‘อดีตไม่ได้ควบคุมปัจจุบัน แต่คนปัจจุบันควบคุมอดีต’
การชื่นชอบในเรื่องประวัติศาสตร์ ตำนาน เพศและวรรณกรรมของ ปูนปั้น—กมลลักษณ์ สุขชัย ทำให้เกิดเรื่องราวของซีรีส์ภาพชุด RED Lotus ซึ่งมีแรงบรรดาลใจจจากนิทานพื้นบ้าน โดยเธอนำเอารูปแบบของนิทานพื้นบ้านมาแต่งขึ้นใหม่และใช้เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างผลงานภาพขึ้นมา โดยมีแรงบันดาลใจจากละครโทรทัศน์แนวจักรๆ วงศ์ๆ
“กาลครั้งหนึ่ง ชาวบ้านพบหญิงงามลอยน้ำมาติดหน้าหมู่บ้าน พวกเขาช่วยกันพาเธอขึ้นฝั่ง ด้วยความงามและกลิ่นหอมของเธอทำให้ชายหนุ่มต่อสู้แย่งชิงกัน จนเดือนร้อนถึงเจ้าเมืองต้องลงมายุติศึก โดยรับสั่งให้พาเธอไปอาศัยกับฤาษีและนักพรตหญิงทั้ง 12 ในป่าศักดิ์สิทธิ์ วันหนึ่งขณะหญิงงามปีนขึ้นเก็บผลไม้ ให้เผอิญประจำเดือนหยดแรกของเธอตกลงใส่ร่างชายคนหนึ่งผู้มีอาคมแกร่งกล้าที่เดินผ่านมาทางนี้พอดี ทำให้เวทมนต์ของเขาเสื่อมฤทธิ์ลง ชายคนดังกล่าวขอให้เธอชดใช้ด้วย “ความสาวบริสุทธิ์” อันเป็นสิ่งต้องห้าม ทั้งสองจึงลักลอบมีความสัมพันธ์กัน ครั้นเมื่อพิธีอาบน้ำศักดิ์สิทธิ์ ฤๅษีและเหล่าสตรีผู้บำเพ็ญตบะทั้ง ๑๒ โปรยดอกไม้นานาชนิดลงในบ่อน้ำและอัญเชิญเธอลงสระ น้ำใสบริสุทธิ์กลับสีแดงฉาน บ่อน้ำไม่ศักดิ์สิทธิ์อีกต่อไป เหล่าผู้ทำพิธีและชาวบ้านต่างพากันสาปแช่งเธอ ด้วยความโกรธแค้นเธอจึงถูกลงโทษด้วยการเฉือนหน้าอกและตัดอวัยวะเพศเพื่อเป็นการเซ่นไหว้ขอขมาแก่บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ก่อนเธอสิ้นลม เธอตั้งจิตอธิษฐานต่อพระอินทร์ว่า ชาติหน้าขอให้เธอเกิดมาเป็น “ดอกบัว” ดอกไม้เพื่อรับใช้ความศักดิ์สิทธิ์ตลอดไป”
นี่คือนิทานที่ถูกเล่าโดยปูนปั้นเอง เราจึงไปคุยกับเธอเรื่องคอนเซปต์งาน และสิ่งที่เธออยากถ่ายทอดผ่านนิทรรศการนี้
เริ่มต้นงาน RED LOTUS มาได้อย่างไร
เราสนใจเรื่องประวัติศาสตร์ ศาสนา เพศ แล้วรู้สึกว่าทุกอย่างมันเชื่อมโยงกันหมดพอมันมีเรื่องเล่าของสิ่งนั้นๆ เช่น เราไปศึกษาเรื่องศาสนาก็ถูกส่งต่อมาโดยการเป็นเรื่องเล่า ประวัติศาสตร์ต่างๆ ก็เป็นเรื่องเล่า และเรื่องเล่าพวกนี้ก็จะมีสิ่งสมมติที่เรียกว่าชาย-หญิงตั้งแต่แรก ซึ่งคำนิยามก็ถูกผันไปตามบริบทในเรื่องเล่านั้นๆ ด้วย เลยเอามาทำเป็นงานส่งอาจารย์ก่อน และต่อยอดมาเรื่อยๆ เป็นงานส่วนตัว จนเกิดผลงาน RED LOTUS
อาจจะเป็นความบังเอิญก็ได้ว่าชื่อเรา ‘กมลลักษณ์’ ก็แปลว่า ดอกบัวด้วย และดอกบัวก็เป็นนัยยะด้านเพศทั้งนมและจิ๋ม ในบทอัศจรรย์เราก็พูดถึงอวัยวะผู้หญิงว่าเป็นดอกบัว ในขณะเดียวกันก็เป็นดอกไม้ที่ไว้บูชาพระและก็อยู่ใต้ฐานพระพุทธรูป มันมีความหมายจากที่เราให้มา
ส่วนแรงบันดาลใจเราไม่ได้เอามาจากวรรณกรรมเรื่องต่างๆ แต่เป็นการเอาภาพจำมาจากวรรณกรรมหลายๆ อย่างที่คล้ายกันทุกเรื่อง เช่น ตา ยาย ฤาษี กษัตริย์ ท้าวประจำเมือง เพราะเวลาเราเล่าเรื่องตำนาน วรรณกรรม ก็จะเหมือนเป็นวัฒนธรรม อุดมการณ์ของสถานที่นั้นๆ คล้ายๆ กับโครงสร้างสมัยก่อนที่มีกษัตริย์ ผู้วิเศษหรือเป็นพระในเรื่องต่างๆ
แล้วจากงานที่ส่งอาจารย์ถูกต่อยอดเป็นผลงานชุดนี้ มีความต่างกันยังไงบ้าง
ชุดที่แล้วเรานำนิตยสารเก่า
ทำไมถึงอยากให้ภาพออกมาดูไม่สมจริงมากที่สุด
พอทุกอย่างที่เราชอบมันเป็นสิ่งที่ถูกเหมือนสมมติขึ้น เราก็เลยตอกย้ำและตั้งคำถามกับความเป็นจริงว่ามันเป็นจริงแค่ไหนในเรื่องที่ถูกส่งต่อมา เพราะในความเป็นจริงอาจจะไม่เป็นอย่างที่เขาเล่าก็ได้ หรืออาจจะเป็นจริงก็ได้เพื่อเหตุผลบางอย่าง แต่ถ้าบางอย่างที่เขาเล่ากันมามันไม่เป็นความจริง ปัจจุบันตอนนี้เราอาจจะปฎิบัติตัวอีกอย่างก็ได้ ราวกับว่าจริงๆ แล้ว อดีตไม่ได้ควบคุมปัจจุบัน แต่คนปัจจุบันต่างหากที่ควบคุมอดีต
ยกตัวอย่างตำนานที่เราได้รับแต่เด็กตั้งแต่ศาสนา ประวัติศาสตร์เป็นเหมือนชุดคำบอกเล่าหนึ่ง ดังนั้นเราก็เลยสนใจที่จะทำเป็นเรื่องเล่าเพราะดูเป็นจุดสำคัญในการสร้างความเชื่อ สร้างอะไรบางอย่างที่ส่งทอดมาเรื่อยๆ
คิดว่าวรรณกรรมมองผู้หญิงเป็นยังไง ถ้าเปรียบเทียบกับสังคมในตอนนี้
รู้สึกว่าผู้หญิงในวรรณกรรมจะถูกมองเห็นเมื่อเป็นเพศที่ไม่มีเวทมนตร์ หรือถ้าจะมีเวทมนตร์ก็ต้องเป็นยักษ์ เช่น นางพันธุรัตน์ ไม่ก็เป็นผู้หญิงที่บริสุทธิ์ที่ไม่ได้เกิดจากเพศสัมพันธ์ และสิ่งสุดท้ายที่สำคัญเป็นผู้หญิงที่สวย แม้กระทั่งแก้วหน้าม้าที่ไม่สวยแต่ตอนท้ายก็กลายเป็นคนสวยอยู่ดี เพราะสุดท้ายตำนาน เรื่องเล่าที่เราฟังกันมาก็เป็นระบบของพราหมณ์ที่พูดถึงสังคมชายเป็นใหญ่
จริงๆ เราไม่ได้สังเกตตัวเองตั้งแต่แรกว่าทำไมสนใจเรื่องเพศ แต่มานั่งวิเคราะห์ตัวเองจริงๆ ตอนทำนิทรรศการ In transit เมื่อปี พ.ศ. 2561 เราก็เลยรู้สึกว่าเรารับชุดความรู้ เรื่องความเป็นผู้หญิงที่ดีตั้งแต่เด็ก แล้วบางครั้งก็นึกถึงเวลาที่เราคิดว่าจะขบถ อย่างตอนอยู่บ้านเราก็แต่งตัวปกติ แต่เวลาอยู่โรงเรียนเราก็อาจพับกระโปรงขึ้น เลือกจะเป็นอีกคน พอโตขึ้น เราเเลยเอาเรื่องพวกนี้ลงกับงาน เริ่มศึกษาเรื่องเพศที่เกี่ยวกับสังคม เช่น เราทำหนังเราก็เขียนบทเกี่ยวกับทางเพศ การมองเพศ การมองโสเภณี เราก็อยากเล่าเรื่องเพศสมมติให้กับเพศหญิงเพราะรู้สึกว่ามันก็ไม่ได้เป็นไปตามอย่างที่เขาบอกกัน
ปัจจุบันถ้าจะพูดว่าคนเราก็ทำตัวตามตำนานก็จะยากไป เขาอาจจะมองว่ามันก็เป็นตำนานที่เล่ามา แต่เรามองว่าเราอาจจะไม่รู้ตัวว่าทุกอย่างจากตำนานมันซึมซับเข้ามาอยู่ในตัวเรา เช่น ประวัติศูนย์กลางของไทย กับประวัติศาสตร์ของท้องถิ่น หรืออาจะมองว่าการที่เรามีประวัติศาสตร์มันสร้างความเป็นเรา แต่ในขณะเดียวกันมันก็สร้างความเป็นอื่นด้วย อย่างคนทั่วไปเขาก็อาจจะรับรู้แค่ที่หนังสือเรียนบอก หรือถูกกำหนดมาว่าเราต้องรู้เท่าที่เราควรรู้เท่านั้น ถ้าเรารู้มากกว่านี้เราจะมีปัญหา
ตัวละครในภาพส่วนใหญ่เป็นคนในครอบครัว ทำไมถึงเลือกคนในครอบครัวมาเป็นส่วนหนึ่งของงาน
เป็นคนใกล้ตัวด้วย แต่จริงๆ ตัวละครของเราจะเป็นใครก็ได้ แค่อยากได้คนที่มีอายุ อยากให้ดูแก่และดูเด็กไปเลย ยกเว้น ตัวเอกที่เราตั้งใจจะให้เป็นใคร และเราไม่ได้บอกเขาว่าเนื้อเรื่องในนี้เป็นยังไงกับคนในครอบครัว เราอยากให้ถ่ายเขาออกมาแล้วดูไร้ชีวิตมากที่สุด เราไม่อยากให้ความสมจริงเกิดขึ้นบนตัวเขาเลย และเราไม่ได้เอาเรื่องราวของตัวละครทุกตัวมาผูกกับในเรื่องราวของเรา แม้มันจะเป็นเรื่องราวของตัวเราเองก็ตาม
สุดท้ายแล้วเรื่องราวของซีรีส์นี้ก็ยังไม่จบ?
ตัวเนื้อเรื่องของพาร์ทนี้จบแล้ว แต่ยังมีพาร์ทต่อไปซึ่งเป็นเรื่องอื่น แต่จะถูกนำมาเล่าเป็นวิธีเล่าใหม่ๆ ซึ่งก็จะเป็นนิทานอีกเรื่องนึง มีความอิงกับเรื่องนิทานพื้นบ้าน ศาสนา ประวัติศาสตร์อย่างที่เราชอบอยู่ ณ ตอนนี้ เพราะเราเป็นคนที่รำตั้งแต่อนุบาล 2 ใส่ชุดไทย เลยทำให้รู้สึกว่าเราชอบอะไรพวกนี้ ชอบดูละครจักรๆ วงศ์ๆ พอเรียน ป.ตรีเราก็ทำงานส่งอาจารย์ที่มีอะไรบางอย่างเชื่อมกับความเป็นไทยตลอด เหมือนมันก็ขับเคลื่อนไปเรื่อยๆ พอเราสนใจเรื่องพวกนี้จริงจัง แล้วได้เห็นว่าเรื่องพวกนี้ก็เป็นเรื่องเล่ากันมา เลยคิดว่าพวกตำนานที่เราได้รับแต่เด็กตั้งแต่ศาสนา ประวัติศาสตร์เป็นเหมือนชุดคำบอกเล่า เราก็เลยสนใจที่จะทำเป็นเรื่องเล่าเพราะดูเป็นจุดสำคัญในการสร้างความเชื่อ สร้างอะไรบางอย่างที่ส่งทอดมาเรื่อยๆ
แต่เราไม่ได้บอกตัวเองว่าต้องทำแบบนี้ไปตลอดชีวิต แต่ก็รู้สึกว่ามีไม่กี่เรื่องนี้ชิวิตที่เราจะเข้าไปศึกษาเพื่อที่จะไปถ่ายทอดออกมา จริงๆ เราเริ่มทุกอย่างจากเรื่องเพศหญิงก่อน แต่สิ่งที่มันเปลี่ยนเรามันเหมือนเราโตขึ้นแล้วเราพบข้อมูล เราเปลี่ยนไปเหมือนกัช่วงเวลาเปลี่ยน ความคิดก็เปลี่ยน ก็คงเป็นอิทธิพลจากช่วงเวลานั้นๆ
ปูนปั้นกำลังจะมีนิทรรศการชื่อว่า RED LOTUS ที่ Kathmandu Photo Gallery วันที่ 7 มีนาคม – 25 เมษายน 2563 รายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ kathmanduphotobkk.com