บางครั้งเวลาเห็นใครบางคนทุ่มเทกับงาน ได้อยู่กับสิ่งที่ตัวเองรัก ก็พลอยทำให้รู้สึกว่าคนคนนั้นช่างโชคดีเหลือเกิน ราวกับ ‘passion’ เป็นไอเท็มมหัศจรรย์ที่พกไปทำงานด้วย แล้วจะมีความสุขตลอดแปดชั่วโมงของวัน (หรือมากกว่านั้น) เช่นเดียวกับประโยคที่หลายคนคุ้นหูอย่าง “ถ้าได้ทำงานที่เรารัก แล้วจะรู้สึกเหมือนไม่ได้ทำงานอยู่”
แต่ในโลกความเป็นจริง ทุกอย่างดูสวยงามแบบนั้นหรือเปล่า?
ความเชื่อเรื่อง passion กับการทำงาน
passion คือแรงจูงใจที่แข็งแกร่งผสมกับอารมณ์ที่รุนแรง โดยไม่แน่ชัดว่าเป็นอารมณ์ทางบวกหรือทางลบ ซึ่งรากศัพท์ของคำว่า passion มาจากคำว่า passio หมายถึงความทนทุกข์ทรมาน จึงไม่น่าแปลกใจที่ passion มักจะถูกนำมาผูกโยงกับสิ่งที่ต้องใช้เวลาและการลงทุนลงแรงมหาศาลอย่าง ‘การทำงาน’
เอริน เอ. เซ็ก (Erin A. Cech) นักสังคมวิทยาผู้เขียนหนังสือ The Trouble With Passion: How Searching for Fulfillment at Work กล่าวว่า แนวคิดเรื่อง passion กับการทำงานหรือทำในสิ่งที่รัก นับเป็นแนวคิดที่ค่อนข้างใหม่ เพราะในช่วงทศวรรษ 1940-1950 ซึ่งเพิ่งผ่านสงครามโลกมาได้ไม่นาน สิ่งที่ผู้คนใฝ่หาจากงาน คือความมั่นคงมากกว่าความหลงใหล จนช่วงปี 1970s เป็นต้นมา เมื่อผู้คนค่อยๆ ใฝ่หาความมั่นคงน้อยลง passion จึงเริ่มกลายเป็นสิ่งที่จูงใจได้มากกว่า แต่ใช่ว่าช่วงเวลาที่เปลี่ยนแปลงไปจะทำให้คนทั่วโลกคิดแบบเดียวกัน เพราะสภาพสังคมและวัฒนธรรม ก็มีผลกับความเชื่อที่แตกต่างกันไปด้วย
จากงานวิจัยในหัวข้อ ‘Should you pursue your passion as a career? Cultural differences in the emphasis on passion in career decisions’ ที่ตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ.2021 พบว่า คนอเมริกันที่ให้ความสำคัญกับปัจเจกมากกว่า (independent culture) มีแนวโน้มจะเห็นด้วยกับการเอา passion มาทำเป็นงาน และคาดหวังผลลัพธ์เชิงบวก เช่น ความสำเร็จในอนาคต ความพึงพอใจในการทำงาน มากกว่าคนสิงคโปร์ที่วัฒนธรรมโดยรวมนั้นให้ความสำคัญกับปัจเจกน้อยกว่า (interdependent culture)
ความแตกต่างนี้เกิดจากความเชื่อของชาวอเมริกันส่วนใหญ่ที่มองว่าความหลงใหลสามารถสร้างแรงจูงใจอย่างแท้จริงให้กับการทำงาน ขณะที่ชาวสิงคโปร์ส่วนใหญ่กลับมองว่าความหลงใหลอาจสร้างปัญหาให้งานได้ในบางครั้ง เช่น การใส่ความรู้สึกของตัวเองลงไปในงานมากเกินไป
นอกจากนี้ ลิซซี แฟรนซิส (Lizzy Francis) บรรณาธิการข่าวที่ Fatherly ยังตั้งข้อสังเกตว่า ส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้คนพยายามผูกติด passion กับการทำงาน อาจเพราะงานของชนชั้นกลางส่วนใหญ่ มักจะใช้อารมณ์ความรู้สึกเพื่อสร้างผลลัพธ์ของงาน (emotional labor) โดยเฉพาะงานบริการไปจนถึงการพบปะลูกค้าที่ถูกคาดหวังให้ใบหน้าเปื้อนรอยยิ้มตลอดเวลา ต่างไปจากการทำงานกับเครื่องจักรหรือเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ที่ต่อให้ยิ้มหรือขมวดคิ้ว ก็ไม่ได้กระทบต่อผลลัพธ์ที่ออกมามากนัก จึงไม่น่าแปลกใจที่บางคนจะถูกคาดหวังให้รู้สึก ‘รักงาน’ เพราะการแสดงอารมณ์ความรู้สึกก็นับว่าเป็น ‘งาน’ เช่นเดียวกัน และแนวคิดของ ‘งานในฝัน’ ก็อาจจะเป็นความพยายามที่จะบรรเทาความกดดันของชีวิตวัยผู้ใหญ่ ซึ่งหลายคนต้องใช้เวลาหลายสิบชั่วโมงต่อสัปดาห์ เพื่อแลกกับเงินที่เพียงพอต่อปัจจัยพื้นฐานในชีวิต
เมื่อ passion กลายเป็นงาน
หลายครั้งที่เรามักเชื่อว่าความหลงใหลขับเคลื่อนเราไปสู่ความสำเร็จและความพึงพอใจในชีวิต อย่างที่นักร้องดัง จอน บอน โจวี (Jon Bon Jovi) กล่าวว่า “ไม่มีอะไรสำคัญเท่ากับความหลงใหล ไม่ว่าคุณจะทำอะไรกับชีวิตอยู่ จงมีความหลงใหลต่อสิ่งนั้น” ขณะที่อดีตนักฟุตบอลอาชีพอย่าง เอริก ก็องโตนา (Eric Cantona) กลับบอกว่า “หากคุณมีความหลงใหลในชีวิตเพียงสิ่งเดียว … และคุณไล่ตามมัน จนผลักสิ่งอื่นๆ ออกไปจนหมด ความหลงใหลที่ว่านี้อาจกลายเป็นอันตรายได้…” คำพูดข้างต้นอาจชวนให้เราสับสนว่า สรุปแล้ว passion เป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ดีต่อการทำงานกันแน่?
หากมองในเชิงจิตวิทยา เราอาจพบคำตอบจาก โรเบิร์ต เจ. วัลเลอรันด์ (Robert J. Vallerand) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาแห่ง Université du Québec à Montréal ผู้เสนอว่า ความหลงใหล (passion) สามารถแบ่งออกเป็นสองประเภท
1. obsessive passion (OP) คือความหลงใหลจนถึงขั้น ‘หมกมุ่น’ กับสิ่งที่ตัวเองรัก จนไม่สามารถควบคุมหรือห้ามตัวเองได้ แม้ว่าการกระทำนั้นอาจเป็นอันตรายหรือส่งผลเสียต่อด้านอื่นๆ ของชีวิตก็ตาม โดย passion รูปแบบนี้มักทำให้เราเกิดความรู้สึกที่ว่า ฉันต้องคิดหรือทำเรื่องนี้อยู่ตลอดเวลา ผูกติดคุณค่าของตนเองกับสิ่งที่หลงใหล จนกลายเป็นเรื่องยากที่จะอยู่กับปัจจุบัน และหากวันหนึ่ง passion นั้นหายไป อาจจะทำให้คนคนนั้นรู้สึกหลงทางหรือสูญเสียตัวตนจนเกิดคำถามว่า ‘ฉันเป็นใครกันแน่’?
เมื่อมองในมุมของการทำงาน เว็บไซต์ psychologytoday ระบุว่า obsessive passion อาจจะดีต่อการพัฒนางานบางอย่างในระยะสั้นที่ต้องทุ่มเทพลังงานและเวลาอย่างเต็มที่ แต่ในระยะยาวการทุ่มเทจนถึงขั้นหมกมุ่น อาจนำไปสู่ความเหนื่อยล้าจนหมดไฟ ดังนั้น obsessive passion คงคล้ายกับภาพของ workaholic หรือ การถูกงาน ‘กลืนกินตัวตน’ จนบางทีเราอาจจะมองข้ามความสัมพันธ์ในครอบครัว เพื่อน คนรัก สุขภาพ หรือแม้แต่การลุกขึ้นมาเรียกร้องรายได้ที่เป็นธรรม เพราะคิดว่างานคือรางวัลในตัวมันเองอยู่แล้ว
2. harmonious passion (HP) คือความหลงใหลที่เรารับรู้และยอมรับว่าสิ่งเหล่านี้สำคัญกับตัวเรา แต่ก็มีอิสระในการเลือกทำ สามารถควบคุมตนเองได้ ยืดหยุ่นมากกว่า และไม่ได้ปิดกั้นตัวเองจากกิจกรรมอื่นๆ ในชีวิต passion รูปแบบดังกล่าวจึงช่วยเสริมการทำงานของจิตใจ สุขภาพร่างกาย ความเป็นอยู่ที่ดีและความพึงพอใจในชีวิตโดยรวม แถมยังทำสิ่งที่รักได้อย่างมีประสิทธิภาพเพราะร่างกายได้พักผ่อน จิตใจไม่คร่ำเคร่งจนเป็นทุกข์ แต่ก็ยังรู้สึกว่า ‘อยากมีส่วนร่วม’ กับกิจกรรมนั้น ซึ่ง harmonious passion สัมพันธ์กับสภาวะ flow state คือความเพลินเพลินและโฟกัสกับสิ่งที่เราทำอย่างจดจ่อจนรู้สึกเหมือนเวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว และอาจเป็นสาเหตุที่บางคนบอกว่า ‘รู้สึกเหมือนไม่ได้กำลังทำงานอยู่’ นั่นเอง
ดังนั้น passion อาจจะสร้างความรู้สึกให้มนุษย์เราได้หลากหลายรูปแบบทั้งในแง่บวกและแง่ลบ ขึ้นอยู่กับรูปแบบของความหลงใหลที่เรามีให้กับงานนั้นๆ
เรารักงาน แต่งานอาจไม่รักเรากลับ
แม้ว่าบางคนอาจจะมี harmonious passion แล้ว แต่การทำงานไม่ได้ขึ้นอยู่กับ ‘ตัวงาน’ เท่านั้น และบางครั้งการเอา passion มาทำเป็นงานก็ตามมาด้วยข้อจำกัดหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นความต้องการของตลาดไม่ตรงกับงานที่อยากทำ อย่างการสำรวจของ Deloitte ที่สอบถามพนักงานประจำ 3,000 คนในสหรัฐฯ พบว่าคนที่หลงใหลในงานของตัวเองอย่างแท้จริงมีเพียงมีเพียง 20% เท่านั้น หรือการอยู่กับสิ่งที่ชอบตลอดเวลาก็อาจจะนำมาสู่ความรู้สึกอิ่มตัวได้เช่นกัน โดย โจฮันนา เล็กแกตต์ (Johanna Leggatt) เขียนเล่าในเว็บไซต์ The Guardian ว่า “เพื่อนของฉันทำงานในร้านหนังสือตอนอายุ 20 กว่าๆ ตั้งแต่นั้นมาเขาก็หยุดอ่านนิยายไปหลายปี ส่วนเพื่อนอีกคนสาบานว่าจะไม่กลับบ้านมาอ่านนิยายอีก เพราะเขาสอนภาษาอังกฤษห้าวันต่อสัปดาห์ เมื่อกลับมาพักผ่อนที่บ้าน เขาเลยไม่อยากถูกย้ำเตือนให้ให้นึกถึงประโยคต่างๆ ที่พรั่งพรูมาจากในหนังสือ”
นอกจากนี้ อาชีพที่ตอบโจทย์ passion อาจไม่ตรงกับไลฟ์สไตล์ของเราเสมอไป เช่น คนที่ไม่ชอบเดินทางบ่อยๆ อยากมีเวลาทานมื้อเย็นกับครอบครัว พบปะเพื่อนฝูงหลังเลิกงาน แต่เป็นคนที่รักการติดตามข่าวสารใหม่ๆ จึงเลือกทำอาชีพนักข่าว ทว่าสิ่งที่ตามมาคือ ชั่วโมงการทำงานหรือวันหยุดที่ต่างจากงานทั่วๆ ไป ซึ่งขัดกับไลฟ์สไตล์ของคนคนนั้น
แม้ข้อจำกัดทั้งหมดจะทำให้เราเห็นว่า passion เป็นเพียง ‘ส่วนหนึ่ง’ ที่ทำให้เรามีความสุขกับการทำงาน ซึ่งไม่ได้เป็นเครื่องการันตีว่า เส้นทางการทำงานข้างหน้าจะโรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอไป แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราต้องอดทนอยู่กับงานที่เราเกลียด หรือองค์กรที่ toxic
เพราะสิ่งสำคัญคงเป็นการเลือกงานที่ ‘พอดี’ กับเงื่อนไขในชีวิต รวมทั้งสิ่งที่เราให้ความสำคัญมากที่สุดในขณะนั้น โดยอาจจะเป็นเวลา ความสัมพันธ์ การพัฒนาทักษะ รายได้ หรือเรื่องอื่นๆ ไม่ว่าเราจะมีหรือไม่มี passion กับงานนั้นก็ตาม
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Manita Boonyong