ตอนเด็กเรามักจะถูกถามอยู่เสมอว่า “โตขึ้นแล้วอยากเป็นอะไร?” เราต่างมีคำตอบในใจของตัวเองเป็นงานในฝัน งานที่เรามองภาพตัวเองในอนาคตเอาไว้ แต่พอเติบโตขึ้น ได้ก้าวเข้าสู่โลกชีวิตจริง งานในฝันของเราอาจไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีที่สุดสำหรับเรา งานที่ทำเงินได้ ทำให้เรามีรายได้มากพอต่างหาก ที่จะขับเคลื่อนชีวิตในแต่ละวันได้ แล้วแบบนี้เรากับงานในฝัน ต้องแยกทางกันนับแต่นี้เลยหรือเปล่า?
ค่านิยมในแต่ละยุคสมัย อาจส่งผลให้ปัจจัยการเลือกงานสักงานหนึ่งแตกต่างกันไป บางคนอาจเลือกเพราะเป็นตำแหน่งใหญ่ ได้เป็นเจ้าคนนายคน บางคนเลือกเพราะเป็นอาชีพที่มีหน้ามีตาในสังคม บางคนเลือกเพราะเป็นอาชีพที่เราถนัด ทำได้ดี (แม้จะไม่ได้ชอบก็ตาม)
ผลสำรวจจาก Gallup และ Pew Research Center ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ค่าตอบแทน ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจเลือกงานใดสักงานหนึ่งเสมอมา โดยเฉพาะในช่วงหลัง ผู้คนเลิกให้ความสำคัญกับชื่อตำแหน่ง ไม่ได้นิยามตัวตนด้วยอาชีพอีกต่อไปแล้ว แต่กลับหันไปหางานที่ให้เงินดีมากกว่า
สอดคล้องกับตัวเลขที่น่าสนใจจาก Handshake’s 2023 Campus to Career Report กว่า 36% ของเด็กจบใหม่ มองหางานในอุตสาหกรรมอื่นๆ หรือตำแหน่งอื่นเพิ่มขึ้น เพราะพวกเขาหันมาให้ความสำคัญกับความมั่นคงในหน้าที่การงาน เพื่อรับมือกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่กำลังจะเกิดขึ้น
ด้วยปัญหาทางเศรษฐกิจที่ต้องเผชิญมาตลอดในช่วงหลัง ไม่ว่าจะเป็นเงินเฟ้อ ตลาดแรงงาน ค่าครองชีพ ค่าที่อยู่อาศัยที่สูงลิบเสียจนคนทำงานรุ่นใหม่ ตั้งตัวได้ยากกว่าที่ควรจะเป็น ปัญหานี้เจอกันตั้งแต่เหล่าเด็กจบใหม่เตะฝุ่นหางาน ไปจนถึงคนที่ทำงานมาได้สักพักแล้วก็ตาม หลายคนจึงเลือกที่จะหันไปหางานที่ได้เงินดี และไม่ได้สนใจงานในฝันอีกต่อไปแล้ว
ถึงอย่างนั้น การเลือกงานที่ให้เงินดีก่อน ก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร ปากท้องและความอยู่รอด อาจต้องมาก่อนความฝัน ถ้าเรายังไม่รู้จะกินจะใช้อย่างไรในแต่ละวัน เราคงไม่มีเวลาไปคิดเรื่องความฝันของเราเสียด้วยซ้ำ หากจุดที่ยืนอยู่ของเราแข็งแรงมากพอ หรือยังมีเรี่ยวแรงที่จะหวนไปนึกถึงงานในฝันอีกครั้ง สิ่งนี้อาจกลายมาเป็นน้ำหล่อเลี้ยงใจในวันที่เราต้องออกไปทำงานหนัก เพื่อเลี้ยงปากท้องของเรา จนหลงลืมสิ่งที่เคยเป็นเป้าหมายในชีวิต สิ่งที่เราเฝ้าฝันในวันวาน อย่าเพิ่งละทิ้งงานในฝัน เพราะมันก็ยังสามารถอยู่ในชีวิตเราต่อไปได้
เราจะทำยังไงให้งานในฝันยังอยู่กับเราเสมอ?
หลายคนยังเฝ้านึกถึงความเป็นไปได้อื่นๆ ในชีวิต ถ้าวันนั้นเราได้เลือกงานในฝันจะเป็นยังไงกันนะ เราจะมีความสุขมากกว่าตอนนี้หรือเปล่า เราจะได้ใช้ชีวิตในแบบที่เราเคยวาดหวังให้ตัวเองในตอนเด็กไหม งานในฝันที่ว่านั้นไม่จำเป็นต้องเป็นเพียงภาพฝันในวัยเด็กเพียงอย่างเดียว โตขึ้นมาเราชอบทำอะไร มีงานอดิเรกอะไร อยากทำอะไรเป็นพิเศษ หรือค้นพบอะไรใหม่ๆ แล้วอยากจะพาตัวเองไปสู่เส้นทางนั้น ก็สามารถเป็นงานในฝันได้เช่นกัน
หากเราจะอยากจะเติมเต็มความฝัน ทั้งที่ยังมีงานปัจจุบันหาเลี้ยงตัวเองอยู่ เราจะเริ่มต้นยังไงดี?
- ประเมินความเป็นไปได้ อย่างที่กล่าวไปข้างต้น หากเรายังไม่รู้จะกินจะใช้อย่างไรในแต่ละวัน เราคงไม่มีเวลาไปคิดเรื่องความฝัน เราจึงต้องมีความมั่นคงในงานปัจจุบันของเราก่อนประมาณหนึ่ง หรือดูความเป็นไปได้ว่าเราจะมีเวลา มีแรงกายแรงใจ มากพอที่จะเพิ่มงานอีกหนึ่งอย่างเข้ามาในชีวิต อย่าลืมว่าต่อให้เรามีแพชชั่นกับมันแค่ไหน แต่มันก็ยังเป็นอีกหนึ่งงานอยู่ดี หากจะเริ่มต้น เราจึงต้องประเมินความเป็นไปได้ในทุกด้านอย่างรอบคอบ
- ให้ความสนใจอยู่เสมอ ไม่ว่าจะฝันวัยเด็ก หรืองานอดิเรกที่เพิ่งค้นพบวัยทำงาน อย่าลืมให้ความสนใจ ให้เวลากับมัน อัปเดตความรู้ อยู่เสมอ เพื่อให้สิ่งนี้ยังคงอยู่ในชีวิตเราในแบบที่เราสามารถหยิบมันมาใช้ได้ ไม่ใช่แค่ความชอบวัยเด็กที่ฝุ่นจับเสียจนเข้ากับชุดความรู้ในปัจจุบันไม่ได้แล้ว และเพื่อเติมไฟให้เราเองมีแพชชั่นต่อมันอีกด้วย
- พัฒนาทักษะให้เท่าอาชีพปัจจุบัน หากมีเวลาให้กับมันแล้ว ก็อย่าลืมพัฒนาทักษะในด้านนั้นๆ ของเราให้ดีเทียบเท่ากับงานที่เราทำอยู่ เพราะเราจะไม่ได้มีสิ่งนั้นเป็นแค่งานอดิเรก ความสนใจยามว่าง เรากำลังจะผลักดันให้มันกลายเป็นงานจริงๆ ของเรา
- เก็บคอนเนกชั่น มองหากลุ่มคนที่มีความสนใจเดียวกัน คลุกคลีอยู่กับวงสังคมที่มีความชอบนั้น เพื่อให้เราได้มีลู่ทาง หากเราพร้อมจะขยับไปทำงานนั้นจริงๆ ในสักวัน เราจะไม่ได้เป็นแค่หน้าใหม่ในวงการ
- ทำใจยอมรับความเสี่ยง งานในฝันอาจไม่ได้ดีอย่างที่ฝัน พอขยับจากความชอบมาเป็นงานแล้ว เราอาจจะไม่ได้ชอบมันมากขนาดนั้นอีกต่อไปแล้ว หรืออาจจะไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่หวังเอาไว้ เช่นเดียวกับงานอื่นๆ ที่เราก็ต้องยอมรับความเสี่ยงเมื่อก้าวเข้าไปวันแรกเช่นกัน
แม้สุดท้ายแล้ว เมื่อเราหยิบงานในฝันมาเป็นงานจริง แล้วพบว่ามันไม่ได้น่าหลงใหลอย่างที่คิด อย่างน้อยเราก็รู้แล้วว่าสิ่งที่เราฝันไว้มันหน้าเป็นอย่างไร และไม่ต้องคอยเฝ้าฝันถึงมันในความเป็นไปได้อื่นๆ เพียงอย่างเดียว
อ้างอิงจาก