากก็น้อยแหละนะ
อ้างอิงข้อมูลจาก