แหวกว่ายทะเลลึก ดื่มด่ำห้วงอารมณ์ จมจ่อมกับฝูงปลานานาพันธุ์
คงปฏิเสธได้ยากว่า ‘อควาเรียม’ หรือ ‘พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ’ คืออาณาเขตที่เต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์ เป็นดินแดนซึ่งก้ำกึ่งระหว่างธรรมชาติกับสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น แถมยังเป็นพื้นที่ที่ใครหลายคนเลือกไปเมื่อต้องการหลีกหนีจากโลกภายนอกอันว้าวุ่น
ถ้าให้ลองย้อนนึกกลับไป บางทีอควาเรียมนี่แหละที่อาจจะเป็นสถานที่เดตแรกของใครหลายคน ในวันวานที่เธอกันฉันยังไม่ได้รู้จักและรู้ใจกันมากนัก การได้ลอยล่องเข้าไปในบริเวณที่มีความเป็นส่วนตัว เดินจูงมืออย่างเขินๆ โดยมีหมู่ปลาเป็นสักขีพยาน ดูฝูงกระเบนและแมงกะพรุนร่ายรำสลับกับสบตาของอีกคน ถามเรื่องของเธอที ชวนกันคุยเรื่องสัตว์ทะเลที เป็นการเดตที่ทั้งเราและเขาต่างก็สบายใจ ไม่รู้สึกอึดอัด
หรือต่อให้ยังไม่มีคนรู้ใจ การได้ไปอควาเรียมคนเดียวก็คงช่วยให้ใจเบาลงได้ไม่น้อย เพื่อนคนหนึ่งของเราเล่าว่า เธอชอบไปอควาเรียมมาก เพราะเป็นสถานที่ที่ไปได้โดยไม่ต้องคิดอะไร อากาศเย็นสบาย แถมยังเงียบสงบ
“ไปแล้วไม่ต้องสุงสิงกับใคร ได้อยู่กับตัวเอง แต่ก็ไม่ถึงกับโดดเดี่ยวจนเกินไปเพราะเราจะถูกห้อมล้อมไปด้วยสัตว์ทะเล” เธอว่า
หากมองอย่างผิวเผิน เราอาจรู้สึกว่า ความนิยมชมชอบที่หลายคนมีต่อสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำคงเป็นเรื่องของรสนิยมส่วนตัว แต่ในความเป็นจริง ความรู้สึกที่ผู้คนมีต่อสถานที่แห่งนี้เกี่ยวโยงกับสายสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสายน้ำที่มีมาช้านานหลายศตวรรษ ทั้งยังมีเหตุผลในทางวิทยาศาสตร์รองรับอีกด้วย
กว่าจะมาเป็นอควาเรียม
ในปัจจุบัน หากพูดถึงอควาเรียม เราคงนึกถึงภาพของแหล่งกักเก็บน้ำขนาดยักษ์ที่วัสดุส่วนใหญ่ทำจากกระจก จึงโปร่งใสและช่วยให้สามารถมองเห็นเหล่าสัตว์น้ำในระบบนิเวศต่างๆ อันแปลกหูแปลกตา แต่รู้หรือไม่ว่าจุดเริ่มต้นกว่าจะมาเป็นสถานที่สุดโรแมนติกนั้นต้องย้อนไปไกลกว่า 4,500 ปีเลยทีเดียว
จากหลักฐานที่ค้นพบ ภูมิปัญญาซึ่งมีความคล้ายคลึงกับอควาเรียมมากที่สุดเริ่มต้นที่บ่อเลี้ยงปลาสังเคราะห์ของชาวสุเมเรียน เผ่าพันธุ์ที่นักประวัติศาสตร์ให้การยอมรับว่าเป็นมนุษย์กลุ่มแรกที่คิดค้นตัวอักษร ก่อนที่ต่อมา บ่อปลาจะกลายเป็นที่นิยมในหมู่คนอียิปต์โบราณ ซึ่งจัดทำขึ้นทั้งเพื่อคุณประโยชน์ในด้านการตกแต่งพื้นที่ และการอุปโภคบริโภค
ข้ามมาที่ช่วงหนึ่งพันปีก่อนคริสต์ศักราช ชาวจีนเป็นชนชาติแรกที่บุกเบิกการขยายพันธุ์สัตว์น้ำ โดยเฉพาะปลาคาร์ป ที่เป็นพื้นฐานในการคัดเลือกสายพันธุ์ปลาจวบจนปัจจุบัน ทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงสายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นที่มนุษย์มีต่อสิ่งมีชีวิตใต้บาดาลอีกด้วย
ถัดมาที่ปี 1832 นักธรรมชาติวิทยาชาวฝรั่งเศสนาม ฌอง วิลเพรอ พาวเว่อ (Jeanne Villepreux-Power) ได้ประดิษฐ์ตู้กระจกสำหรับใช้ในการศึกษาสิ่งมีชีวิตทางทะเลได้สำเร็จเป็นคนแรก ก่อนที่องค์ความรู้จะถูกต่อยอดโดยนักเคมีอย่าง โรเบิร์ต วอริงตัน (Robert Warington) ที่ค้นพบความเชื่อมโยงระหว่างพืชกับระดับออกซิเจนในน้ำ จึงสามารถออกแบบตู้กระจกแบบปิด ซึ่งปูทางไปสู่พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำที่เราคุ้นเคยกันในปัจจุบัน
และแล้วในปี 1853 ความมุ่งมั่นของนักธรรมชาติวิทยาอย่าง ฟิลิป กอสส์ (Philip Gosse) ก็ช่วยให้อควาเรียมแห่งแรกของโลกเปิดทำการ ณ สวนสัตว์ลอนดอน ประเทศอังกฤษ ได้สำเร็จ นับเป็นการจุดประกายความหลงใหลที่ผู้คนมีต่อโลกใต้ทะเลอย่างแท้จริง เพราะในยุคนั้น ภาพบรรยากาศ ณ ห้วงทะเลลึกเป็นสิ่งที่น้อยคนนักจะได้เห็น กล้องถ่ายภาพใต้น้ำเองก็ยังไม่ถือกำเนิดขึ้นด้วยซ้ำ และนับแต่นั้น อควาเรียมก็กลายเป็นนวัตกรรมที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในยุโรปและอเมริกา ประกอบกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีก็ยิ่งช่วยให้อควาเรียมเปิดใหม่มากมายสามารถแสดงพันธุ์สัตว์น้ำได้หลากหลายมากขึ้น สมจริงขึ้น สร้างความรู้สึกตื่นตาตื่นใจและผ่อนคลายให้ผู้ที่มาเยี่ยมชมในเวลาเดียวกัน
ในปี 1885 อควาเรียมแห่งเมืองเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนีได้จัดแสดงพันธุ์ปลาที่สวยงามมากมาย นั่นรวมไปถึงฉลามและปลากระเบน ที่ต่อมาได้กลายเป็นภาพจำของบรรดาอคาเรียมทั่วโลก เด็กน้อยหลายคนรับรู้ว่า ถ้าหากอยากดูฉลาม เราก็ไม่จำเป็นต้องดำลึกลงไปใต้มหาสมุทร เพราะแค่ร้องขอให้พ่อกับแม่พาไปอควาเรียม เท่านั้นก็เพียงพอแล้ว
จากภูมิปัญญาที่เริ่มต้นด้วยการเลี้ยงปลาไว้ประดับสถานที่และรับประทานประทังชีวิต สู่วันที่อควาเรียมกลายเป็นหนึ่งในแลนด์มาร์กที่หลายคนใฝ่ฝันจะไปท่องเที่ยว ในปัจจุบัน มีอควาเรียมทั้งใหญ่และเล็กกระจายอยู่ทุกมุมโลกกว่า 200 แห่ง รอคอยเหล่านักเดินทางเข้าไปเยี่ยมชม ดื่มด่ำ และเฝ้ามองฝูงปลา
อควาเรียมและยุคสมัยปัจจุบัน
ในวันที่มีแหล่งเรียนรู้มากมาย ภาพถ่ายใต้น้ำหาดูได้ทางอินเทอร์เน็ต คงไม่แปลกหากอควาเรียมจะได้รับความนิยมน้อยลง แต่ก็ใช่ว่าพื้นที่แห่งนี้จะเสื่อมมนต์ขลังไปเสียทีเดียว เพราะอควาเรียมยังคงตอบโจทย์อีกหลายข้อที่พื้นที่อื่นๆ ไม่สามารถทดแทนได้
และนี่คือ 3 ปัจจัยที่หลายคนยังชื่นชอบการไปพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ แม้จะมีสถานที่น่าสนใจอีกมากมาย และ แม้วันนี้ เราจะเรียนรู้โลกใต้ทะเลได้ผ่านทางหน้าจอโทรศัพท์
- ของจริง ยังไงก็ดีกว่าสิ่งที่อยู่ในจอ– จริงอยู่ที่แค่กดเสิร์ช เราก็คงได้รู้ว่าหน้าตาของโลมาเป็นแบบไหน แต่หลายคนก็ยังอยากเห็นพวกมันตัวเป็นๆ สักครั้ง และถ้าหากการดำลงไปดูในทะเลเป็นสิ่งที่ยากเกินไป ก็คงไม่มีตัวเลือกไหนที่ดีไปกว่าการไปดูที่อควาเรียม ดินแดนจำลองที่อาจให้เราได้มากกว่าแค่สิ่งมีชีวิตที่ตามหา
- หลีกหนีจากความวุ่นวาย– ต้องยอมรับว่า พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำได้กลายเป็นสถานที่แห่งความสงบสุขที่หลายคนนึกถึงเมื่อต้องการหลบหนีจากปัญหาที่รุมเร้า ก็ทุกครั้งที่ได้เข้ามา มันเหมือนกับเราได้กองปัญหาทิ้งไว้ด้านนอก เป็นการชาร์จพลังชั่วครู่ชั่วคราวก่อนก้าวขาออกไปเผชิญปัญหาอีกสักตั้ง หรือถ้าหากไปกับเพื่อนหรือคนรู้ใจ เราก็จะได้อยู่ด้วยกันในพื้นที่ที่มีความเป็นส่วนตัวมากพอ แถมยังสามารถพูดคุยกันได้อย่างเต็มที่ ไม่ต้องเกรงใจคนรอบข้างเหมือนเวลาชมภาพยนตร์
- หลากกิจกรรม ตอบโจทย์ทุกเพศวัย– ในพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำไม่ได้มีเพียงตู้กระจกให้เราจ้องมอง แต่หลายแห่งยังมีลูกเล่นสุดสนุกให้เราได้สัมผัส เช่น การดูโชว์ให้อาหารโลมา นั่งเรือท้องกระจก ทัวร์ชมเบื้องหลังการจัดแสดง ไปจนถึงดำน้ำไปพร้อมกับฝูงฉลาม เหล่านี้ล้วนสร้างความเพลิดเพลินให้กับผู้ที่มาเยี่ยมเยือน หรือต่อให้วันหนึ่ง เราเริ่มจะไม่สนุกกับกิจกรรมรูปแบบนี้ ไม่แน่ว่าบางที อาจเป็นลูกของเราที่มากระซิบขอร้องให้พาไปเที่ยวอควาเรียมก็เป็นได้
และนอกเหนือจากเหตุผล 3 ข้อนี้แล้ว พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำก็ยังมีส่วนช่วยให้สุขภาพกายและจิตของเราดีขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ ซึ่งแน่นอนว่า มีผลการศึกษาในประเด็นดังกล่าวไว้มากมาย
บำบัดความเครียดด้วยฝูงปลาและสีฟ้าคราม
แมธิว ไวท์ (Mathew White) จากศูนย์สิ่งแวดล้อมและสุขภาพมนุษย์แห่งยุโรป มหาวิทยาลัยเอ็กซิเตอร์ ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ของผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชมอควาเรียม ซึ่งผลการศึกษาแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างสุขภาวะของมนุษย์กับการปฏิสัมพันธ์กับธรรมชาติ
โดยแมธิวเริ่มศึกษาผ่านการตรวจวัดอัตราการเต้นของหัวใจ ความดันเลือด และการเปลี่ยนแปลงอารมณ์ของกลุ่มตัวอย่างขณะจ้องมองไปยังแทงค์น้ำที่มีความจุ 5 แสนลิตร ซึ่งก็เป็นอย่างที่เขาคาดการณ์คือ กลุ่มตัวอย่างจะมีอัตราการเต้นของหัวใจที่ช้าลง ความดันเลือดลดต่ำลง อีกทั้งข้อมูลยังแสดงผลว่าทุกคนรู้สึกผ่อนคลายและมีความสุขมากขึ้น ซึ่งค่าความสุขก็แปรผันโดยตรงกับปริมาณความหลากหลายของปลาที่เพิ่มขึ้นในตู้ด้วย พูดง่ายๆ คือ ยิ่งมีความหลากหลายทางชีวภาพมากเท่าไหร่ กลุ่มตัวอย่างก็มีแนวโน้มจะมีความสุขมากขึ้นเท่านั้น
และการศึกษาของแมธิวก็อาจไปได้ไกลกว่าแค่ในอควาเรียม เพราะทางทีมก็มีความตั้งใจที่จะนำองค์ความรู้ที่ได้ไปปรับใช้ในสถานพยาบาล
“ตัวอย่างเช่น ถ้าเราถ่ายทอดสดตู้ปลาเพื่อเอาไปเปิดในโรงพยาบาลท้องถิ่น มันก็น่าจะช่วยลดความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจให้กับทั้งผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยได้” แมธิวสรุป
จึงเห็นได้ว่า นอกจากเหตุผลด้านการบริโภคแล้ว คนกับปลา รวมถึงสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลยังมีสายสัมพันธ์อันแนบแน่นมาช้านาน แม้จะแทบสัมผัสกันไม่ได้ แต่พวกเขาก็ช่วยให้เราผ่อนคลายและใจเย็นลงได้ไม่น้อย จากครั้งหนึ่งที่เราทำได้เพียงชื่นชมความงดงามในบ่อดิน สู่วันที่เราสามารถแหงนหน้าขึ้นเพื่อดูการแหวกว่ายใต้อุโมงค์ซึ่งมีแสงระยิบระยับ รับชมธรรมชาติของสัตว์น้ำ ทั้งโลมา ปลากระเบน แมงกระพรุน และอีกมากมายหลายตัวสุดแล้วแต่เราจะจินตนาการ
และไม่ว่าทุกคนจะเคยไปอควาเรียมมาก่อนหรือไม่ แต่คราวหน้าคราวหลัง หากมีเรื่องไม่สบายใจ อยากหาอะไรเพลิดเพลินฆ่าเวลา หรือกำลังมองหาสถานที่เดตดีๆ ร่วมกับคนที่แอบชอบ
น่านน้ำสีครามเข้มที่เต็มไปด้วยสรรพสัตว์ก็เป็นหนึ่งในตัวเลือกที่ไม่เลวนะ
อ้างอิงจาก